“ศิลปินมีไว้ชื่นชม ไม่ได้มีไว้รู้จัก” ใช้ได้ตลอดกาล เพราะเมื่อคุณเริ่มทำความรู้จักตัวตนอันแท้จริงของศิลปินที่คุณปลาบปลื้ม มันอาจเป็นความผิดพลาดครั้งสำคัญ น่าคิดนะ! คนที่มีพลังสร้างสรรค์สูงๆ มักมีพฤติกรรมเพี้ยนๆ ที่แสดงออกมาเหนือตรรกะทั้งปวงโดยที่คุณเองก็ไม่เข้าใจ สมองของคนเหล่านี้รับสิ่งเร้าที่เป็น Input เข้ามาอย่างไร? เหมือนกับเราไหม?
แล้วคุณแน่ใจแล้วหรือว่าไม่เพี้ยนไปด้วย?
แต่ในมิติของจิตวิทยาเองก็สงสัยไอ้เส้นบางๆ นี้ไม่ต่างจากคุณ พวกเขาพยายามศึกษารูปแบบการคัดกรอง Input ต่างๆ เข้าสู่สมองและประมวลผลออกมาเป็นพฤติกรรมที่ซับซ้อน พิลึกกึกกือ แต่ก็ล้ำเกินจินตนาการคนทั่วไป
เก่ง แต่เพี้ยน ใครบ้างนะ?
- อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ชอบเก็บก้นบุหรี่ที่สูบแล้วบนท้องถนน เพื่อเอาเศษยาสูบที่เหลือมาใส่ไปป์ตัวเอง
- มหาเศรษฐี ฮาวเวิร์ด ฮิวจ์ ใช้เวลาทั้งวันนั่งบนเก้าอี้ใน ‘ห้องปลอดเชื้อโรค 100%’ ที่เขาออกแบบเองในโรงแรม Beverly Hills
- คีตกวีเอก โรแบร์ท ชูมันน์ เชื่อว่าดนตรีของเขาถูกชักนำโดยวิญญาณของบีโธเฟ่น และคีตกวีท่านอื่นๆ ที่ล่วงลับ
- ชาร์ลส์ ดิกเกนส์ นักประพันธ์ชาวอังกฤษ มักคิดว่าตนเองถูกตามด้วย ‘เด็กชายที่มองไม่เห็น’ บนท้องถนนของลอนดอน จนต้องใช้ร่มขู่ไล่ ชิ่วๆ
- ซัลบาโด ดาลี ศิลปินลัทธิเหนือจริงผู้มีอัตตาดิบสูงส่ง ชอบเลี้ยงสัตว์แปลกๆ ไว้ในบ้าน เชิญคนดังมาปาร์ตี้ และแต่งกายด้วยข้าวของเครื่องใช้เดินไปเดินมา
- ปีเยิร์ก (Bjork) นักดนตรีจากไอซ์แลนด์ กรีดร้องอย่างเสียสติ โหยหวนเพลงสุดเหวอ และแต่ง ‘ชุดหงส์คอหัก’ เดินพรมแดงกลายเป็นตำนานที่สุดของเวทีออสการ์
เราเชื่อว่าคุณรู้จัก ‘อัจฉริยะสุดเพี้ยน’ อีกเป็นกองทัพ จะมานั่งนับนิ้วหรือลิสต์รายชื่อคงยาวไปถึงสุดขอบทางช้างเผือก เอาเป็นว่าสังคมเราไม่เคยขาดคนเพี้ยนๆ มาสร้างสีสันเลย แต่ความคิดสร้างสรรค์สูง (Highly Creative) และพฤติกรรมประหลาดก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่อย่างใด ย้อนไปตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ เพลโตและอริสโตเติล เคยนิยามนักกวีและนักละครเร่พวกนี้ว่า มีพฤติกรรมแปลกแยกจากชาวบ้านชาวช่อง (อริสโตเติลเคยเชื่อมโยง ความสร้างสรรค์กับภาวะซึมเศร้า ไว้ด้วยกันเป็นคนแรกๆ จนส่งอิทธิพลในการทำความเข้าใจกระบวนความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์สืบต่อมา)
Creativity vs. Eccentricity
จิตวิทยาสมัยใหม่ในรอบหลายสิบปี่ที่ผ่าน หาคำนิยามของ ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และ ความแปลกประหลาด (Eccentricity) อยู่เหมือนกัน โดยความคิดสร้างสรรค์จะวัดง่ายอยู่สักหน่อย นักวิจัยจะทำการสำรวจว่า บุคคลนั้นประสบความสำเร็จกี่รายการจากความคิดสร้างสรรค์ มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่สนับสนุนให้เกิดทักษะมากน้อยแค่ไหน และมีศักยภาพในการคิดนอกกรอบเมื่อถูกบีบคั้นอย่างไร เช่น ให้ลองใช้ข้าวของเครื่องใช้ธรรมดาๆในบ้านในการแก้ปัญหา Logic ที่ต้องอาศัยการพลิกแพลงอยู่ไม่น้อย
