หลังจากฟังข่าวดีในที่ประชุมว่าจะได้เลื่อนตำแหน่งเร็วกว่าที่คิด คุ้มไหมที่คืนนี้จะปาร์ตี้ฉลองให้ดึกกว่าทุกครั้ง?
ปัดขวาใน Tinder เจอคนถูกใจเรื่อยๆ อยากจะหยุด แต่หยุดไม่ได้ แถมสมัคร Gold ไปแล้ว!!
ไม่ว่าคุณจะพยายามทำอะไรที่หรรษาหรือทรมานหลังขดหลังแข็ง สมองของคุณจะเรียกร้อง ‘รางวัล’ (reward) ให้กับทุกความพยายามเสมอ เป็นกลไกที่แนบเนียนที่สุดของพฤติกรรมสิ่งมีชีวิตจนเป็นตัวกำหนดอิทธิพลว่าคุณจะ ‘ทำ’ หรือ ‘ไม่ทำ’ อะไรต่อไปในวินาทีข้างหน้าหรือในอีก 10 ปีข้างหน้า
สมองของคุณถูกรังสรรค์ผ่านวิวัฒนาการ ปรับปรุงยกเครื่องทีละน้อยด้วยการลองผิดลองถูก ถ้าเปรียบเป็นเครื่องจักรรอบจัดจากฝีมือธรรมชาติ ก็ควรได้รับการปรนนิบัติหยอดน้ำมันด้วยการให้รางวัลเสียบ้าง เนื่องจากธรรมชาติของการเรียนรู้มักไม่ชอบฝืนตัวเอง สมองก็เช่นกัน ยิ่งคุณตั้งใจมากเท่าไหร่ แต่ถ้าปราศจากการเสริมแรง คุณก็จะหันไปทำอย่างอื่นแทน
แต่ Tinder ใช้กลไกนี้ได้อย่างแยบคาย!
แหล่งที่มาของแรงกระตุ้นพฤติกรรมมาจากสารสื่อประสาทที่ทุกคนรู้จักกันดีอย่าง ‘โดปามีน’ (dopamine) มีหน้าที่ดึงดูดสิ่งจูงใจ
(incentive salience) เพื่อให้พวกเราชั่งน้ำหนักรางวัลที่ควรได้รับ ควรแสดงออกกลับไปเช่นไร หรืออย่างง่ายที่สุด คุณปลดปล่อยตัวเองไปกับความรื่นรมย์ได้มากน้อยแค่ไหน
ผู้คร่ำหวอดในโลกการศึกษาค้นพบกลไกของการให้รางวัลของสมองและการหลั่งโดปามีนระหว่างการเรียนรู้มานานแสนนาน เราเพิ่มแรงจูงใจให้กับสิ่งที่ทำต่อไปให้นานขึ้นโดยไม่ละทิ้งไปเสียก่อน แต่ก็คงหลงเหลือคำถามว่า มนุษย์เรียนรู้ได้ดีที่สุด เมื่อมีการให้รางวัลเท่านั้นหรือ?
