เมื่อการออกแบบไม่มีคำตอบถูกผิดชัดเจนแบบวิชาวิทย์-คณิตฯ แถมการเรียนด้านนี้ยังเน้นการทำโปรเจกต์ ออกแบบ ตัดโมฯ มากกว่าอ่านหนังสือเล่มหนาเพื่อกาข้อสอบ
The MATTER อยากชวนมาฟังการเรียนในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จากมุมของผู้เรียน ทั้งด้านที่ชอบ เรื่องที่อึดอัดใจ และบรรยากาศการเรียนในคณะที่คนเรียนอยากเห็น
ส้ม, ปี 5
การเรียนคณะนี้เหมือนเราได้เพื่อนติสต์ๆ ได้เปิดกว้าง เจออะไรแปลกใหม่ แล้วก็ไม่ต้องอ่านหนังสือสอบหนักหรือจำเยอะขนาดนั้น คือไม่ต้องอ่านเป็นเดือนๆ เหมือนคณะอื่น เพราะส่วนใหญ่จะเน้นไปที่งานออกแบบมากกว่า
เชื่อว่าบางคนเข้าสถาปัตย์มา เพราะเล่นเกม Sims แล้วมีความฝันอยากออกแบบบ้าน แต่ความจริงแล้วการเรียนสถาปัตย์มันมากกว่านั้น สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกเครียดคือการตรวจแบบทุกๆ วันอังคารหรือศุกร์ สัปดาห์ละสองครั้ง ซึ่งเราต้องมาพัฒนาแบบเพื่อส่งให้อาจารย์คอมเมนต์ แล้วการออกแบบไม่เหมือนวิชาวิทย์หรือคณิตฯ ที่มีคำตอบตายตัว เราอาจจะรู้ว่าเราทำผิด แต่อะไรคือสิ่งที่ถูกล่ะ? เมื่ออาจารย์บอกว่างานคุณมันดีได้กว่านี้ แต่ตัวเราเองก็ไม่รู้จะแก้ยังไง แก้ไปหลายรอบก็ยังไม่ผ่าน นี่เป็น pain point ของเรา
นิ, ปี 5
บางคณะอาจจะมีเกณฑ์การให้เกรดหรือคำตอบที่ชัดเจน แต่คณะเราต้องเน้นการออกแบบที่ห้ามฟุ้ง ใช้งานได้จริง และรสนิยมของอาจารย์แต่ละคนไม่ตรงกับนิสิต ทำให้บางทีงานที่ทำไม่ใช่งานที่ชอบ แต่ต้องฝืนทำเพื่อเอาคะแนน บางครั้งคะแนนที่ออกมาดี เป็นเพราะงานตรงใจอาจารย์มากกว่า เราเลยอยากให้มีเกณฑ์ให้คะแนนที่เป็นมาตรฐาน และอยากให้อาจารย์เปิดใจยอมรับงานดีไซน์บางงานของผู้เรียนมากขึ้น
Aha, ปี 5
จริงๆ เราชอบที่ได้คิดนอกกรอบ ขณะเดียวกัน เราก็กดดันระหว่างเวลาที่มีกับความคิดในส่วนของการดีไซน์ เพราะบางทีต้องส่งงานแล้ว แต่ยังไม่สามารถตกตะกอนความคิดได้ว่าอยากทำอะไร จริงๆ บางทีก็มานึกได้ตอนเวลาไม่พอแล้ว ก็เลยทำได้ไม่สุดทาง สุดท้ายเลยต้องทำแบบส่งๆ ไป
ขนมต้ม, ปี 5
ข้อดีคือเราบริหารจัดการเวลา เรียงลำดับความสำคัญได้เก่งขึ้น เพราะรูปแบบการเรียนคือมีหลายๆ โปรเจกต์ในกรอบเวลาหนึ่ง เราเลยต้องพยายามปรับตัว อีกอย่างคือเรากล้าพูด กล้าแสดงความเห็นของเรามากขึ้น แต่ก็พร้อมรับฟังคำแนะนำ คำติชมทั้งการติเพื่อก่อ และอดทนต่อคำพูด toxic อย่างเพื่อนบางคนก็โดนบอกว่า “ถ้าฝีมือแค่นี้ก็อย่ามาเป็นสถาปนิกเลย” หรือ “ถ้าทำได้แค่นี้ก็ลาออกไปซะ” แม้ว่าการเรียนบีบให้เราหาวิธีรับมือกับคำพูดเหล่านี้ให้ได้ แต่เราว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ควรเกิดขึ้นอยู่ดี
แต่ pain point สำหรับเราคือเรื่องการไม่มีคำว่าค่อยเป็นค่อยไป เด็กคนหนึ่งเข้ามาเรียนแล้วก็ถูกคาดหวังให้ทำได้เลย เก่งเลย คือไม่ได้เป็นการเรียนการสอนที่พัฒนาและผลักดันความสนใจของเด็กคนนั้น แต่ผลักให้ทุกคนเดินไปสู่มาตรฐานบางอย่างที่เหมือนๆ กัน ซึ่งทำให้เราเผลอเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ ว่าเราไม่มีความสามารถเลยหรือเปล่า แต่โชคดีที่เราเจออาจารย์ที่ดี เลยทำให้เริ่มเปิดโลกว่าเราไม่ต้องเครียดขนาดนั้นก็ได้ ถ้าเป็นไปได้ เราอยากให้เปิดโอกาสให้เด็กได้ทดลองโดยมีอาจารย์เป็นคนซัพพอร์ต คอยผลักดันเด็กมากกว่า
