อัฟกานิสถานเป็นพื้นที่ที่แม้จะอยู่ในความสนใจนับตั้งแต่เหตุการณ์ 9/11 เป็นต้นมา แต่ทว่าในช่วงเวลาหนึ่ง พื้นที่และผู้คนในอัฟกานิสถานถูกมองด้วยสายตาของความหวาดกลัว และถูกมองเป็นพื้นที่ของสงครามและความรุนแรง เป็นส่วนหนึ่งของกระแส Islamophobia
ในช่วงปี ค.ศ.2000 เป็นต้นมา จากความสนใจและการที่โลกเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่อัฟกานิสถานและพื้นที่ตะวันออกกลางอื่นๆ รวมถึงความขัดแย้งภายในพื้นที่เอง หลังจากกระแสความหวัดกลัวความเป็นมุสลิมที่นำไปสู่อคติและความเป็นศัตรูอย่างไม่เป็นธรรม ในช่วงนั้นวรรณกรรมจากเหล่านักเขียนก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะวาดภาพและพาผู้อ่านไปมองเห็นเรื่องราวต่างๆ ในระดับที่ละเอียดลออ และรับรู้โลกในมุมมองที่มาจากภายใน จากคนในดินแดนที่ตลบไปด้วยฝุ่นควันนั้น
ตัววรรณกรรมเอง แม้ว่าจะไม่ใช่บันทึกประวัติศาสตร์ ไม่ได้เน้นมอบข้อมูลตามข้อเท็จจริง แต่ทว่า วรรณกรรมมีพลังอันพิเศษที่จะพาผู้อ่านถอดรองเท้า และตื่นขึ้นมาภายใต้ผ้าคลุมหน้าที่เราอาจหวาดกลัว พาไปสัมผัสความเป็นมนุษย์ เรื่องราวความสูญเสีย ความรู้สึก และความเป็นไป ความเป็นไปที่ล้วนมีฉาก มีประวัติศาสตร์ให้เราได้เข้าอกเข้าใจ พร้อมกับรับรู้เรื่องราวและประเด็นปัญหาต่างๆ ในระดับเล็กละเอียดลงจากภาพข่าวหรืองานสารคดีต่างๆ
ถ้าคุณเคยอ่าน หรือดูหนังเรื่อง ‘The Kite Runner’ คุณอาจจะมองเห็นภาพพลังของวรรณกรรมในการสัมผัสและทำความเข้าใจพื้นที่ที่เข้าถึงยากทั้งในการเดินทางไปจริงๆ และด้านการทำความเข้าใจ ในเรื่อง ‘เด็กเก็บว่าว’ เราได้เห็นภาพกรุงคาบูลในยุครุ่งเรืองที่รุ่มรวยไปด้วยวัฒนธรรม สดใสไปด้วยสีสันใช่ควันปืน
ในแง่หนึ่งดูเหมือนว่าวรรณกรรมที่เล่าเรื่องราวของอัฟกานิสถานล้วนเป็นวรรณกรรมชั้นเยี่ยม พาเราไปสัมผัสกับผลของสงครามได้อย่างถี่ถ้วน รวมถึงสำรวจประเด็นต่างๆ เราได้เห็นการดิ้นรนและความรักของร้านหนังสือ รับรู้เรื่องราวของเหล่าผู้หญิงที่ถูกกดขี่โดยตรงจากตาลีบันใต้บูร์กาอันหนาหนัก เรื่องราวที่เล่าจากสายตาทั้งของนักหนังสือพิมพ์ที่เข้าไปทำงานในพื้นที่ ไปจนถึงเสียงของคนในที่อพยพ ยืนหยัด และมองย้อนกลับไปเพื่อเล่าเรื่องราวบาดแผลและการยืนหยัดอีกครั้ง หรือการใช้เรื่องเล่าเพื่อย้อนถามความจริงและความดีงามในการเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ในพื้นที่ความขัดแย้ง ส่งท้ายด้วยนวนิยายไทยที่เล่าเรื่องราวอิงประวัติศาสตร์อัฟกานิสถาน