แต่การวัดความแปลกประหลาด (Eccentricity) ยุ่งยากขึ้นมาอีกขั้น เพราะนักวิจัยจะเชื่อมโยงพฤติกรรมดังกล่าวกับ Schizotypal personality (ซคิโซไทปอล) หรือ บุคลิกภาพของบุคคลที่แสดงพฤติกรรมแปลกประหลาด โดยส่วนใหญ่คนเหล่านี้มักมีความคิดเชิงเวทมนตร์ (Magical thinking) มีจินตนาการแนวแฟนตาซีเกินจริงปะปนในการใช้เหตุใช้ผล
เช่น บางคนเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ วิญญาณ ภูตผีแบบฝังใจ คล้าย ‘โรแบร์ท ชูมันน์’ ที่เชื่อว่ามีผีบีโธเฟ่นมาจับมือเขาประพันธ์ดนตรี หรือดนตรีที่เขาบรรเลงนั้น ส่งตรงมาจากหลุมศพคีตกวีโบราณ
หรือ มีการรับรู้ที่ไม่ปกติของ ‘ชาร์ลส์ ดิกเกนส์’ ที่พบว่าเขาถูกติดตามจากตัวละครในเขียนของเขาเอง และอาจมีอาการวิตกจริตอ่อนๆ ของเศรษฐี ‘ฮาวเวิร์ด ฮิวจ์’ ผู้รักษาความสะอาดจนเกินพอดี เพราะรู้สึกว่ารอบตัวเขาเต็มไปด้วยเชื้อโรคคอยรังควาญจิตใจ
Schizotypal personality เป็นอาการทางจิตอ่อนๆ ระดับพื้นฐาน ของความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบจิตเภท (schizotypal personality disorder) ซึ่งถูกจัดว่าเป็น ความผิดปกติที่แปลกหรือวิปริตในกลุ่ม A ของการจัดอันดับโดยสมาคมจิตเวชอเมริกัน อันเป็นรูปแบบของความอึดอัดอย่างรุนแรงในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น คนเหล่านี้อาจชอบแต่งตัวให้พิสดารหรือมีรูปแบบการพูดที่ไม่เหมือนคนอื่น (พูดโดยใช้คำอุปมาอุปไมยบ่อยครั้ง คิดคำใช้เอง) และบางครั้งอาจรับมือกับสถานการณ์ในชีวิตแบบไม่ถูกที่ถูกเวลา เชื่อเรื่องโชคลาง พลังอำนาจควบคุม อิทธิพลของเวรกรรม ลางสังหรณ์ จริงๆ พฤติกรรมในกลุ่มคนเหล่านี้หลากหลายมาก ยิบย่อยลงไปอีกเพียบ
แต่คนที่มีอาการ Schizotypal personality ก็ไม่ใช่คนที่มีความผิดปกติทางจิตเสมอไป ไม่ได้เป็นภัยต่อสังคม ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้ไม่มีปัญหา ไม่ได้แสดงปัญหาออกมาอย่างชัดเจน ขนาดนักศึกษาในมหาวิทยาลัย Harvard ที่อัจฉริยะหลายคนยังเคยทำแบบทดสอบจนเข้าข่าย Schizotypal personality เลย
ข้อมูลที่มากเกินไป
พวกเราทุกคนล้วนมีตัวกรองบางๆ ในการประมวลผลทุกอย่างเข้าสู่สมอง หากคุณเปิดรับทุกอย่างโดยไม่มีการกลั่นกรอง การเร้าจากทุกสรรพสิ่งจะเข้ามาพร้อมๆ กันจนคุณไม่สามารถมีสมาธิกับอะไรได้เลย มันทำให้เราจดจ่อกับเป้าหมาย และเป็นกุญแจสำคัญต่อการมีชีวิตรอดเห็นดวงตะวันในถัดไป
