จะไม่มีอะไรเหลือทิ้งเลย หากเราค้นพบความอร่อย ด้วยมันสมองสุดสร้างสรรค์
ได้ยินเพียงคำว่า ‘วิจัย’ ดันรู้สึกปวดหัววูบขึ้นมาทันที แต่ถ้ามันเป็น ‘ของกิน’ แล้วล่ะก็ รู้สึกดีขึ้นมาบัดดล งานวิจัยดีๆ ทำไมจะทำของอร่อยๆ ขายไม่ได้ และมันเป็นโอกาสทางธุรกิจที่งดงาม โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็ก-ขนาดกลาง ที่หากมีงานวิจัยไว้ในมือบ้าง จะคิดทำอะไรก็อุ่นใจกว่าเดิม เพราะงานวิจัยไทยเข้าใจวัตถุดิบในประเทศได้ดีกว่าใครเพื่อน!
ยุคนี้เราพูดกันถึงธุรกิจแบบ Zero Waste ที่จะไม่เหลืออะไรทิ้งให้เสียของไปเปล่าๆ บวกกับการเติบโตของ SME ที่คุณพี่ป้าน้าอาจะลุยทำธุรกิจเองโดยไม่ต้องลงทุนมาก แต่อยากได้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ซ้ำใครเลย ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ แต่ต้องได้สินค้าคุณภาพสูง ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและดีต่อสุขภาพ พวกเขาจะหาองค์ความรู้เหล่านี้ได้จากที่ไหนล่ะ?
บ้านเรามีงานวิชาการที่วิจัยไว้ระดับยอดเยี่ยมเต็มไปหมด ก็จับ SME ไฟแรงกับงานวิจัยเก๋าๆ มา ‘ชน’ กันเลยสิ!
จากงาน Innovative House Awards 2017 เราจึงได้ผลิตภัณฑ์ของกินของใช้ที่แหวกแนว พิลึกพิลั่น (แต่รสชาติดีนะเออ) ที่ ‘วิจัยได้ ขายจริง’ สายขนมทั้งหลาย ปากคุณจะไม่ว่างอีกต่อไป ยิ่งกินก็ยิ่งสนับสนุนงานวิจัยไทยให้ก้าวไปเร็วกว่าเดิม
(ป.ล. บางสินค้าเป็นสินค้าใหม่ที่กำลังอยู่ในช่วงเตรียมวางตลาด อาจยังไม่ปรากฏบนชั้นร้านค้าในช่วงนี้)
1. Mello Bello บอลน้ำผลไม้ ระเบิดในปาก!
ลองจินตนาการว่าคุณอมลูกบอลผิวหยุ่นๆ ไว้ในปาก แล้ว “โบ๊ะ!!” ลูกบอลแตกทำเอาน้ำผลไม้สาดกระเซ็นฉ่ำในช่องปาก คงเป็นประสบการณ์ใหม่ที่พิลึกน่าลอง และน่าจะทำเงินใช่เล่น
ด้วยลูกเล่นสุดแพรวพราวนี้ทำให้คุณสามารถนำ Mello Bello ไปต่อยอดเป็นอาหารว่างสุดครีเอทอวดเพื่อนๆ ได้ ผลิตภัณฑ์นี้ใช้เทคนิควิทยาการทำอาหาร (GASTRONOMY) โดยการใช้พอลี่แซคคาไรด์มาช่วยห่อหุ้มน้ำผลไม้ธรรมชาติให้คงตัว น้ำผลไม้จะอยู่ด้านใน ไม่ซึมออกมาให้เสียอารมณ์ และบอลต้องแตกในคำแรกที่กัด ความยากจึงอยู่ที่เปลือกที่นำมาใช้ห่อหุ้มที่มาจากการทดลองสารพัด หาสภาวะการผลิตที่เหมาะสม ปัจจุบันมี 3 รส คือ มะพร้าว มะม่วง และมะละกอ
นอกจากนั้นอายุขัยในการเก็บก็ยาวนานขึ้น 3- 12 เดือนโดยไม่ต้องเติมสารกันเสียใดๆ จึงปลอดภัยต่อผู้บริโภคและแหวกแนวจนเราชื่นชอบ
นักวิจัย : ดร.วิชชา ตรีสุวรรณ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ผู้ประกอบการร่วมทุน : บริษัท ภัทชนิก จำกัด โทร. 081 444 5945
2. สวรรค์สายเคี้ยว ‘ปลานิลทอดกรอบสุญญากาศ’
เป็นพวกกลัวอ้วนแต่ก็ปากว่างเป็นไม่ได้ ต้องหาอะไรมาขบเคี้ยวตลอด และหากคุณอยากได้ขนมกรุบกรอบติดบ้านไว้ จงเตรียมเปิดใจให้กับ ‘ปลานิลทอดกรอบสุญญากาศ’ ที่การทอดธรรมดาๆ มันเชยไปแล้วเธอ