The Kite Runner, Khaled Hosseini
The Kite Runner หรือฉบับภาษาไทยคือ ‘เด็กเก็บว่าว’ ถือเป็นนวนิยายเล่มแรกๆ ที่สร้างความฮือฮาให้กับอเมริกาในช่วงที่อเมริกากำลังประกาศสงครามกับอิรัก และดำเนินเข้าทำสงครามในตะวันออกกลาง The Kite Runner นับเป็นงานเขียนที่เล่าถึงอีกมุมหนึ่งของตะวันออกกลาง ของอัฟกานิสถานในมุมมองของคนที่เกิดจากที่นั่น คนที่กลับไปเยี่ยมและถ่ายทอดภาพบ้านเกิดเมืองนอนที่กลายเป็นซากปรักหักพัง และแน่นอนว่านวนิยายเรื่องนี้ถือเป็นงานลำดับแรกๆ ที่ควรอ่าน เป็นงานที่ทำให้เราได้เหมือนมองย้อนไปยังอดีตที่สวยงามของกรุงคาบูล ได้รักและรับรู้สีสันของมหานครอันรุ่งเรืองแห่งนี้ และรู้สึกแหลกสลายไปกับไฟสงครามได้ราวกับว่าคาบูลนั้นเป็นบ้านของเราเช่นเดียวกัน
คาเล็ด ฮอสเซนี ผู้เขียน เกิดที่กรุงคาบูลในครอบครัวที่มีสถานะค่อนข้างสูงก่อนจะย้ายตามครอบครัวไปที่อิรัก จนในที่สุดด้วยสถานการณ์ความขัดแย้ง ครอบครัวของฮอสเซนีจึงลี้ภัยไปที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ฮอสเซนีทำงานเป็นแพทย์จนกระทั่งในปี ค.ศ.2003 ท่ามกลางความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ฮอสเซนีตัดสินใจเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดและพบว่ากรุงคาบูลไม่เหลือภาพที่เขารู้จักอีกต่อไป นวนิยายเรื่องเด็กเก็บว่าวจึงมีเรื่องราวซ้อนกันสองส่วนคือการเล่าผลกระทบของสงครามอย่างลึกซึ้ง และเรื่องราวการเดินทางกลับไปสะสางปมของอดีตที่มีฉากเป็นพื้นที่บ้านเกิดที่ระอุไปด้วยควันปืน
A Thousand Splendid Suns, Khaled Hosseini
นับได้ว่าฮอสเซนีเป็นนักเขียนคนสำคัญที่สร้างกระแสวรรณกรรมว่าด้วยอัฟกานิสถานและวัฒนธรรมอัฟกัน ทั้งยังมีฝีมือการเขียนที่ไม่ธรรมดา เล่มที่สองจึงยังเป็นงานเขียนชิ้นต่อมาของฮอสเซนี ที่คราวนี้ฮอสเซนีเล่าโดยมีผู้หญิงเป็นศูนย์กลางของเรื่อง A Thousand Splendid Suns เล่าเรื่องราวชีวิตของผู้หญิงอัฟกันสองคนที่มีพื้นฐานชีวิตแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่เผชิญอยู่บนคาบเวลาเดียวกันคือราวปี ค.ศ.1959–2003 เป็นช่วงเวลาที่อัฟกานิสถานเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงและความขัดแย้งนับครั้งไม่ถ้วน โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านไปสู่การปกครองภายใต้ของกลุ่มตาลีบัน และการใช้กฎหมายอิสลามอย่างเข้มงวดที่ส่งผลกับผู้หญิงอย่างรุนแรง
