จากสถานะ ‘คนป่วย’ สู่การเป็น ‘หมอ’ แนวหน้าต้านยุงร้ายด้วยระบบภูมิคุ้มกัน
ครั้งแรกที่คุณหมอ John Lusingu เริ่มป่วยเป็นไข้มาลาเรีย เขาอายุประมาณ 16 ปี ช่วงนั้นระบบภูมิคุ้มกันของเขายังบอบบางต่อเชื้อปรสิตโปรโตซัวต้นเหตุของไข้มาลาเรียที่มียุงเป็นพาหะ ในตอนนั้นเขามีไข้สูง ปวดเมื่อยตัว ท้องเสีย จนต้องหามส่งโรงพยาบาลในสภาพย่ำแย่
หลังฟื้นจากพิษไข้ เขาก็ดันติดเชื้อมาลาเรียซ้ำอีก แล้วก็ซ้ำอีกอยู่อย่างนี้เป็นเวลา 12 ปี (เชื่อเถอะ ถึงแม้มันดูเหมือนเรื่องตลก) คุณหมอ John ดันเป็นไข้มาลาเรียเฉลี่ยแล้ว 1 ปีเป็นถึง 10 ครั้ง!
ปัจจุบัน John เติบโตเป็นหนุ่มใหญ่อายุ 50 ปี เป็นไข้มาลาเรียมาแล้ว 50 ครั้ง นอกจากรอดตายมาได้ทุกครั้งแล้ว ยุงร้ายยังส่งผลดี สร้างให้เขาเป็นหมอผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันเพื่อปกป้องคนอื่นอีกด้วย
ดูราวกับเป็นเรื่องเหลือเชื่อ แต่สำหรับคุณภาพชีวิตของคนประเทศแทนซาเนียแล้ว
การติดโรคมาลาเรียง่ายดายอย่างนี้กลับเป็นเรื่อง ‘ปกติ’
บางประเทศยุงฆ่าคนได้มากกว่าสิ่งมีชีวิตใดๆในโลก โดยเฉพาะเด็กๆ ที่เติบโตใน ‘แทนซาเนีย’ ประเทศที่อยู่บนชายฝั่งตะวันออกของแอฟริกา เพราะหากคุณมีอายุประมาณ 16 ปี คุณก็มีโอกาสเป็นมาลาเรียครั้งแรกแบบยากที่จะหลีกเลี่ยง ไข้มาลาเรียคือศัตรูตัวฉกาจระดับชาติที่ฆ่าคนได้ราว 80,000 คนต่อปี ยิ่งในกรณีเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 5 ขวบซึ่งร่างกายแทบไม่มีภูมิคุ้มกัน และเป็นไข้มาลาเรียครั้งแรก ซึ่งหมายความว่านั่นอาจเป็นวาระสุดท้ายของชีวิต
คุณหมอ John Lusingu ในอายุ 16 นั้นเหมือนเด็กๆ ทั่วไปส่วนใหญ่ที่ไม่นิยมนอนในมุ้ง เพราะยึดติดกับความเชื่อว่าผ้ามุ้งสีขาวมีไว้ ‘คลุมคนตาย’ ซะมากกว่า จนกระทั่งถูกไข้มาลาเรียเล่นงานจนสะบักสะบอมถึงเลิกเชื่ออะไรผิดๆ แบบนั้น และยอมนอนมุ้งตามคำแนะนำของรัฐบาล แม้การนอนมุ้งจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เขาเริ่มทนทานต่อไข้มาลาเรีย แต่เมื่อย่างเข้าอายุ 28 พิษไข้มาลาเรียเริ่มทุเลาลง ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายมีการตอบสนองและต่อต้านเชื้อร้ายจนแข็งแกร่งพอ แม้เชื้อปรสิตพยายามบุกรุกอีกหลายครั้ง เขาก็ไม่ป่วยขั้นรุนแรงอีกเป็นเวลากว่า 23 ปี
‘ภูมิคุ้มกัน’ เป็นเสมือนแสงแห่งความหวังสำหรับการต่อกรกับเชื้ออันร้ายกาจโดยการพัฒนาวัคซีน ร่างกายคุณต้องเผชิญกับปรสิตหลายต่อหลายครั้งเพื่อให้มันคุ้นชินและเริ่มต่อต้านพวกมัน
คำถามคือ เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะประดิษฐ์ภูมิคุ้มกันต้านมาลาเรีย โดยไม่ต้องรอให้ยุงมาหามไปก่อน เพราะพวกเราอาจไม่รอดถึง 50 ครั้งแบบในกรณีของ John Lusingu
โดยปกติแล้ว นักวิจัยจะสกัดเชื้อมาลาเรียในระยะติดต่อที่เรียกว่า ‘Sporozoites’ โดยการฉีดเจ้าเชื้อนี้เข้าไปยังร่างกายเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน กลยุทธ์นี้เรียกว่า Inactivated Vaccine ซึ่งให้ผลที่น่าพึงพอใจในระดับสัตว์ทดลอง แต่กลับไม่เวิร์คนักเมื่อทดลองในมนุษย์จริงๆ
หลังจาก John Lusingu จบปริญญาเอก เขาจึงเริ่มพุ่งเป้าความสนใจไปยังการพัฒนาวัคซีนอย่างเต็มที่ เพื่อใช้รักษาไข้มาลาเรียกับเด็กๆ ในแทนซาเนีย เมื่อปี 2007 ที่ผ่านมาผลวิจัยวัคซีนในการดูแลของ John Lusingu ดูได้รับการตอบรับอย่างดีในวงการแพทย์ นอกเหนือจากการพัฒนาวัคซีนแล้ว เขายังแนะนำการป้องกันตัวจากยุง การรักษาดูแลร่างกายให้มีภูมิต้านทานแข็งแรงอยู่เสมอ
จากเหยื่อ สู่การเป็นนักต่อสู้มาลาเรียตัวยงแห่งแอฟริกา งานของคุณหมอ John Lusingu ยังทวีความท้าทายอยู่เรื่อยๆ จากการกลายพันธุ์ของยุงที่เกิดจากการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชปริมาณมากในแทนซาเนีย
สิ่งที่ยากที่สุดคือการเปลี่ยนความคิดของคน ว่า ‘ไข้มาลาเรียไม่ใช่เป็นเรื่องของโชคชะตา’ ที่มนุษย์จะจัดการอะไรไม่ได้เลยแล้วยอมทิ้งชีวิตไปกับความเชื่อที่อาจไม่ถูกต้องเสมอไป
อ้างอิงข้อมูลจาก
Dr. Lusingu talks about malaria vaccine trials in Tanzania
Journal of Bacteriology & Parasitology