ลองนึกถึงบรรพบุรุษของคุณ โฮโมเซเปียน คนแรกๆ ที่กำลังวิ่งหนีเสือดาว แต่ระหว่างการไล่ล่าอันกระชั้นชิดเขาพบดอกไม้สีแดงสด งดงามมีกลิ่นหอม ตาคนนั้นจึงหยุดฝีเท้าและก้มลงไปดมอย่างสุขใจ ก่อนที่จะโดนเสือดาวตะปบเข้ากลางหลัง และถูกหิ้วไปรับประทานบนยอดไม้จบชีวิตอันกรุ่มกริ่มของเขา
‘เสือดาว’ และ ‘ดอกไม้’ คุณเองก็รู้ดี ว่าควรแยกแยะสิ่งไหนก่อน ในสถานการณ์อะไรที่สำคัญที่สุด
ไอ้ความสามารถในการแยกแยะนี้เป็นเหมือนตัวกรองบางๆ สำหรับทุกคน ที่เรียกว่า Cognitive disinhibition หรือ ‘การตระหนักรู้ยับยั้งช่างใจ’ ในวินาทีที่คนวิ่งหนีเสือดาว แม้ดอกไม้จะหอมแค่ไหน คุณก็ไม่ควรหยุดวิ่ง
เมื่อพวกเราเติบโตไปเรื่อยๆ เรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว ทำให้เรามีตัวคัดกรองแต่ละชั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อรับ Input ต่างๆ อย่างเลือกสรรให้กับสมอง ที่เรียกว่า Cognitive Filter ซึ่งแต่ละคนจะมีตัวคัดกรองที่ไม่เหมือนกันเลยสักคนเดียว
แต่คนที่มีบุคลิก Schizotypal personality จะมีการทำงานของตัวกรอง Cognitive Filter แตกต่างจากคนอื่น ในทางจิตวิทยาเรียกว่า Latent inhibition (LI) ทำให้การกรองสิ่งเร้าต่างๆ ลดลง ทำให้พวกเขามีประสบการณ์เหนือจริง เกินธรรมชาติ ได้ยินเสียงหรือเห็นภาพที่ไม่มีอยู่มาโลดแล่นอย่างมีชีวิตชีวา
แต่ในขณะเดียวกันการขาด Cognitive disinhibition แบบชั่ววูบนี้เอง คือหัวใจของความคิดสร้างสรรค์อันเหนือจินตนาการ มันปลดพันธนาการคุณจากโลกแห่งความเป็นจริง หรือคุณค้นพบอะไรอย่างบังเอิญจนต้องร้องว่า “โอ้โห นี่ไง คิดออกแล้ว!!” (ฝรั่งเรียก Aha! หรือ Eureka Experience) พวกเขามักได้แรงบันดาลใจจากสิ่งที่คนอื่นมองข้าม
นักคณิตศาสตร์รางวัลโนเบล John Nash เป็นอัจฉริยะแห่งตัวเลข เขาเองเป็นแรงบันดาลใจในวรรณกรรมและภาพยนตร์ A Beautiful Mind เขาเป็นบุคคลที่เข้าข่าย Schizotypal personality โดยประสบการณ์ทำงานของเขามักผูกพันกับความเชื่อเรื่องมนุษย์ต่างดาวอย่างฝังจิตฝังใจ สิ่งมีชีวิตนอกโลกติดต่อมาโดยตรง แต่เขาให้เหตุผลว่า
“แนวคิดเรื่องเหนือธรรมชาติของผม อยู่ในจุดเดียวกันที่สมการทางคณิตศาสตร์ของผมมาบรรจบกัน ผมจึงเชื่อมันอย่างสุดหัวใจ”
ในกรณี John Nash ทำให้เราเห็นช่วงเวลาค้นพบ ‘ยูเรก้า’ ใกล้เคียงกับภาวะหลอนที่คร่อมกันไปมาอยู่บนพื้นที่เดียวกัน มันส่งพลังให้เขาค้นพบอะไรใหม่ๆ โดยเชื่อว่าได้รับพลังงานจากภายนอกกระตุ้น
คนที่มีพลังสร้างสรรค์มหาศาลจะมีพื้นที่ทางความคิดที่ดูดซึมพวกเขาให้ดำดิ่ง ห่างไปจากโลกปัจจุบันที่เขาอยู่ แต่อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกคนที่มีบุคลิก Schizotypal personality จะทำอะไรสร้างสรรค์กันทุกคน หลายคนก็ไม่สามารถเชื่อมโยงอะไรได้ และประสบปัญหาในการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ
อยากรู้แล้วหรือยังว่าคุณเป็นคน ‘สร้างสรรค์’ หรือ ‘เพี้ยน’ ?