ความพิเศษของงานเขียนของฮอสเซนีคือความซับซ้อนและการเล่นกับเส้นเวลา ก่อนจะค่อยๆ นำพาโชคชะตาที่แตกต่างแต่ทว่าคล้ายคลึงกันไขว้เข้าหากัน ในเรื่องนี้ก็เช่นกัน ด้วยความที่เรื่องเล่าถึงเส้นทางชีวิตของผู้หญิงสองคน สองชนชั้น หนังสือจึงถูกแบ่งออกเป็นสี่ส่วนจากสองช่วงเวลา ความโดดเด่นของเรื่องนี้คือการเล่าถึงชีวิตที่พลิกผัน การถูกกดขี่และเงื่อนไขการใช้ชีวิตของหญิงชาวอัฟกันที่จะต้องเผชิญทั้งการใช้กฎหมายที่เข้มงวดอย่างไร้เหตุผล การถูกกดขี่ในสารพัดแง่มุม และการมีชีวิตที่แทบไม่มีคุณภาพชีวิตภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน การมองเห็นเรื่องราวใต้ผ้าคลุมอันหนาหนักนี้ทำให้เราสัมผัสหัวใจของผู้หญิงที่อยู่ผ้าใต้คลุมหน้า ในฐานะมนุษย์อีกคนที่เต็มไปด้วยบาดแผลและชีวิตจิตใจ
The Bookseller of Kabul, Åsne Seierstad
เรื่องราวของร้านขายหนังสือที่คาบูล ลำพังแค่การพูดเรื่องเจ้าของร้านหนังสือในประเทศที่มีสัดส่วนการรู้หนังสือน้อยก็น่าสนใจมากแล้ว แต่ยิ่งเป็นอัฟกานิสถานที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงทั้งคอมมิวนิสต์และตาลีบันนั้นก็ดูจะไม่เป็นมิตรกับกิจกรรมการอ่านเขียนเลย งานเขียนเล่มนี้อันที่จริงเป็นสารคดี เขียนโดยนักหนังสือพิมพ์หญิงชาวนอร์เวย์ที่ไปใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวของ สุลตาน ข่าน (Sultan Khan) คนขายหนังสือในกรุงคาบูล แต่หนังสือเล่มนี้ถูกเขียนขึ้นด้วยวิธีการแบบบันเทิงคดี มีการผูกร้อยเรื่องราวและใช้เรื่องเล่าอันหลากหลายของสมาชิกในครอบครัว
หนังสือเล่มนี้เป็นงานเขียนที่อ่านสนุก พาเราไปนั่งอยู่ในร้านหนังสือที่เผชิญความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล เป็นหนังสือที่เก็บกักความฝัน ความรัก การดิ้นรน รวมถึงปมขัดแย้งต่างๆ ที่ยังปรากฏอยู่ในสังคมมุสลิม เรื่องราวเล่าทั้งความหวังและความขมขื่นที่ผู้คนเผชิญในหลายมิติ ทั้งเจ้าของร้านที่แม้จะเป็นคหบดีแต่ก็ต้องเผชิญการเข้ามาของสงครามและระบบที่เป็นปรปักษ์กับการอ่านเขียน ในมุมของภรรยาทั้งสองที่สถานะของผู้หญิงนั้นยังตกเป็นรองและต้องเต็มไปด้วยความอดทน รวมถึงลูกชายที่ต้องแบกรับความฝันของพ่อ ถูกบังคับให้ออกมาทำงานที่ร้านขายหนังสือ ลูกสาวทั้งสองที่มีสถานะพลิกผันทั้งจากที่เคยทำงานนอกบ้านได้ก็ต้องกลับอยู่แต่ในบ้าน หรือลูกสาวคนเล็กที่มีสถานะเช่นคนรับใช้
เล่มนี้มีภาษาไทยนะ ในชื่อว่า ‘ถนนหนังสือสายคาบูล’