โครงสร้างจิ๋ว ที่กระตุ้นให้ทำเรื่องซ้ำๆ
โดปามีนถูกปล่อยมาจากสมองส่วนหน้า prefrontal cortex ที่มีโครงสร้างสมองส่วนเล็กๆ ชื่อ “nucleus accumbens” ที่มอบรางวัลและแรงกระตุ้นจากสิ่งเร้าผ่านทุกประสบการณ์ของคุณ ลองจินตนาการว่า ในค่ำคืนที่ต้องอ่านหนังสือเป็นเวลานาน การหยุดพักให้รางวัล มอบความรู้สึกบรรลุเป้าหมาย (accomplishment) ด้วยกาแฟมอคค่าอุ่นๆ สักแก้ว ซึ่งสมองส่วน nucleus accumbens สามารถเรียนรู้ระดับความรู้สึกพึงพอใจนี้ได้
หลายคนมักกล่าวถึงพฤติกรรมเสพติดที่มาจากกลไกของการให้รางวัล แต่ระยะหลังงานวิจัยใหม่ๆ พบว่าโครงสร้าง nucleus accumbens มีอิทธิพลที่มากกว่านั้น มันควบคุมสมองส่วนการเคลื่อนไหว มีอิทธิพลต่อการนอนหลับช่วงคลื่นสั้น (slow-wave sleep) ที่จำเป็นมากต่อการเรียนรู้ของสมอง ที่จะทำการปัดกวาดทำความสะอาดเอาโปรตีนพิษที่สะสมมาตลอดวันออก และช่วยจัดการความทรงจำที่สะเปะสะปะให้อยู่ในรูปของความทรงจำระยะยาว (long-term memory)
แม้แต่ apps นัดเดทยอดฮิตระดับโลกอย่าง Tinder ก็ยังมีรูปแบบการจัดการอัลกอริทึ่มโดยหยิบยืมแนวคิดของ nucleus accumbens มาใช้อย่างแนบเนียน จนทำให้หลายคนติดงอมแงมปัดซ้ายปัดขวาทั้งวัน เพื่อสุ่มให้เราได้ Match กับใครสักคนที่สนใจเราเหมือนกัน ราวกับเล่นพนันสล็อตแมชชีน (หรือถ้าคุณ Match กับคนที่ใช่ แล้วความสัมพันธ์ไปรอดก็เรียกได้ว่า ‘ถูกหวย’ ก็แทบไม่ต่างกัน)
นักวิจัย Vasily Klucharev จาก Donders Centre for Cognitive Neuroimaging สนใจเจ้ากลไกการ matching ของ Tinder ที่ผู้คนต่างหลงใหลใบหน้าโปรไฟล์ที่น่าดึงดูด ซึ่งมาจากการรับสิ่งเร้า (ภาพ) ไปประมวลผลในระบบการให้รางวัลใน nucleus accumbens ไม่เพียงแต่เราอยากจ้องมองเขานานๆเท่านั้น แต่ยังรู้สึกถึงความไว้เนื้อเชื่อใจ ความรอบรู้ หรือแม้กระทั่งเชาว์ปัญญาเพียงปรายตามองจากโครงสร้างภายนอก ดังนั้นการ ‘ปัดซ้าย ปัดขวา’ จึงใช้ศักยภาพสมองส่วนให้รางวัลอย่างยิ่งยวด และ Tinder ก็ประสบความสำเร็จอย่างดีในการให้รางวัลกับคุณ
เมื่อคุณปัดขวา (สนใจ/ชื่นชอบ) และคนนั้นสนใจคุณเช่นกัน จะเกิดการ match ที่ app จะอนุญาตให้คุณสองคนมีโอกาสทักทายกัน วินาทีนั้น Tinder จึงได้เป็นแพลตฟอร์มที่มี การเสริมแรงเป็นครั้งคราว (Intermittent Reinforcement) อย่างแนบเนียนและเห็นภาพกระจ่างที่สุด โดยการให้รางวัลมีกำหนดอัตราไม่แน่นอน (Variable Ratio – ขึ้นอยู่กับว่า Profile ของคุณสามารถดึงดูดได้แค่ไหน)
ซึ่งความถี่นั้น ‘ถูกจัดการแล้ว’ เพียงพอที่จะให้คุณ match ไม่มากจนรู้สึกง่ายดายเกินไป และไม่น้อยเกินไปจนแทบไม่มีหวังเลย กลไกนี้ไม่ต่างจากการเล่นสล็อตแมชชีน ที่มอบความหวังเล็กๆ ว่า หากคุณมีความอดทนพยายามต่ออีกหน่อย โชคอาจเข้าข้างสักวัน
