“ทำไมไม่ทำนั่น ทำไมไม่เอาไปทำนี่” เป็นประโยคแนะนำเชิงสั่งสอนที่เราได้ยินบ่อยๆ ทำไมซื้ออันนี้ เอาเวลาเล่นเกมไปอ่านหนังสือ คือในสายตาของผู้ใหญ่ก็จะมองเห็นว่ามีอะไรบางอย่างที่ดีกว่าเสมอทั้งเรื่องการใช้เวลา ใช้เงิน ต่างๆ นานา
จนล่าสุดในภาวะโรคระบาด เราจะเริ่มเห็นภาพของสิ่งปลูกสร้างประหลาดที่ปรากฏขึ้นอย่างน่ามหัศจรรย์ กำแพงตู้คอนเทนเนอร์กลายเป็นสถาปัตยกรรมแบบใหม่ของเมือง เป็นการปกป้องพื้นที่สำคัญอย่างแน่นหนาและเข้มแข็ง แน่นอนว่าทุกอย่างย่อมมีราคาของมัน ทางคมชัดลึกรายงานตัวเลขการเช่าตู้คอนเทนเนอร์ของรัฐจำนวน 294 ตู้ เป็นจำนวนเงินราว 13 ล้านบาท แตะ 14 ล้านบาท
นอกจากเรื่องเงินที่ต้องจ่ายเช่ามาแล้ว อันที่จริงตู้คอนเทนเนอร์—อันหมายถึงตู้ที่เอาไว้สำหรับขนส่งทางเรือ—เป็นส่วนหนึ่งของการขนส่งสินค้าข้ามน้ำข้ามทะเล ทีนี้เจ้าตู้พวกนี้จึงมีจำนวนมาก ด้วยตัวมันเองเป็นทั้งอุปกรณ์และเป็นโครงสร้างขนาดย่อมๆ เราเคยเห็นบ้างว่าระยะหลังมีการสร้างบ้านจากตู้เหล่านี้ เก่าบ้าง ใหม่บ้าง แล้วแต่
ทีนี้ ในยุคที่เราขาดแคลนเรื่องที่อยู่อาศัย รวมถึงในช่วงเวลาของโรคระบาด หัวใจหนึ่งของการจัดการโรคระบาดคือการแบ่งสัดส่วน และการจัดการพื้นที่เพื่อให้แยกส่วนหรือใช้งานได้อย่างเพียงพอ อาจจะด้วยการขนส่งสินค้าที่ชะลอตัว รวมถึงเจ้าตู้พวกนี้มีมาก พร้อมใช้งาน ราคาไม่สูง ทางนักออกแบบและภาคส่วนต่างๆ ก็เลยเลือกใช้เจ้าตู้เหล่านี้เพื่อช่วยแก้ปัญหาทั้งโรคระบาดและปัญหาอื่นๆ ได้อย่างคุ้มค่า สร้างสรรค์
ดังนั้นแล้ว ถ้าไม่เป็นกำแพง นายน่ะ ก็เป็นอย่างอื่นได้นะ เจ้าตู้คอนเทเนอร์ นายเป็นได้ทั้งบ้านสำหรับคนไร้บ้านเช่นที่อเมริกา เป็นศูนย์ฉีดวัคซีน เป็นหน่วยบริบาลผู้ป่วยโควิดย่อย เป็นสถานีวัคซีนเคลื่อนที่ เป็นตลาด เป็นบ้านเท่ๆ ได้
นายไม่ได้เป็นแค่กำแพง แต่นายช่วยรับมือกับเรื่องต่างๆ ได้ดีกว่าการอยู่บนท้องถนน
ตู้คอนเทนเนอร์ก็เป็นศูนย์พักพิงคนไร้บ้านได้นะ
โปรเจกต์นี้นี่เป็นตัวอย่างที่ดีในหลายแง่มาก The Hilda L. Solis Care First Village เป็นศูนย์พักพิงของคนไร้บ้านในลอสแอนเจลิส ตัวโปรเจกต์เป็นโครงการบ้านแหละ เป็นโครงการของทางเมือง คือเป็นของรัฐ ที่เอาคอนเทนเนอร์มาสร้างเป็นอพาร์ตเมนต์ ตัวโปรเจกต์เดิมจะสร้างเป็นคุกชายใหม่ แต่รัฐเห็นว่าคนไร้บ้านกำลังเจอปัญหาจึงตัดสินใจเปลี่ยนลานจอดรถเก่าทำเป็นโครงการบ้านพักอาศัย ทีนี้จังหวะดีพอดี คือโปรเจกต์นี้เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ.2019 พอดีว่า COVID-19 มา บ้านเหล่านี้เลยยิ่งสำคัญกับคนไร้บ้าน แถมพอมีเงื่อนไขเรื่องโรค ทาง NAC Architecture ทีมออกแบบก็เลยปรับห้องให้อยู่ได้หนึ่งคนและมีห้องน้ำในตัว