The Dressmaker of Khair Khana, Gayle Tzemach Lemmon
งานเขียนที่ย้ำว่าผู้หญิงไม่ได้เป็นแค่เหยื่อ แม้จะถูกปกครองในระบบที่มองไม่เห็นผู้หญิง The Dressmaker of Khair Khana : Five Sisters, One Remarkable Family, and the Woman Who Risked Everything to Keep Them Safe เป็นอีกหนึ่งงานเขียนที่เขียนโดยนักหนังสือพิมพ์ เกล เซอมัค เลมมอน (Gayle Tzemach Lemmon) เธอเป็นอดีตนักข่าวของสำนักข่าว ABC และได้ไปใช้ชีวิตอยู่ในกรุงคาบูลเพื่อรายงานเรื่องราวของ คามิลา ซิดิคิ (Kamila Sidiqi) จนเขียนขึ้นเป็นหนังสือเล่มนี้
คามิลา ซิดิคิ สำคัญยังไง เธอเป็นผู้หญิงที่ได้รับปริญญาด้านครุศาสตร์ในช่วงสงครามกลางเมือง และทำอาชีพเป็นครู ซึ่งสำหรับประเทศอัฟกานิสถานก็หายากมากแล้วที่ผู้หญิงจะประสบความสำเร็จทางการศึกษา เมื่อตาลีบันเข้ายึดครอง เธอจึงมีชะตากรรมเช่นผู้หญิงคนอื่นๆ คือถูกห้ามออกจากบ้าน ไม่สามารถทำงานที่โรงเรียนได้อีกต่อไป และจุดหนึ่งพ่อและพี่ชายของเธอจำต้องลี้ภัยออกจากคาบูล หลงเหลือแต่เธอและพี่น้องผู้หญิงรวมห้าคน และเธอนั้นตัดสินใจที่จะปกป้องครอบครัว คามิลาทำกิจการเล็กๆ ของตัวเองเพื่อเลี้ยงปากท้องและขับเคลื่อนชุมชนจนกลายเป็นช่างตัดเสื้อแห่งย่าน ไคร์ คานา (Khair Khana) ย่านชุมชนในกรุงคาบูล งานเขียนชิ้นนี้ย้ำว่าผู้หญิงในผ้าคลุมหน้าไม่ใช่แค่เหยื่อ แต่เธอหัวใจของครอบครัว และกระดูกสันหลังของประเทศ
Born Under a Million Shadows, Andrea Busfield
ช่วงนี้เหตุการณ์สำคัญคือการถอนกำลังทหารของสหรัฐ และกลุ่มตาลีบันเริ่มกลับมายึดครองอัฟกานิสถานอีกครั้ง ทว่า ในช่วงที่ตาลีบันยึดครองและล่าถอยออกจากคาบูลนั้น ใช่ว่าผลของตาลีบันและสงครามกลางเมืองจะหายไป Born Under a Million Shadows เป็นนวนิยายที่ว่าด้วยผลตกค้างจากตาลีบันและภาวะสงครามที่ยังทิ้งบาดแผลไว้กับผู้คน และความพยายามในดิ้นรน รักษาความหวังไว้เพื่อที่จะเติบโตในแผ่นดินเกิดของตนต่อไป
นวนิยายเรื่องเล่าถึง ฟาวัด (Fawad) เด็กชายอายุเพียง 11 ขวบที่ดูจะมีชะตาชีวิตเช่นเดียวกับชาวคาบูลอื่นๆ เด็กน้อยคนนี้รู้จักความโศกเศร้าและการสูญเสียชนิดฝังอยู่ในกระดูก เขาเสียพ่อ เสียพี่ชาย ส่วนพี่สาวถูกลักพา ฟาวัดและแม่ใช้ชีวิตอยู่ได้ด้วยอาหารและการช่วยเหลือจากญาติที่ไม่ได้เต็มใจดูแล เรื่องราวน่าสนใจของนวนิยายเรื่องนี้คือเมื่อแม่ของฟาวัดได้งานเป็นแม่บ้านให้กับผู้หญิงตะวันตก แถมหญิงสาวนั้นดันไปมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับนักรบอัฟกันที่มีชื่อเสียงไม่ดีนักอีก ความเข้มข้นซับซ้อนนี้พูดถึงการปะทะกันชองความเป็นตะวันออกและตะวันตก การรักษาความหวังและเยียวยาอดีต ไปจนถึงประเด็นของความรู้สึกรักประเทศและแผ่นดินของตน ตลอดจนผลของสงครามที่ไม่เคยง่ายดายทั้งระหว่างและหลังสงคราม