อีกเรื่องหนึ่งคือค่าใช้จ่าย อย่างปรินต์แบบโปรเจกต์เดียวก็ 1,000–2,000 บาท ยังไม่รวมโมเดลที่ราคาหลักพันเหมือนกัน แล้วหนึ่งเทอมมีหลายโปรเจกต์ทั้งแบบเดี่ยวและงานกลุ่ม จนช่วง COVID-19 อาจจะดีหน่อยที่ส่งเป็นไฟล์ได้ แต่ตอนมีโมเดลก็น่าจะดีต่อการเรียนมากกว่า คนที่เข้ามาเรียนคณะนี้เลยต้องมีความพร้อม มีเงินซัพพอร์ตส่วนนี้ไปด้วย
เเมว, ปี 4
ข้อดีคือเราได้ฝึกความคิดสร้างสรรค์เต็มที่ ได้มีความอดทนในการใช้ชีวิตมากขึ้นหลายๆ ด้าน ส่วน pain point เราว่ามันเป็นเรื่องความเเข่งขัน (competitiveness) ระหว่างเพื่อน และเอาจริงๆ เราไม่ค่อยเข้าใจว่าเขาวัดโปรเจกต์ที่ดีจากอะไร เลยปลงมาก เรียนให้จบก็คงพอเเล้ว จากตอนเเรกที่เข้ามาชอบสถาปัตย์นะ เเต่ก็ขอบคุณที่ทำให้รู้ว่าเราไม่ได้ชอบวิธีใช้ชีวิตเเบบการทำโปรเจกต์สถาปนิกเลย (หัวเราะ)
ถ้าให้พูดตรงๆ คือเงินเดือนน้อย ทำงานหนัก สุขภาพจิตเสียอีก เหมือนต้องทำงานหนักไปตลอดชีวิต แถมมีหลายวิชาที่ต้องเรียน เเค่โปรเจกต์ยักษ์วิชาเดียวคือเหนื่อยมากเเล้ว ยังมีสอบหลาย ๆ วิชาพร้อมๆ กัน มีช่วงหนึ่งเครียดจนต้องไปหาจิตเเพทย์ บำบัดอยู่นานมากเพราะเรากดดันมากจริงๆ
เราอยากให้อาจารย์ช่วยชูจุดเเข็ง บอกจุดอ่อนของเด็กเเต่ละคนหรือโปรเจกต์ต่างๆ ไม่อยากให้มีการล้มเเบบ ฉีกทิ้ง จนกลายเป็นตราบาปในใจเด็ก แล้วก็เรื่องค่าใช้จ่ายทำโมเดล ค่าปรินต์ค่อนข้างสูง แต่พอโปรเจกต์นั้นจบแล้วต้องทิ้งไป คนที่เรียนเลยต้องมีงบซัพพอร์ตส่วนนี้ด้วย
นกสีฟ้า, ปี 5
สิ่งที่ชอบคือการได้รีเสิร์ช การเชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ มาสู่การออกแบบ รู้สึกว่าขั้นตอนนี้ทำให้เราเห็นโลกในมุมที่หลากหลายขึ้น แล้วก็ได้ทักษะการจัดการกับความเครียด
เชื่อว่าหลายคนก็คงพยายาม ‘ไม่คิด’ ว่างานเป็นเสมือนตัวตัดสินคุณค่าของเรา แต่สังคมในคณะโดยเฉพาะอาจารย์ทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่าถ้างานเราออกมาไม่ดี เราก็เหมือนขยะชิ้นนึง เรามักพูดกันอยู่เสมอว่าถ้าได้อาจารย์ประจำเซ็กดี สุขภาพจิตช่วงนั้นก็จะดีตาม ดังนั้นส่วนตัวคิดว่าถ้าอาจารย์หลายๆ ท่านใส่ใจกับสิ่งที่ตัวเองพูดนิดนึงก็จะดีมากเลย เพราะบางคำพูดเจ็บปวด อาจจะพูดได้ง่ายๆ แต่คนฟังจำไปอีกนานเลย
ซอจอ, ปี 4
ข้อดีของการเรียนคณะนี้ คือเราได้แนวคิดในการทำงาน การวิเคราะห์ข้อมูลที่ต่อยอดได้หลากหลายงาน ปลูกฝังให้เราจัดการกับเวลาได้ดียิ่งขึ้น เราค่อนข้างชอบนะ เพราะระบบความคิดพวกนี้รวมๆ แล้วช่วยให้ทำงานได้ดีขึ้น
แต่หลายครั้งที่ความมั่นใจหายไปจากคำพูดของอาจารย์ ทั้งๆ ที่เป็นคณะแห่งความคิดสร้างสรรค์ สุดท้ายแล้วงานไฟนอลเหมือนเป็นงานอาจารย์ไปซะงั้น เรื่องคอมเมนต์งาน เราอยากให้อาจารย์กับนักศึกษาเจอกันตรงกลาง เคารพความเห็นของทั้งสองฝ่ายมากขึ้น เพราะคำพูดเป็นสิ่งสำคัญ ทุกคนไม่สามารถอดทนได้เท่ากันอยู่แล้ว
ยิ่งตอนนี้มีโรคระบาด ยิ่งยากต่อการลงพื้นที่ เราต้องทำงาน/เรียนอยู่แต่ในบ้าน ตรวจแบบเสร็จ กินข้าวแล้วมานั่งทำงานต่อ ชีวิตวนลูปอย่างนี้จนเกิดเป็นความเครียดสะสม รู้ตัวอีกทีก็นั่งร้องไห้คนเดียวแล้ว
Illustration by Manita Boonyong