ตัวโปรเจกต์เน้นการใช้โครงสร้างสร้างสำเร็จ ใช้พวกวัสดุรีไซเคิลและวัสดุราคาประหยัด ตัวอาคารจะเป็นตู้ซ้อนกันสามชั้น เน้นการปรับใช้พื้นที่เป็นส่วนๆ แน่นอนว่าโปรเจกต์นี้สร้างได้อย่างรวดเร็ว ปรับเปลี่ยนง่าย โดยตัวพื้นที่นั้นแม้ว่าจะเป็นบ้านพักพิงก็ยังจะเน้นความสวยงามของอาคาร เน้นความเป็นอยู่ที่ดีของผู้อาศัย มีระบบน้ำไฟและความร้อน มีครัวกลาง สวน สวนสุนัข โดยตัวอาคารมีพื้นที่ใช้สอย 5,900 ตารางเมตร มียูนิตพักอาศัย 232 และเปิดใช้งานไปแล้วในช่วงเมษายน ค.ศ.2021 ใข้งบทั้งสิ้น 57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในจำนวนนี้เป็นเงินอุดหนุนพิเศษจาก COVID-19 51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่เหลือคือท้องถิ่นจ่าย
ตู้คอนเทนเนอร์ก็เป็นเวทีและโรงหนังกลางแจ้งได้นะ
ช่วงปิดเมืองที่นิวยอร์ก หนึ่งในกิจการสำคัญของเมืองคือบอร์ดเวย์และโรงละครต่างๆ เป็นพื้นที่ที่จะต้องปิดอย่างจริงจังและยาวนาน รวมถึงเมืองก็ซึมเซาลงจากกิจการบันเทิงที่ต้องหยุดลง ทางสตูดิโอท้องถิ่นชื่อ Marvel ก็เสนอว่า เฮ้ย เราปิดพวกอาคารแล้ว แต่พื้นที่ข้างนอกมันยังควรใช้ได้ ตรงนี้สอดคลองกับนโยบายของผู้ว่านิวยอร์ก แอนดรูว์ โควโม (Andrew Cuomo) ที่เสนอโปรเจกต์ NY PopsUp คือจะนำเอาพวกงานศิลปะต่างๆ กลับมาแสดงอีกครั้งแบบป๊อปอัพ ตั้งใจว่าจะทำเป็นเหมือนเทศกาลศิลปะกลางแจ้ง 300 แห่งทั่วรัฐและจัดทั้งหมด 100 วัน
ดังนั้นทางสตูดิโอสถาปนิกก็เลยเสนอแนวคิดว่าถ้าจะจัดงานป๊อปอัพทั่วรัฐเป็นงานใหญ่แล้ว เราก็ต้องโครงสร้างบางอย่างที่สร้างได้ไวๆ ราคาถูก รื้อถอนง่าย อย่างนั้นแล้วก็เลยเสนอให้ใช้ตู้คอนเทเนอร์มาทำเป็นเวทีละครกลางแจ้ง ตัวโรงละครจะเป็นโครงนั่งร้างที่รับตู้ เป็นเวทีชั้นสองแบบชั่วคราว ด้านล่างก็ตั้งเก้าอี้สำหรับรับชมได้ ด้านบนก็จะมีส่วนหลังเวที พื้นที่ควบคุม และที่พิเศษคือตัวโครงสร้างนี้ออกแบบให้ไปตั้งริมถนน โดยในเวลากลางวันด้านล่างก็จะโล่ง สามารถเดินและขี่จักรยานผ่านได้ และกลางคืนนั้นก็ทำให้เมืองคึกคัก ถนนหนทางมีโรงละครเล็กๆ ปรากฏขึ้น
ตู้คอนเทนเนอร์ก็เป็นหน่วยดูแลผู้ป่วยได้นะ
โปรเจกต์นี้ถือเป็นการร่วมมืออย่างรวดเร็ว ถ้าเราจำได้ช่วงปี ค.ศ.2020 หรือต้นปีที่แล้ว อิตาลีเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการระบาดอย่างหนัก สิ่งสำคัญในการรับมือคือการเพิ่มพื้นที่เพื่อแยกและรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น และบางส่วนต้องการการดูแลพิเศษ สตูดิโอสถาปนิกอิตาเลียน Carlo Ratti และ Italo Rota จึงเสนอการใช้ตู้คอนเทนเนอร์เป็นทางออกในการใช้เพิ่มพื้นที่รองรับผู้ป่วย ในชื่อ CURA พ็อด ICU ขนาดสองเตียง
