ข้อความต่อต้าน ม.112 และเครื่องหมายอนาธิปไตย ถูกเพนท์อยู่บนกำแพงรอบวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ ‘วัดพระแก้ว’ ก่อนที่ผู้เพนท์จะถูกตำรวจเข้าจับกุม
ประเด็นนี้ทำให้เกิดคำถามในสังคมไปหลากหลายแง่มุม หนึ่งในนั้นคือคำถามว่า สิทธิในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนสามารถปรากฏได้ในพื้นที่ไหนบ้าง ไปจนถึงคำถามว่า หากทำในพื้นที่ที่ไม่มีความหมายต่อสังคม เมสเสจจะถูกส่งต่อไปมากน้อยแค่ไหน?
คำถามนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นที่แรก แต่ในหลายๆ พื้นที่ทั่วโลกเองก็เคยมีการเรียกร้องด้วยการสาดสี พ่นสเปรย์ใส่สถาปัตยกรรมทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่เรียกได้ว่าเป็นแลนด์มาร์คของประเทศมาแล้วเช่นกัน
The MATTER จึงขอพาไปย้อนดูเหตุการณ์ประท้วงกับแลนด์มาร์คต่างๆ ในทั่วโลก เพื่อให้เห็นว่า แต่ละที่เคยเผชิญกับเหตุประท้วงแบบใดมาแล้วบ้าง?
กำแพงพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ สหราชอาณาจักร
เดือนกันยายน ปี 2022
หอนาฬิกาบิ๊กเบน พระราชวังเวสต์มินสเตอร์ ต่างเป็นแลนด์มาร์คสำคัญของสหราชอาณาจักร แต่เมื่อเดือนกันยายนปี 2022 มีกลุ่มนักกิจกรรมที่ขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมสาดสีและพ่นสเปรย์สีขาวใส่กำแพงพระราชวังเวสต์มินสเตอร์
กลุ่มนักกิจกรรมนี้มีชื่อว่า Animal Rebellion ต้องการเรียกร้องให้ยุติการทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์และการประมง โดยระบุว่า พวกเขากำลังเรียกร้องให้รัฐบาลและลิซ ทรัสส์ (Liz Truss) นายกฯ ในช่วงนั้น สนับสนุนให้ชุมชนเกษตรกรรมและประมงเลิกทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์และตกปลา เพื่อให้ระบบอาหารจากพืชเฟื่องฟู
นอกจากนี้ กลุ่มนักกิจกรรมยังระบุอีกว่า “เราทา ‘สีขาว’ เพื่อแสดงถึงการทำลายล้างและความโหดร้ายของอุตสาหกรรมนม”
อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า ผู้ประท้วงถูกจับและตั้งข้อหาสร้างความเสียหายทางอาญา พร้อมกับถูกนำตัวส่งสถานีตำรวจกลางกรุงลอนดอน
อนุสาวรีย์อดีตนายพลโรเบิร์ต อี ลี สหรัฐอเมริกา
เดือนสิงหาคม ปี 2018
หลายคนอาจคุ้นชื่อ โรเบิร์ต อี ลี (Robert E. Lee) ผู้บัญชาการฝ่ายสมาพันธรัฐอเมริกา กันอยู่บ้าง เพราะเขาถือเป็นหนึ่งในบุคคลทางประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของสหรัฐฯ และเป็นผู้ที่สนับสนุนการใช้ทาสและการเหยียดชาติพันธุ์ด้วย แต่ในช่วงเวลาที่การเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเชื้อชาติ โดยเฉพาะกลุ่มคนผิวดำที่ถูกกดทับมาตั้งแต่อดีต รูปปั้นของโรเบิร์ต อี ลี ซึ่งตั้งเด่นเป็นสง่าในรัฐเวอร์จิเนียตั้งแต่ปี 1890 จึงกลายเป็นเป้าของการประท้วง
ใต้ฐานของอนุสาวรีย์ถูกเพนท์ด้วยสีแดงชมพู รวมทั้งข้อความต่างๆ เช่น Black Lives Matter, Blood on your hands และ No more white supremacy เป็นต้น
อย่างไรก็ดี เมื่อปี 2021 ทางการรัฐเวอร์จิเนียได้ถอนรูปปั้นของนายพล โรเบิร์ต อี ลี ออกไป โดยที่มีคนราว 200 คนที่มาชุมนุมดูการถอนรูปปั้นที่เป็นสัญลักษณ์ของการสนับสนุนการใช้ทาสในครั้งนี้พากันสวมกอดโห่ร้องด้วยความยินดีในช่วงที่มีดำเนินการถอนออก
ขณะที่ ผู้ว่าการรัฐเวอร์จิเนียกล่าวในช่วงที่รับชมการรื้อถอนอนุสาวรีย์ว่าประวัติศาสตร์ของสมาพันธรัฐที่สนับสนุนทาสนั้นไม่นับเป็นตัวแทนของรัฐเวอร์จิเนีย
“อนุสาวรีย์สาธารณะสะท้อนว่า พวกเราเลือกจะเล่าเรื่องราวว่าตัวเราเป็นใครในฐานะประชาชน ถึงเวลาแล้วที่จะต้องจัดแสดงประวัติศาสตร์ในฐานะประวัติศาสตร์และใช้อนุสรณ์สถานสาธารณะเป็นที่ให้เกียรติต่อความจริงโดยครบถ้วนและคำนึงถึงผู้คนอย่างครอบคลุมว่า พวกเราเป็นใครในทุกวันนี้และในอนาคต”
อนุสาวรีย์พระราชินีวิคตอเรีย สหราชอาณาจักร
เดือนสิงหาคม ปี 2021