บททดสอบของคุณ
ในการสำรวจความเชื่อมโยงระหว่าง ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และ ความแปลกประหลาด (Eccentricity) แบบพื้นฐาน นักวิจัยออกแบบชุดคำถาม 11 ข้อ เพื่อให้คุณลองสำรวจตัวเองอย่างคร่าวๆ ซึ่งล้วนเป็นคำถามแบบ ‘ใช่’ หรือ ‘ไม่’ มาลองดูกัน
- คุณมักมีไอเดียใหม่ๆ โดยที่ไม่รู้ว่ามันมาจากไหน ใช่หรือไม่?
- คุณคิดว่าตัวเองเป็นคนที่มีเหตุผลสูง ใช่หรือไม่?
- คนชอบคิดและพูดอะไรเป็นการอุปมาอุปมัย ใช่หรือไม่?
- คุณมีความสนใจหลากหลายแขนง ใช่หรือไม่?
- คุณมีปัญหาที่ต้องอยู่คนเดียวโดยไม่เปิดทีวี หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ใช่หรือไม่?
- คุณเชื่อเรื่องโทรจิต ใช่หรือไม่?
- คุณมักรู้สึกว่ามีใครบางคนอยู่ในห้องเสมอ แม้คุณจะอยู่ตัวคนเดียว ใช่หรือไม่?
- คุณเชื่อว่าความฝันของคุณเป็นลางบอกเหตุในอนาคต ใช่หรือไม่?
- คุณเชื่อว่ามีเหตุการณ์และวัตถุบางอย่างที่เข้ามาในชีวิต คอยช่วยเหลือคุณในการตัดสินใจสำคัญๆ ใช่หรือไม่?
- คุณเชื่อว่ามีพลังบางอย่างกำลังทำงานอยู่ โดยไม่สามารถตรวจสอบด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ ใช่หรือไม่?
- คุณคิดว่า เข้ากับใครไม่ค่อยได้ ใช่หรือไม่?
คิดคะแนนกัน
นับคะแนน คำตอบ ‘ใช่’ ในข้อ 1,3 และ 5
นับคะแนน คำตอบ ‘ไม่’ ในข้อ 2 และ 5
คะแนนที่ยิ่งมาก (มากสุด 5 คะแนน) แสดงว่าคุณมีกระบวนความคิดแบบสร้างสรรค์
นับคะแนน คำตอบ ‘ใช่’ ในข้อ 6 ถึง 10 คะแนนยิ่งมากแสดงว่า คุณเข้าข่ายมีบุคลิกแบบ Schizotypal personality
ส่วนข้อ 11 เกี่ยวข้องทั้งด้านความคิดสร้างสรรค์และ Schizotypal personality
ไม่ว่าคุณจะมองตัวเองอย่างไรก็ตาม การค้นหาความคิดสร้างสรรค์นั้นต้องฝึกปรือ มีกลยุทธ์ในการเข้าถึง แม้บางครั้งสังคมอาจปูทางไว้ให้ทุกคนราวออกแบบรองเท้าเพียงเบอร์เดียว แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะ ‘ฟิต’ เข้ากับมันได้อย่างแนบสนิท มันจึงจำเป็นที่ต้องรู้ว่าคุณกำลังตามหาอะไรอยู่ โดยที่ไม่ต้องไปตามอธิบายทุกคนให้เหนื่อยแรง (และอาจไม่มีใครเข้าใจคุณอยู่ดี) เสียแรงเปล่าๆ
แม้ ‘ความแปลก’ ก็ทำให้คุณประสบความสำเร็จได้โดยที่ไม่ต้องเหมือนคนอื่น
อ้างอิงข้อมูลจาก
The Aha! Moment: The Cognitive Neuroscience of Insight