Trigger Warning: ผี (Ghost)
เราจะรู้ได้ยังไงว่าที่เราเจอคือผี?
จะให้ถามไปตรงๆ ก็กลัวว่าจะฟังภาษาไทยไม่ออก หรือเมื่อเราพูดถึงผี หน้าตาของเหล่าผีที่เรานึกออกก็ไม่เหมือนกันอีกเพราะภาพจำมากมายที่ติดมาจากหลากหลายแห่ง ตั้งแต่การเล่าเรื่องผีของพ่อแม่ หนังสยองขวัญที่ดูมาแต่เล็ก หรือจากคำอธิบายที่เราเห็นผ่านตาในหนังสือหรือเรื่องเล่าทางโซเชียลมีเดีย ปัจจัยเหล่านี้ก็ยากที่จะมองแล้วรู้ได้เลยว่า โกสต์ปะคะ? โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีความเป็นไปได้ว่า ผีอาจจะแต่งตัวเหมือนคนธรรมดาทั่วไปก็ได้
ว่าแต่ภาพจำของเหล่าผีๆ มาจากไหนกันบ้าง? บ่อยครั้งภาพจำเหล่านั้นไม่ได้อยู่ดีๆ ผุดขึ้นมาจากอากาศธาตุ แต่มันมักเป็นผลพวงมาจากวัฒนธรรม หรือบริบททางสังคมของท้องที่ที่ผีเหล่านั้นถือกำเนิดขึ้นมา ฉะนั้นวันนี้ The MATTER จึงอยากชวนไปดูจุดกำเนิดภาพจำของผีในหลายๆ ท้องที่กัน
ผีผ้าคลุม
ถ้ามีคนบอกให้เราแต่งตัวเป็นผีภายใน 1 นาที เราเลือกทำอะไร? พนันได้ว่าเกินครึ่ง เราคงวิ่งไปหาผ้าห่มใกล้ตัวที่สุดมาคลุมหัว ตั้งแต่การเป็นหนึ่งในไอคอนของฮาโลวีนคู่กับฟักทอง ตัวก่อกวนในเกมแพ็กแมน แคสเปอร์ หรืออีโมจิผี ถึงจะไม่ใช่รูปแบบผีที่น่ากลัวที่สุด แต่คงเรียกได้ว่าผีผ้าคลุมสีขาว คือหนึ่งภาพจำผีที่เรานึกถึงอย่างชัดเจนที่สุดตั้งแต่จำความได้ และนั่นไม่ใช่เรื่องแปลกเลย เนื่องจากมันเป็นภาพจำที่เกิดขึ้นมาหลายศตวรรษแล้ว
ผีและความตายเป็นสิ่งที่มาคู่กัน และผีผ้าคลุมขาวแสนน่ารักนี้ก็ไม่แตกต่างกัน พบหลักฐานได้จากบทความ Why Are Ghosts Depicted Wearing Bedsheets? โดยสเปนเซอร์ แมคแดเนียล (Spencer McDaniel) นักเขียนประเด็นประวัติศาสตร์และสังคมจากสาขาวิชาประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยอินเดียนา ที่พาเราไปดูว่า แท้จริงแล้วผ้าขาวที่คลุมผีนั้นหาใช่ผ้าห่มหรือผ้าคลุมเตียง แต่คือผ้าคลุมศพ ซึ่งเป็นวิธีการทำศพที่ใช้อย่างแพร่หลายในวัฒนธรรมยุโรปตะวันตกตั้งแต่ราวๆ ศตวรรษที่ 13 และภาพจำของศพและความตายนี้ยังเชื่อมโยงไปเป็นภาพจำของวิญญาณอีกด้วย
มากไปกว่านั้น ผู้เขียนเล่าว่าในห้วงเวลานั้นมีอีกหลากหลายปัจจัยที่ส่งเสริมภาพของผีผ้าคลุม เช่น การนำเสนอผ่านงานศิลปะมากมาย ที่ใช้บุคคลคลุมด้วยผ้าสีขาวให้เกี่ยวข้องกับผีและความตาย หรือการที่หัวขโมยในห้วงเวลานั้นๆ ใช้ชุดผ้าคลุมเพื่อทำให้เหยื่อของพวกเขาตื่นตกใจ
ผีกระสือ
จากผีทุกประเภทในลิสต์ ผีประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้น่าจะเป็นผีที่นุ่งน้อยห่มน้อยที่สุด ขั้นกว่าของการไม่ใส่อะไรเลย คือเมื่อค่ำคืนมาถึง กระสือจะสละร่างกายของตัวเองให้เหลือเพียงหัวและเครื่องในเรืองแสง เพื่อออกหากิน หาของส่งกลิ่นเหม็นในยามค่ำคืน ไม่ว่าจะจากประเทศอะไร เรื่องเล่าและหน้าตาของกระสือเป็นเหมือนกัน แต่ทำไมต้องเป็นลำไส้?
