เมื่อพูดถึงภาพยนตร์มาแรงแห่งปี ค.ศ.2019 คงหนีไม่พ้น Parasite ภาพยนตร์น้ำดีเสียดสีสังคมอย่างอร่อยจากแดนกิมจิได้มีชื่อเข้าชิงออสการ์ถึง 6 สาขา และกวาดไปถึง 4 สาขาใหญ่โดยเฉพาะสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม นับว่าเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่แห่งวงการภาพยนตร์จากเอเชียก็ว่าได้ ภาพยนตร์เรื่องนี้สื่อสารกับคนดูโดยตรงผ่านเนื้อเรื่องที่ตรงไปตรงมาชวนติดตาม ตื่นเต้น และลุ้นระทึกไปทั้งเรื่อง ข้อความที่ภาพยนตร์เรื่องนี้สื่อออกมาอย่างชัดเจนคือ ‘ความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นสูงและชนชั้นล่าง’ ที่อาศัยอยู่ในโลกเดียวกัน
จากการมองสถานภาพทางสังคมที่ห่อหุ้มพวกเขาไว้ผ่านชีวิตประจำวัน เห็นจะหนีไม่พ้น อึย ชิก จู (의.식.주) หรือ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร และที่อยู่อาศัย หนังเรื่องนี้เล่าเรื่องโดยมีสถานที่หลักคือบ้านของตัวเอกที่มีฐานะยากจน และบ้านที่มีฐานะร่ำรวย จึงเป็นเรื่องน่าสนใจไม่น้อยหากมาวิเคราะห์กันถึงบ้านของทั้งสองตัวละครเพื่ออธิบายทำความเข้าใจตัวละครและถอดรหัสบริบททางสังคมวัฒนธรรมของเกาหลีที่ซ้อนทับอยู่
จากการกลายเป็นเมือง (urbanization) และการอพยพเคลื่อนย้ายเข้าสู่เขตเมืองในยุคฟื้นฟูเศรษฐกิจเกาหลี (ประมาณช่วงยุค ค.ศ.1940-1980) ทำให้เกิดความแออัดในพื้นที่เมือง นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัยจากบ้านเกาหลี หรือเรียกว่า ฮานก (한옥) เป็นการเริ่มอาศัยในอพาร์ตเมนต์ตั้งแต่ในปี 1970 เป็นต้นมา (Schwekendiek, 2017, p.138 อ้างถึงใน วีรญา กังวานเจิดสุข)
หลังจากนั้นได้เกิดการขยายตัวของอพาร์ตเมนต์ไปทั่วเขตเมืองของเกาหลี ทำให้อัตราที่อยู่อาศัยในบ้านเดี่ยวลดลง การอาศัยในอพาร์ตเมนต์สะท้อนการปรับตัวเปลี่ยนแปลงของสังคมเกาหลีท่ามกลางการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด ซึ่งการอยู่อาศัยลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์การขยายตัวของเมืองได้ แต่ได้ส่งผลกระทบในมุมของความสัมพันธ์ กล่าวคือ จากความสัมพันธ์ของเพื่อนบ้านแนวราบที่บ้านเรือนเรียงรายกัน เปลี่ยนแปลงเป็นความสัมพันธ์ในรูปแบบแนวดิ่งตามชั้นของอพาร์ทเมนต์ ซึ่งอพาร์ทเมนต์ในปัจจุบันเป็นที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ของชาวเกาหลี
ทว่าการอาศัยอยู่ในอพาร์ทเมนต์เดียวกันไม่ได้หมายความว่าพวกเขาเหล่านั้น
จะมีความเป็นอยู่ที่เท่าเทียมกัน เนื่องจากขนาดของห้อง ชั้นที่อยู่ ทำเลต่างๆ
ที่แตกต่างกันมีผลต่อราคาห้องทั้งสิ้น
