เอาเก็บไว้บนที่สูงๆ มันเหงา มันหนาว อดนอนวิจัยมาเป็นปีๆ เอาเล่มไปวางทิ้งบน ‘หิ้ง’ ทำไมล่ะ?
ถึงเวลาที่นักศึกษาไทยจะอัญเชิญงานวิจัยลงจากหิ้งแล้ว!
ในเมื่องานวิจัยของนักศึกษารุ่นใหม่ๆ “ขายได้ ขายดี” จนมีผู้ประกอบการเตรียมจีบตั้งแต่ยังไม่ทันเรียนจบ คุณจะเห็นได้ว่าเทรนด์แวดวงวิจัยของสถาบันต่างๆ เน้นตอบสนองกระแสสังคมที่ต้องก้าวกระโดดรวดเร็ว แข่งขันสูง และความท้าทายที่มากขึ้น ผนวกกับความต้องการเพิ่มอัตราสัดส่วนนักวิจัยที่เข้าใจด้านอุตสาหกรรม และผลักดันให้เกิดผลงานคุณภาพสูง ที่ไม่สูงส่งจนคนทั่วไปจับต้องไม่ได้ เพราะนักวิจัยก็อยากอาสาแก้ไขปัญหาให้คนอย่างเราๆ ท่านๆ นี่แหละ ไม่ใช่ใครที่ไหน
จากงานประชุมวิชาการ โครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือ พวอ. โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้พาเราไปพบกับงานวิจัยจากฝีมือนักศึกษาทั่วประเทศที่มีความโดดเด่น สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับภาคอุตสาหกรรมได้จริง จนมีบริษัทเอกชนสนใจขอมาร่วมลงทุนด้วย
ธุรกิจต้องการ ‘มันสมอง’ และงานวิจัยที่ถูกอัญเชิญลงจากหิ้ง ถือเป็นโอกาสสำคัญ ให้นักวิจัยไทยกระเป๋าตังค์ไม่กรอบ แถมยังต่อยอดประเทศได้อีกเยอะ
1. ฝาผนังหยุดยั้ง ‘ลูกกระสุน’
แม้คุณจะเป็นคนดวงดีสุดๆ ในระดับที่หมอช้างชมเปราะ แต่เรื่องไม่คาดฝันก็ยังเกิดขึ้นได้ทุกวินาที นั่งทำงานอยู่อาจมีใครคว้าปืนกราดยิงคุณแบบไม่เลือกหน้า ยิ่งชีวิตคุณต้องทำงานในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ว การรับมือ ‘คมกระสุน’ ด้วยอะไรที่เชื่อถือได้มากกว่าเครื่องรางน่าจะอุ่นใจกว่า
การหลบหลัง ‘ผนัง’ อาจเป็นการเอาชีวิตรอดที่เร่งด่วนที่สุด แต่ไม่ใช่ทุกฝาผนังจะปลอดภัย เพราะเมื่อคุณจำเป็นต้องหลบกระสุนอันเกรี้ยวกราด ผนังส่วนใหญ่ที่ทำจากคอนกรีตมีความเปราะบาง แตกหักง่าย และยิ่งเลวร้ายกว่าเมื่อกระสุนปะทะเข้ากับผนังคอนกรีต ทำเกิดโอกาส ‘กระสุนสะท้อนกลับแบบไร้ทิศทาง’ เพิ่มอันตรายกว่าเดิมเสียอีก (มีกรณีหน่วยสวาทจู่โจมผู้ก่อการร้ายในออสเตรเลีย แต่ตัวประกันถูกลูกกระสุนลูกหลงที่สะท้อนกลับจนเสียชีวิต)
ผนังบ้านในยุคหน้าจึงต้อง ‘หยุดกระสุน’ ได้เด็ดขาด โดยเพิ่มค่าใช้จ่ายเพียงนิดเดียว
งานวิจัยฝีมือนักศึกษาปริญญาเอกไทย พัฒนา ‘ผนังคอนกรีตเสริมเส้นใยกันกระสุนแบบหลายชั้น’ ซึ่งในเบื้องต้นได้ออกแบบมาเพื่อกันกระสุนปืนพกตั้งแต่ขนาด 9 มม.เป็นต้นไป มีความสามารถทำลายหัวกระสุนอย่างเด็ดขาด โดยฝาผนังมีน้ำหนักเบา และหนาเพียง 3.5 เซนติเมตร ทำจากวัสดุเหลือใช้ของอุตสาหกรรมบ้านเรา เช่น เส้นใยเหล็ก แผ่นยาง ลงทุนเพิ่มต่อตารางเมตรเพียง 500 บาท
ในอนาคตนักวิจัยวางแผนไว้ว่า ผนังจะสามารถกันกระสุนของอาวุธสงครามได้ โดยจะทำให้เป็นผนังสำเร็จรูป (Pre-cast) ยกไปติดตั้งง่าย และหากต้องซ่อมก็เปลี่ยนแค่แผ่นที่เสีย ไม่ต้องรื้อทั้งหมด เหมาะใช้ก่อสร้างอาคารต่อต้านก่อการร้าย บังเกอร์ ห้องนิรภัยเก็บของมีค่า
