ทุกๆ วันพวกเราทิ้งร่องรอยแห่งความสร้างสรรค์ทับถมกันชั้นแล้วชั้นเล่าจากอดีตจวบจนปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์เคยปรามาสว่า ความสร้างสรรค์ของมนุษย์เพิ่งระเบิดตูมเอาเมื่อ 40,000 ปีก่อนนี้เอง
แต่การค้นพบใหม่ๆ เปิดพื้นที่การเรียนรู้ที่กว้างกว่า มนุษย์มีความสร้างสรรค์มานานกว่านั้นมาก จากการเรียนรู้ข้อจำกัดของสภาพแวดล้อม การปรับตัวสู่พื้นที่ใหม่ๆ และที่สำคัญเมื่อมนุษย์เรียนรู้การทำเครื่องมือผ่านสมาธิ นำมาสู่คำถามที่ว่า จุดเริ่มต้นของความคิดสร้างสรรค์ทั้งปวงมาจากไหน? หรือมันเริ่มเพียงแค่ ‘หิน’
เอาของที่มี มาทำให้ดีกว่า
ต้นสาแหรกของมนุษย์กลุ่มแรกๆ ปรากฏตัวในแอฟริการาว 6 ล้านปีก่อนก็จริง แต่ในระยะ 3.4 ล้านปีให้หลัง เริ่มมีหลักฐานทางฟอสซิลแล้วว่า บรรพบุรุษมนุษย์กำลังอยู่ในความพยายามเรียนรู้เครื่องมืออย่างง่าย โดยยังไม่มีการพลิกแพลงมากนัก เราใช้ท่อนไม้หนาๆ หรือหินแข็งๆ ในการขุดหารากไม้ แต่ก็มักใช้อย่างทิ้งๆ ขว้างๆ อยากกินอะไรก็ต้องไปหามาใหม่ ไม่มีความคงทนและผลลัพธ์ที่ได้ก็ไม่แน่นอน
เราอยู่กับความไม่แน่นอนมาอีกสักพักใหญ่ๆ จนกระทั่งเข้าสู่ 1.6 ล้านปี เมื่อมนุษย์โฮมินิดกลุ่มแรกๆ เริ่มปรับรูปแบบชีวิต แทนจะเสียเวลาไปหาของใกล้มือ พวกเขาอยากได้อะไรที่พกพาติดตัวได้ ใช้งานหลายครั้ง และต้องไว้ใจได้พอที่จะทำให้การหากินเป็นไปอย่างเรียบง่ายที่สุด
มันจึงอาจเป็นครั้งแรกที่มนุษย์ นั่งคิด และมองเห็นของในมือตัวเองอย่างพิจารณา ว่าธรรมชาติสามารถทำอะไรได้มากกว่านั้น หินที่มากกว่าหิน ไม้ที่มากกว่าไม้ บรรพบุรุษมนุษย์จึงเห็นรูปแบบที่ไม่เคยปรากฏในตาเนื้อของเขามาก่อน รูปแบบที่เติมต่อขึ้นในจินตนาการเท่าที่พัฒนาการสมองจะมอบให้ได้ มันคือ ความคิดสร้างสรรค์ ที่จะกรุยทางอนาคตอีกล้านๆ ปี และเป็นหมุดหมายสำคัญที่กำหนดอัตลักษณ์ความเป็นมนุษย์ได้แจ่มชัดที่สุด
เราเริ่มเปลี่ยนรูปร่างสิ่งของในธรรมชาติ ให้ง่ายต่อการใช้งาน มีความทนทาน โดยเริ่มจากการกะเทาะหิน 2 ก้อนเข้าด้วยกันโดยใช้มือเปล่า ค่อยๆ สกัดเหลี่ยมมุมอย่างช้าๆ จนเกิดแง่งที่แหลมสามารถใช้เป็นของมีคมที่ติดตัวไปไหนต่อไหนได้
ถึงแม้เราในยุคปัจจุบันจะเห็นมันเป็นแค่เครื่องมือหิน แต่บอกว่า ‘ไม่ง่าย’ ที่คุณจะสกัดหินสักก้อน มันต้องใช้การวางแผนอย่างละเอียดรอบคอบ ทุกการสกัดจะเกิดองศาที่แตกต่าง มนุษย์เองต้องมีสมาธิอย่างสูงในการจดจ่อกับสิ่งที่อยู่ในมือ คุณอาจจะต้องฝึกฝนการสกัดหินจากผู้เชี่ยวชาญอย่างน้อย 300 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ เพื่อทำเครื่องมือหินสักชิ้นที่พร้อมใช้งาน
