เราอยู่ในยุคแห่งปัญหา และน่าเศร้าที่วิกฤติซ้ำๆ อาจจะซ้ำเติมให้ใครหลายคนหมดหนทางและเลือกจะจบชีวิตลง การฆ่าตัวตายเป็นอีกปัญหาที่แทบทุกเมืองใหญ่ต้องเผชิญ และหลายครั้งการฆ่าตัวตายมักเกิดในพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่รกร้างของเมือง ดังนั้นหลายเมืองจึงมองว่าเป็นความรับผิดของเมืองที่จะร่วมแก้ไข ป้องกันเพื่อรักษาชีวิตของผู้คนเอาไว้ให้ได้
แน่นอนว่าความพยายามจบชีวิตตัวเองและการลงมือทำจนสำเร็จหรือไม่นั้นเต็มไปด้วยปัจจัยนานัปการ บางชีวิตอาจรักษาไว้ได้เพียงแค่เหตุการณ์เล็กๆ จากเรื่องบังเอิญ ดังนั้นการลดโอกาสที่ผู้เลือกเส้นทางสุดท้ายจะหวนกลับมาได้นั้น การเหนี่ยวรั้งผู้ที่อยากไปไว้แม้เพียงเล็กน้อยก็ล้วนเป็นโอกาสในการรักษาชีวิตผู้คน เป็นสิ่งคุ้มค่าและน่าพิจารณา
กรณีศึกษาเรื่องการป้องกันการฆ่าตัวเป็นเรื่องซับซ้อน แต่หัวใจหนึ่งคือความเอาใจใส่ของทั้งเมือง หรือกระทั่งผู้คนทั่วไปที่มองเห็นว่าเมืองหรือผู้คนรอบๆ ล้วนมีส่วนช่วยเหลือรักษาชีวิตซึ่งกันและกันได้ มีงานศึกษาเรื่องพื้นที่ในเมืองที่อาจช่วยลดการฆ่าตัวตายได้โดยเฉพาะการฆ่าตัวตายในวัยรุ่น ในเกาหลีมีโครงการตัวอย่างชื่อสะพานแห่งชีวิต เป็นการใช้สถาปัตยกรรมและเทคโนโลยีบนสะพานมาโป สะพานที่ผู้คนมักไปจบชีวิต โดยติดตั้งถ้อยคำเรียบง่ายเอาไว้เพื่อชวนผู้ที่อยากจากไปให้อยู่ต่ออีกสักหน่อย แต่โปรเจกต์ที่น่าสนใจนี้ก็อาจจะมีผลลัพธ์สุดท้ายที่ไม่ดีนัก โดยท้ายที่สุดเมืองที่ดี ชีวิตที่ดีก็น่าจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้คนมีหวังและอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป
สะพาน ตึกร้าง กับการลดโอกาสการฆ่าตัวตายโดยเฉพาะในวัยรุ่น
ช่วงนี้เราจะเห็นข่าวรองเท้าบนสะพานสูง คือภาพของผู้ที่จากไปและถอดรองเท้าทิ้งไว้บนขอบสะพาน สะพานข้ามแม่น้ำหรือสะพานทางเป็นจุดเสี่ยงสำคัญของการฆ่าตัวตายในเมือง โดยทั่วไปในหลายประเทศก็มักจะมีขอบสะพานเพื่อป้องกันเรื่องความปลอดภัย และหลายครั้งก็ได้ผลประโยชน์ทำให้บริเวณขอบสะพานเข้าถึงได้ยาก เกิดการฆ่าตัวตายได้น้อยลง มีงานศึกษาสะพานกลางเมืองในออสเตรเลียที่มีการนำเอารั้วหรือแนวกั้นออก พบว่าการนำแนวกั้นออกนำไปสู่อัตราการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้นบริเวณสะพานนั้น การขัดขวางหรือการเข้าถึงที่ง่ายนำไปสู่โอกาสที่การฆ่าตัวตายจะสำเร็จเพิ่มมากขึ้น
ในแง่ของเมืองและการออกแบบพื้นที่เพื่อลดการฆ่าตัวตายที่สำเร็จได้นั้น มีงานศึกษาพบว่าการออกแบบทางสถาปัตยกรรมที่ดี รวมถึงสาธารณูปโภคของเมืองที่ดีช่วยลดการฆ่าตัวตายสำเร็จได้ งานศึกษาของ Charlotta Thodelius วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกที่รวมเอาอาชญาวิทยาและสังคมศาสตร์เข้าด้วยกัน พบว่า สถาปัตยกรรมหรือพื้นที่ช่วยหยุดหรือลดการฆ่าตัวตายสำเร็จในคนอายุน้อยได้