ซึ่งราคาของที่อยู่อาศัยก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ใช้วัดระดับสถานะทางสังคมเช่นกัน ข้อมูลจาก insight โดย ซ็อกแทจิน ได้พูดถึง การแบ่งชนชั้นจากอพาร์ทเมนต์ที่พูดกันในบทสนทนาของเด็กวัยประถม สะท้อนให้เห็นว่าการแบ่งชนชั้นได้ถูกตัดสินผ่านที่อยู่อาศัยและลงลึกถึงรายละเอียดว่าอยู่อพาร์ทเมนต์อะไร ชั้นไหน กว้างเท่าไหร่ เป็นต้น ราคาอพาร์ทเมนต์ในแต่ละชั้นค่อนข้างมีความแตกต่าง ส่วนใหญ่แล้วชั้นยิ่งสูงอาจจะไม่แพงที่สุดเสมอไป แต่เป็นชั้นที่อยู่กลาง ๆ จะมีราคาสูงเนื่องจากคำนึงถึงความปลอดภัย ส่วนชั้นล่าง หรือใต้ดินจะมีราคาถูกกว่า ชั้นกึ่งใต้ดิน หรือเรียกในภาษาเกาหลีว่า พันจีฮา (반지하) ที่พอจะมีหน้าต่างบานเล็กๆ ที่พอจะให้หายใจรับอากาศข้างนอกหรือแสงสว่างเข้าไปบ้าง เป็นห้องราคาถูกสำหรับผู้มีรายได้น้อย
จากในภาพยนตร์ PARASITE บ้านของครอบครัวคีแทกอาศัยในอพาร์ทเมนต์ชั้นกึ่งใต้ดิน หรือ พันจีฮา เขาไม่มีงานประจำ มีอาชีพรับจ้างทั่วไปที่มีรายได้ต่ำและไม่แน่นอน ลูกชายลูกสาวยังไม่ได้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย หากพวกเขาไม่ได้อัพเกรดตัวเองจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ชะตากรรมของพวกเขาก็คงมีอนาคตไม่ต่างจากพ่อและแม่ของตนอย่างแน่นอน ซึ่งต่างจากบ้านของครอบครัวของตระกูลปาร์ค หรือ ทงอิก และยอนกโย ที่อาศัยอยู่ในบ้านเดี่ยวมีบริเวณกว้างขว้าง หรูหรา ทันสมัย เพียบพร้อมไปด้วยเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ มีหน้าที่การงาน มีหน้ามีตาในสังคม ลูกสาวและลูกชายอยู่อย่างสุขสบาย มีกำลังเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ตามความต้องการที่เกิดนความจำเป็นได้
ภาพยนตร์สื่อสารอย่างตรงไปตรงมาว่าบ้านของตัวเอก หรือคีแทก มีต้นทุนทางชีวิตที่ต่ำและยากลำบากต้องอาศัยอย่างคับแคบในห้องขนาดเล็กพร้อมครอบครัว มันช่างตรงกันข้ามกับบ้านตระกูลปาร์ค ของทงอิกและยอนกโยที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังใหญ่มีสนามหญ้าและความเป็นส่วนตัว หน้าต่างทั้งบ้านของคีแทกเล็กกว่าหน้าต่างห้องน้ำของบ้านของทงอิก หน้าต่างของบ้านทงอิกมีขนาดใหญ่ยิ่งกว่าบ้านทั้งหลังของคีแทก นับว่าเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำทางสังคมของทั้งสองสถานะทางสังคมของตัวละคร แสดงให้เห็นถึงความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก คุณภาพชีวิตต่ำของชาวชนชั้นล่างที่มองออกนอกหน้าต่างไปเจอถนนในระดับสายตา เห็นเท้าของผู้คนชัดกว่าใบหน้า อีกทั้งยังมีสิ่งรบกวนจาก ผู้คน ฝน เสียง ควัน และมลภาวะเป็นต้น
ทุกสิ่งทุกอย่างมองเห็นผ่านหน้าต่างที่มีมุมมองจากในตัวบ้านในระดับพื้นถนน
สะท้อนความลำบากไม่สะดวกสบายของการเป็นชนชั้นล่างในสังคมอย่างชัดเจน