นักประสาทวิทยาศึกษากระบวนการทำเครื่องมือหินในมนุษย์ปัจจุบันก็พบว่า มันท้าทายอยู่ไม่น้อย โดยการสแกนสมองในขณะนักเรียนสกัดหิน เมื่อเวลาผ่านไปก็ยิ่งเรียนรู้จากความผิดพลาดขึ้นเรื่อยๆ และมีการวางแผนการสกัดอย่างเป็นระบบมากขึ้น กระตุ้นให้เซลล์ประสาทในสมองส่วน Prefrontal Cortex ทำงานตลอดเวลา ซึ่งเป็นสมองที่ควบคุมการตัดสิน การเข้าสังคมและการใช้ภาษา
หรืออีกนัยหนึ่ง ‘การทำเครื่องมือหินค่อยๆ เปลี่ยนโครงสร้างสมองของพวกเราอย่างช้าๆ จากการคิดวางแผนล่วงหน้า’ ถือว่าเป็นอุบัติกาลใหม่ในประวัติศาสตร์โลกเลยก็ว่าได้
เมื่อมีเครื่องมือ ชีวิตก็มีตัวเลือกมากขึ้น แหล่งอาหารของมนุษย์จึงปรับเปลี่ยนเป็นโปรตีนจากเนื้อสัตว์ การบริโภคโปรตีนมีส่วนช่วยให้ Gray Matter ในสมองพัฒนา โฮมินิดสกุลเก่าแก่ ออสตราโลพิเธคัส (Australopithecus) มีปริมาตรสมองเพียง 450 ลูกบาศก์เซนติเมตรหรือเท่ากับลิงชิมแปนซี จวบจนพัฒนาสู่ โฮโม แฮบิลิส (Homo Habilis) ที่เรียนรู้การใช้เครื่องมือ กลับมีปริมาตรสมองใหญ่ขึ้นถึง 930 ลูกบาศก์เซนติเมตร นับเป็นการก้าวกระโดดทางวิวัฒนาการที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์แปลกใจ
มีเพียงมนุษย์เท่านั้นหรือที่ทำเครื่องมือเป็น?
เมื่อปีที่แล้วถ้ายังจำความกันได้ ‘เรื่องลิงๆ’ ก็สร้างความฮือฮาให้กับทั่วโลกได้เช่นกัน เมื่อสื่อใหญ่อย่าง BBC รายงานข่าวการพบเห็นลิงสายพันธุ์คาปูชินในประเทศบราซิล พยายามใช้เครื่องมือหินทุ่นแรงในการหาอาหาร สร้างความฉงนงงงวยให้กับคนทั่วโลก หรือนี้อาจเป็นครั้งแรกที่มนุษย์เป็นพยานรู้เห็นต้นกำเนิดสติปัญญาของสิ่งมีชีวิตอื่น ที่หาญกล้าประดิษฐ์เครื่องมือที่เคยเชื่อกันว่า ‘มีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่ทำได้’
ภาพดังกล่าวถูกบันทึกและสังเกตการณ์จากคณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยชั้นนำอย่าง Oxford ซึ่งคนในพื้นที่ของบราซิลเองก็พบเห็นกิจกรรมพวกลิงใช้หินเครื่องมือมาไม่น้อยกว่า 700 ปีแล้ว
ลิงสายพันธุ์เล็กอย่าง คาปูชิน (Capuchin) ในทางตอนเหนือของอุทยานแห่งชาติ Serra da Capivara ประเทศบราซิล หยิบหินขนาดพอๆ กับมันฝรั่ง พอดิบพอดีกับอุ้งมือเล็กๆ ของพวกมัน จากนั้นกะเทาะกับหินอีกก้อนครั้งแล้วครั้งเล่าจนเกิดมุมบิ่นทีละน้อย หรือไม่ก็ใช้หินก้อนใหญ่หน่อยทำหน้าที่คล้ายทั่งและค้อน ถือติดตัวเข้าไปในป่ามะม่วงหิมพานต์ จากนั้นก็หยิบมากะเทาะเปลือกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ให้แตกก่อนจะลิ้มรสเนื้อใน
