แค่จะเข้าห้องน้ำทำไมถึงลำบากขนาดนี้นะ?
ด้วยสรีระร่างกาย หรือกระทั่งการออกแบบโถสุขภัณฑ์ ที่ทำให้ผู้หญิงต้องสัมผัสกับพื้นผิวใดๆ ในห้องน้ำสาธารณะมากกว่าผู้ชาย ผู้หญิงจึงมักเกิดความกังวลใจครั้งใหญ่ เมื่อต้องเข้าห้องน้ำนอกบ้าน เพราะแบคทีเรียและไวรัสเกือบ 77,000 ชนิด สามารถพบได้ที่ฝารองนั่งบนชักโครกในห้องน้ำสาธารณะ รวมถึงเชื้อโรคอย่างเอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia coli) ซาลโมเนลลา (Salmonella) โคลิฟอร์ม (Coliform) และโรต้าไวรัส (Rotavirus)
แน่นอนว่ายังมีเชื้อโรคมากมายอยู่ในห้องน้ำที่เราใช้ขับถ่าย ไม่ว่าจะประตู โถสุขภัณฑ์ อ่างล้างหน้า หรือแม้แต่ที่กดสบู่เหลว แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า ห้องน้ำจะกลายเป็นสถานที่อันตรายให้เราต้องหลีกเลี่ยงอย่างเด็ดขาดในเวลาคับขัน โดยเอริกา ดอนเนอร์ (Erica Donner) ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม จาก University of South Australia ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ความเสี่ยงเรื่องเชื้อโรคและแบคทีเรียขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย รวมถึงความถี่ในการทำความสะอาดห้องน้ำ และระบบระบายอากาศด้วย
ทว่าเชื้อโรคส่วนใหญ่ก็สามารถพบได้บนพื้นผิวในห้องน้ำและโถสุขภัณฑ์ เนื่องจากอุจจาระและแม้แต่ปัสสาวะ อาจมีแบคทีเรียและไวรัสหลายชนิด สาเหตุที่เชื้อโรคเหล่านี้กระจายไปทั่วนั้น เกิดจากการกดชักโครกซึ่งจะทำให้จุลินทรีย์เล็กๆ กระจายตัวเป็นละออง แล้วลอยขึ้นไปในอากาศได้สูงถึง 5 ฟุต และยังคงลอยอยู่เป็นเวลา 1 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น ก่อนจะตกลงไปบนพื้นผิวโดยรอบ ดังนั้นฝาชักโครกจึงเป็นจุดที่ไม่น่าไว้ใจอย่างยิ่ง
แม้ความรุนแรงของแบคทีเรียอาจจะไม่ถึงระดับที่ทำให้เราติดเชื้อจากห้องน้ำได้ แต่ด้วยความกังวลต่อเชื้อโรคภายนอก และสุขอนามัยส่วนตัว ก็ทำให้ผู้หญิงหลายคนเลือกงัดมาตรการเด็ดทุกอย่างที่นึกออก เพื่อรักษาความสะอาดของตัวเองไว้
The MATTER ชวนทุกคนมาสำรวจความกังวลร่วมของสาวๆ เมื่อถึงคราวต้องเข้าห้องน้ำสาธารณะกัน ว่าพวกเธอต้องเผชิญกับอะไรบ้าง ตั้งแต่เดินเข้าประตูไป จนเสร็จธุระและก้าวออกมา
จุดวางของสยองขวัญ