นักวิจัยทำการศึกษาให้แคบและลึกลงไปอีกในสมองแต่ละส่วน ทั้งใน dorsolateral prefrontal cortex มีหน้าที่เกี่ยวกับการประมวลผลแบบ ‘on-line’ คือมีการประมวลผลสดๆ ร่วมอยู่ในเหตุการณ์หรือประสบการณ์นั้นๆ อย่างในกรณีการปัดทินเดอร์ ขณะที่จ้องมองใบหน้า สมองส่วน amygdala และ ventral striatum ที่มีอิทธิพลต่ออารมณ์จะกระตุ้นเมื่อคุณรู้สึกดึงดูดต่อใบหน้า สมองส่วน ventromedial prefrontal cortex ที่ประเมินความเป็นไปได้ว่าคุณจะสานต่อความสัมพันธ์อย่างไร จากระยะทางของคู่เดท ความสนใจ หรือเพจต่างๆ ที่คุณชื่นชอบร่วมกัน อันเป็นข้อมูลปรากฏขึ้นโดยทันทีให้ช่วยตัดสินใจ สมองส่วน dorsolateral prefrontal cortex จึงมีหน้าที่เป็นฮับในการจัดสรรข้อมูลทั้งหมดแล้วประเมินว่าคุณจะทำอย่างไรต่อ ทักไปดีไหม หรือรอให้เขาทักก่อน การตอบสนองจะรวดเร็วหรือไม่นั้น เกิดจากการประเมินว่า ‘คุ้มค่า’ ที่จะผูกสัมพันธ์ด้วยหรือเปล่าจากข้อมูลน้อยนิดแต่รวดเร็วที่มี
โดปามีนที่กระตุ้นดุจดั่งเรือกลไฟทำให้คุณปัดขวาปัดซ้ายเป็นพัลวันจนกระทั่งหมดโควตา หรือถ้ามันไม่สาแก่ใจ Tinder ฉลาดพอที่จะให้คุณเสียเงินเพิ่มเพื่อให้การปัดเป็นไปอย่างไร้ขีดจำกัด
จาก Tinder สู่การรักษาโรคเสพติดในอนาคต
งานวิจัยจาก Tinder ไม่เพียงทำให้เราเข้าใจกลไกการให้รางวัลอย่างแจ่มแจ้งและเห็นการทำงานของสมองส่วน nucleus accumbens อย่างเป็นรูปธรรม แต่เทคโนโลยีสามารถทำให้เราต่อสู้กับอาการเสพติดอื่นๆ (addictions) และโรคที่เกี่ยวกับการยับยั้งช่างใจ โดยมีการดัดแปลงใช้วิธีการรักษาด้วยคลื่นไฟฟ้าอ่อนๆ ในการกระตุ้น nucleus accumbens เพื่อรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ obsessive-compulsive disorder (OCD) ที่ทำสำเร็จแล้วในผู้ป่วยวัย 53 ปี ชาวเนเธอร์แลนด์ และช่วยรักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ในการควบคุมโดปามีนอย่างมีนัยยะ ซึ่งแพทย์พบว่า โดปามีนเองมีอิทธิพลในการสลายโมเลกุลน้ำตาลในร่างกายด้วย
กลไกการให้รางวัลเป็นพื้นที่ควรค่าแก่การศึกษา ดั่ง Tinder ได้โจรกรรมเวลาของคุณให้รู้สึกอยากปัดเรื่อยๆ เพื่อค้นพบคนใหม่ๆ ที่ดูเหมือนว่าการหาความโรแมนติกในโลกสมัยใหม่ดูง่ายขึ้นจากแอพมากมายก่ายกองที่ใช้พื้นฐานของการให้รางวัลและประสาทวิทยา ซึ่งขึ้นอยู่กับคุณว่าจะใช้มันเพื่ออะไร คุณอาจหาคู่เดท นักประสาทวิทยาอาจใช้มันเพื่อศึกษาหาแรงจูงใจ นักการตลาดอาจใช้มันหาโอกาสใหม่ๆในการทำธุรกิจ
แต่ที่แน่ๆ บริษัทลงทุนไปโขกับเงื่อนไขทางประสาทวิทยาเพื่อลวงเงินจากกระเป๋าคุณ และคุณล่ะ? พร้อมที่จะจ่ายเพื่อเจอคู่แท้ไหม แต่ไม่มีอะไรมาการันตีให้นะว่าคุณจะมันที่นี่
อ้างอิงข้อมูลจาก
Reinforcement learning signal predicts social conformity.
Neuron. 2009 Jan 15;61(1):140-51. doi: 10.1016/j.neuron.2008.11.027.
THE PLEASURE CENTRES AFFECTED BY DRUGS
Nucleus Accumbens: What is it, functions, anatomy, diseases.