เมืองที่คุณอาศัยกำลังเติบโต (ไม่ว่าจะเดินหน้าหรือถอยหลัง) มันเปลี่ยนรูปแบบวิธีคิด ความรู้สึก และแม้กระทั่งพฤติกรรมของคุณ การนำคนจำนวนมากมารวมไว้ที่เดียวกันโดยขาดการจัดสรรเรื่องสุขภาพจิต สร้างความเกลียดชังลึกๆให้กับทุกคน
จะสงกรานต์อีกแล้ว! เดือนหน้าใครๆก็เตรียม ‘เทกรุงเทพฯ’ ไปท่องเที่ยวต่างจังหวัดหรือไม่ก็กลับบ้านเก่า หลบลี้หนีความวุ่นวายสักระยะ บางคนมีเงินหน่อยก็เที่ยวต่างประเทศไปเลยสบายใจกว่า ดูเหมือนจะไม่ค่อยมีใครให้ใจกับเมืองหลวงแห่งนี้ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกหรอก ไม่ใช่แค่กรุงเทพเท่านั้นที่คนในอยากออกคนนอกอยากเข้า เมืองหลวงทั่วโลกกำลังประสบปัญหาในการ ‘ซื้อใจผู้คน’ โดยเฉพาะการดูแลด้านสุขภาพจิตสุขภาพใจ จนเหมือนจะเป็นเรื่องท้าทายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปรากฏการณ์โลกร้อนหรือพิษเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
จิตใจมนุษย์ด้วยกันเนี่ยล่ะ ดูแลยากเย็นที่สุด
โตเร็วไปหน่อย ลืมดูแลหัวใจ
ในเวลาไม่ถึง 40 ปี ‘เงินมาที่ไหนคนไปที่นั่น’ ตัวอย่างคือเมือง ‘เซินเจิ้น (Shenzhen)’ ของประเทศจีนซึ่งเคยเป็นเมืองริมฝั่งทำประมงแบบพออยู่พอกิน โดยมีประชากรเพียง 30,000 คนเท่านั้น แต่หลังจากนโยบายของรัฐเปลี่ยนเมืองชาวประมงสโลว์ไลฟ์ให้กลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษในปี 1979 รัฐบาลจีนทำทุกอย่างเพื่อดึงนักลงทุนจากทุกสารทิศให้มาแสวงหาช่องทางทำธุรกิจแบบเป็นล่ำเป็นสัน ใครเร็วใครได้ มีการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ อาคารสำนักงาน โรงแรม และสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เท่าที่คุณจะจินตนาการออก เซินเจิ้นมีทุกอย่างหมด! กลายเป็นศูนย์กลางมวลมหาประชาชนจาก 30,000 ชีวิต เป็น 10 ล้านชีวิต ภายในเวลา 40 ปี
โครงการพลิกเซินเจิ้นประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมจากเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ล (Pearl River Delta) ทำให้ธนาคารโลกจัดอันดับให้เป็นพื้นที่มีประชากรหนาแน่นมากที่สุดในโลก พื้นที่เล็กกระจิ๋วหลิวแต่อัดแน่นด้วยผู้คน 57 ล้านชีวิต มากกว่าประชากรในบางประเทศเสียอีก พื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ลจึงเป็นตัวอย่างที่จับต้องได้ของเทรนด์โลกที่นิยาม ‘ความเป็นเมือง (Urbanization)’ แบบเต็มรูปแบบ ที่แม้จะดูตื่นตาทันสมัย แต่ซุกไว้ด้วยปัญหาใต้พรม ปฏิเสธไม่ได้ว่าชีวิตของคุณขึ้นอยู่กับสุขภาวะและความเป็นอยู่ของคนนับพันล้านในเมืองหลวง ทุกคนรอบๆ ล้วนเชื่อมโยงกัน
ปัญหาของเซินเจิ้นโมเดล
ย้อนไปในปี 1800 มีประชากรโลกเพียง 3% เท่านั้นที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เรียกว่า ‘ชุมชนเมือง’ แต่ภายใน 2 ศตวรรษเท่านั้นที่เทรนด์ได้เปลี่ยนไป ปี 2008 ประชากรมากกว่า 50% อาศัยตามหัวเมืองต่างๆ และเทรนด์นี้แทบจะไม่ลดลงเลย องค์การสหประชาชาติ (UN) มองไปในอนาคตอีกไม่นาน สักราวปี 2050 ทำผลสรุปว่าว่า จะมีคนทั่วโลกถึง 66% อัดแน่นในสังคมเมือง โดยกว่า 90% จะอยู่ในเอเชียและแถบภูมิภาคใกล้เคียง
การแปรผันราวรถไฟเหาะของจำนวนประชากรเปลี่ยนทุกอย่างที่คุณเคยรู้จัก เศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม สุขภาพชุมชนเมือง ผลกระทบ Urbanization มีอิทธิพลในวงกว้าง โดยเฉพาะจิตใจของผู้คนที่อาศัยอยู่ในร่างกายของมัน การขยายตัวมีแต่จะบีบคั้นความเป็นมนุษย์ให้เล็กลง ‘ปัญหาทางจิต’ กลายเป็นปัญหาที่ก่อตัวเรื่อยๆ เหมือนคลื่นใต้น้ำ มีรายงานถึงสภาวะทางจิตที่ตกต่ำของชาวจีนในเมืองเซินเจิ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยรัฐต้องใช้รายจ่ายต่อปีในการดูแลผู้มีอาการทางจิตถึง 20% ของภาระค่าใช้จ่ายในเมืองเซินเจิ้นทั้งหมด และทางการจีนก็เป็นห่วงประชากรของเขาเช่นกัน
ถ้าเมืองจะโต มันควรโตอย่างไร ให้หัวใจของผู้คนโตตาม?
ยิ่งเป็น Hub ยิ่งเป็นศูนย์กลางความเสี่ยง
มีหลายปัจจัยที่จะทำให้สุขภาพจิตของคนเลวร้ายลงฮวบๆ ตั้งแต่ความสะอาดบ้านเรือนอาคาร เงื่อนไขการทำงานกับบริษัท เพื่อนบ้านตัวดีที่คุณต้องอาศัยอยู่ข้างๆ ตลอดชีวิต รวมไปถึงความเสี่ยงต่อโรคระบาดและมลภาวะทางอากาศ
จริงๆ ปัจจัยความเสี่ยงมันก็ไม่ใช่ของใหม่สักเท่าไหร่หรอก เพราะนักคิดยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม อย่าง Charles Dickens ในอังกฤษ และ Emile Zola ในฝรั่งเศส ก็นำเสนองานเขียนมากมายเพื่อชี้ให้สังคมในขณะนั้นเห็นความเชื่อมโยงของการขยายตัวของเมือง ประชากรแออัด มลภาวะ อาชญากรรม และการฆ่ากันตายด้วยเรื่องเพียงขี้ผง ซึ่งแท้จริงแล้วมันเชื่อมโยงกันเป็นข้อต่อลูกโซ่ที่ถูกออกแรงดึงพร้อมๆ กัน
องค์กรที่ทำงานด้านสุขภาวะสังคมต่างๆ เกือบทั่วโลกมีข้อมูลมานานเป็นสิบๆ ปี ว่าเมืองหลวงเป็นแหล่งแพร่กระจายโรค ตั้งแต่ภูมิแพ้เล็กๆ น้อยๆ ภาวะซึมเศร้า ภาวะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง การฆ่าตัวตาย ซึ่งงานวิจัยยุคถัดมาเผยให้เห็นว่า ชุมชนเมืองมีอิทธิพลต่อสมองด้วยเช่นกัน เริ่มศึกษาจริงจังโดยนักสังคมศาสตร์ Robert Faris และ H. Warren Dunham ที่ศึกษาย่านสลัมในชิคาโก้ปี 1939 พวกเขาเห็นว่าในย่านอันสกปรกโสมมและมีสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยมีแนวโน้มเป็น ‘โรคจิตเภท (Schizophrenia)’ และ ‘อาการผิดปกติทางจิต (Mental disorder)’ การศึกษานี้ถือเป็นชิ้นแรกๆ ของโลกเลยก็ว่าได้ ที่นักวิชาการเริ่มเห็นความคืบคลานของเมืองหลวงที่มีผลกระทบกับผู้ที่อยู่อาศัยถึงระดับจิตใจ
จริงๆ แล้วพวกเราล้วนบอบบาง มิใช่ฟันเฟือง
ของเครื่องจักรกลที่ทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
ปี 2010 มีงานการศึกษาแบบ Meta-analysis ของสุขภาพจิตคนเมืองเมื่อเทียบกับคนชนบท พบว่า “คนเมืองมีความเสี่ยงต่อภาวะอารมณ์แปรปรวน 39% และอีก 21% มีความรุนแรงเข้าข่ายอาการวิตกจริต” โดยได้รับอิทธิพลตามพื้นที่ที่เขาอยู่อาศัย
นอกจากนั้นเมืองยังส่งอิทธิพลไปยังการแสดงออกของ ‘ภาวะเครียดหลังเกิดเหตุสะเทือนขวัญ (PTSD)’ พบว่าในชุมชนที่มีการตัดสินด้วยความรุนแรง มักมีการแพร่ระบาด ทำซ้ำในพื้นที่นั้นๆ และเมื่อการแสดงออกทางความรุนแรงถือเป็นเรื่องปกติ ในชิคาโก้เองมีโรงพยาบาล Jr. Hospital of Cook Country ต้องรับผู้ป่วยฉุกเฉินเข้า ICU จากเหตุการณ์แทงกันข้างถนน ยิงล้างแค้น ปล้นชิงทรัพย์ กว่า 2,000 รายต่อปี และมากกว่า 40% ของผู้ที่รอดชีวิต มีอาการหวั่นวิตกแบบ PTSD ความรุนแรงในเมืองหลวงมักเกิดซ้ำในพื้นที่เดิมๆ และกินระยะเวลานาน