กระสือมีความคล้ายคลึงกับแม่มดในประวัติศาสตร์ตะวันตก โดยในตำนานส่วนมาก กระสือมักกำเนิดมาจากผู้หญิงเล่นของ และบูชาไสยศาสตร์จนเกิดผลข้างเคียงกับตัวเอง บางตำนานบอกว่าหญิงคนนั้นเกิดใหม่เป็นกระสือ แต่บางตำนานก็บอกว่าเกิดจากการสิ่งสู่ แต่กระสือเกี่ยวข้องกับลำไส้และการกินของโสโครกอย่างไร? เรื่องนี้อาจต้องอาศัยการศึกษาผ่านการตีความ ซึ่งพบได้ในงานวิจัยแสงกระสือ: ผีเพศโรคและความเป็นอื่นการเมืองระหว่างเพศและโลกจริง โดยรศ. ดร.กำจร หลุยยะพงศ์ จากกลุ่มวิชาภาพยนตร์และภาพถ่ายคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในหัวข้อ ‘ผีผู้หญิง: สตรีในฐานะความน่าเกลียดน่ากลัว’ ผู้เขียนอธิบายว่ามีหลากหลายเหตุผลที่ภาพของผีมักถูกผลิตซ้ำให้เป็นผู้หญิง หนึ่งในนั้นคือในสังคมชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงถือเป็นสิ่งอื่น ภาพของผีผู้หญิงจึงมีลักษณะ “สกปรก น่ารังเกียจ น่าขยะแขยง เต็มไปด้วยเลือด การกินของสกปรก” ในขณะที่ผีผู้ชายมักมีนัยที่ต่างออกไป นั่นคือเป็นผีที่น่าสงสารและน่าสมเพช ในนัยหนึ่งกระสือคือตัวอย่างขั้นสุดของสมมติฐานดังกล่าว เป็นมนุษย์ผู้ไม่มีคุณลักษณะอื่นใด นอกจากลำไส้ และอาหารการกินที่น่าขยะแขยง ผิดแผกจากบรรทัดฐานสังคม
เอลฟ์
การเรียกเอลฟ์ว่าผีคงทำให้หลายคนเกาหัวกันบ้าง แต่เราจะเรียกสิ่งมีชีวิตที่จับจ้องเราอยู่ในทุกที่โดยมองไม่เห็นว่าอะไร? เอลฟ์ในที่นี้ไม่ใช่เพียงชนเผ่านสูงโปร่งหูยาวแบบที่เราคุ้นเคยจากโลกแฟนตาซี แต่เอลฟ์ในความเชื่อของชาวไอซ์แลนด์นั้นเป็นสิ่งที่แตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง ในเรื่องเล่าพื้นบ้าน ชาวไอซ์แลนด์เรียกเอลฟ์ว่า ฮุลดูโฟลค์ (Huldufolk) หรือผู้คนผู้ซุกซ่อน ซึ่งอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมของพวกเขา โดยจากสถิติแล้วคนไอซ์แลนด์จำนวนมากกว่า 50% เชื่อว่าเอลฟ์มีอยู่จริง
ในสารคดีสั้น Iceland’s magical world of elves โดย BBC พบว่าความเชื่อนี้ถูกปลูกฝังกับชาวไอซ์แลนด์มาอย่างยาวนานและจริงจัง คนบางคนไม่ได้เชื่อว่าเอลฟ์มีอยู่จริง แต่เชื่อเผื่อไว้ก่อนเพื่อที่จะได้ไม่ถูกหลอก หรือในระดับการพัฒนาเมืองที่โครงการบางโครงต้องพับลง หรือถนนบางเส้นต้องถูกโน้มออกจากแผนการเดิม เพื่อไม่ให้รบกวนสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ในก้อนหิน ในนัยหนึ่งเอลฟ์เหล่านี้อาจเป็นตัวช่วยทำให้ผู้คนรักษาธรรมชาติรอบตัวของพวกเขา ซึ่งอันที่จริงก็เป็นความเชื่อที่คล้ายคลึงกันกับการนับถือผีของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่น้อย ที่คำว่า ‘ผี’ ไม่ได้จำเป็นว่าต้องเป็นสิ่งที่เลวร้าย