A Door in the Earth, Amy Waldman
พลังอย่างหนึ่งของวรรณกรรม คือ เรื่องแต่งนั้นกลับไปตั้งคำถามกับความเป็นจริง กรณีของอัฟกานิสถานในช่วงหลังเริ่มมีการเข้าไปมีส่วนร่วมของโลกตะวันตก บางส่วนอาจจะทำในนามของภารกิจมนุษยธรรม ภาพของอเมริกาที่มีฉากสงครามนั้นดูมีความบริสุทธิ์ แต่ทว่าในความปรารถนาดีนั้นย่อมมีความเป็นการเมืองที่มีความยอกย้อน มีเฉดทางการเมืองบางอย่างอยู่ภายใน วรรณกรรมจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสำรวจความยอกย้อนในความปรารถนาดี การปะทะของสองโลก และการตกเป็นเหยื่อทางความคิด
A Door in the Earth เป็นนวนิยายที่ว่าด้วยความรู้สึกขัดแย้ง และการเปลี่ยนการรับรู้ของแพทย์ที่ปฏิบัติภารกิจมนุษยธรรมในพื้นที่ชนบทของอัฟกานิสถาน งานเขียนชิ้นนี้เป็นงานเขียนของคนผิวขาว เอมี วาลด์แมน (Amy Waldman) ผู้เขียนเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่ทำงานกับ The New York Times กว่าแปดปี นวนิยายเล่มนี้เล่าจากสองแง่มุมคือ กิเดียน เครน (Gideon Crane) แพทย์อเมริกันผู้ไปพบเห็นการตายจากการคลอดลูกของหญิงอัฟกันและตัดสินใจตั้งคลินิกสูตินารี ก่อนจะเขียนเป็นบันทึกความทรงจำจนทำให้โรงพยาบาลในชนบทนั้นเป็นที่สนใจของชาวอเมริกัน มีการบริจาคอย่างมหาศาลและเชิดชูภารกิจทางการแพทย์นั้น
ด้านหนึ่งเรื่องเล่าของหมอเครนดูจะสะสอดคล้องกับจินตนาการของอเมริกาที่ยืนยันความถูกต้องของภารกิจมนุษยธรรมไปสู่พื้นที่ห่างไกลและพื้นที่สงคราม ทว่าการมาถึงของภารกิจทางการแพทย์ย่อมมีฉากหลังเป็นสงครามและการควบคุม งานเขียนชิ้นนี้จึงมีการเล่าย้อนโดยใช้มุมมองของ ปาร์วีน (Parveen) นักศึกษาสาวสายเลือดอัฟกันที่เติบโตที่อเมริกาผู้เดินทางตามแรงบันดาลใจจากหนังสือของหมอเครน ก่อนจะค่อยๆ เรียนรู้ความเป็นจริงที่อาจไม่ขาวหรือดำจากภารกิจมนุษยธรรมที่ทำในนามของความดีนั้น
The Library Bus, Bahram Rahman
