“เจริญกรุงกำลังเปลี่ยนไป” เป็นความคิดที่วนเวียนอยู่ในหัวของเรามาพักใหญ่ๆ จากเดิมที่ย่านนี้เป็นเพียงจุดต่อรถต่อเรือเพื่อข้ามไปยังฝั่งธนบุรีเท่านั้น วันนี้เจริญกรุงคือย่านที่กำลังเติบโตได้น่าสนใจที่สุดย่านหนึ่งในกรุงเทพมหานคร และกลายเป็นจุดหมายปลายทางให้กับนักท่องเที่ยว คนที่ต้องการมาหาคาเฟ่ดีๆ เพื่อพักผ่อน หรือเดินดูนิทรรศการศิลปะตามแกลเลอรี่ต่างๆ
ถ้าถอยออกมามองในภาพที่ใหญ่กว่านั้น การเปลี่ยนแปลงของเจริญกรุงในรอบ 2-3 ปีนี้อาจสะท้อนได้ถึงทิศทางการเติบโตของเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ผู้คน แรงงาน ทรัพยากร รวมถึงองค์ความรู้เริ่มกระจายตัวออกจากศูนย์กลางมากขึ้น จากที่เคยถูกผูกขาดอยู่ในย่านธุรกิจเช่น สีลม สามย่าน สุขุมวิท
การย้ายบ้านของ TCDC จากห้างเอ็มโพเรียมมายังตึกไปรษณีย์กลางที่บางรักจึงเป็นเหมือนหมุดหมายสำคัญของกระแสนี้ ด้วยเป้าหมายที่จะนำองค์ความรู้เดิมที่มีอยู่มาเชื่อมต่อกับชุมชนเพื่อสามารถเอาไปต่อยอดทำธุรกิจของตัวเองได้
ในโอกาสที่ TCDC โฉมใหม่ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ เรามีโอกาสนั่งคุยกับ ผอ.TCDC อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ถึงภารกิจของ TCDC ที่ท้าทายมากยิ่งขึ้น
THE MATTER: โจทย์ใหม่ของ TCDC ที่เจริญกรุงคืออะไร
อภิสิทธิ์: เรามีโจทย์เดิมอยู่แล้วคือสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ แต่โจทย์ใหม่วันนี้คืออยากกระจายสิ่งเหล่านี้ให้กับคนที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะคนทั่วไปตามชุมชนที่กำลังทำธุรกิจอยู่ เพื่อให้พวกเค้าสามารถใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ของเราได้เต็มที่ เพราะแต่เดิมเจริญกรุงเป็นแหล่งธุรกิจที่มีไทยและต่างชาติเยอะ แต่พอธุรกิจมันย้ายไปในย่าน สีลม สาทร สุขุมวิท พวกธุรกิจบริษัทใหญ่ๆก็หายกันไปหมดจนทำให้เจริญกรุงเงียบลงเหลือแค่โรงแรมและจิวเวลรี่
อันต่อมาคือ เรากำลังคุยกับหน่วยงานรัฐให้ประกาศพื้นที่ตรงนี้เป็น “เขตเศรษฐกิจพิเศษด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์” ซึ่งถ้าทำได้มันจะเอื้อประโยชน์กับภาคธุรกิจ เช่น การลดภาษีที่จะช่วยให้การลงทุนมันเป็นไปได้ง่ายขึ้น
THE MATTER: TCDC จะมีส่วนร่วมกับชุมชนในการพัฒนาพื้นที่ย่านนี้ยังไงบ้าง
อภิสิทธิ์: เราทำงานร่วมกับชุมชนตั้งแต่ปีกว่าๆ ก่อนเปิดศูนย์แห่งนี้ สิ่งที่เริ่มทำไปแล้วและกำลังทำต่อไปอยู่คือโปรเจกต์ “เจริญกรุง Creative District” เราทดลองทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน เช่น ขอเช่าพื้นที่ที่เป็นอาคารเก่าแล้วจัดให้เป็น common space ของให้ทุกคนได้ใช้งานร่วมกัน เราทดลองใช้อยู่พักหนึ่งก็มีผลตอบรับที่ดี แปลว่าชุมชนเองต้องการพื้นที่เหล่านี้ เราหวังว่าในอนาคตเราจะร่วมมือกับชุมชนเพื่อจัดทัวร์พื้นที่เพื่อให้กับนักท่องเที่ยวได้รู้จักโรงแรม วัด โบสถ์ หรือเดินตามซอยในตลาดน้อย ถ้าทำได้มันก็เป็นการอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพากันและกัน
THE MATTER: คาแรคเตอร์เก่าของ TCDC ที่เอ็มโพเรียมคือความหรูหรากลางใจเมือง พอย้ายมาที่นี้แล้วภาพแบบนั้นมันเปลี่ยนไปยังไงบ้าง