CURA จะเป็นตู้คอนเทเนอร์ที่ปรับเป็นพื้นที่ดูแลผู้ป่วยวิกฤติ เป็นพ็อดเล็กๆ ที่นำไปติดตั้งในโรงพยาบาลหรือศูนย์ดูแลผู้เพื่อเพิ่มห้อง ICU ตัวพ็อดขนาด 6.1 เมตรนี้จะประกอบด้วยเตียง 2 เตียงพร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น นอกจากตู้พวกนี้สามารถสร้างได้อย่างรวดเร็วแล้วตัวตู้ยังสามารถใช้ร่วมกับเตนต์พิเศษที่ทำให้ตู้กลายเป็นตู้ความดันลบ—เงื่อนไขสำคัญในการรักษาโรคติดเชื้อ ด้วยขนาดและการออกแบบทำให้ตู้นี้สามารถจัดการกับระบบอากาศภายในได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยตัวตู้นี้ในช่วงเดือนเมษายน ค.ศ.2020 มีการสร้างและใช้รักษาจริงในโรงพยาบาลสนามที่เมืองตูริน และตัวโปรเจกต์นี้เป็นโปรเจกต์ open source คือเปิดข้อมูลและอนุญาตให้นำไปพัฒนาต่อได้ ซึ่งก็มีการนำไปสร้างและพัฒนาในแคนาดา สหรัฐอเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอีกหลายประเทศ
ตู้คอนเทนเนอร์ก็เป็นศูนย์ตรวจ COVID-19 ได้นะ
ปัญหาใหญ่ของการควบคุมโรคระบาดคือปริมาณการตรวจโรคได้อย่างครอบคลุมและเพียงพอ ทีนี้ตู้คอนเทเนอร์มีจุดเด่นที่ความยืดหยุ่น สามารถเรียงต่อกันได้ ขนส่ง ประกอบร่างได้อย่างรวดเร็ว Grimshaw สตูดิโอสถาปนิกที่นิวยอร์กได้รับการว่าจ้างจาก Osang บริษัทเครื่องมือแพทย์และ SG Block บริษัททางวิศวกรรม ออกแบบโปรเจกต์ชื่อ D-Tec เป็นการใช้ตู้คอนเทนเนอร์เพื่อสร้างเป็นศูนย์ตรวจโควิดชั่วคราว คือเป็นโปรเจกต์ร่วมที่ทางบริษัทเครื่องมือแพทย์ผลิตเครื่องมือตรวจโควิด แล้วก็จ้างบริษัทออกแบบมาสร้างพื้นที่ตรวจ
เจ้า D-Tec มีความพิเศษตรงที่ได้รับการออกแบบเป็นระบบโมดูลา โดยจะมี 5 ระดับ คือ D-Tec 1–5 แต่ละตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจะหมายถึงจำนวนคอนเทนเนอร์ที่มากขึ้น และฟังก์ชั่นของจุดตรวจเวอร์ชั่นนั้นก็จะขยายและซับซ้อนขึ้น เช่น D-Tec 1 เป็นจุดตรวจเฉยๆ ก็จะมีลักษณะเป็นตู้แล้วมีช่องหน้าต่างสำหรับการตรวจ D-Tec 2 ก็ใหญ่ขึ้นเป็นตู้สองตู้ มีจุดตรวจพร้อมแลปเล็กๆ สามารถวิเคราะห์ผลได้ D-Tec 3–4 ก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้น มีคลินิกเล็กๆ สำหรับตรวจ มีห้องพักคอยดูอาคาร ส่วน D-Tec 5 ออกแบบให้เป็นแลปเคลื่อนที่ทั้งหมด ผู้ออกแบบบอกว่า เวอร์ชั่น 5 จะสามารถวิเคราะห์ผลได้ 750 ตัวอย่างต่อชั่วโมง แปลว่าต่อวันจะสามารถวิเคราะห์ผลได้สูงสุด 18,000 ตัวอย่างต่อวัน
