ดูแดดนั่นสิ! ใครวานให้ออกไปซื้อข้าวให้ตอนนี้ จะทำประกันชีวิตล่วงหน้าไว้ให้
อากาศร้อนๆ แบบนี้ชินแล้วหรือยัง? โลกของเรากำลังร้อนขึ้นเรื่อยๆ จากปัจจัยทางธรรมชาติและฝีมือมนุษย์ ร่างกายของคุณสามารถรับมือความร้อนที่ 40 องศาเซลเซียสโดยมีค่าความชื้นที่ 75% ถือเป็นระดับที่ ‘มนุษย์พอจะมีชีวิตรอดในระยะเวลา 6 ชั่วโมง’ หากมากเกินไปกว่านี้ ร่างกายจะไม่สามารถทำงานได้ปกติ
เอาเข้าจริงอุณหภูมิที่สูงถึง 31 องศาฯ ของบ้านเราก็เริ่มมอบความไม่สบายทางกายแล้ว เพราะร่างกายของคุณสร้างความร้อนขึ้นมาอยู่เสมอจากทุกอิริยาบถ โดยมีความร้อนพอๆ กับหลอดไฟขนาด 100 วัตต์ แต่หากออกแรงในช่วงสั้นๆ อย่างเช่นวิ่งหรือกระโดด ร่างกายของคุณอาจสร้างความร้อนใกล้เคียงกับหลอดไฟ 1,000 วัตต์ หรือเทียบเท่าเครื่องอบไมโครเวฟ 1 เครื่อง! มันร้อนจริงๆ นะคุณ
ความร้อนไม่ได้ส่งผลกระทบต่อร่างกายคุณเท่านั้น แต่ส่งอิทธิพลแบบผิดเพี้ยนพิสดาร เหนือความคาดหมายในทุกองศา เรามาสำรวจกันดีกว่า หากอากาศร้อนแบบนี้กลายเป็นเรื่องปกติ จะเกิดความ ‘ไม่ปกติ’ อะไรขึ้นบ้าง?
ธรรมชาติล้วนละเอียดอ่อนเชื่อมโยงเป็นเหตุเป็นผลกัน หากสิ่งหนึ่งเปลี่ยน อีกล้านสิ่งอาจเปลี่ยนตามแบบถาวร
1. ระวังหัวไว้! ฟ้าจะผ่าบ่อยขึ้น
ใครชอบสาบานให้ฟ้าผ่าตาย อาจจะต้องสงวนคำพูดไว้หน่อย มีการประเมินคร่าวๆ ว่า ทุก 1 องศาที่เพิ่มขึ้น จะมีโอกาสเกิดฟ้าผ่ามากขึ้น 12% จากงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร Science ในทางทฤษฎีแล้ว สภาพอากาศร้อนจะทำให้ชั้นบรรยากาศเก็บความชื้นได้มากขึ้น ก่อตัวเป็นเมฆฝนฟ้าคะนอง หยดน้ำและก้อนน้ำแข็งในเมฆเสียดสีกันจนเกิดประจุไฟฟ้า เร่งให้มีโอกาสเกิดฟ้าผ่าเปรี้ยงๆ บ่อยขึ้น
แม้ฟ้าผ่าอาจจะไม่ได้ส่งอสนีบาตลงกลางหัวคุณ เพราะเราอยู่ในอาคารเสียส่วนใหญ่ แต่นักวิชาการชักกังวลว่า พื้นที่ป่าในช่วงหน้าแล้งจะเสี่ยงต่อเหตุฟ้าผ่าต้นไม้ใหญ่ เกิดประกายไฟในพื้นที่ยากต่อการควบคุม กลายเป็น ‘ไฟป่า’ จากธรรมชาติที่ลุกลามรวดเร็วและไม่สามารถคาดเดาได้ ‘ฟ้าผ่าและไฟป่า’ จึงมีปัจจัยคู่กันเสมอ
2. เครื่องดื่มที่คุณชอบ กาแฟ เบียร์ ไวน์ จะมีรสชาติห่วยแตก
ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงมีผลต่อการทำกสิกรรมทุกรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือการ ‘ปลูกกาแฟ’ เครื่องดื่มรสกลมกล่อมที่คุณต้องการในทุกเช้า อากาศร้อนจัดต่อเนื่องมีผลให้รสชาติของกาแฟต่างจากเดิมเพราะโครงสร้างทางเคมีในเมล็ดเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกเมล็ดกาแฟคุณภาพในประเทศเอธิโอเปียที่อาจปลูกกาแฟต่อไปไม่ได้เพราะความทารุณของอากาศร้อน รวมไปถึงพื้นที่หลายๆ แห่งทั่วโลกด้วยที่ต้องทำฟาร์มกาแฟด้วยความลำบากลำบน แถมราคายังสูงขึ้นจนกระเป๋าเงินคุณสั่นระริก