ลิงที่อยู่ในกลุ่มไพรเมต (Primate) ก็มีพฤติกรรมใช้หินมาสักพักแล้ว อย่างชิมแปนซีในถิ่นแอฟริกาตะวันตก แต่มีเพียงลิงคาปูชินในอุทยาน Serra da Capivara เท่านั้น ที่นักวิทยาศาสตร์เห็นพฤติกรรมนำหินมากะเทาะกับหินอีกก้อน ไม่ว่ามันจะมีจุดประสงค์อย่างไรก็ตาม แต่ดูคล้ายกิจกรรมที่บรรพบุรุษมนุษย์ของเราเคยทำเมื่อ 2.2 ล้านปีก่อน และเคยถูกขนานนามว่า มีเพียงมนุษย์เท่านั้น ที่มีความฉลาดพอจะหยิบหินมากะเทาะกันให้เกิดความคม เพื่อใช้งานตัดหรือเฉือน
แล้วลิงคาปูชินกำลังสร้างมีด จากหินอยู่จริงๆ หรือเปล่า?
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature ในปี 2016 สร้างความฮือฮาและหัวร้อนให้กับวงการโบราณคดีไม่น้อย เมื่อเอกสารวิจัยระบุว่า เครื่องมือหินของลิงคาปูชิน มีความใกล้เคียงจนถือว่า ‘อยู่ในเกณฑ์เดียวกัน’ กับเครื่องมือหินฝีมือมนุษย์ จนกลายเป็นประเด็นถกเถียงร้อนแรงในวงการโบราณคดี และจุดประเด็นเรื่องต้นกำเนิดบรรพบุรุษมนุษย์และไพรเมตอื่นๆ ว่าเรามีจุดเปลี่ยนของสติปัญญาโดยการริเริ่มสร้างเครื่องมือหินด้วยตัวเองอย่างไร
เครื่องมือราว 111 ชิ้น ฝีมือลิงสายพันธุ์คาปูชินที่สร้างขึ้น ทีมวิจัยจึงวัดขนาด น้ำหนัก องศาแตกหัก และรอยบิ่นจนเกิดมุมแหลมอย่างประณีต น่าทึ่งที่เครื่องมือหินรูปทรงคล้ายฝาหอย หรือที่เรียกในทางธรณีวิทยาว่า Conchoidal เกิดจากการที่ลิงคาปูชินในบราซิลพยายามกะเทาะซ้ำๆ ด้วยหินก้อนเดียว มีลักษณะคล้ายเครื่องมือมนุษย์ซึ่งเป็นสัญญาณของสติปัญญาและจุดกำเนิดของมือที่คล่องแคล่วราวมนุษย์ (Human-like hand) และมีความตระหนักรู้ขั้นพื้นฐาน ในขณะที่ลิงชิมแปนซี (ญาติสนิทที่สุดของมนุษย์) ยังไม่สามารถทำเครื่องมือให้ได้รูปทรงที่สมบูรณ์แบบในลักษณะ Conchoidal มาก่อน
ดังนั้นหากลิงในปัจจุบันมีศักยภาพประดิษฐ์เครื่องมือได้เช่นนี้ ก็อาจหมายความว่า ลิงที่เคยมีชีวิตแต่สูญพันธุ์ไปแล้วในอดีตก็มีแนวโน้มจะทำเครื่องมือหินที่ประณีตได้เช่นกัน
ซึ่งหากเป็นไปตามสมมติฐานพื้นฐาน นักโบราณคดีอาจจะต้องมานั่งนิยามบรรทัดฐานของเครื่องมือหิน ‘ฝีมือมนุษย์เท่านั้น’ กันใหม่ เมื่อพวกเขาพบเครื่องมือหินในธรรมชาติ อะไรคือเส้นที่กั้นระหว่าง เครื่องมือหินมนุษย์และเครื่องมือหินลิง?
