ความทรงจำในวัยเด็กค่อยๆ ก่อร่างสร้างตัวเป็นคุณในทุกวันนี้ แต่ทำไมเรากลับลืมช่วงเวลาในวัยเด็ก ทั้งๆ ที่สำคัญมากต่อชีวิต
ถ้าให้คุณลองนึกย้อนถึงอดีตในวัยเด็ก คุณนึกได้ไกลแค่ไหน? แน่นอนว่าบุคลิกภาพของคุณในปัจจุบันสะท้อนการรับรู้ในอดีต ดั่งหมุดหมายริมทางที่ค่อยๆ เชื่อมประสบการณ์รายทางจนหล่อหลอมมาเป็นคุณ ไม่ว่าประสบการณ์วัยเด็กที่คุณเคยผ่านมาจะชุ่มชื่นหัวใจ หรือขมขื่นกัดก้อนเกลือกิน
แล้วความทรงจำในวัยเด็กมันกลับหายไปไหนเสีย? ความทรงจำของการก้าวเดินครั้งแรก ลิ้มรสอาหารเข้าปากครั้งแรก หรือการมองหน้าพ่อแม่ครั้งแรก มันคงน่าตลกและแปลกประหลาดอยู่ไม่น้อย หากมีใครมาทวงถามถึงความทรงจำครั้งแรกเหล่านี้
แต่ถึงจะพิลึก แต่ก็มีกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่สนใจศึกษาความทรงจำในวัยเด็ก พวกเขานิยามการหลงลืมในช่วงวัยเด็กไว้ว่า ‘Childhood Amnesia’ โดยความทรงจำที่พอจะจับเค้าได้จริงๆ จะเกิดขึ้นในช่วง 3 ขวบแรกที่ต้องเริ่มเรียนรู้ภาษาซึ่งมีความจำเป็นในการสื่อสาร แต่หลังจากนั้น ความทรงจำในช่วง 7 ขวบกลับเลือนรางลงไปอีก กลายเป็นความทรงจำที่ยากจะเรียกคืน
แต่มันจะสูญหายแบบถาวรเชียวหรือ เราไม่สามารถจะเรียกคืนความทรงจำเหล่านี้ได้แล้วใช่ไหม
เราอาจต้องมาสำรวจสมองกันก่อนว่า ธรรมชาติของความทรงจำเกิดขึ้นอย่างไรในขณะที่คุณยังแบเบาะ
ช่วงที่ความทรงจำถูกหลงลืมและตกหล่นมากที่สุดคือ ช่วงก่อนปฐมวัย (Preschool) ซึ่งเป็นช่วงที่สมองมีพัฒนาการก้าวกระโดด ในตอนที่คุณเข้าสู่อายุ 2 ขวบ สมองที่มีน้ำหนักเฉลี่ย 25% จะกระโดดไปเป็น 75% เห็นได้ว่าสมองเติบโตโดยใช้ระยะเวลาไม่นาน และในเมื่อสมองมีพื้นที่มากขึ้น ความทรงจำก็น่าจะถูกเก็บไว้ได้มากขึ้นตามไปด้วย ถูกไหม? แต่ในความเป็นจริง สมองนั้นไม่ได้ทำงานตรงไปตรงมาเหมือนหน่วยความจำ Harddisk ของคอมพิวเตอร์
เพราะแม้สมองจะใหญ่ขึ้น แต่สมองส่วนศูนย์กลางความทรงจำและการตระหนักรู้ หรือ Hippocampus นั้นยังไม่ได้โตสุกงอมเต็มที่ ในขณะที่สมองส่วนหน้า หรือ Prefrontal cortex ที่มีหน้าที่คัดกรองข้อมูลที่จำเป็น และพัฒนาความสามารถในการจำแนกความคิด เริ่มมีจุดประสานประสาท (Synapses) หนาแน่นขึ้นและพัวพันอิรุงตุงนังไปหมดในช่วง 8 – 24 เดือนแรกที่เราเกิดมา
นักประสาทวิทยามีความเห็นว่า ช่วงที่สมองเด็กเติบโต จะเริ่มเปิดรับสิ่งเร้าต่างๆ และอ่อนไหวต่อผัสสะต่างๆ เพื่อเอามาจัดเก็บเป็นข้อมูล แต่เพราะความทรงจำเหล่านี้ไม่ได้ถูกจัดเก็บอย่างเป็นระบบระเบียบ แต่ส่งผ่านข้อมูลกันอย่างยุ่งเหยิง เนื่องจากสมองยังต้องใช้เวลาในการเชื่อมต่อเซลล์ประสาทแต่ละส่วนเข้าด้วยกัน เหมือนงานเดินสายไฟฟ้าที่ยังไม่เสร็จลุล่วงดี ทำให้ความทรงจำช่วงนี้ดูรางเลือน
ยังไงก็ตาม สมองในช่วงที่ยังเป็นเด็กนี้เองที่สำคัญมาก เพราะมีการเปิดรับ Input ทางประสบการณ์ใหม่ๆ ทำให้สมองเป็นเสมือนผืนผ้าใบขาวๆ ที่สามารถแต่งเสริมสีสันได้ และมันจะเติบโตไปเช่นนี้ตลอดชีวิตของคุณ
การจดจำวัยเด็กมีความสลักสำคัญด้วยหรือ
มีไอเดียมากมายจากผู้คนที่ตามหาความทรงจำที่ตกหล่น อย่างเช่น ในศตวรรษที่ 17 นักปรัชญาชาวสวิตเซอร์แลนด์ Jean-Jacques Rousseau เคยกล่าว “การจดจำตัวตนในอดีต ทำให้คุณรู้จักตัวเองในปัจจุบัน” หรือนักเขียนชาวรัสเซีย Leo Tolstoy ก็ยังใช้เวลาหลายปีในการพยายามหาวิธีหวนรำลึกถึงอดีตที่เขาเองไม่สามารถจำได้ ซึ่งเขาเชื่อว่า ‘ความรู้’ ที่เสาะแสวงหาน่าจะอยู่ในความทรงจำวัยเด็ก ในบทความ ‘First Recollections’ ของเขา เขียนเอาไว้ว่า
