หนังหว่องชุดใหญ่เข้า Netflix เรียบร้อย เวลาเราดูหนัง หว่อง กาไว สิ่งที่เราสัมผัสได้คือความเดียวดายในเมืองใหญ่ ความสัมพันธ์อันแปลกประหลาด ความทรงจำและห้วงเวลาที่หล่นหาย
หนังหว่องเป็นหนังที่ว่าด้วยความเหงาในเมือง (urban loneliness) จากบริบทหนังหว่องจะพูดถึงฮ่องกง หนึ่งในพื้นที่ที่กลายเป็นเมืองอย่างเต็มตัวจากอิทธิพลของการเป็นเกาะในอาณานิคมอังกฤษ และเป็นพื้นที่ที่คนจีนอพยพจากแผ่นดินใหญ่ไปสู่วิถีสมัยใหม่
มีงานศึกษาเสนอว่าหนังหว่องนำเสนอภาพฮ่องกงโดยสัมพันธ์กับมิติของเวลา ตัวหนังมักพูดถึงการหวงไห้หาอดีต การพลาดโอกาส การสูญเสียหรือการทำความรักความสัมพันธ์หล่นหายไป ประเด็นเรื่องความรู้สึก เวลา และความทรงจำจึงเป็นสิ่งที่นำเสนอผ่านพื้นที่ไม่ว่าด้วยมุมกล้อง สี และการผสมปนเประหว่างความจริงและความฝัน ทั้งหมดนั้นถูกฝังลงในพื้นที่เมืองมหานครเพื่อสะท้อนถึงความสัมพันธ์และความเป็นไปของผู้คนในเมืองที่ดูชืดชานี้
ยิ่งดูยิ่งเหงา ยิ่งดูยิงโหยหา แน่นอนเมืองและงานศึกษาจำนวนไม่น้อยยืนยันว่าภาวะเมืองและการใช้ชีวิตในเมืองส่งผลต่อความรู้สึกเหงาและเดียวดาย และในปัจจุบันด้วยบริบทสังคม หลายประเทศก็เริ่มมองเห็นว่าความเหงากำลังเป็นโรคระบาดที่ส่งผลเสียโดยตรงกับสุขภาพ ยิ่งโควิดมา คนยิ่งแปลกแยกและเหงามากขึ้น
ดังนั้น เมืองใหญ่ก็เลยเป็นจุดเพ่งเล็งสำคัญว่าเป็นพื้นที่ของคนเหงา การอยู่อย่างโดดเดี่ยว เมืองที่ชืดชาทำให้คนแปลกหน้าต่อกัน ไม่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ยุคหนึ่งนักวางผังเมือง นักออกแบบก็พยายามแก้ไขพื้นที่เมืองให้มีความน่ารักอบอุ่น กระตุ้นความสัมพันธ์ของผู้คนในเมือง
จนล่าสุดมีงานวิจัยที่บอกว่า เมืองใหญ่หรือเล็กอาจจะไม่ใช่ประเด็นในการบ่มเพาะความเหงาและความรู้สึกหดหู่ แต่การมีพื้นที่ให้คนมาปฏิสัมพันธ์กันแบบทางอ้อม เช่น การเดินสวนกัน การนั่งมองคนแปลกหน้า ก็เป็นสิ่งที่สร้างความอบอุ่นในใจให้กัน ลดความเปลี่ยวร้างในใจลง พูดง่ายๆ คือ คนในเมืองมีการปฏิสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า และสิ่งนี้แหละคือสิ่งที่ทำให้เมืองหว่องน้อยลง
เมืองใหญ่ไม่เศร้าเสมอไป
ปกติเราจะรู้สึกว่าเมืองยิ่งใหญ่ ยิ่งเต็มไปด้วยตึกระฟ้า เต็มไปด้วยคนแปลกหน้าก็จะยิ่งทำให้เราเดียวดายท่ามกลางผู้คนจำนวนมหาศาลนั้นๆ แต่ว่าล่าสุดมีงานวิจัยที่สนใจอิทธิพลของเมืองใหญ่ที่มีต่อประเด็นทางสุขภาพจิต เป็นรายงานการวิจัยชื่อ ‘Evidence and theory for lower rates of depression in larger US urban areas’ ซึ่งก็ตามชื่องานวิจัยเลยว่า พื้นที่เมืองที่ยิ่งเป็นเมืองใหญ่มากขึ้นนั้นกลับรายงานภาวะซึมเศร้าที่ลดลง ซึ่งฟังดูขัดกับความเข้าใจเดิมของเราว่า ยิ่งอยู่กลางเมืองหรือเมืองยิ่งใหญ่เท่าไหร่ก็ยิ่งกร่อนหัวใจมากขึ้นเท่านั้น