อภิสิทธิ์: คอนเทนต์หลักของเรายังไม่เปลี่ยน แต่รูปร่างหน้าตามันเพิ่มมากขึ้น เมื่อก่อนเราทำหน้าที่เพียงแค่อธิบายประโยชน์ของการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ให้คนเข้าใจ แต่เดิมคนเข้าใจว่าการออกแบบมันหรูหราฟุ่มเฟือย แต่พอมาอยู่ตรงนี้เราคิดว่าเราเฟรนลี่มากขึ้น บรรยากาศเข้าถึงง่ายกว่า ดูสบายกว่า แพทเทิร์นก็น้อยลง มาวันนี้โจทย์ของ TCDC มันใหญ่ขึ้นนะ เมื่อก่อนเราพูดกับคนชั้นระดับบนๆแต่วันนี้จะพูดกับคนทั่วไปแล้ว ผมคิดว่ามันจะทำให้การใช้ประโยชน์ของการออกแบบมันได้กระจายไปอยู่กับทั้งธุรกิจใหญ่และธุรกิจเล็กๆตามชุมชน
THE MATTER: อยากให้ TCDC กับเจริญกรุงจะเติบโตไปด้วยกันไปในทิศทางไหน
อภิสิทธิ์: ตั้งแต่เราย้ายมาก็พูดคุยกับเจ้าของพื้นที่ตลอด เรากำลังเชื่อมโยงธุรกิจหลายๆ อย่างในย่านนี้ให้เข้าถึงกันได้ ซึ่งมันจะทำให้พื้นที่น่าสนใจมากขึ้น และดึงดูดให้มีผู้ประกอบการธุรกิจใหม่มาลงทุนในเจริญกรุง เช่น ธุรกิจในอุตสหรรมความคิดสร้างสรรค์ ธุรกิจ Start-up รวมถึงด้าน E-commerce และ Animation ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นออฟฟิศขนาดใหญ่มีคนเยอะๆ แต่เน้นเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนมากกว่า เรากำลังเจรจากับสำนักทรัพย์สินฯเพื่อขอใช้พื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้ใช้ทำงาน โดยไม่ต้องคิดค่าเช่าแพง ซึ่งจะต่างจากค่าเช่าต่อเดือนในย่านสุขุมวิท คาดว่าปลายปีนี้น่าจะเริ่มทำได้
ต่อจากนี้เราจะพาไปเดินดูดีกว่าว่า TCDC โฉมใหม่นี้มีอะไรน่าสนใจบ้าง
1. Creative Space
โซนพื้นที่ทำงานที่ส่งเสียงดังได้ สามารถเอาโปรเจกต์มานั่งแชร์ไอเดียกันได้ ด้านข้างยังมีแมกกาซีนเกี่ยวกับงานออกแบบและโฆษณามาให้เลือกอ่านกันด้วย แต่เป็นโซนที่ต้องเป็นสมาชิกก่อน (ใครเป็นสมาชิกเดิมอยู่แล้วเข้าได้เลย ส่วนสมาชิกใหม่เสียค่าธรรมเนียม 1,200 บาทต่อปี)
2. Business Service
โจทย์สำคัญของ TCDC คือการทำให้ความคิดสร้างสรรค์มันถูกต่อยอดได้จริง จึงมีโซนสำหรับให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญในการทำธุรกิจหลากหลายด้าน ทั้งการตลาด โฆษณา และการเริ่มต้นธุรกิจสตาร์ทอัพต่างๆ ถ้าต้องการคำปรึกษาสามารถมาแจ้งลงทะเบียนไว้ก่อนได้แล้วเจ้าหน้าที่จะจัดหาผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ มาให้โดยคิดค่าบริการชั่วโมงละ 1,000 บาท
3. Resource Center & Function Room
โซนสำหรับอ่านหนังสือหรือทำงานเงียบๆ ทุกโต๊ะมีปลั๊กไฟและโคมไฟให้ นอกจากนี้ยังสามารถเป็นพื้นที่เอนกประสงค์สำหรับจัดนิทรรศการและการบรรยายได้ หนังสือในชั้นนี้จะเน้นด้านธุรกิจแฟชั่น การตลาด และดิจิทัลมีเดีย จุดเด่นอีกอย่างคือหน้าต่างที่สูงถึงเพดานช่วยสร้างความรู้สึกผ่อนคลาย
4. Maker Space
ห้องปฏิบัติสำหรับการทำให้ไอเดียต่างๆ กลายเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาจริงๆ มีเครื่องมือให้ทดลองใช้เช่น 3D Printer และ CNC Machine โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญมาคอยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับชิ้นงานแต่ละอย่าง พื้นที่นี้เป็นความร่วมมือกันระหว่าง TCDC และ FabCafe
5. Material & Design Innovation Center
โซนนี้มีจัดแสดงตัวอย่างวัสดุต่างๆ จากทั้งทั่วโลกและฝีมือคนไทยที่จะมีมาเพิ่มเติมเรื่อยๆ ไฮไลท์คือคือนิทรรศการ “วัสดุกรุงเทพ” ที่ให้ข้อมูลว่าย่านต่างๆ ในกรุงเทพมีวัสดุอะไรขายบ้างพร้อมระบุโลเคชั่นของร้านให้เสร็จสรรพ ใครเห็นแล้วชอบใจสามารถจดรายละเอียดแล้วออกไปตามซื้อได้เลย
6. Rooftop Garden
พื้นที่สำหรับคนชอบบรรยากาศภายนอก เอาไว้สำหรับนั่งชิลๆ พักสูดอากาศ ชื่นชมวิวย่านเจริญกรุง และยังสามารถดัดแปลงเป็นที่จัดกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ต่างๆได้