นักดื่มเบียร์และไวน์ก็ล้วนได้รับผลกระทบเช่นกัน ไม่รอดหรอก! กระบวนการหมักเบียร์ต้องมีช่วงเวลาปล่อยให้เบียร์ในถังมีอุณหภูมิลดลง เพื่อให้ยีสต์ทำปฏิกิริยากับอากาศ – ยีสต์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ละเอียดอ่อนและรับรู้การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ
ส่วนผลองุ่นที่ใช้หมักเป็นไวน์ อุณหภูมิคือกุญแจสำคัญในการกำหนดช่วงเวลาเก็บเกี่ยวผลองุ่น อากาศที่ร้อนจัดและฝนตกชุกทำให้ต้องเลื่อนการเก็บผลผลิตให้เร็วขึ้น องุ่นจึงมีรสขมปี๋และไม่ได้คุณภาพนักสำหรับการหมักไวน์รสดี
คอเบียร์และไวน์ควรซีเรียสกับโลกร้อนอยู่เหมือนกันนะ
3. ร้อนจนได้ ‘หมีลูกครึ่ง’ เมื่อหมีขั้วโลกผสมพันธุ์กับหมีกริซลี
คิดไม่ถึงใช่ไหม หากความร้อนจะทำให้ได้หมีสายพันธุ์ผสมที่จะเรียกว่า grolar หรือ pizzly (ดูการเล่นคำสิ) เป็นหมีที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์โดยปัจจัยทางธรรมชาติระหว่างหมีกริซลี (grizzly) และหมีขาวขั้วโลก (polar)
นักวิจัยเริ่มพบหมีลูกครึ่งเหล่านี้ในประเทศแคนาดา พวกมันมีหน้าตาเหมือนหมีขาวขั้วโลก แต่มีอุ้งเท้าสีน้ำตาล มีขนสีน้ำตาลแซมประปราย และมีกรงเล็บหนาเหมือนหมีกริซลี เนื่องจากอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงผลักดันให้หมีกริซลีต้องเดินทางขึ้นเหนือเรื่อยๆ จนไปฟีเจอร์ริ่งกับกลุ่มหมีขั้วโลกที่อยู่ตามแนวชายฝั่ง ซึ่งที่ผ่านมาในอดีตเกิดขึ้นน้อยมากๆ สัญญาณการปรากฏตัวของเหล่าหมีลูกครึ่งจึงน่าเป็นห่วง เพราะมันแสดงถึงสภาพแวดล้อมในการหากินของหมีและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากหมีขั้วโลกจำเป็นต้องหากินริมชายฝั่งทะเล ขณะที่หมีกริซลี่หากินในป่า แต่น้ำแข็งละลายเร็วในแต่ละฤดู วิวัฒนาการจึงผลักดันให้พวกมันดิ้นรนจนได้หมีลูกครึ่งที่นักชีววิทยายังแปลกใจ
4. ฮัดเช่ยยย! เป็นภูมิแพ้หนักกว่าเดิม
ข่าวร้ายของหนุ่มสาวที่เป็นโรคภูมิแพ้ (allergies)โดยเฉพาะคนที่แพ้เกสรดอกไม้ คุณอาจจะจามหนัก น้ำมูกไหล ตาลึกโหล และการเดินเล่นในสวนสาธารณะอาจไม่น่าอภิรมย์เช่นเคย โลกร้อนขึ้นส่วนหนึ่งมาจากปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ติดอยู่ในชั้นบรรยากาศ ส่งผลให้ดอกไม้และต้นไม้ปล่อยเกสรออกมามากกว่าปกติและกินระยะเวลานานกว่าเดิม เพราะพืชเหล่านี้จำเป็นต้องดิ้นรนในการขยายพันธุ์เช่นกัน