เมื่อฝนตก หน้าที่ของบ้านสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของบุคคลที่เป็นครอบครัวใช้ชีวิตร่วมกัน เป็นเกาะกำบังได้ทำหน้าที่ของมัน บ้านของคีแทกที่อยู่ชั้นกึ่งใต้ดิน ไม่สามารถปกป้องสมาชิกในครอบครัวจากฝนได้ อย่างในฉากน้ำท่วมเข้าบ้านผ่านทางหน้าต่าง แต่ตัดภาพไปยังบ้านของตระกูลปาร์ค ที่ขณะฝนตกบ้านของเขาก็มีบรรยากาศที่สุดแสนโรแมนติก หน้าต่างบานใหญ่ที่มองเห็นสนามหญ้าหน้าบ้าน บวกกับแสงไฟวอล์มไลท์ในบ้านเพิ่มบรรยากาศผ่อนคลายในบ้านขณะฝนตก
หรือเมื่อมีฝุ่นจากรถต่างๆ พวกเขาก็ต้องสูดอากาศเข้าเต็มปอดทั้งๆ ที่ไม่เต็มใจ แต่มันคือบ้านของพวกเขา กลิ่นต่างๆ ที่ตัวละครเรียกว่า กลิ่นบ้านพันจีฮา(반지하) ที่เข้ามาทางหน้าต่างทำให้เสื้อผ้าเหม็นไม่ว่าจะซักอย่างไร ก็ยังมีกลิ่น หน้าต่างของเขาเป็นเพียงช่องทางเดียวที่ให้แสงเข้าบ้าน ต่างกับบ้านตระกูลปาร์คอย่างสิ้นเชิงที่ไม่มีมลภาวะกลิ่นไม่พึงประสงค์ทำให้ต้องระคายเคืองอย่างแน่นอน
ในอดีตโครงสร้างหรือวัสดุที่นำมาสร้างบ้านที่แตกต่างกันสามารถแบ่งแยกชนชั้นทางสังคมได้ว่าคนที่อาศัยอยู่ในบ้านแบบนี้สร้างจากวัสดุแบบนี้จะเป็นคนในชนชั้นใดของสังคม อย่างเช่นในยุคโชซอน(ค.ศ. 1392- 1910) การมุงหลังคาด้วยกระเบื้องจะเป็นบ้านของชนชั้นสูง และบ้านของชนชั้นธรรมดาจะมุงหลังด้วยฟางหรือต้นอ้อ ลักษณะประตูหรือบานหน้าต่าง สิ่งเหล่านี้ถูกออกแบบมานอกเหนือจากหน้าที่ของมันในทางกายภาพแล้วมันยังทำหน้าที่แบ่งแยกคนในสังคม อีกทั้งยังมีเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับฮวงจุ้ย ชาวเกาหลีนิยมบ้านที่หันหน้าไปทางทิศใต้ เนื่องจากจะมีอากาศเย็นสบายในฤดูร้อน และอบอุ่นในฤดูหนาวนั่นเอง
อีกทั้งแนวคิดจากปรัชญาขงจื้อใหม่ แบบแผนการปฏิบัติตนในฐานะสมาชิกของครอบครัว เรื่องความสมดุลหยินหยาง ที่เป็นการแบ่งแยกระหว่างชายกับหญิง ผ่านพื้นที่ในบ้าน กล่าวคือ อันแช (안채) หรือ พื้นที่ข้างในคือพื้นที่ของผู้หญิง ประกอบไปด้วยส่วนครัว ห้องโถงใหญ่ และ ซารังแช (사랑채) พื้นที่ข้างนอกเป็นพื้นที่ของผู้ชาย ประกอบไปด้วยห้องอ่านหนังสือ ห้องทำงาน หรือห้องรับแขก บทบาทชายและหญิงผ่านโครงสร้างบ้านสะท้อนให้เห็นว่าผู้ชายจะทำหน้าที่ภายนอกบ้าน และผู้หญิงทำหน้าที่ดูแลบ้านและครอบครัวเป็นหลัก (Jong, 2016) เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไปเงื่อนไขที่ปรากฏผ่านบริบททางสังคมได้เปลี่ยนแปลง