ทั้งนี้ยังมีการสันนิษฐานว่า ความเชื่อเกี่ยวกับเอลฟ์นั้นเก่าแก่ไปยังยุคก่อนประวัติศาสตร์ คำอธิบายพบได้ในบทความวิชาการ Spirits of the Land: A Tool for Social Education โดยโอลิน่า ธอร์วาร์ดาร์ดอตเทียร์ (Olina Thorvardardottir) นักเขียน นักการเมือง และนักสังคมวิทยาชาวไอซ์แลนด์ ผู้เขียนเชื่อว่าการมีอยู่ของเอลฟ์ในวัฒนธรรมไอซ์แลนด์นั้น ถือกำเนิดขึ้นจากการพยายามเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์ก่อนจะเรียนรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เป็นการกันไม่ให้มนุษย์ออกจากแหล่งที่อยู่อาศัยของตัวเองไปไกล และเป็นการสอนให้ยำเกรงต่อธรรมชาติอยู่เสมอ ซึ่งจากสภาพสังคมปัจจุบันก็ดูเหมือนว่าจะเป็นวิธีการที่ได้ผลกว่าที่ใครจะคาดเดาได้
ยูเรอิ
อีกหนึ่งผีที่เป็นไอคอนของโลกคือ ผีญี่ปุ่น เพียงพูดแค่นี้ก็คงนึกภาพออกแล้วว่า คือผู้หญิงผิวซีดขาว นุ่งขาว ผมดำยาวกระเซอะกระเซิงปิดใบหน้า และแม้เราจะรู้จักพวกเขาผ่านซาดาโกะหรือคายาโกะ แต่ต้นกำเนิดของผีสาวนี้มีมาอย่างเนิ่นนาน ในรูปแบบของวิญญาณร้ายชื่อ ‘ยูเรอิ’ โดยนอกจากภาพจำที่รุนแรงแล้ว เรื่องเล่าของผีประเภทนี้ยังเรียกได้ว่า ตรงกับความเข้าใจธรรมชาติของผีที่พวกเรารู้จักและคุ้นเคยเกือบทั้งหมดก็ว่าได้
ในความเชื่อลัทธิชินโต เมื่อคนคนหนึ่งเสียชีวิต วิญญาณของคนนั้นจะตกอยู่ในสถานที่ที่อยู่ตรงกลางระหว่างความเป็นกับตาย หากได้รับการทำพิธีกรรม วิญญาณเหล่านั้นจะสามารถไปที่ชอบได้ แต่หากคนคนนั้นเสียชีวิตด้วยความเคียดแค้น การถูกฆาตกรรม ความเกลียดชัง การจบชีวิตตัวเอง ฯลฯ แล้วไม่ได้รับการทำพิธีกรรมที่ถูกต้อง วิญญาณดังกล่าวจะกลายเป็นยูเรอิ ซึ่งต้องอยู่บนโลกจนกว่าจะหมดห่วง
หน้าตาของยูเรอินั้นถูกวาดลงในกระดาษ แรกเริ่มที่สุดที่สามารถหาหลักฐานพบคือเมื่อราวศตวรรษที่ 17 โดยหน้าตาของผีชนิดนี้เช่นเดียวกันกับการเกิดของพวกเขา เชื่อมโยงเข้ากับรูปลักษณ์ของศพในพิธีศพ และภาพลักษณ์นั้นๆ ถูกเผยแพร่ผ่านภาพวาด การละเล่น และการแสดง จนมาถึงภาพยนตร์ และวัฒนธรรมป๊อปในปัจจุบัน ดูเหมือนว่าแม้ญี่ปุ่นจะห่างไกลกับยุโรปอย่างมาก แต่ในเรื่องผีนี้กลับคล้ายกันอย่างน่าแปลกใจ
ผีนางรำ
การเห็นชุดนางรำของไทยอาจไม่ทำให้เรานึกถึงนางรำเป็นอย่างแรก แต่เรามักนึกถึงผี นั่นแปลว่าภาพจำของผีชนิดนี้มีความรุนแรงอย่างมาก โดยเฉพาะกับผีที่ไม่มีตำนานเก่าแก่โดดๆ ที่จะสามารถบอกได้ว่านั่นคือแหล่งที่มาของความกลัวนี้ อย่างไรก็ตาม หากเราลองตีความความเป็นหญิงในศาสนาผีและชุดไทย ว่ามันแสดงออกถึงอะไร มันอาจนำไปสู่คำตอบบางอย่างได้ว่าความยำเกรงต่อผีประเภทนี้มาจากไหน
ก่อนที่ศาสนาใดจะเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วัฒนธรรมร่วมของท้องที่แห่งนี้คือความเชื่อการนับถือผี และหนึ่งสิ่งที่ศาสนาผีมีจุดเด่น นั่นคืออำนาจของความเป็นหญิง ในการบรรยายโดยสุจิตต์ วงษ์เทศ เรื่องศาสนาผีในไทย หลายพันปี ก่อนประวัติศาสตร์ถึงปัจจุบัน เขาวาดภาพสังคมที่ผู้หญิงมีความสำคัญมากๆ ในฐานะผู้มีบทบาททางศาสนา เช่น ผู้หญิงเท่านั้นที่จะเป็นร่างทรงได้ รวมทั้งร่างทรงของผีบรรพชนด้วย
