Brutalist หนังจากค่าย A24 ที่กำลังเป็นกระแสมาแรงบนโลกออนไลน์ ว่าด้วยเรื่องราวของ ลาสโล ทอธ รับบทโดย เอเดรียน โบรดี้ (Adrien Nicholas Brody) สถาปนิกชาวฮังการีเชื้อสายยิว ผู้จำใจต้องอพยพหลบหนีจากสงครามโลกในยุโรปมาที่สหรัฐอเมริกาเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ พร้อมกับการเผชิญหน้าความท้าทายครั้งใหม่ในฐานะผู้อพยพพลัดถิ่น
ซึ่ง Brutalist นับเป็นหนังอีกหนึ่งเรื่องที่สามารถถ่ายทอด เรื่องราวดราม่าชีวิต สงคราม และสถาปัตยกรรม ออกมาได้อย่างลงตัว จนทำให้หนังเรื่องนี้ได้รับความนิยมและคำชมจากบรรดาผู้ชม รวมถึงเหล่านักวิจารณ์ อ้างอิงได้จาก คะแนนเว็บไซต์ Rotten Tomatoes โดยได้ไปมากถึง 94% แถมยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลอีกมากมายหลากหลายสาขา รวมไปถึงออสการ์ประจำปี 2025 นี้ด้วย
ทั้งนี้ทั้งนั้น หนังเรื่องนี้จะสนุกและถูกใจผู้ชมมากแค่ไหน อาจเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องไปลองพิสูจน์กันเองในโรงภาพยนตร์
ทว่าครั้งนี้เราจะไม่ได้คุยกันต่อถึงตัวหนังแล้ว แต่จะขอหยิบยกหนึ่งคำจากหนังอย่าง ‘Brutalist’ ซึ่งเป็นทั้งชื่อหนังและชื่อเรียกรูปแบบสถาปัตยกรรมในช่วงศตวรรษที่ 20 มาพูดกันต่อสักหน่อย เพราะหากมองให้ลึกลงไป แก่นของตัวแนวคิดดังกล่าวมีความน่าสนใจ และมันอาจเชื่อมโยงไปถึงปรัชญาในการใช้ชีวิตของเราได้ด้วยเช่นกัน
อะไรคือ สถาปัตยกรรม Brutalist?
เชื่อว่าสำหรับใครที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงสถาปัตยกรรม ก็อาจไม่คุ้นหูกับคำว่า ‘Brutalist’ สักเท่าไหร่ ถ้าอย่างนั้นเรามาลองทำความรู้จักกับรูปแบบสถาปัตยกรรมนี้กันก่อนสักหน่อยดีกว่า
Brutalist เป็นชื่อเรียกรูปแบบสถาปัตยกรรมในช่วงศตวรรษที่ 20 ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในฝั่งตะวันตก โดยสถาปัตยกรรมรูปแบบดังกล่าว เกิดขึ้นครั้งแรกราวๆ ทศวรรษที่ 1950 ซึ่งเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งสิ้นสุดลง และด้วยความเสียหายอันแสนจะเกินเยียวยาจากสงคราม ผู้คนจึงต้องการเร่งฟื้นฟูอาคารบ้านเมืองให้กลับมาโดยไวที่สุด
ด้วยทรัพยากรอันมีจำกัด สถาปัตยกรรมแบบ Brutlist จึงเกิดขึ้นมา เพื่อตอบสนองต่อความต้องการ ณ เวลาช่วงเวลานั้นของผู้คน ทำให้อาคารบ้านเรือนภายใต้อิทธิพลของสถาปัตยกรรมรูปแบบดังกล่าว จึงมีลักษณะเป็นคอนกรีตเปลือยภายนอก (บางแห่งก็ใช้อิฐ) มีขนาดใหญ่โต ส่วนพื้นผิวมีความหยาบกระด้างเหมือนยังไม่เสร็จเรียบร้อย รูปลักษณ์เป็นบล็อกและดูหนัก รวมถึงจะไม่มีการประดับประดาตกแต่งใดๆ เท่าไหร่นัก แต่จะเน้นความเรียบง่ายและฟังก์ชั่นการใช้งานมากกว่า
การเกิดขึ้นของสถาปัตยกรรมแนวดังกล่าว ถือว่าตอบโจทย์ผู้คนในช่วงเวลานั้นพอสมควร เนื่องจาก ช่วงหลังสงครามผู้คนก็ยังไม่มีกำลังทรัพย์มากพอจะสร้างอาคารบ้านเรือนแบบวิจิตรบรรจง การก่อสร้างแบบปล่อยปูนเปลือยดิบๆ และไม่ต้องตกแต่งอะไรมาก จึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของผู้คนลงไปได้เยอะ อีกทั้งการสร้างให้อาคารมีความใหญ่โตยังสามารถตอบสนองต่อคความต้องการจัดสรรที่อยู่อาศัยให้เพียงพอต่อผู้คนจำนวนมากด้วย
โดยอาคารบ้านเรือนซึ่งออกแบบผ่านแนวคิดแบบ Brutalist ในยุคแรกๆ เริ่มต้นมาจาก สถาปนิกชาวฝรั่งเศส เลอ กอร์บูซีเย (Le Corbusier) กับ อาคารชื่อว่า Unite d’habitation สร้างเสร็จในปี 1952 โดยภายในอาคารจะประกอบไปด้วย ที่อยู่อาศัย โรงเรียน ร้านค้า ฯลฯ อันเป็นการตอบสนองต่อความต้องการพื้นที่ใช้สอยที่จำกัดของผู้คน ซึ่งอาคารดังกล่าวสามารถรองรับผู้อยู่อาศัยได้มากกว่า 1600 คน เลยทีเดียว