กล่าวคือในยุคปัจจุบันเราอาจแบ่งแยกชนชั้นจากลักษณะบ้านจากหลังคาไม่ได้อีก แต่กลายเป็นการแบ่งแยกชนชั้นจากชั้นที่อยู่ ความกว้าง ทำเลที่ตั้งของอพาร์ทเมนต์ ชื่ออพาร์ทเมนต์ หรือ ลักษณะบ้านที่เป็นบ้านเดี่ยวมีบริเวณสนามหญ้า ทั้งนี้บ้านของคีแทกไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขของบ้านในฝันของใครแน่นอน และการแบ่งพื้นที่ในบ้านตามความสมดุลหยินหยางก็ไม่ถูกยึดถือเป็นชิ้นเป็นอัน เพราะพื้นที่ในบ้านแคบเสียจนมันกลายเป็นพื้นที่ที่ต้องแบ่งใช้ร่วมกันและช่วยกันหาเงินเลี้ยงชีพมากกว่าจะผลักว่าต้องเป็นภาระหน้าที่ของใคร ต่างจากบ้านของตระกูลปาร์ค ที่พื้นที่ข้างนอกเป็นตัวแทนของผู้ชายอย่างชัดเจน ผู้หญิงแทนพื้นที่ข้างใน พ่อหรือทงอิกเป็นหัวหน้าครอบครัวทำหน้าที่ภายนอกบ้านอย่างชัดเจน และภรรยาหรือ ยอนกโยก็ทำหน้าที่ดูแลบ้านและครอบครัว เห็นได้ชัดว่าความยากลำบากของชนชั้นล่างได้ทลายขนบธรรมเนียม จารีตที่ถือว่าเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิม และดูเหมือนชนชั้นสูงเท่านั้นที่สามารถยึดธรรมเนียมเหล่านั้น สืบสานต่อไปได้
บ้านของทั้งสองตัวละครเป็นตัวแทนความมั่งมีสุดขั้วและความยากจนสุดขีด สะท้อนถึงภาวะความเหลื่อมล้ำทางสังคมเกาหลีในปัจจุบัน ที่ค่านิยมต่างๆ ที่สมาชิกของสังคมใช้ตัดสิน หรือพิพากษาเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ที่อยู่อาศัยที่แสดงให้เห็นถึงคุณภาพชีวิตฐานะ สถานภาพทางสังคมของผู้อาศัย
ความยากลำบากในการใช้ชีวิตของชนชั้นล่างที่ต้องกลายเป็นชนชั้นปรสิตเพื่อชีวิตที่ดีกว่าบ้านของคีแทกไม่ตอบโจทย์ความต้องการขั้นพื้นทางทางสรีรวิทยา หรือจิตวิทยาเลย ไม่ว่าจะเป็น การระบายอากาศที่เหมาะสม แสงสว่าง สิ่งแวดล้อมบริเวณบ้าน หรือการป้องกันเหตุรำคาญต่างๆ ในฐานะบ้านพักอาศัย ความสะอาด ความสะดวกสบาย สาธารณูปโภค ตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับบ้านตระกูลปาร์คที่ตอบโจทย์ทุกโจทย์ได้ ความเหลื่อมล้ำทางสังคมเหล่านี้ถูกอธิบายอย่างธรรมชาติผ่านภาพยนตร์ทำให้สะท้อนประเด็นปัญหาทางสังคมเกาหลีปัจจุบันอย่างชัดเจน จึงเป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดหากภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นกระบอกเสียงความเหลื่อมล้ำของชนชั้นในสังคมเกาหลีให้ชาวโลกได้รู้จัก
เอกสารอ้างอิง
Daniel J. Schwekendiek. (2017). South Korea: A Socioeconomic Overview from the Past to Present. New York: Routledge.
Lee Sanghoon, Yoon Taeklim, and Christian J. Park. (2010). Cultural Landscapes Of Korea. Gyeonggi: The Academic of Korean Studies Press.
Jong Bonghee. (2016). A Cultural History of the Korean House. Seoul : Seoul Selection.
วีรญา กังวานเจิดสุข(2562). เอกสารคำสอนวิชา KS334 สังคมและวัฒนธรรมเกาหลี. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.