หรือหากคุณรู้ตัวว่ามีคู่อริเยอะ ก็อาจเหมาไปสร้างบ้านก็ได้
โครงการวิจัย : การพัฒนาผนังคอนกรีตเสริมเส้นใยกันกระสุนแบบหลายชั้น เพื่อลดการทะลุผ่านและสะท้อนกลับของกระสุน
ผู้วิจัย : นายบูชิต มาโห้
อาจารย์ที่ปรึกษา : ศ. ดร.ปิติ สุคนธสุขกุล
ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
2. ไม่ต้องแก้ปริศนาวาง ‘ตู้คอนเทนเนอร์’ แค่ปล่อยให้อัลกอริทึ่มจัดการ
ใครมีอาชีพทำงานเกี่ยวกับคลังสินค้า คงปวดหัวกับการจัดเรียงกล่องในตู้คอนเทนเนอร์ให้ประหยัดเนื้อที่ โดยต้องรักษาสภาพสินค้าให้ปลอดภัยมากที่สุด คงเหมือนกับการเล่นเกม Tetris ระดับยากโดยที่ไม่มีโอกาสพลาด (และไม่น่าสนุก) การเหลือช่องว่างในตู้คอนเทนเนอร์ก็เหมือนกับต้นทุนที่บริษัทต้องแบกรับมากขึ้น น้ำมันขนส่งก็แพงเอาๆ การบริหารจัดการที่ลด cost แต่ไม่ลดประสิทธิภาพจึงฟังดูน่าชื่นใจมากที่สุดสำหรับผู้ประกอบการ
โดยปกติแล้วอาชีพคนจัดเรียงสินค้าต้องอาศัยประสบการณ์สูง (หรือเล่น puzzle เก่ง) แต่ไม่แน่ว่า ‘อัลกอริทึ่ม’ ที่ชาญฉลาดอาจมาทดแทนได้ ซึ่งงานวิจัยนี้ใช้การคำนวณเชิงวิศวกรรมที่แม่นยำ โดยจัดเรียงกล่องสินค้าใส่ตู้คอนเทนเนอร์ให้พื้นที่เกิดการใช้ประสิทธิภาพสูงสุด จัดเรียงได้หลายรูปแบบ เหมาะสมกับลักษณะสินค้าและตู้
โปรแกรมการใช้งานก็สามารถทำได้ง่ายๆ เพียงป้อนรายละเอียดเข้าไปเพื่อคำนวณการวางเป็นตัวเลข ให้พนักงานเอาไปวางแบบจิ๊กซอว์โดยไม่ต้องลองผิดลองถูก ซึ่งในอนาคตนักวิจัยได้วางแผนพัฒนาให้แสดงผลแบบ 3 มิติสวยงาม เห็นการเรียงโชว์แบบ visual ที่ดี
เหล่า perfectionist เมื่อเห็นทุกกล่องวางอย่างแนบสนิทก็คงฟิน ใครทำธุรกิจโกดังยุคนี้รีบคว้าไว้เลย
โครงการวิจัย การประยุกต์ใช้วิธีเมต้าฮิวริสติกส์เพื่อแก้ปัญหาแนปแซกแบบ สามมิติหลายวัตถุประสงค์
ผู้วิจัย : นายสุริยะ พงษ์หมู
อาจารย์ที่ปรึกษา : รศ. ดร.คมกฤต เล็กสกุล
ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
3. สารสกัดจากขมิ้นที่เป็นมิตรต่อตัวคุณและธรรมชาติ
ขมิ้นชันเป็นยอดสมุนไพรพื้นบ้านไทยที่ช่วงนี้ดูจะเนื้อหอมเป็นพิเศษ โดยฝั่งตะวันตกเริ่มหลงใหลขมิ้นชันที่มีสารสำคัญในเหง้าอย่าง ‘สารเคอร์คูมินอยด์’ ที่เป็นองค์ประกอบหลัก 3 ชนิด ได้แก่ เคอร์คูมิน, ดีเมทอกซีเคอร์คูมิน และบิสดีเมทอกซีเคอร์คูมิน โดยขมิ้นชันที่คุณคุ้นเคยนั้นมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาทั้งต้านการอักเสบ ต้านออกซิเดชั่น และต้านมะเร็ง สามารถเอาไปทำอะไรได้เยอะ
แต่การสกัดเคอร์คูมินอยด์ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย มีข้อจำกัดที่กระบวนการผลิตมักใช้ตัวทำละลาย ‘ที่เป็นพิษ’ สกัดได้ปริมาณน้อย และใช้เวลาค่อนข้างนาน รวมไปถึงประสิทธิภาพในการดูดซึมไปใช้ประโยชน์ต่อร่างกายยังน้อยลงอีกด้วย การดึงประโยชน์ของขมิ้นมาใช้แบบเต็มๆ เป็นเรื่องท้าทายไม่น้อยในเชิงเทคนิค