ปลานิล Tilapia Nilotica ที่เราคุ้นเคยกันดีไม่ใช่ปลาไทย แต่เป็นปลาแอฟริกาที่ถูกนำเข้าสู่ประเทศไทยครั้งแรกโดยสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะของญี่ปุ่น จนพัฒนาเป็นปลาเศรษฐกิจ เพราะเลี้ยงง่าย โตไว รสชาติอร่อยดี
ก่อนหน้านี้ปลานิลตัวเล็กๆ จะขายไม่ค่อยออก ทำได้เพียงส่งให้แม่ค้าเอาไปป่นทำอาหารสัตว์หรือทำปลาร้าได้ราคาไม่ค่อยชื่นใจเท่าไหร่ จึงเปลี่ยนวิธีคิดซะใหม่ เอาปลานิลตัวเล็กๆ เนื้อแน่นๆ มาตัดแต่งเป็นชิ้นพอดีคำ กัดกรวมเดียวจบ
จากนั้นเอามาทอดด้วยระบบสุญญากาศ (Vacuum Frying) ซึ่งเป็นกระบวนการทอดที่ใช้อุณหภูมิต่ำ จึงทำให้เนื้อปลานิลยังคงมีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีปริมาณไขมันต่ำ รสชาติดี กินเป็นกับแกล้ม (อุ่ย รู้เลย) ก็เพลินเกินห้ามใจ หรือสายยำก็เอาไป ผัด ยำ ทำสลัด กินกันยันหว่างได้สบายๆ
งานวิจัยนี้นอกจากจะได้ขนมอร่อยดี แถมยังพัฒนาเครื่องทอดสุญญากาศขึ้นมาใช้เอง ไม่ต้องไปยืมของนอก ต่อยอดเป็นธุรกิจสร้างเครื่องทอดในราคาย่อมเยาระดับ SME คุ้มในคุ้ม!
นักวิจัย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุชาดา ไม้สนธิ์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
ผู้ประกอบการร่วมทุน : บริษัท ภูผาฟาร์ม โทร : 083-282-4749
3. ‘แมงกะพรุนอบแห้ง’ จับทะเลมาใส่ซอง
ชีวิตแมงกะพรุนเต็มไปด้วยเรื่องราวน่าประทับใจ บางสายพันธุ์มีชีวิตเป็นอมตะ (immortal Jellyfish) แต่ส่วนใหญ่ ‘กินอร่อยเว่อร์’ ปกติเราจะเห็นมันในหม้อสุกี้หรือเย็นตาโฟ ถ้ามันจะมาอยู่ในซองขนมกินเล่นๆ ดู Netflix and chill ก็เข้าท่าไม่น้อย
คุณคงบ่นว่าคงเป็นอะไรที่เหม็นคาว แต่ไม่เลย ‘แมงกะพรุนอบแห้ง’ กลับไม่มีความคาวให้เสียอารมณ์ แถมเป็นอาหารไขมันต่ำแต่คอลลาเจนสูงเอาเรื่อง น่าจะเป็นขนมที่คนรักสุขภาพกินได้โดยหัวใจเบิกบานเป็นล้นพ้น
ผู้ประกอบการทำธุรกิจส่งออกแมงกะพรุนดองเค็มในลักษณะกึ่งแห้งไปยังต่างประเทศเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว บวกกับเทรนด์ขนมเพื่อสุขภาพ จึงลองวิจัยเอาแมงกะพรุนที่ตนถนัด จับมาอบแห้งและทำผลิตภัณฑ์แครกเกอร์จากแมงกะพรุน ที่ใช้เนื้อกะพรุนทดแทนแป้งสาลีมากกว่า 30% ให้เป็นแครกเกอร์แผ่นบางกรอบ หอมอร่อย ไขมันต่ำ ไม่มีไขมันชนิดทรานส์ เก็บไว้ได้นานพกพาสะดวก
เทคนิคคือนำแมงกะพรุนคุณภาพดีส่วนขามาล้างเกลือออก แล้วอบแห้งด้วยตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Dryer) แม้จะแห้งกรอบแต่สามารถคืนรูปได้โดยนำมาแช่น้ำอุ่น จะเอาไปต้มยำทำแกงได้สารพัด เหมือนชีวิตแมงกะพรุนที่สลับเปลี่ยนไปมาอย่างพิศวง
ผลิตภัณฑ์นี้ยิ่งย้ำเตือนว่า “อย่ามองของเดิมๆ ด้วยดวงตาคู่เดิม มองไปให้ไกลกว่าสิ่งที่เป็นอยู่ แล้วคุณจะได้ของดี”