โอเค ตัวงานวิจัยแม้ว่าจะมุ่งเน้นไปที่เรื่องอาการซึมเศร้าที่ลดลงในพื้นที่เมืองใหญ่ แต่ประเด็นของการศึกษา คือ การดูผลกระทบของพื้นที่เมืองในฐานะพื้นที่สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์เราสร้างขึ้นว่ามันส่งผลต่อสุขภาพจิตใจเรามากน้อยแค่ไหน และกลายเป็นว่า เมืองใหญ่อาจส่งผลดีต่อสุขภาพใจมากกว่าเมืองเล็ก
ฟีเจอร์สำคัญที่นักวิจัยเสนอ คือ ประเด็นเรื่องปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (social interaction) ว่าจริงๆ แล้วตัวเลขที่เมืองใหญ่เหมือนจะมีผลดีต่อสุขภาพจิตใจมากกว่านั้น ก็เพราะเมืองใหญ่มีพื้นที่ที่เกิดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมมากกว่าเมืองเล็กๆ ที่อาจจะขาดการพัฒนาและขาดการเพิ่มพื้นที่ปฏิสัมพันธ์ของผู้คนนั่นเอง
ทีนี้ เรื่องปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในเมืองใหญ่ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ คือ เรารู้และพยายามออกแบบพื้นที่เมืองให้คนแปลกหน้ามามีปฏิสัมพันธ์กัน อาจจะเป็นลาน เป็นทางเดิน เป็นเปียโนในสวน ไปจนถึงบ้านพักอาศัยร่วมกันเพื่อส่งให้คนได้มีปฏิสัมพันธ์กัน แต่สิ่งหนึ่งที่งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นคือปฏิสัมพันธ์ในเมืองที่ว่านั้น ในความสัมพันธ์แบบเมืองๆ ที่ดูจะแห้งแล้งเช่นการเดินเร็วๆ สวนกันไปมา แต่ในที่สุดพื้นที่กายภาพทั้งถนนยาวๆ โครงข่ายเมืองที่หนาแน่นและซับซ้อนจนทำให้โครงข่ายความสัมพันธ์ของเรามีความหลากหลายตามไปด้วยนั้น กลับส่งผลเชิงบวกกับสุขภาพจิตของเราเอง
จริงๆ งานวิจัยนี้นักวิจัยเองก็บอกว่ายังไม่ได้ชัดแจ้งขนาดนั้น เพราะด้วยภาวะซึมเศร้า (depression) ที่แน่นอนว่ามีบริบทมากมายทั้งชาติพันธุ์ สถานะทางสังคม แต่งานศึกษานี้ใช้โมเดลทางคณิตศาสตร์เพื่อคำนวนความสัมพันธ์ของพื้นที่เมืองกับภาวะซึมเศร้า งานศึกษาชี้ว่าความสัมพันธ์ในเมืองแค่การเดินสวนกันนั้น อย่างน้อยการได้เห็นผู้คนที่เดินผ่านกันก็ส่งผลบวก เป็นเกราะป้องกันทางใจได้ในระดับหนึ่ง