ออกไปข้างนอกบ้านแต่ละที มีหรือที่จะไม่ถือกระเป๋าไปสักใบ ตอนอยู่ข้างนอกก็ยังเป็นสัมภาระอยู่หรอก แต่เมื่อต้องเข้าห้องน้ำแล้ว อาจกลายเป็นภาระแทน หากเจอที่แขวนกระเป๋าก็รอดตัวไป แต่ห้องน้ำบางแห่งก็ไม่ได้มีความพร้อมครบครันขนาดนั้น นอกจากจะกอดกระเป๋าเอาไว้แน่น อีกอย่างที่ทำได้คงเป็นการเลือกวางไว้สักแห่ง แบบไม่รู้เลยว่าตรงนั้นจะสะอาดแค่ไหน
สควอตสู้ชีวิต
รู้อย่างที่ว่าไปข้างต้นแล้ว หลายคนคงไม่อยากสัมผัสฝารองชักโครกโดยตรง เลยงัดท่าไม้ตายท้าทายกล้ามเนื้อต้นขา ทำท่าสควอต (Squat) เพื่อถ่ายเบา ทั้งต้องเล็งให้แม่น ต้องเกร็งให้มั่น กว่าจะผ่านไปแต่ละวินาทีนั้นช่างยาวนาน เพราะถ้าเลือกได้ ก็ไม่อยากสัมผัสกับฝารองชักโครก ที่ไม่รู้ว่าคนก่อนหน้านี้รักษาความสะอาดมากน้อยแค่ไหน
ทิชชู่ยาวแปดเมตร
หากถ่ายเบาก็คงพอจะสคอวตได้ แต่ถ้าถ่ายหนักจะไหวเหรอ แบบนั้นอาจต้องพึ่งพาทิชชู่ยาวเหยียด วางเรียงตามแนวโค้งของฝารองชักโครกเพื่อความสบายใจ แถมนั่งแล้วก็ต้องคอยถกกระโปรงหรือกางเกงไป เพราะน้ำเจิ่งนองเต็มพื้น
ทั้งล้าง ทั้งซับ
ใครว่าผู้หญิงไม่ล้างน้องสาว? นอกจากต้องล้างให้สะอาดตามแนวไม่ย้อนศร ยังต้องซับให้แห้งสนิท เพื่อป้องกันการอับชื้นอีกด้วย
ผ้าอนามัยต้องอนามัย
สำหรับผู้มีประจำเดือน แค่ความไม่สบายตัวสำหรับวันนั้นของเดือนยังทนแทบไม่ไหว แล้วยังต้องระมัดระวังการซึมเปื้อน และคอยเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกๆ 3-4 ชั่วโมง เพื่อสุขอนามัยที่ดี โดยไม่ต้องรอให้เต็มแผ่น
ล้างมือหนึ่งเพลงช้าง
ก่อนหลบลี้ออกจากห้องน้ำ ก็ต้องมาถึงด่านทำความสะอาดครั้งใหญ่กันก่อน ไม่ว่าจะจับอะไรมา ก๊อกพร้อม สบู่พร้อม เพลงช้างเริ่ม อย่างที่เราเคยได้ยินว่า การล้างมือให้สะอาดนั้น ควรใช้เวลาอย่างน้อย 20 วินาที หรือเพลงช้าง 1 เพลงเป็นจำนวน 2 รอบนั่นเอง
ใช้ศอกดันประตู
แม้จะล้างมือมาแล้ว แต่ก็ไม่อยากจับประตูอยู่ดี เพราะไม่รู้ว่ามีเชื้อโรคมากน้อยแค่ไหนบนลูกบิด ขอปลอดภัยไว้ก่อน ด้วยการใช้ศอกแทนการใช้มือจับ หรือถ้าจะลดการสัมผัสจุดเสี่ยงต่างๆ โดยตรง อาจใช้ทิชชู่รองก่อนหนึ่งชั้น เพื่อให้มือที่เพิ่งล้างไม่ต้องกลับมาสกปรกอีกครั้ง
เราคงไม่อาจรู้ได้ว่า ป้ายทำความสะอาดทุกชั่วโมงที่ติดไว้จะเกิดขึ้นจริงไหม หรือคนก่อนหน้าได้รักษาความสะอาดส่วนรวมอย่างเต็มที่หรือเปล่า เราจึงต้องป้องกันตัวเองไว้ก่อน ด้วยการรักษาความสะอาดส่วนตัวให้เป๊ะ อย่างน้อยก็เพื่อคลายความกังวล หรืออย่างมากก็เพื่อสุขอนามัยที่ดีของตัวเราและคนรอบข้าง
อ้างอิงจาก