เกสรดอกไม้ปริมาณมหาศาลที่หลงฤดูจะก่อกวนระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย ร่างกายคุณจะตรวจจับโปรตีนในเกสรแล้วเหมารวมว่าเป็นปรสิตที่รุกล้ำร่างกาย จากนั้นพยายามจะขับออกโดยการจามหนักๆ หรือทางสารคัดหลั่งอื่นๆ ในลักษณะอาการแพ้ ซึ่งกลไกของภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อเกสรดอกไม้ยังเป็นปริศนาอยู่มาก ว่าทำไมร่างกายคุณถึงออกอาการเวอร์วังขนาดนั้น
5. รัดเข็มขัดไว้! เครื่องบินตกหลุมอากาศบ่อยขึ้น
ทริปทางอากาศอาจจะเสี่ยงมากขึ้นจากอันตรายของหลุมอากาศ โดยเฉพาะภัยที่นักวิทยาศาสตร์วิตกกังวลที่สุด คือ ความปั่นป่วนในอากาศแจ่มใส (Clear Air Turbulence) มองดูท้องฟ้าเหมือนไม่มีอะไร แต่อากาศกลับบ้าคลั่ง ความชุลมุนที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น
อากาศที่ร้อนขึ้นทำให้ jet stream (กระแสลมกรด) ที่มักเป็นอุปสรรคต่อการบินอยู่แล้ว มีความเร็วประมาณ 200-400 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และจะมีความเร็วมากขึ้นจนยากจะคาดเดา นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย University of Reading เริ่มตรวจพบปรากฏนี้บ่อยครั้งในคาบสมุทรแอทแลนติก เมื่อกระแสลมกรดมีความเร็วจนเกิดหลุมอากาศได้บ่อย ทริปของคุณอาจโยกเยกเหมือนนั่งควายเทียมเกวียนในโคลนปลัก
ความปั่นป่วนในอากาศแจ่มใส (Clear Air Turbulence) ร้ายกาจกว่าหลุมอากาศที่เกิดจากกลุ่มเมฆ เพราะนักบินจะมองไม่เห็น และไม่สามารถแจ้งเตือนสัญญาณคาดเข็มขัดไปยังผู้โดยสารได้ วิธีที่สายการบินใช้แก้ไข คือการลงทุนติดตั้งระบบเทคโนโลยีตรวจจับด้วยเลเซอร์บนเครื่องบิน (Laser Detection System) เพื่อช่วยเป็นตาวิเศษให้ ปัจจุบันยังเป็นระบบที่มีราคาสูงมาก แต่ก็ดีกว่าไม่มีทางเลือกอะไรเลย หากต้องรักษาชีวิตหลายร้อยบนเครื่องบิน
คุณแอร์ฯ เขาเตือนอะไรไว้ก็ฟังหน่อยแล้วกันนะ อย่าดื้อ แอร์เตือนแล้วนะ
6. ร้อนจนสัตว์วางไข่เป็นเพศเมียมากขึ้น
ทุกชีวิตพัวพันกับอากาศอยู่ทุกขณะจิต ความร้อนมีอิทธิพลในการกำหนดเพศของสัตว์เลื้อยคลานอย่างยิ่งยวด เป็นอุปสรรคให้พวกมันหาคู่ยากขึ้นจากสัดส่วนเพศตรงข้ามที่ไม่สมดุลกัน สัตว์เลื้อยคลานไม่มี Tinder แบบคุณ (ขนาดคุณมีแล้วก็ยังหายากเลย ปัดโถ่) มันจึงต้องขวนขวายคู่ที่เหมาะสมภายใต้ความกดดัน และมีคู่แข่งขี้นอิจฉาเพิ่มมากขึ้น