“ข้าพเจ้าพยายามนึกถึงครั้งแรกที่ดูดนมจากมารดา ครั้งแรกที่ข้าพเจ้าคลาน ครั้งแรกที่ข้าพเจ้าก้าวเดิน ครั้งแรกที่ข้าพเจ้าเอ่ยคำพูด แต่ไม่ว่าจะพยายามอย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้ากลับนึกถึงเหตุการณ์เหล่านั้นไม่ได้เลย ดังนั้นการดำรงอยู่โดยที่ข้าพเจ้าเป็นผู้รับรู้เอง มีจุดเริ่มต้นที่ไหนกัน”
Leo Tolstoy กระตุ้นให้เราฉุกคิดอย่างน่าสนใจ หากเราไม่มีความทรงจำ เราอาจจะไม่สามารถรับรู้การมีอยู่ของตัวตนของเรา แต่เมื่อความทรงจำเริ่มต้น เราถึงทราบว่าเรานั้นดำรงอยู่
รากฐานความสงสัยปูมาเรื่อยๆ จนถึงยุคนักจิตวิเคราะห์อย่าง Sigmund Freud (เขาเป็นคนแรกๆ ที่พยายามนิยาม Childhood Amnesia) ในปี 1905 ซึ่งเขาให้เหตุผลว่า การลืมความทรงจำในวัยเด็กเป็นกลไกป้องกันตัวเอง ด้วยการอำพรางหรือปกปิดประสบการณ์ปมทางเพศในวัยเด็ก ทำให้ความทรงจำนั้นลดความสมจริงลงหรือถูกทำให้เลือนราง เพื่อลดความวิตกกังวลในใจ แต่ว่าปัจจุบันหลายคนก็ไม่ยอมรับแนวคิดนี้มากนัก
ทำไมจึงยากที่จะทบทวนความทรงจำในวัยเด็ก
ความทรงจำในวัยเด็กนั้นดูพร่าเลือน คุณไม่สามารถจำเรื่องราวได้ครบถ้วน เพราะมันเป็นชิ้นส่วนที่ถูกซอยละเอียด แต่ถึงอย่างนั้นความทรงจำเหล่านี้ก็มักจะติดตรึงไว้กับ ‘อารมณ์’ (Emotion) ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้น คุณอาจจะจำเสื้อลายจุดของแม่ได้ จำกลิ่นในบ้านเก่าๆ ที่เคยอยู่ตอนเด็ก แสงวูบวาบ เสียงแว่วในหู รสชาติบางรสที่ติดในปาก
แต่ต่อให้พยายามนึกถึงความทรงจำในวัยเด็กแค่ไหน พวกเรากลับไม่สามารถปะติดปะต่อเรื่องราวทุกอย่างเข้าด้วยกันอย่างเป็นเหตุเป็นผล มีเพียงการรับรู้ถึงสิ่งเร้าที่รุนแรงต่อความรู้สึกที่ตกทอดอยู่ในความทรงจำแทน
เนื่องจากก่อนที่เด็กจะมีรูปแบบพัฒนาการทางภาษาอย่างเป็นระบบ ความทรงจำส่วนใหญ่ยังยึดติดอยู่กับการมีปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมโดยตรง เด็กไม่มีชุดคำหรือนิยามใดๆ มาอธิบายปรากฏการณ์ที่อยู่ตรงหน้า จึงมีความทรงจำที่หลงเหลือผ่านผัสสะต่างๆ เป็นเพียงเศษเสี้ยวของความทรงจำที่อาจหวนมาเพียงวูบเดียวและผ่านไปอย่างรวดเร็วเท่านั้น เหมือนการได้กลิ่นสนิมที่ทำให้นึกถึงบ้านในต่างจังหวัด สัมผัสของผ้าที่นุ่มนวลคล้ายชุดที่เคยนุ่งในตอนเด็ก เสียงที่ดังแหลมชวนปวดหูที่ทำให้คุณเคยร้องไห้
แม้ความทรงจำของวัยเด็กจะไม่ได้ปะติดปะต่อเป็นเรื่องราว แต่กลับมีอิทธิพลมากต่อการมีปฏิสัมพันธ์ต่อโลกเมื่อคุณเติบโตขึ้น คุณอาจจะเติบโตมาด้วยความรู้สึกว่าโลกนี้เติมไปด้วยสิ่งเร้าที่ดูมีอันตราย กระทบกระเทือนใจ หรือเห็นรายละเอียดของชีวิตที่คนอื่นไม่เห็น
เด็กทุกคนต้องโตมาเป็นผู้ใหญ่ การรักษาประสบการณ์เชิงบวกในวัยเด็กจึงเป็นความท้าทายท่ามกลางสังคมที่สิ่งเร้าต่างรุกรานคุกคาม เพราะความทรงจำในวัยเด็กแม้สูญหาย แต่ไม่ได้สูญสิ้นไปหมด มันยังอยู่ในความทรงจำลึกๆ ที่กระโดดมาเล่นตลกกับพวกเราเสมอ
อ้างอิงข้อมูลจาก
- Infantile Amnesia: A Critical Period of Learning to Learn and Remember
- A Developmental Perspective on Childhood Amnesia