ทั้งนี้ตัวของ เลอ กอร์บูซีเย เรียกรูปแบบสถาปัตยกรรมของตนเองว่า ‘béton brut’ ซึ่งแปลว่า คอนกรีตเปลือย ส่วนคำว่า Brutalist ที่เราคุ้นหูกันมากกว่านี้ มาจาก เรย์เนอร์ แบนแฮม (Reyner Banham) นักวิจารณ์สถาปัตยกรรมชาวอังกฤษ ซึ่งได้ใช้คำว่า ‘Brutalist’ ครั้งแรกใน Architectural Review ปี 1955 โดยใช้พูดถึงอาคารที่ใช้คอนกรีตและกระจกธรรมดาเป็นส่วนใหญ่ในโครงสร้าง อ้างอิงมาจากผลงาน อาคารโรงเรียนมัธยมปลายที่ ฮันสแตนตัน ของ อลิสัน สมิธสัน (Alison Smithson) และ ปีเตอร์ สมิธสัน (Peter Smithson) คู่หูสามีภรรยาสถาปนิกชาวอังกฤษ
ด้วยความเปลือยเปล่าและแข็งกระด้างของตัวอาคารบ้านเรือนสไตล์ Brutalist ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยตั้งคำถามและถกเถียงกันถึงเรื่องคุณค่าและความงามของรูปแบบสถาปัตยกรรมดังกล่าว แต่ถึงอย่างนั้น ก็ต้องยอมรับว่า สถาปัตยกรรมแบบ Brutalist ถือว่ามีอิทธิพลต่อรูปแบบสถาปัตยกรรมในช่วงศตวรรษที่ 20 เป็นอย่างมาก เพราะหลายๆ อาคารทั่วโลก ก็ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดดังกล่าวด้วย อาทิ อาคารคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ อาห์มดาบาด ประเทศอินเดีย อาคารรูดอล์ฟ ฮอล สหรัฐอเมริกา และโรงละครมัมเมอส์ โอคลาโฮมา สหรัฐอเมริกา
นอกจากอาคารที่ยกตัวอย่างไป ในประเทศไทยเองก็ยังมีอาคารที่ได้รับอัทธิผลมาจากสถาปัตยกรรมแบบ Brutalist ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ตึกฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, อาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย และตึกฟักทอง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
จากแนวคิด Brutalist สู่แนวทางการใช้ชีวิต
ถ้าสถาปัตยกรรมแบบ Brutalist คือการนำเสนอความจริงแท้ผ่านคอนกรีตอันเปลือยเปล่า ชีวิตของคนเราก็อาจเป็นแบบเดียวกัน
ในหลายๆ ครั้ง ความคาดหวังทางสังคม เป็นสิ่งมีบทบาทต่อการใช้ชีวิตของเรามาโดยตลอด แถมยังเป็นตัวแปรสำคัญที่พาให้เราต้องแต่งเติมและปกปิดตัวตนบางส่วนของตนเองเอาไว้ เพื่อให้เราได้กลืนกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างไม่แตกแยก
บางคนก็ต้องสร้างภาพลักษณ์ของตนเองให้สมบูรณ์แบบอยู่เสมอ หรือบางคนก็ต้องประสบความสำเร็จให้ได้ก่อน ถึงจะได้รับการยอมรับในชีวิต ความคาดหวังจากสังคมเหล่านี้นี่แหละ ซึ่งคอยบีบให้เราต้องสร้างเปลือกนอกขึ้นมา เพื่อห่อหุ้มตัวตนของเราเอาไว้ด้านใน และบางครั้งมันก็อาจทำให้หลงลืมไปว่าคุณค่าที่แท้จริงของเรานั้นคืออะไรกันแน่
หากจะกระเทาะเปลือกนอกนี้ ด้วยการใช้ Brutalist มาเป็นเลนส์ในการมอง ก็อาจพบว่าเราอาจไม่จำเป็นต้องปรับแต่งตัวเองให้สมบูรณ์แบบ เพื่อสอดรับกับมาตรฐานเหล่านี้เสมอไป เพราะคุณค่าที่แท้จริงไม่ได้ขึ้นอยู่กับภาพลักษณ์ภายนอก แต่เป็นการยอมรับความเป็นตัวเราเองข้างในมากกว่า
นอกจากนี้ แนวคิดของ Brutalist ยังชวนให้เราได้ใช้ชีวิตต่ออย่างมั่นคงได้ด้วยเช่นกัน ผ่านการมองการใช้ชีวิตให้เรียบง่ายและไม่ซับซ้อน เหมือนกับตัวรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ออกแบบอย่างไม่หวือหวา เน้นฟังก์ชั่นการใช้งานและความแข็งแรงของโครงสร้าง เพราะเมื่อเราสามารถยอมรับตัวตนอันแท้จริงของเราได้เมื่อไหร่ เราก็จะมองเห็นวิธีที่สามารถพัฒนาความแข็งแกร่งของตัวเราเอง เพื่อให้เราสามารถเติบโตและก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง
Brutalist จึงอาจไม่ใช่เพียงแค่รูปแบบสถาปัตยกรรมที่แข็งกร้าวและเปลือยเปล่า ทว่ามันยังเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงแนวทางการใช้ชีวิต ซึ่งช่วยให้เราได้ซื่อตรงต่อความจริงและยอมรับความเป็นตัวเองที่ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบเสมอไป
อ้างอิงจาก