ผู้วิจัย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุชาดา ไม้สนธิ์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
ผู้ประกอบการร่วมทุน : บริษัท โชคดี ซี โปรดักส์ จำกัด โทร : 081-811-1159
4. ‘มะม่วงท็อปปิ้ง’ ที่จีน เกาหลี ญี่ปุ่นคลั่ง
คุณเคยเห็นคนจีนเหมามะม่วงเป็นสวนๆ กลับเซี่ยงไฮ้บ้างไหม คนทำทัวร์ก็จะบอกว่านักท่องเที่ยวจีน เกาหลี ญี่ปุ่น มาเที่ยวไทยก็มักรบเร้าให้พาไปกินมะม่วงตลอด ผลิตภัณฑ์มะม่วงน้ำดอกไม้ดิบและสุกเกรดพรีเมี่ยมของไทยเป็นที่นิยมของผู้บริโภคในประเทศเกาหลีใต้ จีน และญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก ถ้าชอบก็แสดงว่ามีตังค์ซื้อ มีตังค์ซื้อก็แสดงว่ามีโอกาสทางธุรกิจ
ดังนั้นผู้ประกอบการและนักวิจัยจึงริเริ่มกระตุ้นให้ผลผลิตมีราคาสูงขึ้นเพื่อช่วยเกษตรกร ด้วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ ‘มะม่วงท๊อปปิ้ง’ ผลิตจากมะม่วงสุกพันธุ์น้ำดอกไม้ รสชาติกลมกล่อม สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับหลายเมนูทั้งหวานและคาว
ผลิตภัณฑ์นี้เป็นการใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการทรีทเนื้อมะม่วงน้ำดอกไม้ ให้คงรูป สี กลิ่น รสชาติ ตามธรรมชาติ เมื่อผ่านกระบวนการให้ความร้อนและความดันสูง เพื่อให้มีอายุการเก็บรักษานานถึง 1 ปีแบบไม่เละ เชฟจากภัตตาคาร ร้านอาหาร และร้านเบเกอรี่ต่างๆ ได้ทดลองแล้วก็ปลื้ม ขายดิบขายดีมากในประเทศจีน
นักวิจัย : ผศ. ดร.พิมพ์เพ็ญ พรเฉลิมพงศ์ และคณะ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ผู้ประกอบการร่วมทุน : บริษัท โกลบอล พาร์ทเนอร์ อินเตอร์เทรด โทร. 089-191-9501
5. ‘แก้วมังกรอบแห้ง’ แก้วิกฤตราคาตก
หลายปีก่อนมีกระแสแห่กันปลูกแก้วมังกร (Dragon Fruit) แถวอำเภอปากช่อง เพราะช่วงนั้นราคาดี ก็ปลูกตามๆ กันจนแก้วมังกรล้นตลาด เกษตรกรเองต้องดั้มพ์ราคาแข่ง แถมพ่อค้าคนกลางยังมากดราคาอีก เก็บไว้นานก็ไม่ได้ แก้วมังกรจะช้ำเร็วและเนื้อเละ กลายเป็นผลผลิตที่ต้องทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งๆ ที่แก้วมังกรอุดมไปด้วยสารอาหารด้านความงามเพียบ
ผู้ประกอบการเองไม่ปล่อยให้ภาวะนี้ทำลายโครงสร้างการตลาดของแก้วมังกร จึงหันมาสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อแก้ไขเรื่องผลผลิตล้นตลาดและราคาที่ตกต่ำ ให้แก้วมังกรอยู่ในรูปแบบของขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพ
ผลิตภัณฑ์แก้วมังกร (Freeze Dried) ผ่านกระบวนการแปรรูปด้วยการทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง เลื่อนขั้นตัวเองเป็นผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพระดับพรีเมียม ให้คุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสม อุดมไปแร่ธาตุ, วิตามินต่างๆ (บี 1, 2 และ C) และส่วนเปลือกจะมีสารสีเบต้าไซยานิน และสารประกอบฟีโนลิกครบถ้วน ซึ่งกระบวนการทำแห้งแบบแช่เยือกแข็งจะเป็นการทำแห้งภายใต้สภาวะอุณหภูมิและความดันต่ำ จึงทำให้แก้วมังกรมีความกรอบ สามารถเก็บรักษารสชาติ กลิ่น คุณภาพความสด และยังคงคุณค่าทางโภชนาการของแก้วมังกรไว้ได้ ถูกใจผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ เป็นการสร้างภาพลักษณ์แบบใหม่ให้กับแก้วมังกร เหมือนได้รับการคืนชีพจากเทพเจ้ามังกรอีกครั้ง (ก็ว่าไปนั่น)
นักวิจัย : ผศ. ดร.พิมพ์เพ็ญ พรเฉลิมพงศ์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ผู้ประกอบการร่วมทุน : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภัณรายา โทร : 061-5961646
6. ดื่มลูกเดือยเป็นช็อต ป้องกันมะเร็ง
‘ลูกเดือย’ เป็นพืชที่เรารู้จักกันดีตั้งแต่รุ่นทวดของทวด จนคิดว่าเป็นของเกร่อๆ ทั้งๆ ที่ลูกเดือยยังแอบซ่อนลีลาน่าสนใจอีกมากรอการค้นพบ ในประเทศไทยเองมีลูกเดือยเป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดเลย ลูกเดือยที่ผลิตได้ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์จะส่งไปขายต่างประเทศ ส่วนผลผลิตที่เหลือเพียงประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์จะใช้บริโภคภายในประเทศ เราส่งออกของดี (เพราะเขารู้ว่ามีดี) จนคนในประเทศเสียโอกาส
หลังจากที่งานวิจัยใหม่ๆ ก่อตัวขึ้นก็พบว่า สารสกัดจากลูกเดือยสามารถยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งและเหนี่ยวนำให้เซลล์มะเร็งเกิด apoptosis หรือการตายของเซลล์แบบที่มีการโปรแกรมไว้แล้ว ตลอดจนมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง โดยสารสกัดกึ่งบริสุทธิ์ลูกเดือยสามารถต้านการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งได้หลายชนิดนอกเหนือจากมะเร็งปากมดลูก เช่น มะเร็งเยื่อบุช่องปาก มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งปอด ซึ่งส่วนใหญ่ออกฤทธิ์แบบ active เพื่อนำสารสกัดจากลูกเดือยมาใช้ให้ได้ประโยชน์สูง
เพื่อให้ง่ายต่อการรับประทาน จึงวิจัยให้ออกมาเป็นเครื่องดื่มแบบช็อต (shot drink) ทั้งๆ ที่ของประเทศอื่นทำเป็นยาเม็ดหรือยาฉีดที่ยุ่งยาก ของเราจึงเป็นเครื่องดื่มสุขภาพ ซื้อง่ายขายคล่อง มีรสชาติดี ปลอดภัย และเป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภคได้ง่าย
นักวิจัย : ศาสตราจารย์ ดร. ภก.จีรเดช มโนสร้อย มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่
ผู้ประกอบการร่วมทุน : บริษัท ควอลิเมด จำกัด โทร : 081 8166172, 02 6902084-8
อ้างอิงข้อมูลจาก
Innovative House
โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP)
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.)
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (The Thailand Research Fund)