เรื่องนี้เกิดขึ้นกับเต่าตนุ (green sea turtle) เต่าทะเลที่บ้านเราคุ้นเคยกันดี การวางไข่ของมันจำต้องอาศัยอุณหภูมิที่เหมาะสม หากมีการเปลี่ยนแปลงจะมีผลต่อการกำหนดเพศของลูกเต่า ไข่ที่มีอุณหภูมิสูงตั้งแต่ 29 องศาเซลเซียสขึ้นไป ลูกที่ออกมาจะเป็น ‘เพศเมีย’ ส่วนไข่ที่ฟักในอุณหภูมิที่ต่ำกว่านั้นจะเป็นเพศผู้
งานวิจัยในปี 2016 พบสัดส่วนที่ไม่สมดุลอย่างน่าตกใจของประชากรเต่าตะนุในแถบทะเลแคริบเบียน คือ เต่าตะนุเพศผู้เหลืออยู่ในธรรมชาติเพียง 16% เท่านั้น และในปี 2030 อาจเหลือเพียง 2%
ไม่ใช่ข่าวดีสำหรับเต่าตนุหนุ่มที่จะมีสาวๆ มาห้อมล้อมมากขึ้น สัดส่วนทางเพศที่ไม่เหมาะสมเป็นสัญญาณแรกๆ ของการสูญพันธุ์อันใกล้
7. ร้อนจนสัตว์ตัวจิ๋วลง
ไม่ใช่ลูกเหม็นเท่านั้นหรอกที่ร้อนแล้วหดเล็ก สัตว์ในธรรมชาติเองมักมีวิวัฒนาการให้ขนาดเล็กลงจากปรากฏการณ์ของอุณหภูมิครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อให้ร่างกายรับมือกับอากาศร้อนดีขึ้น การคัดสรรทางธรรมชาติจะลดพื้นที่ร่างกายให้รับความร้อนน้อยลง แต่ขณะเดียวกันก็รักษาอุณหภูมิร่างกายได้ดีกว่าเดิม แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใดต่อหน้าคุณ มันค่อยๆ เปลี่ยนแปลงทีละน้อย ใช้เวลาหลายรุ่นด้วยกัน
นักชีววิทยาเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่า dwarfing ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย University of New Hampshire ศึกษาหลักฐานทางฟอสซิลของกระต่าย ม้า ลีเมอร์ กระรอก ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์เมื่อ 54 ล้านปีก่อน สัตว์เหล่านี้ล้วนเผชิญการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศร้อน 2 ครั้งใหญ่ๆ แต่ละคาบกินเวลานาน 2 ล้านปี จากหลักฐานฟอสซิลชี้ชัดว่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีโครงสร้างที่เล็กลงสอดคล้องกับช่วงเวลาที่เผชิญความร้อน
ขนาดเวลาเจอแดดร้อนๆ คุณยังพยายามทำตัวให้เล็กเลย นี่ก็อาจเป็นเหตุผลลึกๆ เหตุผลหนึ่งก็ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก
- Climate change is turning 99 percent of these baby sea turtles female
- UNH Research Finds Pattern of Mammal Dwarfing During Global Warming
- Clear Air Turbulence (CAT)
- Pizzly or grolar bear: grizzly-polar hybrid is a new result of climate change
- More thunderstorms during the summer