งานวิจัยนี้จึงศึกษาวิธีสกัดและแยกสารด้วยตัวทำละลายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Process) มีความปลอดภัยสูง ทำให้ได้สารเคอร์คูมินอยด์ปริมาณสูง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 โดยน้ำหนัก ที่มีประสิทธิภาพการละลายน้ำทำให้ร่างกายนำไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นถึง 70 เท่า
งานวิจัยนี้จึงเป็นการเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ให้กับแวดวงยาและสมุนไพร รวมถึงกระตุ้นให้กระบวนการสกัดสารมีความปลอดภัย และคำนึงถึงประโยชน์ผู้บริโภคเป็นสำคัญ
โครงการวิจัย : การเตรียมสารสกัดขมิ้นชันที่มีเคอร์คูมินอยด์ปริมาณสูง (CRE) ด้วยวิธีการสกัดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการเตรียมในรูปแบบ CRE-cyclodextrin inclusion ternary complex เพื่อใช้ป้องกันมะเร็ง
ผู้วิจัย : นายลิขิต ลาเต๊ะ
อาจารย์ที่ปรึกษา : รศ. ดร.ภาคภูมิ พาณิชยูปการนันท์
ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
4. ขนมกินเล่น แต่ได้ประโยชน์จริงจัง
กระแสขนมกินเล่นเพื่อสุขภาพกำลังคึกคัก ผู้คนเริ่มให้ความสนใจ ‘ขนมที่ไม่ควรไร้ประโยชน์’ แต่ต้องให้คุณค่าทางอาหารที่ดี รสชาติก็ต้องได้ หน้าตาก็ต้องดึงดูด ต้องการอะไรเยอะแยะจัง!
ความเรียกร้องจากปากท้องคุณ ทำให้เกิดงาน ‘พัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากถั่วเมล็ดแห้ง’ โดยได้วิจัยการแปรรูปถั่ว ไม่ว่าจะต้ม นึ่ง หรือคั่ว (แต่การนึ่งดีที่สุด นักวิจัยว่ามา) เพื่อให้ถั่วยังคงมีสารพฤกษเคมีให้ได้มากที่สุดและมีคุณประโยชน์ทางด้านสุขภาพ
ขนมธัญพืชจากการแปรรูปที่พยายามรักษาคุณค่าทุกขั้นตอน มีโปรตีนย่อยง่าย รสชาติอร่อยและมีสารพฤกษเคมีที่สำคัญเช่น สารประกอบฟีนอล สารประกอบฟลาโวนอยด์ และกาบ้า ที่มีส่วนช่วยในการต้านอนุมูลอิสระบำรุงสมองและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ได้ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ
งานวิจัยสามารถพัฒนาไปในระดับอุตสาหกรรมอาหารขนมขบเคี้ยว และยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรบ้านเราด้วย
ขนมกินเล่นในยุคโมเดิร์นใส่ใจสุขภาพ ที่คุณแม่เห็นแล้วคงไม่เอ็ดคุณ
โครงการวิจัย : การศึกษาผลของการแปรรูปต่อปริมาณและฤทธิ์ทางชีวภาพของสารพฤกษเคมีในถั่วชนิดต่างๆ เพื่อการประยุกต์ใช้ในเชิงอุตสาหกรรม
ผู้วิจัย : นายเอกราช ตังควานิช
อาจารย์ที่ปรึกษา : รศ. ดร.ศิริธร ศิริอมรพรรณ
ภาควิชาเทคโนโลยีการอาหารและโภชนศาสตร์ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
5. เจลพิษผึ้ง ยับยั้งแบคทีเรีย
นักวิทยาศาสตร์ทั่วทุกมุมโลกต่างหลงใหล ‘ผึ้ง’ ชีวิตของพวกมันล้วนเต็มไปด้วยความมหัศจรรย์ตลอดวงจรชีวิต
โดยเฉพาะ ‘พิษผึ้ง’ (Bee venom) เป็นสารธรรมชาติที่ประกอบด้วยสารสำคัญหลายชนิดและมีการนำมาใช้ประโยชน์ในการรักษาโรคมาอย่างยาวนาน งานวิจัยจึงศึกษาโปรตีนจากพิษผึ้งโดยมีคุณสมบัติยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคบริเวณผิวหนัง รวมถึงเชื้อดื้อยาที่เป็นปัญหาสำคัญในระบบสาธารณสุข