เสียงค้านก็ต้องมี นักโบราณที่อีกฝ่ายออกมาโต้แย้งว่าสมมติฐานนั้นยังเร็วเกินไป เพราะการสำรวจทางโบราณคดีจะมาเอาเครื่องมือหินอย่างเดียวที่ค้นพบมาด่วนสรุปเลยไม่ได้ หากปราศจากหลักฐานทางฟอสซิลอื่นๆ อยู่ในพื้นที่นั้นร่วมด้วย
ทีมตอบโต้นำโดยนักโบราณคดี Wil Roebroeks จากมหาวิทยาลัย Leiden ในเนเธอร์แลนด์ จึงเขียน Comment ลงในวารสาร Nature เล่มถัดไปของที่ตีพิมพ์งานวิจัยเครื่องมือลิงคาปูชิน โดยให้เหตุผลว่า พื้นที่ในการสำรวจในเชิงโบราณคดีนั้น ต้องเห็นหลักฐานที่ลิงคาปูชินได้ใช้เครื่องมือหิน จนทิ้งร่องรอยไว้ในสภาพแวดล้อมอื่นๆ ด้วย อย่างการพยายามใช้หินขูดต้นไม้ เพื่อแสดงถึงการใช้งานเฉือนหรือตัด ซึ่งในแหล่งขุดค้นพบทางโบราณคดีของมนุษย์ล้วนมีหลักฐานเหล่านี้ปรากฏด้วยทั้งสิ้น ดังนั้นการด่วนสรุปอย่างรวดเร็วว่า ลิงกำลังทำเครื่องมือเฉกเช่นฝีมือมนุษย์อาจมีน้ำหนักไม่เพียงพอ และที่สำคัญ ลิงดูยังไม่มีแนวคิดเจ้าเข้าเจ้าของ (ownership) กับวัตถุที่มันสร้าง ไม่มีการใช้ซ้ำเครื่องมือ เหมือนในมนุษย์
อย่างไรก็ตาม แม้มนุษย์จะถูกลิงพยายามเทียบชั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า เครื่องมือหินของมนุษย์จะหมดเสน่ห์ลงแต่อย่างใด มันยังคงน่าตื่นตาเสมอจากจุดตั้งไข่ที่เริ่มด้วยความง่าย ไม่ซับซ้อนและตรงไปตรงมา ก่อนจะพัฒนาอย่างสม่ำเสมอและเห็นวิวัฒนาการที่ค่อยๆ ต่อยอดขึ้นไปเรื่อยๆ
แม้เรากำลังจะออกสำรวจดาวอังคารหรือรอบนอกห้วงกาแล็คซี่อันไกลลิบ เรายังคงต้องการคำตอบจากอดีตอยู่วันยังค่ำ
ยิ่งเราสำรวจจุดกำเนิดของความคิดริเริ่มและหัวใจของการสร้างสรรค์ของเราได้มากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งเห็นความมหัศจรรย์ของตัวเราเองมากขึ้น
ความคิดสร้างสรรค์ก็เหมือนพรประทานจากฟ้า พอๆ กับผีร้ายจากขุมนรก มันขึ้นอยู่กับว่าคุณจะใช้มันอย่างไร
อ้างอิงข้อมูลจาก
Wild monkeys flake stone tools
Monkey ‘tools’ raise questions over human archaeological record
Illustration by Kodchakorn thammachart