รอยสีแดงฉาน กระเด็นเปื้อนใต้ฐานอนุสาวรีย์พระราชินีวิคตอเรีย ที่สร้างขึ้นเมื่อปี 1921 และตั้งอยู่หน้าพระราชวังบักกิงแฮม ในสหราชอาณาจักร ข้างเคียงกันมีป้ายข้อความที่เขียนว่า “Hunting: A Royal Bloodbath” หรือที่แปลเป็นไทยได้ว่า “การล่า: การสังหารหมู่ของราชวงศ์”
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังนักกิจกรรมด้านสิทธิสัตว์ ต้องการประท้วงราชวงศ์ เมื่อเดือนกันยายน 2021 โดยพวกเขามองว่า ราชวงศ์ซึ่งเป็นผู้ที่ครองพื้นที่มากที่สุดในประเทศ นำเอาพื้นที่ของตัวเองเป็นสถานที่ทำปศุสัตว์และล่าสัตว์
“[ราชวงศ์] ควรใช้ที่ดินเพื่อปลูกอาหารที่ดีต่อสุขภาพและมีคุณค่าทางโภชนาการสำหรับทุกคน และเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับสัตว์ที่ร่วมกันอาศัยอยู่กับเราในประเทศนี้ด้วย”
“เราเรียกร้องให้สมเด็จพระราชินี (ซึ่งครองราชย์อยู่ในตอนนั้น) ยุติการใช้ที่ดินส่วนพระองค์สำหรับอุตสาหกรรมที่มีส่วนทำให้เกิดภาวะฉุกเฉินทางสภาพอากาศและระบบนิเวศ และการตายของสัตว์ทั้งหลาย”
ตำรวจนครบาลกล่าวว่า นักเคลื่อนไหวหลายคนที่เกี่ยวข้องกับการประท้วงถูกจับกุม ประชาชนที่มาเยี่ยมชมพระราชวังก็ได้รับคำสั่งให้แยกย้ายกันไป เพื่อให้เจ้าหน้าที่นิติเวชสามารถถ่ายรูปของเหลวสีแดงที่เปื้อนบนรูปปั้นได้
โรงอุปรากรปาแลการ์นีเย ฝรั่งเศส
เดือนธันวาคม ปี 2018
หากจะถามว่า มีประเทศไหนในโลกนี้บ้างที่ประท้วงได้อย่างดุเดือด หลายคนก็คงนึกถึงฝรั่งเศส ซึ่งเมื่อปี 2018 ที่ฝรั่งเศสมีการประท้วงแนวทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ซึ่งไม่ยอมขึ้นภาษีคนรวย จนทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่พอใจ
เหตุการณ์นี้ทำให้หลายคนเปรียบเทียบกับเมื่อปี 1789 เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เลือกที่จะช่วยให้คนรวยได้รับการยกเว้นภาษี ซึ่งเหตุการณ์นี้นำมาสู่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของฝรั่งเศส และการประหารชีวิตพระเจ้าหลุยส์ที่ 16
มาครงเองก็เลือกที่จะช่วยเหลือคนรวยเช่นกัน ทำให้หลายคนมองว่า เขากำลังทำตัวเยี่ยงพระเจ้าหลุยส์ จนมีคนไปเพนท์ข้อความที่โรงอุปรากรปาแลการ์นีเย ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1875 ว่า ‘มาครง =หลุยส์ 16’
“หากผู้คนเปรียบเทียบมาครงกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 นั่นเป็นการเตือนว่า เขาไม่ได้เรียนรู้บทเรียนจากประวัติศาสตร์เลย พวกเขาไม่ได้ต้องการให้ศีรษะของเขาจริงๆ หรอก แต่มันเป็นเครื่องเตือนที่สำคัญของการที่พวกเขาไม่รู้สึกฟัง” มิเชล วิวิออร์กา (Michel Wieviorka) นักสังคมวิทยากล่าว
อนุสาวรีย์สมเด็จพระราชาธิบดีเลโอโปลด์ที่ 2 เบลเยียม
เดือนมิถุนายน 2020
“ผมหายใจไม่ออก” “ผู้สังหาร” และอีกหลายข้อความที่ถูกเขียนไว้บนรูปปั้นของสมเด็จพระราชาธิบดีเลโอโปลด์ที่ 2 แห่งเบลเยียม ซึ่งกระจายอยู่ตามเมืองต่างๆ เมื่อปี 2020
สมเด็จพระราชาธิบดีเลโอโปลด์ที่ 2 แห่งเบลเยียม ถือเป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์นานที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ และเป็นที่จดจำจากการเข้าไปยึดสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ให้มาเป็นอาณานิคมด้วยความโหดเหี้ยม ทั้งการเปลี่ยนประเทศให้เป็นเหมือนค่ายกักกันขนาดใหญ่ สังหารแรงงานที่ขัดขืน ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า มีชาวคองโกเสียชีวิตภายใต้การกดขี่รุนแรงนี้ราว 10 ล้านคน
พระองค์ถูกบีบบังคับให้ละอำนาจจากรัฐอิสระคองโกในปี 1908 แต่ต้องรอถึงปี 1960 กว่าคองโกจะได้รับเอกราชจากเบลเยียม
ด้วยเหตุนี้ รูปปั้นที่อยู่ในเมืองต่างๆ ของสมเด็จพระราชาธิบดีเลโอโปลด์ที่ 2 เบลเยียม จึงกลายเป็นเป้าของผู้ประท้วง ซึ่งในปีเดียวกันนั้น รูปปั้นของพระองค์ที่เมืองต่างๆ ก็ถูกรื้อถอนออกไป หลังจากประชาชนชุมนุมต่อต้านการเหยียดชาติพันธุ์
อ้างอิงจาก