น่าสนใจที่โปรตีนจากพิษผึ้งมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคบริเวณผิวหนังได้อย่างรวดเร็ว ยับยั้งเชื้อ ‘สแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส’ (Staphylococcus aureus) ได้ภายใน 1 – 2 ชั่วโมง โดยเบื้องต้นไม่พบการระคายเคืองผิวหนังหลังการใช้
นักวิจัยพัฒนาให้ใช้ง่ายขึ้นโดยทำเป็น ‘เจล’ สามารถเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผลิตภัณฑ์จากผึ้งที่สามารถใช้รักษาโรคผิวหนัง โดยในอนาคตพิษผึ้งจะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพในการรักษาโรค ลดปริมาณการใช้ยาและผลข้างเคียงจากการใช้ยา
หากเราพิจารณาด้วยสายตาที่ละเอียดลออสักหน่อย ผึ้งยังมีของดีอีกเยอะ
โครงการวิจัย : การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพิษผึ้งเพื่อการยับยั้งแบคทีเรียก่อโรคบริเวณผิวหนัง
ผู้วิจัย : นางสาวศิริขวัญ แสงบุญเรือง
อาจารย์ที่ปรึกษา : ผศ. ดร.ยิ่งมณี ตระกูลพัว
ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
6. ตรวจ ‘เอดส์หมู’ ให้เจอ ก่อนพาเธอเข้าฟาร์ม
ไม่มีใครอยากบริโภคเนื้อหมู ที่ติดโรคระบาด โดยเฉพาะ ‘โรคเอดส์หมู’ Porcine reproductive and respiratory syndrome (PRRS) มีสาเหตุมาจากไวรัสร้าย PRRSV ที่หากมีหมูสักตัวได้เล็ดลอดติดเข้ามาในฟาร์ม ก็มีแนวโน้มที่สมาชิกหมูอื่นๆ จะติดไปด้วย ทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่าหลายล้านบาทต่อปี
การป้องกันที่สามารถทำได้คือการ ‘คัดกรอง’ หมูก่อนนำเข้าฟาร์ม แต่การตรวจวินิจฉัยยังคงต้องทำในห้องปฏิบัติการ และสุ่มตรวจ ไม่ครอบคลุมหมูทุกตัว ทำให้ยังมีโอกาสที่หมูติดเชื้อจะเล็ดลอดเข้าไปได้
งานวิจัยนี้จึงตอบโจทย์นี้โดยการพัฒนา ‘ชุดตรวจหาเชื้อไวรัส PRRSV’ อย่างง่ายที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถนำไปให้ผู้เลี้ยงใช้ได้จริงหน้าฟาร์ม หลักการคือ ใช้การเปลี่ยนสีของสารละลายอนุภาคทองคำขนาด 20 นาโนเมตร ที่ปกติจะมีสีแดง แต่เมื่อถูกกับไวรัส PRRSV จะมีสีม่วง สามารถสังเกตได้ง่าย หลักการนี้นำไปใช้พัฒนาเป็นชุดตรวจคัดกรองสุกรอย่างง่าย ที่ตรวจได้ตั้งแต่หน้าฟาร์ม เกษตรกรทำได้เอง และมีราคาตรวจเพียงไม่กี่ร้อยบาท ทำให้สามารถตรวจครอบคลุมหมูได้ทุกตัว
เกษตรกรจึงมีส่วนช่วยลดการระบาดของโรคเอดส์หมูในประเทศ และลดมูลค่าความเสียหายได้หลายล้านบาท
โครงการวิจัย : การพัฒนาแอปตาเมอร์เพื่อใช้ในการตรวจหาเชื้อ PRRSV ในสุกร
ผู้วิจัย : นายจักร์เพชร กุ้ยติ้ว
อาจารย์ที่ปรึกษา : รศ.ดร.เกียรติทวี ชูวงศ์โกมล
สาขาพันธุวิศวกรรม โครงการสหวิทยาการระดับบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ขอขอบคุณ
โครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 (RRi Congress IV)
rricongress.com
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (The Thailand Research Fund)