ความพิเศษของโปรเจกต์นี้คือการออกแบบระบบการตรวจทั้งระบบ สามารถจุดตรวจได้ตามความเหมาะสมทั้งยังออกแบบเผื่อในเชิงประสิทธิภาพ เช่น ในจุดที่หนาแน่นอาจจะมีศูนย์แลปใหญ่เพื่อทำการรับตัวอย่างจากศูนย์ตรวจย่อยที่กระจายตัวออกไป
ตู้คอนเทนเนอร์ก็เป็นศูนย์ฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ได้นะ
การฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมเป็นเรื่องสำคัญ และแน่นอนว่าหลายพื้นที่เป็นพื้นที่ห่างไกล การนำวัคซีนกระจายออกไปจึงเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญ ที่ญี่ปุ่นมีการใช้รถบัสออกขับวนตามพื้นที่ต่างๆ ทำให้เด็กและผู้สูงอายุสามารถเข้ารับวัคซีนได้ง่ายและทั่วถึง เมื่อกลางปี ค.ศ.2020 สตูดิโอสถาปนิก Waugh Thistleton Architects ออกแบบและเสนอระบบสถานีฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ โดยออกแบบให้ตู้คอนเทนเนอร์หนึ่งตู้เป็นจุดฉีดวัคซีนได้ในตัวเอง โดยเน้นเสนอว่าเพื่อเป็นการกระจายวัคซีนไปทั่วประเทศ ตู้นี้จะสามารถขนขึ้นรถบรรทุก และขับนำไปตั้งที่ลาน ที่สวน ที่ริมถนนตรงไหนของประเทศได้ทันที
ตัวตู้นี้ก็ค่อนข้างเรียบง่าย เพราะสถาปนิกใช้ลักษณะที่เป็นเส้นตรงของตู้ปรับมาเป็นศูนย์ตรวจ คือเดินเข้าทางหนึ่ง ออกอีกทางก็เสร็จเรียบร้อย พื้นที่ของตู้จึงถูกแบ่งออกเป็นสามจุด คือ จุดลงทะเบียน จุดฉีดวัคซีน และจุดนั่งพักดูอาการ โดยหนึ่งยูนิตจะใช้เจ้าหน้าที่สามคน มีเจ้าหน้าที่ลงทะเบียนหนึ่งคน และพยาบาลสองคนเป็นผู้ฉีดวัคซีน แนวทางนี้สถาปนิกบอกว่าถ้ารัฐบาลสามารถส่งรถและสถานีวัคซีนเคลื่อนที่ได้ 6,500 หน่วย และมีการดำเนินการฉีดวันละ 12 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์รัฐบาลจะสามารถฉีดวัคซีนประชากร 60 ล้านคนได้ ภายใน 12–16 สัปดาห์
ตู้คอนเทนเนอร์ก็เป็นบ้านทรงดาวกระจายกลางทะเลทรายได้นะ
การเอาตู้คอนเทนเนอร์มาใช้สร้างเป็นอาคาร เป็นบ้านอยู่ในความสนใจและทำกันจริงจังมานานแล้ว Joshua Tree Residence เป็นหนึ่งในโปรเจกต์บ้านพักอาศัยจากตู้คอนเทนเนอร์ที่เป็นที่ฮือฮามากที่สุดหลังหนึ่ง บ้านดาวกระจายสีขาวนี้เป็นผลงานออกแบบของ เจมส์ วิเทกเกอร์ (James Whitaker) สถาปนิกจากลอนดอน ออกแบบสำหรับสร้างในพื้นที่ทะเลทรายบนถนน 0 Wagon Wheel Road ไม่ไกลจากทางเข้าอุทยานแห่งชาติ Joshua Tree โดยตัวบ้านนี้เผยโฉมครั้งแรกในปี ค.ศ.2017 เป็นแบบบ้านจำลองซึ่งก็เกิดกระแสถล่มทลาย ปัจจุบันยังไม่ได้สร้าง แต่บ้านไปขึ้นอยู่ในลิสต์อสังหาริมทรัพย์แล้ว และมีผู้สนใจซื้อวางราคาไว้ที่ 3.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