เจ็บปวดและสวยงาม ประเด็นเรื่องตะวันออกกลางโดยเฉพาะอัฟกานิสถานเป็นประเด็นที่สัมพันธ์ทั้งกับการพยายามสร้างความเข้าใจ ไปจนลดอคติกับชาวมุสลิมและผู้ลี้ภัยลง ดังนั้นก็มีนักเขียนจำนวนหนึ่งเลือกผลิตเรื่องราวที่หลากหลาย ซึ่งหนังสือเด็กก็เป็นหนึ่งในกระบวนการที่นักเขียน—ที่หลายคนเป็นชาวอัฟกันและผ่านประสบการณ์การถูกกดขี่และความรุนแรงโดยตรง—ตัดสินใจเล่าเรื่องราวใต้ไฟสงครามและการกดขี่ให้กับเด็กๆ ฟัง The Library Bus เป็นผลงานของ บาห์ราม ราห์มาน (Bahram Rahman) ที่ปรึกษาอาวุโสที่กระทรวงสาธารณะสุขของแคนาดา ทว่าบาห์รามเป็นผู้ลี้ภัยที่ตัวเองเกิดและเติบโตที่คาบูลทั้งในช่วงสงครามกลางเมืองและในช่วงตาลีบันเข้ายึดครอง ตัวบาห์รามจบการศึกษาด้านการแพทย์ที่คาบูลและจบปริญญาโทด้านนโยบายที่เยอรมัน โดยมี The Library Bus เป็นผลงานชิ้นแรก
หนังสือภาพเรื่องนี้เรียบง่ายแต่ร้าวราน เรื่องราวเล่าถึงรถห้องสมุด และหญิงสาวที่ขับรถห้องสมุดนี้ไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั้งค่ายอพยพ หมู่บ้านห่างไกลเพื่อนำหนังสือทั้งหลายไปให้เด็กสาวและผู้หญิงที่ตั้งตารอการมาถึง ตัวเรื่องพูดถึงความสัมพันธ์ของผู้หญิง การดิ้นรนในการเข้าถึงการศึกษา เด็กสาวค่อยๆ เรียนภาษาอังกฤษ จนกระทั่งวันหนึ่ง เธอได้รับคำสั่งว่าเธอไม่ได้รับอนุญาตให้เรียนอะไรได้อีกต่อไป งานเขียนชิ้นนี้สะท้อนปัญหาเรื่องผู้หญิงกับการศึกษาอันเป็นประสบการณ์ตรงจากครอบครัวของผู้เขียน
ใต้ฝุ่น, โกลาบ จัน
“สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว และสิ่งใดหมายจะเกิด มนุษย์ไม่มีทางเปลี่ยนสองสิ่งนี้ได้” ส่งท้ายด้วยนวนิยายไทยที่เล่าอิงประวัติศาสตร์อัฟกานิสถาน ลำพังแค่ชื่อ ‘ใต้ฝุ่น’ ก็นับเป็นชื่อเรื่องที่เล่นคำได้อย่างน่าฉงนใจ นวนิยายว่าด้วยอัฟกานิสสถานย่อมถูกปกคลุมด้วยฝุ่น และอยู่ท่ามกลางพายุหมุนที่พัดเข้าสู่ผู้คน ใต้ฝุ่นเป็นงานเขียนของ เพทาย จิรคงพิพัฒน์ ในนามปากกา โกลาบ จัน ตัวเธอเองแม้ว่าจะเป็นผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง แต่ก็ถือว่าเธอนั้นเป็นนักเขียนอาชีพที่ผลิตผลงานให้กับวงวรรณกรรมไทยร่วมสมัยอย่างต่อเนื่อง ใต้ฝุ่นได้รับรางวัล ARC Award เมื่อปี พ.ศ.2559 รางวัลค้นหาต้นฉบับที่ไม่จำกัดประเภทงานเขียน สนับสนุนโดยอมรินทร์
นวนิยายเรื่องนี้พาเราไปท่องมิติเชิงจินตนาการ การตื่นขึ้นในห้วงเวลาอดีตของกรุงคาบูลของลูกครึ่งสาวไทยหลังประสบเหตุระเบิดที่ ซาวารี บาร์ซาร์ เธอลืมตาตื่นขึ้นในร่างของหญิงชาวคาบูลในห้วงเวลาที่คาบูลยังเคล้าไปด้วยกลิ่นของดอกไม้และเสียงขับขานาของบทกวี … ก่อนที่ใต้ฝุ่นจะมาถึงมหานครอันรุ่งโรจน์แห่งตะวันออกกลางนี้
อ้างอิงข้อมูลจาก