แอนดรูว์ สเตียร์ (Andrew Stier) หัวหน้าทีมวิจัยให้สัมภาษณ์กับ Citylab ว่า งานวิจัยนี้ทำให้เห็นว่าเมืองเล็กเองก็อาจจะมีปัญหาเพราะขาดพื้นที่ที่คนมาพบเจอกัน ความเข้าใจใหม่นี้ทำให้นักวางผังเมืองหาทางสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคมให้กับพื้นที่เมืองไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ซึ่งก็จะส่งผลดีกับสุขภาพจิตให้กับคนในพื้นที่เมืองนั้นๆ ด้วย รวมถึงการสร้างกลยุทธ์ให้เมืองในการผลักดันให้คนหมุนเวียนไปทั่วๆ พื้นที่เมือง เช่น การออกแบบให้คนจากย่านหนึ่งไปปรากฏหรือเดินเล่นอยู่ในอีกย่านหนึ่ง เพื่อขยายปฏิสัมพันธ์และเครือข่ายทางสังคมในเมืองใกว้างและเข้มข้นขึ้น
อันที่จริง เราเองก็อาจจะพอเข้าใจความรู้สึกของการเป็นคนเมืองที่บางครั้งเรานั่งอยู่ในพื้นที่คนเดินไปเดินมา แม้ว่าจะไม่ได้รู้จักกัน แต่ในใจก็รู้สึกไม่แย่นัก คือ ไม่ได้เหงาหรือเศร้ามากขึ้น แต่ก็รู้สึกดีเป็นความรู้สึกที่เชื่อมต่อกันกับคนแปลกหน้าในเมืองใหญ่ที่เราอาศัยอยู่
Social Wayfinding เชื่อมต่อกับคนอื่นด้วยเส้นทางการเดิน
นอกจากความรู้สึกเชื่อมต่อกับคนอื่น—คนแปลกหน้า—ผ่านการนั่งหรือเดินสวนกัน ที่ถือเป็นความรู้สึกคลายเหงาหรือการช่วยอบอุ่นใจในเมืองใหญ่แล้ว ยังมีอีกแนวคิดที่ดูจะสัมพันธ์กันคือเป็นการอธิบายความสัมพันธ์ของเรากับคนแปลกหน้าในเมืองใหญ่ที่คราวนี้ทำผ่านการเลือกเส้นทางการเดินและการเลือกเดิน เป็นแนวคิดที่เรียกว่า social wayfinding
คุณคงเคยอยู่ในที่ที่ไม่คุ้นเคย มีคนเดินเยอะๆ แล้วในจุดนั้นเอง เราอาจจะตัดสินใจ ‘เดินตาม’ คนอื่น โดยคาดว่าเส้นทางที่คนกำลังเดินกันอยู่น่าจะเป็นเส้นทางที่เรากำลังจะไป เข้าทำนองทางเดียวกันไปด้วยกัน ซึ่งไอ้การเลือกเดินตามกัน ตามเส้นทางเดียวกันนั้น ก็ถือเป็นวิธีการที่เราเชื่อมต่อกับคนอื่นผ่านการเลือกเส้นทาง โดยที่เราเองก็อนุมานว่าคนรอบๆ ตัวน่าจะมีปลายทางเดียวกันกับเรา
แนวคิดเรื่อง social wayfinding เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาพฤติกรรมของผู้คนในการตัดสินใจหาเส้นทางเพื่อไปถึงจุดหมาย ประเด็นที่น่าสนใจมาจากงานศึกษาชื่อ ‘Wayfinding as a Social Activity’ ในปี ค.ศ.2019 คือ การหาเส้นทางเพื่อไปยังจุดหมาย และประเด็นสำคัญคือการหาเส้นทางที่ผู้ศึกษาอ่านว่ามันเป็น ‘กิจกรรมทางสังคม’ อย่างหนึ่ง
แน่นอนการถามทางก็ถือเป็นวิธีการหนึ่ง แต่หนึ่งในการหาทางที่ผู้วิจัยชี้ให้เห็น คือ ในการหาเส้นทางไปในที่ใดๆ นั้น เป็นกิจกรรมทางสังคมที่เรา ‘พึ่งคนอื่น’ อยู่เสมอ และการพึ่งคนอื่นในการหาเส้นทางแบบหนึ่งคือการที่เรา ‘เดินตามฝูงชน’ ไป กระบวนนี้เป็นการศึกษาเชิงพฤติกรรมว่า มนุษย์เราจะแก้ปัญหาได้อย่างไร และวิธีการแก้ปัญหาของเรานั้นก็อยู่กับมิติทางสังคมและวัฒนธรรมโดยมีการสื่อสารทั้งทางตรงและทางอ้อมเป็นสำคัญ