การบริหารจัดการผู้คนจำนวนมากๆ ให้อยู่ในพื้นที่เดียวกันเป็นความท้าทายสุดขั้วของเมืองหลวง แต่ส่วนใหญ่ล้วนล้มเหลว เพราะความวิตกกังวลจากคนกลุ่มหนึ่งส่งผ่านได้ในพื้นที่มีประชากรหนาแน่น เหมือนการแพร่ระบาดของโรค ในเชิงสังคมศาสตร์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ‘การแพร่ระบาดทางสังคม (Social Contagion)’
แต่ต้นตอของ Social Contagion ยังมีการอภิปรายกันหามรุ่งหามค่ำก็ไม่จบไม่สิ้น แล้วแต่ใครจะหยิบมาเป็นประเด็น (บ้างก็ว่าธรรมชาติของมนุษย์นั้นไซร้คือการเฝ้ามอง สำรวจ และเลียนแบบพฤติกรรมของผู้อื่น) อย่างกรณีเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก 9/11 ชาวอเมริกันที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์นั้น ก็มีอาการ PTSD ไม่ได้ต่างจากคนที่อยู่ในเหตุเห็นความพินาศด้วยตาตัวเองมากเสียเท่าไหร่
แม้จะมีประเด็นที่น่าสนใจว่า เมืองหลวงก็ควรเป็นที่ที่มีสถานอำนวยความสะดวกค่อนข้างครบครันมิใช่หรือ? ทั้งสถานพยาบาลที่มีคุณภาพ ร้านค้าปลีกส่งอาหาร สถานบันเทิงที่ช่วยลดความตึงเครียด แต่มาว่ากันจริงๆ พื้นที่ดังกล่าวมักมีผู้เข้าถึงเพียงบุคคลไม่กี่ประเภท ยิ่งพื้นที่สาธารณะของชุมชนมีอยู่อย่างจำกัด ก็เป็นการกรองคนนอกออกจากพื้นที่ กรุงเทพมีสวนหย่อมขนาดเล็ก ราว 3,565 แห่ง พื้นที่รวม 3,446,025.337 ตารางเมตร (ข้อมูลโดย สำนักสิ่งแวดล้อม) แต่ล้วนอยู่ในพื้นที่ของหมู่บ้านจัดสรรเป็นส่วนใหญ่ กรองคนที่ไม่ใช่สมาชิกออกไป และต่อไปสถานที่ต่างๆ จะมีแนวโน้มเป็นเอกสิทธิ์เฉพาะเท่านั้น หากคุณไม่ใช่คนที่ใครต้องการก็ไม่มีโอกาสเข้าถึง
ตัวเร่งความเครียดในสังคมเมืองไม่ได้เกิดลอยๆ ในอากาศธาตุ แต่มันมาจากโครงสร้างขนาดมหึมาที่ส่งกำลังแบบพลวัตร ความเกลียดชังคนต่างด้าว มลภาวะเป็นพิษ รายได้ของคนในชุมชนที่แตกต่างจนเกินไป และระดับการศึกษาที่หล่อเลี้ยงผู้คน แม้กระทั่งรูปร่างหน้าตาของเมืองหลวงเอง เมื่อรวมตัวเข้าด้วยกันมันจึงสร้างเงื่อนไขที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก
มันจึงสำคัญที่ ‘เมือง’ ต้องรับฟังเสียงหัวใจของผู้คนมากกว่านี้ แต่ทุกวันนี้เราปฏิบัติราวเป็นปรปักษ์ต่อกัน ทั้งๆ ที่ผู้คนเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงและอุ้มชูเมืองหลวงไว้ คุณคงไม่แปลกใจที่คนเมืองหลวงโดยเฉพาะกรุงเทพฯ มักพูดติดปากว่า “เช่าเขาอยู่” และเมื่อคุณสบโอกาสที่เหมาะสม ก็ต้องลี้หนีจากไปราวคนแปลกถิ่น
ความเสี่ยงของจิตใจมันมีราคาค่างวดสูง การตัดสินใจของผู้นำเป็นตัวกำหนดด้วยว่าผู้คนในสังคมควรมองเมืองหลวงด้วยสายตาแบบไหน มีความหวังหรือหมดหวังไปเสียแล้ว
น่ากลัวที่มันจะเป็นอย่างหลังเอาซะมากกว่า
อ้างอิงข้อมูลจาก
World urbanization prospects the 2016 revision
The World’s Cities in 2016