พื้นห้องน้ำเต็มไปด้วยเชื้อโรค! ฟองน้ำล้างจานคือแหล่งอนุบาลแบคทีเรีย! เตียงของคุณเต็มไปด้วยตัวก่อโรคภูมิแพ้! ชีวิตคุณกำลังถูกคุกคามจากจุลชีพนับล้าน ใช้ผลิตภัณฑ์ของเราสิ เพื่อเปลี่ยนให้บ้านคุณปลอดเชื้อ! ราดซะ!
คุณเป็นคนขี้วิตกกังวลต่อความสกปรกง่ายไหม? หยิบจับอะไรสักอย่างก็คิดว่าต้องมีเชื้อโรคร้ายที่หน้าตาเหมือนในหนังโฆษณาที่เห็นกันบ่อยๆ อภิมหาเศรษฐีระดับโลก ‘โฮเวิร์ด ฮิวส์’ ยังกลัวเชื้อโรคสุดฤทธิ์จึงหลีกหนีโลกที่น่าสกปรกโดยสร้างห้องปลอดเชื้อ 100% ในตึกหรูของเขา และต้องแน่ใจว่า “จะไม่มีแบคทีเรียสักตัวเดียว ย่างกรายเข้ามาได้”
อาการ ‘คลั่งความสะอาด’ ทำให้คนวิตกต่อความสกปรก มันกดดันให้คุณมอง ‘จุลชีพ’ (microorganisms) ก่อโรคทุกประเภทแบบยกเข่ง แต่เราควรวิตกแค่ไหนจึงจะไม่กลายเป็น ‘สะอาดเกินไป’ จนสร้างผลเสียให้กับสุขภาพ เพราะคุณเองก็ป่วยจากความสะอาดได้อย่างแน่นอน แต่ความเชื่อด้านตรงข้ามสุดโต่งที่ว่า “ถ้าใจเราสะอาด เราไม่จำเป็นต้องอาบน้ำ” ก็อาจจะซกมกจนเป็นภัยต่อชีวิตคุณเช่นกัน
จุดกึ่งกลางระหว่างความสะอาดและความสกปรกซกมกอยู่ตรงไหนกัน แล้ววิทยาศาสตร์มีความเห็นอย่างไรต่ออาการคลั่งสะอาดที่ผลักไสคุณอย่างเกินพอดี
ล้างมือมาแล้วหรือยังจ๊ะ?
เมื่อคุณรับรู้ข้อมูลใหม่ๆ ผ่านนวัตกรรมระดับจุลทรรศน์ก็ทำให้เห็นแหล่งที่อยู่เชื้อโรคได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะโฆษณาที่โปรยระเบิดปูพรมใส่คุณทุกวัน จนกลายเป็นว่าหยิบจับอะไรก็ชวนน่าวิตกไปหมด ยิ่งคุณกำลังมีลูกอ่อนๆ ในบ้านแล้ว ก็แทบจะสติแตกเมื่อลูกไปซนในห้องที่ยังไม่ได้ถูพื้น หรือไปเล่นดินกระบะทรายในสวนสาธารณะ ใจของพ่อแม่คงแป้วๆ พิกล
การรณรงค์ความสะอาดเป็นสิ่งจำเป็นที่แวดวงแพทย์พยายามทำมานานนับร้อยๆ ปี และเป็นเรื่องพื้นฐานที่คุณควรรักษาความสะอาดอยู่แล้ว เพราะมันช่วยลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อและทำให้คุณห่างไกลโรคระบาดแต่ความน่าสนใจอยู่ที่ มีความจำเป็นมากแค่ไหนถึงต้องฆ่าเชื้อแบคทีเรียทุกตัวในชีวิตคุณ เพราะในความเป็นจริง มีแบคทีเรียที่ก่อโรคมีพอๆ กับแบคทีเรียใฝ่ดีที่ช่วยให้ร่างกายคุณแข็งแรงขึ้น อย่างแบคทีเรียที่อยู่ในระบบย่อยอาหาร ลำไส้ ผิวหนัง โพรงจมูก หู ใต้วงแขน ฯลฯ ที่ทำงานอย่างขยันขันแข็งแต่ไม่ค่อยได้รับเครดิต เพราะถูกตราหน้าว่า ‘แบคทีเรีย’
ดังนั้นการรักษาความสะอาดอย่างเกินพอดี ก็เหมือนคุณขับเครื่องบิน F5 แล้วทิ้งระเบิดนาปาล์มใส่ทหารฝ่ายศัตรูและฝ่ายคุณให้มอดม้วยในคราเดียว สารในผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อทั้งหลายก็มีฤทธิ์รุนแรงทิ้งภาระสารตกค้างระยะยาว ความสะอาดที่คุณต้องการจึงแลกมาด้วยอาการป่วย ภูมิแพ้จากเหตุที่ว่า ‘คุณสะอาดเกินไป’
ความสะอาดที่ทำร้าย