งานศึกษาจากสวีเดนระบุว่า การฆ่าตัวตายของวัยรุ่นหรือคนอายุน้อยแตกต่างกับคนในวัยผู้ใหญ่ การฆ่าตัวตายมักเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน และมักเกิดจากการลงมือในทันที สำหรับการฆ่าตัวตายในวัยรุ่นนั้นผู้วิจัยให้สัมภาษณ์ว่าวัยรุ่นอาจจะไม่ได้อยากจะตาย เพียงแต่อยากให้บางสิ่งที่เกิดขึ้นหยุดลง สิ่งที่เล็กๆ ที่ผู้ใหญ่อาจมองว่าเล็กน้อย แต่ก็เป็นเหตุให้วัยรุ่นเลือกยุติชีวิตเพื่อให้ปัญหาต่างๆ นั้นจบลง เช่น การเลิกร้างกับคนรัก สอบได้คะแนนไม่ดี การถูกนินทา หรือการทะเลาะกับพ่อแม่
งานศึกษาจึงระบุว่า ด้วยการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นที่มักจะมีการวางแผน มีการเขียนจดหมายสั่งลาอย่างเป็นระบบ กระบวนการการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นจึงมักเป็นไปด้วยการมองหาจุดที่เสื่อมโทรมหรือลับตาคน เป็นพื้นที่ใกล้ๆ เข้าถึงได้ เป็นที่ๆ พวกเขาหรือเธอรู้จัก และการฆ่าตัวตายก็จะเกิดขึ้นในสถานที่แห่งนั้น
ดังนั้นจากความเข้าใจเชิงพฤติกรรม หลักการเรียบง่ายก็คือการสกัดกั้นการเข้าถึงพื้นที่เหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบสถาปัตยกรรมที่จะช่วยสกัดกั้นการฆ่าตัวตายให้สำเร็จได้ ไปจนถึงประเด็นเรื่องเมืองที่ดี คือการที่เมืองมีจุดอับน้อย มีจุดเสื่อมโทรมที่เข้าถึงได้น้อยไม่ว่าจะเป็นสะพานที่ปลอดผู้คน ตึกร้าง พื้นที่รกๆ ที่สามารถอำนวยให้เกิดการจากไป ก็ล้วนช่วยลดการฆ่าตัวตายในวัยรุ่นได้
สะพานมาโป : กรณีศึกษาที่ทำให้เข้าใจความซับซ้อนของผู้คน
เกาหลีเป็นอีกหนึ่งประเทศพัฒนาแล้วที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูง WHO รายงานว่าอัตราการฆ่าตัวตายของเกาหลีสูงติดสิบอันดับของโลก ในปี ค.ศ.2012 การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตสี่อันดับแรกของการเสียชีวิตทั้งหมด การฆ่าตัวตายจึงเป็นสิ่งที่เกาหลีพยายามรับมือ
ที่โซลมีสะพานหนึ่งขื่อสะพานมาโป (Mapo Bridge) เป็นสะพานที่ทอดข้ามแม่น้ำฮัน แม่น้ำสายหลักของโซล ในปี ค.ศ.2007-2012 สะพานนี้ได้กลายเป็นจุดสำคัญที่ผู้คนเลือกมาจบชีวิตตัวเองลง มีรายงานตัวเลขว่าในช่วงเวลาดังกล่าวมีคนพยายามมาฆ่าตัวตายที่สะพานเกิน 100 ราย
ทางเทศบาลกรุงโซลก็เลยอยากจะแก้ปัญหาที่ตัวสะพาน แต่แทนที่จะติดรั้วตามปกติ ทางรัฐเลือกทำงานร่วมกับประกันชีวิตซัมซุง (Samsung Life Insurance) โดยเลือกออกแบบราวกั้นที่มีความพิเศษ คือเป็นราวกั้นที่จะ ‘พูด’ กับผู้ที่พยายามจะข้ามราวนั้น
“สบายดีมั้ย”
“กินอะไรแล้วรึยัง”
“พูดกับเราได้นะ”
ตัวราวจะปรากฏข้อความสั้นๆ เหมือนกำลัง ‘คุย’ กับผู้ที่เลือกจะจากไป คือไม่ได้สยองขวัญว่าสะพานจะพูดได้ แต่ราวสะพานจะติดระบบไฟพร้อมเซ็นเซอร์ เมื่อมีคนเข้าใกล้ ข้อความรวมถึงภาพครอบครัวจะฉายขึ้น ตัวข้อความนั้นมีการคัดเลือกจากการประกวดระดับชาติ เมื่อข้อความและภาพฉายขึ้นก็จะมีเบอร์โทรศัพท์ศูนย์ช่วยเหลือประกอบในกรณีที่คนคนนั้นต้องการความช่วยเหลือ