ทีนี้ การสื่อสารเพื่อหาเส้นทางของเราโดยเฉพาะในเมืองใหญ่เลยมีประเด็นเรื่องการสื่อสาร และการตีความผู้คนรวมถึงประสบการณ์ของผู้คน—คนแปลกหน้าหรือฝูงชน—อยู่ในนั้นด้วย โดยเฉพาะเวลาที่เราเดินทางไปต่างถิ่น ไม่แปลกที่พอเราอาจจะเดินออกจากเครื่องบินแล้วเราจะเดินตามคนที่มุ่งหน้าไปทางเดียวกัน การเดินออกจากรถใต้ดินเพื่อจะไปห้าง เราเองก็อาจจะมองหาและเดินตามคนที่เราคิดว่าน่าจะไปปลายทางเดียวกับเรา
หรือกระทั่งในเส้นทางที่เราคุ้นเคย ในเมืองหรือในพื้นที่ที่เราไม่ได้หลงทาง แต่นึกภาพว่าถ้าเราจะเดินจากตึกหนึ่งไปอีกตึกหนึ่ง ถ้าคนเดินตามเส้นทางเดียวกัน เราเองก็มักจะเดินตามคนอื่นๆ ด้วยการอนุมานว่าเส้นทางนี้น่าจะสั้นที่สุด ถูกต้อง ปลอดภัย ไม่ว่าจะจากฝนหรืออาจจะจากอะไรก็แล้วแต่ ซึ่งสุดท้ายเราเองคาดคิดว่าทั้งเราและคนแปลกหน้าก็จะไปจุดปลายทางเดียวกันได้
แนวคิดเรื่องการเดินตามๆ กันจึงเป็นการศึกษาเชิงพฤติกรรมที่น่าสนใจ ซึ่งบางส่วนเป็นการสังเกตและเชื่อมโยงกับพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตอื่น เช่น ฝูงปลาที่ว่ายไปทางเดียวกันซึ่งให้ภาพคล้ายกันกับฝูงชนที่เดินสวนกันไปมา โดยที่ในนั้นอาจจะมีการเดินตามกันไปโดยที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ
ในสองประเด็น ทั้งการปรากฏตัวอยู่ท่ามกลางคนแปลกหน้าที่อาจส่งผลดีกับสุขภาพจิตหรือส่งผลกับความรู้สึก รวมถึงพฤติกรรมที่เราที่มีต่อคนอื่นผ่านการตีความ การเดินตามๆ กัน และการหาเส้นทางไปยังจุดหมายนั้นก็ดูจะสัมพันธ์กับความสัมพันธ์และพฤติกรรมของเราที่มีต่อคนแปลกหน้า โดยในพื้นที่เมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยคนแปลกหน้า ว่าในที่สุดแม้ว่าเราจะไม่รู้จัก ไม่ได้มีการสื่อสารกันโดยตรง แต่เราเองก็มีความพยายามในการเชื่อมต่อ สื่อสาร ตีความและทำความเข้าใจกันและกันอยู่เสมอ
ในที่สุดความเข้าใจพฤติกรรมอันแปลกประหลาดของเราในเมืองใหญ่ก็อาจจะส่งผลกับการพัฒนาเมือง การสร้างให้พื้นที่เมืองอันเป็นสิ่งปลูกสร้างของเรานั้นส่งเสริมสุขภาพใจของเรามากขึ้น การมีพื้นที่ที่เราสามารถสวนกันได้ สามารถเดินผ่านกันได้ รวมถึงการมีถนนหนทางให้เดินได้ เข้าใจว่าการเดินของเราสัมพันธ์กับการเดินของคนอื่น การได้เดินไปกับผู้คนจำนวนมากก็อาจทำให้เราเหงาน้อยลง ได้เดินมากขึ้น ดีทั้งต่อสุขภาพกายและใจต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Kodchakorn Thammachart