การใช้ชุดไทยหรือชุดนางรำจึงดูไม่ผิดแผกเท่าไรนัก เนื่องจากมันอาจเป็นภาพแทนของอำนาจ ของความเก่าแก่ ความขลัง ผูกกับความเป็นนางรำที่มาพร้อมกับความเชื่อเกี่ยวกับ ‘ครู’ ในนาฏศิลป์และเครื่องดนตรี เป็นการผสมผีเข้ากับพุทธ เข้ากับวัฒนธรรมประเพณีไทยเมื่อเวลาผ่านล่วงเลยไป
ผีในเมือง (ฮ่องกง)
เมื่อเราพูดถึงผีจากวัฒนธรรมอื่นๆ ที่แล้วมา สังเกตเห็นได้ว่า เกือบทุกครั้งภาพจำในหัวของเราจะโผล่ขึ้นมาทันทีเมื่อได้ยินชื่อ อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงผีฮ่องกงเรานึกถึงอะไร? นอกจากไวรัลสาวเสื้อแดงเกาะไหล่นักท่องเที่ยว ภาพที่ชัดในไม่ชัดนี้น่าสนใจมากๆ เนื่องจากในมุมหนึ่ง ผีของฮ่องกงมีลักษณะที่แตกต่างออกไปจากเกือบๆ ทุกวัฒนธรรม เนื่องจากมันแทบจะไม่มีรากอยู่ในวัฒนธรรมเลย แต่กลับอยู่ในอสังหาริมทรัพย์และการพัฒนาเมือง
ในข้อเขียนที่เผยแพร่ลงบนเว็บไซต์สำนักข่าว The Guardian ชื่อ The ghosts haunting China’s cities โดยนักมานุษยวิทยา แอนดรูว์ คิปนิส (Andrew Kipnis) เขาเล่าเกี่ยวกับที่มาที่ไปของความกลัวผีที่แปลกใหม่ของประเทศจีนและฮ่องกงว่า มันเกิดขึ้นจากความพยายามของรัฐบาลที่จะแยกความตายออกจากชีวิตประจำวันของมนุษย์ การทำศพจำต้องอยู่แยกกันกับโซนที่อยู่อาศัย ใครมีหิ้งเกี่ยวกับบรรพบุรุษ หรือคนที่ตายจากไปแล้วในที่อยู่ในห้อง สามารถถูกแจ้งความได้ ทุกสิ่งที่เตือนใจเกี่ยวกับความตายในพื้นที่อยู่อาศัยจะทำให้ค่าเช่าถูกลง ซึ่งผู้เขียนยังเล่าว่า มันเป็นการกระทำที่ตรงกันข้ามกับวัฒนธรรมโบราณ ที่ผู้คนมักเก็บร่างของผู้เสียชีวิตไว้ที่บ้านก่อนจะนำไปทำพิธีศพ และการขยายเมืองอย่างต่อเนื่องเป็นเหตุ
ผีของฮ่องกงจึงไม่จำเป็นว่าต้องแต่งกายยังไง มีลักษณะท่าทางยังไง มีตำนานเหนือธรรมชาติแบบไหน ความกลัวของพวกเขามักใกล้ตัว ผีคนชราที่ไร้ญาติขาดมิตร ผีที่สิงสู่อยู่ในอพาร์ตเมนต์จากการจบชีวิตตัวเอง แม้คนจะเบือนหน้าหนีจากความตาย ความตายย่อมตามเรามาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หนักเข้าไปใหญ่เมื่อผู้เขียนอธิบายว่า สังคมของฮ่องกงและจีนเริ่มมีคนแปลกหน้าเยอะขึ้น “เมื่อญาติเราตายพวกเขาเป็นบรรพบุรุษ เมื่อคนแปลกหน้าตายพวกเขากลายเป็นผี” คิปนิสเขียนเกี่ยวกับประเทศที่คนมีครอบครัวน้อยลงทุกวันๆ
*ภาพจาก ANNDAY เที่ยวไปวันวัน
ผีจึงไม่ใช่แค่ผี แต่ผีคือภาพสะท้อนของความกลัว ทั้งความกลัวในความตาย ความกลัวความเป็นอื่น ความกลัวในสิ่งที่อธิบายไม่ได้ หรือความกลัวจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เช่นนี้แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าที่เราเจอนั่นน่ะผี? ยากที่จะบอก เพราะว่าความกลัวที่เรารู้สึกนั้นอาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่มีอยู่จริงๆ ในโลกของเรา ไม่ใช่จากสิ่งเหนือธรรมชาติแต่อย่างไร หรือว่าจะเอาอย่างที่คนไอซ์แลนด์ว่า
เชื่อเอาไว้ก่อน เผื่อจะไม่โดนมาหลอกทีหลังถ้ามีจริง
อ้างอิงจาก