ในห้วงเวลาที่คนคนหนึ่งละทิ้งความปรารถนาจะมีชีวิต คำถามสั้นๆ ความห่วงใยและความอาทรที่ปฏิสัมพันธ์กับคนคนนั้นอีกครั้ง ก็อาจทำให้การเลือกจะจากไปนั้นชะงักลงได้ แม้จะเป็นเสียงของสะพานหรือภาพก็ตาม ตัวโปรเจกต์นี้รัฐบาลเรียกว่าสะพานแห่งชีวิต และได้รับรางวัลคานส์ ไลออนส์ ในปี ค.ศ.2013 ทางรัฐบาลเกาหลีรายงานว่าหลังจากติดตั้งราวและระบบดังกล่าว อัตราการฆ่าตัวตายลดลง 77% และตัวสะพานก็กลายเป็นจุดที่ผู้คนนิยมมาเดินเล่นกันแทน
แต่ด้วยแนวคิดที่ฟังดูอบอุ่น ปัจจุบันตัวสะพานก็ไม่ได้มีทั้งข้อความและไฟอีกแล้ว เพราะมีประเด็นที่ขัดกัน คือ หลังจากสะพานนี้โด่งดึงขึ้นจากงานออกแบบ ก็กลายเป็นว่าการรับรู้ว่าเป็นพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตาย ก็เลยยิ่งดึงดูดผู้คนมากขึ้น ในปลายปี ค.ศ.2015 รัฐบาลก็ได้ถอดไฟออกและลบข้อความบางส่วนออกไป ทางการมีการทบทวนผลกระทบอยู่เรื่อยๆ บางส่วนกล่าวว่าข้อความบางข้อความชวนให้สับสน จนกระทั่งปี ค.ศ.2019 รัฐก็ติดรั้วที่สูงขึ้น และลบข้อความทั้งหมดออก หลังจากสลักไว้ตามแคมเปญนาน 7 ปี
ปัจจุบันนอกจากสะพานมาโปที่ยุติโปรเจกต์สะพานที่มีข้อความเพื่อรั้งการฆ่าตัวตาย ที่สะพานฮันกาง (Hangang Bridge) เป็นอีกหนึ่งสะพานที่ใช้ข้อความของดาราและไอดอลเพื่อชวนให้มีชีวิตอยู่ ล่าสุดก็มีการพิจารณาว่าโปรเจกต์สะพานที่ชวนคนมีชีวิตอยู่ต่อนี้มีประสิทธิภาพหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ รัฐก็ลงมือติดตั้งรั้วสูง—ที่เชื่อว่าได้ผลด้านการป้องกันการฆ่าตัวตายได้ดีกว่า
ประเด็นเรื่องการฆ่าตัวตายเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยากและซับซ้อน มีความจำเป็นต้องใช้การสร้างเครือข่ายป้องกันและช่วยเหลือ โดยเฉพาะในแง่ของการดูแลสุขภาพใจที่เข้าถึงได้และทั่วถึง รวมถึงอาจทำงานร่วมกับการออกแบบพื้นที่ทางกายภาพ ในระดับการศึกษาก็จะมีข้อมูลจำนวนมากที่สัมพันธ์กับการลดอัตราการฆ่าตัวตาย หลายงานศึกษาพูดถึงการออกแบบพื้นที่เมืองเพื่ออำนวยสุขภาพจิต เช่นการมีพื้นที่สีเขียวมากจะเป็นพื้นที่ที่ช่วยเยียวยาและลดอัตราการฆ่าตัวตายลง
สำหรับภาวะการณ์ในปัจจุบัน แน่นอนว่าสภาพแวดล้อมที่เป็นกายภาพ ปัญหาเศรษฐกิจ โรคระบาด และสภาวะแวดล้อมที่ย่ำแย่ก็ส่งผลดับความฝันการใช้ชีวิตของผู้คน ในที่สุดแล้วแน่นอนว่าเมืองที่ดี รัฐที่รับผิดชอบกับผู้คนย่อมเกี่ยวพันตั้งแต่การคิดถึงประชาชน คิดคำนึงถึงพื้นที่เมืองและพื้นที่ใดใดก็ตามในฐานะพื้นที่ที่ตนต้องบริบาลดูแล เป็นที่ๆ ดีในการใช้ชีวิตและเติบโตขึ้นของผู้คน ในขณะที่ก็คำนึงถึงการออกแบบสาธารณูปโภคและระบบช่วยเหลือสำหรับกลุ่มเปราะบางที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Kodchakorn Thammachart