เป็นระยะเวลาแสนนานที่สังคมโลกอยู่กับการระบาดครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งจากกาฬโรค ไข้ไทฟอยด์ ฝีดาษ อหิวาตกโรคที่สังหารชีวิตผู้คนไปมากในอดีต จนเมื่อวิทยาการด้าน Disinfection การฆ่าเชื้อที่พัฒนามากขึ้นในต้นศตวรรษที่ 18 เราจึงมีผลิตภัณฑ์ต่อสู้เชื้อโรคให้เลือกใช้จนไม่หวาดไม่ไหว เกิดกระแส ‘นิยมความสะอาด’ ในโลกฝั่งตะวันตก วาดภาพเชื้อโรคในลักษณะต่างๆ ที่น่าหวาดกลัวในหนังสือเด็กในลักษณะปีศาจจอมเกเรที่ทำให้เกิดโรค ล่องลอยอยู่ในการเรียนรู้ของเด็กๆ กว่า 100 ปีตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา
มีนักวิจัยที่เปิดมุมมองอีกด้าน เมื่อความสะอาดที่มากเกินไปต่างหากที่ทำร้ายชีวิตเรา วิถีชีวิตที่ไม่คลุกคลีกับธรรมชาติเลยมีแต่จะทำให้คุณอ่อนแอ ข้อเสนอแนะโดย David Strachan นักระบาดวิทยาจาก London school of hygiene and tropical medicine เป็นคนแรกๆ ที่วิพากษ์ Lifestyle คนยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะการเลี้ยงลูกแบบไข่ในหินไม่ให้เด็กไปสัมผัสกับจุลชีพในธรรมชาติเลย ว่ามีแต่จะทำให้เด็กเกิดมาพร้อมปัญหาเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งมนุษย์ในสังคมตะวันตกที่วิตกกังวลเรื่องความสะอาดมักมีจำนวนจุลชีพลดลงถึง 40% หากเทียบกับมนุษย์ในอดีตที่ใช้ชีวิตแบบนักล่าและเก็บของป่า ทั้งๆ ที่แบคทีเรียส่วนหนึ่งอาจนำภูมิคุ้มกันที่ดีมาให้กับร่างกายด้วยเช่นกัน
งานวิจัยใหม่ๆ เริ่มออกลวดลายที่น่าสนใจ เมื่อพบว่าเด็กๆ ที่เติบโตในฟาร์มต่างจังหวัดแข็งแรงกว่าเด็กที่เลี้ยงในห้องแอร์เมืองหลวง หรือครอบครัวที่ล้างจานด้วยมือมีภูมิคุ้มกันดีกว่าครอบครัวที่ใช้เครื่องล้างจาน รวมไปถึงครอบครัวที่เลี้ยงสัตว์ (สุนัขเป็นฝันร้ายของคนคลั่งสะอาด) บ้านที่เลี้ยงสุนัขก็มีระบบนิเวศของจุลชีพในร่างกายที่น่าสนใจเช่นกัน
งานวิจัยกว่าหลายพันชิ้นบอกว่า ความสัมพันธ์ระหว่างคุณและแบคทีเรียซับซ้อนไปกว่านั้น หาใช่อริศัตรูที่ห้ำหั่นกันอยู่ตลอดเวลา สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในร่างกายมีอิทธิพลในการควบคุมภูมิคุ้มกัน ลดภาวะอ้วนลงพุง อาการหลงๆ ลืมจากอัลไซเมอร์ และโรคซึมเศร้า มีรายงานชัดเจนว่า แบคทีเรียในลำไส้สามารถปล่อยสารแห่งความสุข Serotonin ที่ดูดซึมจากลำไส้ไปสู่สมองอีกด้วย ไม่แปลกที่หากเราปฏิบัติดีกับแบคทีเรียในร่างกาย พวกมันก็จะตอบแทนในรูปแบบต่างๆ เช่นกัน
เจ้าจุลชีพทั้งหลายมีเอี่ยวหมดเกือบทุกอย่าง แทนที่เราจะแยกว่า ‘สกปรก/สะอาด’ ซึ่งเป็นการจัดระเบียบที่หยาบเกินไปเสียหน่อย แต่เป็นการศึกษาระบบนิเวศจุลชีพในตัวคุณจึงซับซ้อนไปกว่านั้น และหลีกเลี่ยงจุลชีพที่ก่อโรคร้ายแรงอย่างเข้าอกเข้าใจ
งานวิจัยพบว่า ผู้คนที่สุขภาพดีมีแบคทีเรียที่มีประโยชน์ในร่างกาย ไม่ใช่คนที่ถูกนิยามว่า ‘สะอาด’ (Clean) แต่พวกเขามีแบคทีเรียในร่างกายหลากหลายสายพันธุ์ที่อำนวยให้เกิดภูมิคุ้มกันที่ดี
กฎกินของตกก่อน 5 วินาทีใช้ได้จริงไหม
มีกฎประหลาดๆ ที่เรามักอ้างอิงอยู่เสมอ อย่างน้อยเมื่อขนมสุดโปรดตกพื้น คุณมักรีบคว้ามากินอย่างรวดเร็ว เพราะเชื่อว่าเชื้อโรคไม่ทันได้เกาะตาม ‘กฎ 5 วินาที’ (5-second rule) จนกลายเป็นความเชื่อสุดป็อปในทุกสังคม
แต่งานวิจัยชิ้นใหม่เผยว่า คุณหลอกแบคทีเรียไม่ได้หรอก! เพราะเพียงแค่ 1 วินาที มันก็เกาะไปไหนถึงไหนแล้ว เพื่อพิสูจน์ข้อสันนิษฐานนี้ ทีมวิจัยนำโดย Donald Schaffner เพาะเลี้ยงแบคทีเรีย ‘เอนเทอโรแบคเตอร์ แอโรจีเนส’ (Enterobacter aerogenes) สายพันธุ์ที่ไม่มีอันตรายและไม่ก่อให้เกิดโรค แต่มีอัตราการแพร่พันธุ์คล้ายสกุล ‘ซัลโมเนลลา’ (Salmonella) ที่มักทำให้คุณท้องเสียจากอาหารเป็นพิษ
จากนั้นพวกเขาจึงฉาบแบคทีเรียบนพื้นผิวหลากหลาย ทั้งโลหะ พื้นปูน พื้นดิน พรม แผ่นกระเบื้อง หรือไม้ปาร์เก้ จากนั้นทดลองโดยเอาอาหารหลายชนิดมาทำตกพื้น พวกเขาพบว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้แบคทีเรียเกาะอาหารได้รวดเร็วคือ ‘ความชื้น’ ของชิ้นอาหาร
แบคทีเรียไม่มีขา พวกมันจึงอาศัยความชื้นในการเคลื่อนที่ ยิ่งเปียกมากก็ยิ่งแพร่กระจายได้เร็ว 5 วินาทียังนานไปด้วยซ้ำสำหรับการย้ายบ้านใหม่ แต่เรื่องที่น่าสนใจจากการทดลองพบว่า ‘พื้นพรม’ มีการเกาะของแบคทีเรียน้อยที่สุด เพราะพื้นผิวอาหารมีการสัมผัสกับเส้นขนพรมน้อยกว่า จึงมีโอกาสที่แบคทีเรียเกาะน้อยเช่นกัน
แต่คุณควรกินของตกพื้นหรือไม่? อันนี้ต้องพิจารณาว่าพื้นที่ในบริเวณนั้นเป็นอย่างไร หากเป็นที่สัตว์มีการขับถ่ายเป็นประจำ คุณก็ไม่ควรจะหยิบมากิน แต่หากคุณมั่นใจมากว่าพื้นห้องครัวดูแลมาอย่างดี กินของตกพื้นเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่ได้เป็นเรื่องคอขาดบาดตายขนาดนั้น
ควรล้างอาหารทุกครั้งไหมเมื่อซื้อมา
ผักสดและผลไม้ที่ซื้อมาจากตลาด คุณควรจะล้างอย่างแน่นอน 100% แต่ไม่ใช่สำหรับไก่สด เพราะแบคทีเรีย Campylobacter jejuni ที่ก่อให้เกิดท้องเสียตั้งแต่ระดับเบาะๆ จนถึงขั้นรุนแรงในเนื้อไก่ จะแพร่กระจายไปทั่วเนื้อไก่ผ่านน้ำล้าง และเชื้อ Campylobacter นี่แหละ เป็นกลุ่มของแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในลำไส้ผ่านทางอาหาร
การติดเชื้อมักเกี่ยวข้องกับการรับประทานเนื้อสัตว์ปีกดิบหรือปรุงไม่สุก ในแต่ละปีทั่วโลกมีการติดเชื้อ Campylobacter ประมาณ 30 ล้านคน ดังนั้นเนื้อไก่จำเป็นต้องปรุงสุกอย่างเคร่งครัดทุกครั้ง ความร้อนปราบ Campylobacter ได้ แต่ต้องสุกจริงๆ จนไว้ใจได้
อะไรๆ ก็ต่อสู้แบคทีเรีย
ความซีเรียสเกิดขึ้นเมื่อผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ที่ใช้จัดการจุลชีพในบ้านคุณ มีส่วนผสมสารต้านแบคทีเรีย (Antimicrobial)
นักวิชาการทางการแพทย์ได้ถกเถียงถึงความเสี่ยงและอันตรายสำหรับผู้ที่ใช้ผลิตภัณฑ์ผสมสารต้านเชื้อแบคทีเรียที่บ่อยและมากเกินความจำเป็น เพราะนอกจากจะทำให้ร่างกายไม่มีภูมิต้านทานต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว อาจมีผลทำให้เชื้อแบคทีเรียมีพัฒนาการที่แข็งแรง และกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่เรียกกันติดปากว่า ‘Superbugs’ ทำให้ยาปฏิชีวนะที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันรักษาไม่ได้ผล
คนป่วยที่มีร่างกายอ่อนแอ มีภูมิคุ้มกันต่ำ คนชรา ผู้ที่เป็นโรคติดเชื้อ และอยู่ระหว่างการรักษา สมควรที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยจากเชื้อจุลินทรีย์ จึงเหมาะสมที่จะดูแลด้วยผลิตภัณฑ์ผสมสารต้านเชื้อแบคทีเรีย แต่คนทั่วไปที่ไม่มีปัญหาสุขภาพ การชำระล้างด้วยน้ำสะอาดและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดธรรมดาอย่างสม่ำเสมอไม่ว่าจะเป็นร่างกายหรือครัวเรือนก็เพียงพอแล้ว
แทนที่คุณจะฆ่าเชื้อทุกสรรพสิ่งอย่างล้างผลาญและสิ้นเปลืองทรัพยากร ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้คุณทำความสะอาดจุดสำคัญในบ้านที่มีการสัมผัสบ่อยเพื่อลดแบคทีเรียก่อโรคอย่าง ลูกบิดประตู สวิตซ์ไฟ ห้องน้ำ อุปกรณ์เครื่องครัว เขียง หรือภาชนะที่สัมผัสกับเนื้อดิบหรือผักสด อย่าลืมอุปกรณ์คอมพิวเตอร์อย่างเม้าส์ และมือถือของคุณที่อาจเช็ดทำความสะอาดหลังจากผ่านศึกสงครามมาในแต่ละวัน ส่วนกำแพง เพดาน ฝาผนังบ้าน เพียงทำความสะอาดทุกๆ 6 เดือนก็เพียงพอแล้ว
กิจกรรมนอกบ้านที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติทำให้คุณเผชิญหน้าแบคทีเรียที่หลากหลาย และช่วยให้ระบบนิเวศของจุลชีพในร่างกายคุณได้ Update Firmware กระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง กุญแจคือการได้มีโอกาสสัมผัสดิน (soil) บ้าง ซึ่งปกติแล้วมีองค์ประกอบของดินเข้าสู่ร่างกายคนเราราว 50-60 มิลลิกรัมต่อวัน (อาจอยู่ในอาหารและน้ำดื่ม) เปิดบ้านรับอากาศภายนอกบ้าง ให้แสงและลมนำเกสรดอกไม้และต้นไม้เข้ามาหมุนเวียน (ในกรณีที่คุณไม่ได้เป็นภูมิแพ้)
ที่สำคัญคือการ ดูแลแบคทีเรียในร่างกายของคุณให้ดี พวกมันไม่ได้เป็นศัตรูที่ร้ายกาจเสมอไป การรับประทานอาหารครบทุกหมู่ พักผ่อนเต็มที่ และออกไปเจอธรรมชาติ จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคุณและเพื่อนตัวน้อยยืนยาวสวยงาม จนแม้แฟนคุณเองก็ทำให้ไม่ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก
- History of disinfection from early times until the end of the 18th century sci. tech. Off. int. Epiz.,1995,14 (1),31-39
www.oie.int
- Campylobacter (Campylobacteriosis) | Campylobacter | CDC
www.cdc.gov
- What Does Science Say About the Five-Second Rule? It’s Complicated www.smithsonianmag.com
- Too clean, or not too clean: the Hygiene Hypothesis and home hygiene www.ncbi.nlm.nih.gov