บ้านดาวกระจายสีขาวนี้คือการนำตู้คอนเทนเนอร์มาเชื่อมต่อกันเป็นทรงเหมือนดาวกระจาย แต่ละตู้จะถูกเชื่อมเข้าหากันโดยพุ่งออกไปสู่ทิศทางต่างๆ ตัวโครงนี้ผู้ออกแบบเรียกว่าเป็นโครงกระดูก (exoskeleton) ประเด็นสำคัญของการกระจายรัศมีมุมมองนี้คือด้วยพื้นที่ที่เป็นทะเลทราย ก็เลยสร้างบ้านเพื่อรับภูมิทัศน์ในทุกๆ มุมมอง ตัวโปรเจกต์แรกเริ่มเป็นการออกแบบให้กับ คริส แฮนลีย์ (Chris Hanley) โปรดิวเซอร์ชื่อดังผู้อยู่เบื้องหลังหนังดังเช่น American Psycho ที่อยากให้ออกแบบบ้านพักจากตู้คอนเทเนอร์สำหรับที่ดินใกล้ๆ กัน
ปัจจุบัน ด้วยเทคนิกการก่อสร้าง นักออกแบบกำลังทำงานร่วมกับบริษัทคอนเทเนอร์ในแคนาดา คาดว่าจะได้ลงมือสร้างจริงในปีหน้า ส่วนโปรดิวเซอร์ต้นทางก็ไปสร้างบ้านกระจกกลางทะเลทรายแทน ทางผู้ออกแบบบอกว่าหลังจากเผยแบบบ้านในปี ค.ศ.2017 ก็เกิดกระแสความสนใจอย่างล้นหลาม มีประชาชนสนใจอยากเยี่ยมชม ทางกิจการแฟชั่นก็อยากมาจัดแฟชั่นโชว์ และปัจจุบันมีการให้ราคาบ้านไว้ คือมีคนรอซื้อเรียบร้อยแล้ว
ตู้คอนเทนเนอร์ก็เป็นออฟฟิศทำงานสุดเก๋ได้นะ
จุดเด่นของตู้คอนเทนเนอร์คือความเร็วและความประหยัด นอกจากสร้างไวและราคาถูก ยกไปประกอบได้ไม่ยุ่งยากแล้ว ยังทำให้สวยได้ด้วย นี่คือ Diptych โปรเจกต์ออฟฟิศจากตู้คอนเทนเนอร์ที่สวยเหมือนงานศิลปะ โดยชื่อโปรเจกต์ก็มาจากงานศิลปะแบบกล่องไม้ที่เชื่อมต่อกันสองชิ้น ตัวบ้านคอนเทนเนอร์โดดเด่นที่ความเรียบง่ายและการใช้กระจกและไม้มาประกอบและหุ้มตัวคอนเทนเนอร์ไว้ ออกแบบโดย TOOP Architectuur สถาปนิกจากเบลเยียม
จริงๆ คำว่า Diptych ทางสตูดิโอหมายถึงว่าตัวโปรเจกต์นี้ประกอบด้วยสตูดิโอสองหลัง คือเจ้า Diptych เป็นโครงการที่ทางบริษัทจะสร้างสตูดิโอเล็กๆ ไว้ในสองโลเคชั่นที่แตกต่างกัน แต่ใช้สถาปัตยกรรมและตู้คอนเทนเนอร์แบบเดียวกัน ตัวโปรเจกต์ประกอบด้วย Cowes คือตั้งอยู่ในพื้นที่ชนบทใกล้ชายแดนฝรั่งเศส กับ Colok คือตั้งอยู่ในเมือง หลักการสำคัญของงานออกแบบนี้คือการสร้างโครงสร้างที่สวยงาม อยู่อาศัยได้ เคลื่อนย้ายง่าย และเข้ากับทุกพื้นที่ แน่นอนว่าตัวโครงคือตู้คอนเทเนอร์ แต่งานออกแบบจะเน้นองค์ประกอบที่อบอุ่นและเป็นธรรมชาติเช่นการกรุด้วยไม้ การใช้เหล็ก และที่สำคัญคือการหุ้มด้วยกระจกทำให้โครงสร้างทรงสี่เหลี่ยมกลืนเข้ากับบรรยากาศโดยรอบ พร้อมกับเน้นการเปิดพื้นที่ในอาคารออกสู่ภายนอกด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก