เราอยู่ในยุคที่บางทีก็ประหลาดใจว่ากำลังอยู่ในยุคสมัยไหนกันแน่ เรายังเห็นภาพของอภิสิทธิ์ชน เห็นการดูถูกเหยียดหยาม เห็นการแบ่งแยกชนชั้น เห็นชุดความคิดบางอย่างที่ยังสถาวรอยู่ได้จนต้องพลิกดูหน้าปฏิทินว่า เอ๊ะ เราผ่านยุค พ.ศ.2475 มานานแล้วนะ ทำไมเรายังอยู่ในความคิดและอคติบางอย่างที่ยังไม่พ้นสมัยไปสักที
จากความขัดแย้งสารพัด ถึงการเหยียดกันผ่านการถือกระเป๋า เมื่อกลางเดือนคือวันที่ 16 มิถุนายน ถือเป็นวันครบรอบวันเสียชีวิตของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เจ้าของนามปากกา ‘ศรีบูรพา’ หนึ่งในนักคิดนักเขียนคนสำคัญของไทย แง่หนึ่งความสำคัญของศรีบูรพาคือการเป็นนักคิดนักเขียนที่เสนอความคิดก้าวหน้าให้กับสังคม โดยใช้งานเขียนและนวนิยายเป็นเครื่องมือเพื่อคิดถึงสังคมใหม่ สังคมที่ศักดินา ชนชั้น และชาติกำเนิดคลายความสำคัญลง เป็นสังคมที่มีความเป็นธรรมและความยุติธรรมมากขึ้น
ศรีบูรพาถือเป็นหนึ่งในนักเขียนยุคแรกของไทย กลุ่มงานเขียนทั้งในยุคหลัง พ.ศ.2475 และช่วงทศวรรษ 2500 เป็นยุคที่สังคมเริ่มมีงานเขียนประเภทนวนิยาย คือ เขียนถึงชีวิตของคนทั่วไปในฐานะกลุ่มคนใหม่ๆ ที่เริ่มเฟื่องฟูขึ้นผ่านการศึกษาและการประกอบอาชีพ ในสมัยนั้นงานวรรณกรรมค่อนข้างก้าวหน้า คือแสดงภาพความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยจากยุคศักดินาสู่แนวคิดและค่านิยมใหม่ๆ ความคิดที่ถ้าเรามองย้อนกลับไปอ่านจากยุคปัจจุบันก็ถือว่าเป็นประเด็นที่ยังเข้ายุคและช่วยทลายความคิดล้าหลังบางประการลงได้
ทว่า เส้นทางของวรรณกรรมไทยก็อาจค่อนข้างลุ่มๆ ดอนๆ จากงานเขียนที่เน้นเสนอภาพและความคิดนำสังคม มาจนถึงยุคเผด็จการเช่นสมัยจอมพลสฤษดิ์ที่มีการควบคุมการอ่านการเขียน ทำให้นักเขียนหันไปเขียนเรื่องพาฝันน้ำเน่า และเมื่องานเขียนแนวสังคมในนามงานเขียนเพื่อชีวิตกลับมา ก็ถูกวิจารณ์ว่ามีลักษณะแบนราบและเป็นสูตรสำเร็จตลอดจนไม่มีความงดงามทางภาษาและเทคนิกจนขาดความเป็นวรรณกรรมไป ทว่างานเขีนในยุคหลังแม้จะเป็นนวนิยาย นักเขียนก็เริ่มใส่ประเด็นทางสังคงประกอบลงไปด้วย
ในยุคที่สังคมไทยพยายามจะเดินย้อนไปยังอดีตอันหมายถึงความคิดบางอย่างที่ยังหลงเหลืออยู่โดยเฉพาะการแบ่งแยกทางชนชั้น และในโอกาสการรำลึกถึงศรีบูรพา The MATTER จึงชวนย้อนกลับไปอ่านนวนิยายในยุคต้นของไทย ชวนกลับไปสำรวจความหมาย ค่านิยม และการทำลายกรอบความคิดความเป็นอุดมคติแบบใหม่ของสังคมไทยในยุคเปลี่ยนผ่าน มองการเปลี่ยนแปลงของความคิดด้วยการตัดสินผู้คนจากคำสำคัญทั้งผู้ดี ชนชั้น การเป็นข้าราชการ ความเป็นผู้หญิง คนบ้านนอก ผ่านนวนิยายยุคต้นทั้ง 7 เรื่อง ของนักเขียนระดับปรมาจารย์ในการทำลายอคติจากสิ่งที่มากับชาติกำเนิด อันเป็นสิ่งที่เราเลิกใช้ตัดสินผู้คนกันมาเนิ่นนานแล้ว
ละครแห่งชีวิต , หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
งานเขียนของหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง เป็นงานเขียนที่วงการวรรณกรรมต้องพูดถึงในฐานะนวนิยายยุคใหม่ของไทย ‘ละครแห่งชีวิต’ ถือเป็นนวนิยายเรื่องแรกๆ ตีพิมพ์ในปี พ.ศ.2472 ในตอนนั้นถือว่าเป็นนวนิยายขนาดยาวราคา 2 บาท ที่ได้รับความนิยมถล่มทลาย มียอดขายสูงแม้ว่าในตอนนั้นประชากรสยามที่รู้หนังสือจะมีเพียงน้อยนิด สำหรับหม่อมเจ้าฯ แม้ว่าจะมีพระยศเป็นเจ้าอนุวงศ์ ทว่าก็ทรงเป็นหนึ่งในกลุ่มนักคิดหัวก้าวหน้าร่วมกับปัญญาชนในยุคนั้น ในผลงานที่บางส่วนเขียนและเผยแพร่ก่อนการเปลี่ยนการปกครองก็ได้บันทึกภาพสังคมไว้ โดยเฉพาะการเสื่อมสลายและการวิพากษ์วิจารณ์ชนชั้นสูงในระบบศักดินาเดิม
งานเขียนเช่นละครแห่งชีวิตถือเป็นงานเขียนรูปแบบใหม่ คือ เป็นเรื่องแต่ง แต่ก็มีกลิ่นอายของเรื่องจริง เช่นว่าตัวเอกของเรื่องหรือโศกนาฏกรรมของพระเอกในเรื่องมีที่มาบางส่วนจากชีวิตของผู้แต่งเองหรือไม่ ในเรื่องตัวเอกคือ วิสูตร ศุภลักษณ์ ณ อยุธยา อันเป็นทายาทชนชั้นสูงเช่นเดียวกับผู้เขียน ตัวเรื่องจะมีการวิพากษ์วิจารณ์ระบบอันผูกโยงกับชนชั้นปกครอง เช่น การวิพากษ์ระบบยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรม ความยุติธรรมที่สัมพันธ์กับเงินทอง หรือปัญหาครอบครัวของชนชั้นสูงที่มีการเอารัดเอาเปรียบผู้หญิง มีการหย่าร้างและไปแต่งภรรยาใหม่คล้ายกับชีวิตของท่านเอง
นอกจากนี้งานเขียนในฐานะชนชั้นสูงหม่อมเจ้าอากาศฯ ก็ได้บันทึกภาพที่เปลี่ยนแปลงไปของชนชั้นสูง ทั้งกลุ่มคนที่เคยมีชาติตระกูลสูงแต่อาจจะตกไปสู่ความยากจน การสิ้นบารมีและเงินทองของคนชั้นสูงที่เริ่มเสื่อมถอยลง และกลุ่มพ่อค้าที่เริ่มขึ้นมามีอำนาจแทนที่
ลูกผู้ชาย, ศรีบูรพา
ศรีบูรพา หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ที่ขึ้นมามีบทบาทสำคัญ ศรีบูรพาถือว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มคนหัวก้าวหน้าที่ได้รับการศึกษาและสร้างงานสร้างแรงกระเพื่อมให้สังคม หนึ่งในงานสำคัญคือการก่อตั้งคณะสุภาพบุรุษขึ้นร่วมกับเพื่อนๆ โดยคำว่าสุภาพบุรุษนั้นด้านหนึ่งก็เป็นการคัดง้างกับคำว่า ‘ผู้ดี’ ที่ยึดโยงกับชาติกำเนิด แต่คำว่าสุภาพบุรุษสัมพันธ์กับการศึกษา การปฏิบัติตัว และความคิดเป็นสำคัญ
ด้วยบริบทการเปลี่ยนแปลงในยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง และการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนที่ได้รับการศึกษาและความคิดแบบใหม่ งานเขียนของศรีบูรพาก็จะพูดเรื่องความเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะเรื่องชนชั้นที่เปลี่ยนแปลงไป นวนิยายเรื่อง ‘ลูกผู้ชาย’ เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สอดคล้องกับการก่อตั้งคณะสุภาพบุรุษ ตัวเรื่องพูดถึงสามัญชนที่ค่อยๆ ไต่เต้าจนสามารถเลื่อนสถานะทางสังคมของตนเองได้ ในแง่ของคุณสมบัติ นวนิยายของศรีบูรพาจะเน้นย้ำเรื่องคุณธรรม ความยุติธรรม และในทางกลับกันก็จะวิพากษ์วิจารณ์ขุนนางที่มักเป็นตัวร้าย การใช้สายเลือดมาจำแนกผู้คนเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง คำว่าขุนนางจึงไม่สำคัญอีกต่อไป แต่ว่ากันด้วยความเป็นสุภาพบุรุษจะเป็นธรรมกว่า
ข้างหลังภาพ, ศรีบูรพา
‘ข้างหลังภาพ’ เป็นนวนิยายอมตะที่เต็มไปด้วยความงดงามของภาษา และโดยเผินๆ นั้นเราจะรับรู้ข้างหลังภาพในฐานะโศกนาฏกรรมความรักระหว่างหญิงสูงศักดิ์วัยกลางคนกับเด็กหนุ่ม เป็นความรักต้องห้ามที่สวยงามและร้าวรานยิ่ง ทว่าในความร้าวรานนั้น ความร้าวรานและขมขื่นส่วนใหญ่ตกอยู่กับฝ่ายหญิงคือหม่อมราชวงศ์กีรติ ตัวแทนของผู้หญิงที่ถูกครอบงำโดยจารีตของโลกเก่า ภาพของผู้หญิงชนชั้นสูงเช่นหม่อมราชวงศ์กีรตินั้นเป็นตัวแทนของผู้หญิงชนชั้นสูงที่ต้องใช้ชีวิตอย่างแห้งแล้ง เธอต้องแต่งงานเพื่อเอาตัวรอดและความมั่นคงทางการเงิน ประกอบกับการได้รับการศึกในวังที่ไม่สอนให้คิดออกนอกกรอบ และการมีคนรู้จักเพียงน้อยนิดนั้นก็ทำให้ชีวิตของสาวงามสูงศักดิ์นั้นหยุดนิ่งและรอวันร่วงโรยไป
การพบกันของคุณหญิงกีรติและนพพรจึงถูกตีความในมิติของชนชั้น และการปะทะกันของตัวแทนจากโลกเก่าและโลกใหม่ นพพรเป็นตัวแทนของเด็กหนุ่มที่ด้านหนึ่งก็ไร้เดียงสา รักง่าย ลืมง่าย และยังคงเคลื่อนไหวผิดกับคุณหญิง ตัวของเธอถูกนำเสนอให้สัมพันธ์กับความตาย ความโศกเศร้า และอดีต สุดท้ายนั้นด้วยข้อจำกัดของประเพณี ผู้หญิงเช่นกีรติจึงได้แต่ตายลงอย่างเดียวดายและปราศจากคนที่รักและเข้าใจเธอ
ศัตรูของเจ้าหล่อน, ดอกไม้สด
ดอกไม้สดเป็นหนึ่งในสามนักเขียนนวนิยายยุคบุกเบิกร่วมกับหม่อมเจ้าอากาศฯ และศรีบูรพา ความพิเศษของดอกไม้สด หรือ หม่อมหลวงบุปผา นิมมานเหมินท์ คือ เธอเป็นนักเขียนและเป็นสมาชิกชนชั้นสูง แต่ทว่าดอกไม้สดกลับเป็นนักเขียนหญิงที่ถือว่าเป็นนักเขียนหญิงคนแรก และถือว่าเป็นคนที่มีความคิดก้าวหน้า โดยเฉพาะในมุมมองของการเป็นผู้หญิงยุคใหม่ รวมถึงการพูดถึงประเด็นเรื่องชนชั้นและความเปลี่ยนแปลงของชนชั้นสูงของไทยอย่างก้าวหน้าคนหนึ่ง
‘ศัตรูของเจ้าหล่อน’ เป็นผลงานเขียนชิ้นแรก เขียนขึ้นตอนอายุ 20 ปี เริ่มตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในหนังสือพิมพ์ในเขษมช่วงปี พ.ศ.2472 ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตัวเรื่องค่อนไปทางนวนิยายพาฝันคือเน้นเรื่องรักและมีความสมจริงประกอบ ในเรื่องจะเน้นเรื่องเสรีภาพในการเลือกคู่ครอง ต่อต้านการแต่งงานแบบคลุมถุงชน ด้วยความที่ผู้เขียนอยู่ในสังคมชนชั้นสูงและอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ในเรื่องก็ยังคงมีความพยายามประนีประนอมโดยประสานความคิดเก่าและใหม่เข้าไว้ด้วยกัน —ใช่ว่าความคิดเก่าจะต้องถูกปฏิเสธไปทั้งหมด
ผู้ดี, ดอกไม้สด
ด้วยความที่เขียนงานตั้งแต่ก่อนและหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง งานเขียนของดอกไม้สดจึงค่อนข้างเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทและค่านิยมของยุคสมัย นวนิยายของดอกไม้สดยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นค่อนข้างสะท้อนให้เห็นความคิดที่ก้าวหน้าขึ้นของผู้หญิงและสังคม ดอกไม้สดเริ่มวาดตัวละครหญิงที่มีความมั่นใจ หรือเป็นฝ่ายกระทำการเช่นบอกรักผู้ชายก่อน และพูดเรื่องการเปลี่ยนแปลงของอาชีพ เช่น ในนวนิยาย สามชาย พูดถึงการทำการค้าที่มีสถานะทัดเทียมกับการรับราชการ
ในเรื่อง ‘ผู้ดี’ ถือเป็นนวนิยายสำคัญที่กลับมานิยามความหมายของ ‘ความเป็นผู้ดี’ ซะใหม่ นัยสำคัญของผู้ดีจากนวนิยายเปลี่ยนความหมายของผู้ดีที่แต่เดิมหมายถึงการสืบเชื้อสายทางสายเลือด พูดถึง ‘ผู้ดีเก่า’ ที่แม้ว่าจะมีสายเลือดแต่ทว่าสถานะทางสังคมกลับด้อยลง และพูดถึงความเป็นผู้ดีที่สัมพันธ์กับความคิดและคุณสมบัติ การมีเมตตาธรรมและรู้จักให้อภัยอันเป็นคุณสมบัติที่จะนิยามความเป็นผู้ดีมากกว่าการวัดจากสายเลือดหรือฐานันดร
ความรักของวัลยา, เสนีย์ เสาวพงศ์
เสนีย์ เสาวพงศ์ เป็นอีกหนึ่งนักเขียนระดับตำนาน และเป็นผู้สร้างงานวิพากษ์สังคมชิ้นสำคัญคือ ‘ปีศาจ’ ซึ่งหมายถึงปีศาจในฐานะกลุ่มคนและความคิดใหม่ๆ ที่กำลังเข้าท้าทายและหลอกหลอนระบบชนชั้นที่ยังคงทรงพลังถึงทุกวันนี้ กระนั้น เสนีย์ เสาวพงศ์ ยังมีงานชิ้นอื่นๆ ที่ว่าด้วยสังคมโดยหนึ่งในนั้นก็มีงานว่าด้วยผู้หญิงคือ ‘ความรักของวัลยา’ มีตัวเอกเป็นคนธรรมดาที่รักษาความเป็นอุดมคติไว้
ความรักของวัลยา ตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นตอนๆ ในปี พ.ศ.2495 และรวมเล่มครั้งแรกในปี พ.ศ.2496 ความรักของวัลยามีความพิเศษตรงที่วัลยาตัวเอกของเรื่องมีความเป็นผู้หญิงยุคใหม่ วัลยามีความก้าวหน้าถึงขนาดวิพากษ์วิจารณ์ขนบเก่าที่มองผู้หญิงเป็นสมบัติ และกักขังผู้หญิงไว้ในตำแหน่งแม่และเมีย โดยตลอดเรื่องวัลยาจะยืนอยู่ระหว่างความคิดแบบเก่าและใหม่ และชี้ให้เห็นปัญหาของความคิดแบบเก่า การมองเพศหญิงและความไม่เสมอกันในเรื่องเพศ ไปจนถึงการเน้นไปที่การใช้ชีวิตที่เป็นอุดมคติ การทำงานหรือมีชีวิตเพื่อคนอื่น ทั้งนี้วัลยายังถือเป็นนางเอกที่เป็นสามัญชน เป็นคนธรรมดาค่อนไปทางยากจน ทว่าเธอก็สามารมีปากมีเสียง แสดงความคิดและมีความฝันได้
หญิงคนชั่ว, ก.สุรางคนางค์
ก.สุรางคนางค์ หรือ กัณหา เคียงศิริ ถือเป็นอีกหนึ่งนักเขียนอาชีพที่มีผลงานสั้นยาวประดับวงการหลักร้อยเรื่อง แม้ว่าเราอาจคุ้นชื่อของ ก.สุรางคนางค์ เจ้าของผลงานแนวโรแมนติกพาฝัน เช่น บ้านทรายทอง ทว่าผลงานของ ก.สุรางคนางค์ ก็ถือว่าเป็นงานพาฝันที่มีนัยทางสังคมบางประการ ในบ้านทรายทองก็มีนัยการต่อสู้และภาพของชนชั้นสูงที่บิดเบี้ยว โดยนอกจากงานพาฝันแล้ว ก.สุรางคนางค์ ยังได้เขียนงานสำคัญในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เช่น ‘หญิงคนชั่ว’ ที่ตีพิมพ์ในปี พ.ศ.2480
หญิงคนชั่วถือเป็นนวนิยายที่สร้างแรงสั่นสะเทือนเรื่องหนึ่งของวงการ นึกภาพว่าสมัยนั้นเพิ่งเปลี่ยนการปกครองใหม่ๆ วงการร้อยแก้วนวนิยายก็เพิ่งเฟื่องฟู แต่ ก.สุรางคนางค์ ในฐานะนักเขียนกลับเลือกเขียนนวนิยายที่มีตัวเอกเป็นโสเภณี ตัวเรื่องไม่ได้ซับซ้อน แต่โดยนัยนั้นเธอกำลังพูดถึงการตัดสินผู้คนที่ในกรณีนี้คืออาขีพโสเภณีที่ถูกนิยามว่าเป็นหญิงคนชั่ว แท้จริงแล้วอาจไม่ได้เป็นคนชั่วอย่างที่สังคมมักจะตีครา
ฟ้าบ่กั้น, ลาว คำหอม
ทุกวันนี้เรายังมีเส้นแบ่งของคนเมืองและคนชนบท มีนัยของการกดเหยียดคนตามภูมิภาคโดยเฉพาะคนอีสานที่มักถูกนิยามว่า “โง่-จน-เจ็บ” ดังนั้นงานเขียนสำคัญของวงวรรณกรรมไทยที่เล่นกับเส้นแบ่งเมืองชนบทก็คือ ‘ฟ้าบ่กั้น’ งานเขียนสำคัญของ ลาว คำหอม ที่ตีพิมพ์ในช่วงปี พ.ศ.2501 งานเขียนเล่มนี้เป็นรวมเรื่องสั้นที่เล่าในฉากพื้นที่ชนบท มีภาพของการที่คนเมืองและความคิดแบบศูนย์กลางเข้าไปกระทบพื้นที่ ความสนุกในงานชิ้นนี้ของ ลาว คำหอม คือการยั่วล้อ ทั้งยั่วล้อคนเมืองหรือกระทั่งคนอีสานเองที่แสดงให้เห็นความเป็นคนไม่แตกต่างกัน
จริงๆ แล้วฟ้าบ่กั้นเป็นงานเขียนที่อ่านสนุก คือพอว่าด้วยการปะทะกันของสองโลก ผู้เขียนกลับสามารถมองและเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นได้โดยผสมทั้งความชวนหัว การเสียดสีอย่างเจ็บแสบ ไปจนถึงการแสดงให้เห็นปัญหาได้อย่างถึงอกถึงใจ ความพิเศษของฟ้าบ่กั้นหลายครั้งคือการให้ความขมขื่นในความขบขัน แต่เมื่ออ่านๆ ไปเราก็จะเห็นถึงความไม่เสมอภาคของอำนาจที่รัฐนำไปกดขี่พื้นที่ชนบทชายขอบของตนเอง ความแสบสันของงานเขียนชิ้นนี้คือเมื่อจอมพลสฤษดิ์ขึ้นสู่อำนาจ ลาว คำหอม ต้องอพยพไปสวีเดนและเก็บเอาฟ้าบ่กั้นออกจากแผงทั้งหมด
แก้วหยดเดียว, ศรีดาวเรือง
ศรีดาวเรืองเป็นนักหญิงคนสำคัญที่อาจจะไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนัก แต่ทว่าศรีดาวเรืองนั้นถือเป็นนักเขียนที่เกิดขึ้นจากผลพวงของ 14 ตุลาฯ และ 6 ตุลาฯ คือเธอเป็นคนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ก่อนจะได้ฟังปราศรัยและตระหนักถึงความเสมอภาคของผู้คน ศรีดาวเรืองเป็นสาวโรงงาน และต่อมามาทำงานเขียนซึ่งสามารถนิยามว่าเป็นงานแนวสัจสังคมนิยม เริ่มต้นผลิตงานราวปี พ.ศ.2518 ส่วนใหญ่ถนัดงานเขียนประเภทเน้นสะท้อนความไม่เสมอภาค ความยากลำบากของแรงงาน โดยภายหลังศรีดาวเรืองให้สัมภาษณ์ว่าเธอเองก็ค่อยๆ เรียนรู้และงานเขียนก็มีมิติมากขึ้น ไม่ได้มองแรงงานและนายทุนรวมถึงสังคมอย่างเรียบง่ายไร้เดียงสาอีกต่อไป
‘แก้วหยดเดียว’ ถือเป็นเรื่องสั้นชุดสำคัญที่แน่นอนว่าเขียนโดยนักเขียนสามัญชน ซึ่งเธอเองเคยทำงานในโรงงานแก้ว ตัวเรื่องให้ภาพความยากลำบากของแรงงาน ของอีกสารพัดอาชีพที่สังคมเหยียดหยามที่เธอเคยทำมาแล้ว งานเขียนของศรีดาวเรืองคัดง้างกับอคติของสังคมที่มีต่อแรงงานและความยากจน แก้วหยดเดียวหมายถึงอุบัติเหตุเล็กๆ คือหยดแก้วที่หยดลงบนเนื้อตัวของคนงานซึ่งเราเองก็คงพอจะจินตนาการภาพและผลอันยิ่งใหญ่ของแก้วหยดเล็กๆ นั้นได้ และในทางกลับกันแรงงานทั้งหลายก็เหมือนกรวดทรายที่อาจหลอมกลายเป็นหยดแก้วที่มีความหมายและสร้างรอยแผลบางอย่างได้ งานเขียนของศรีดาวเรืองโดดเด่นเรื่องความเรียบง่าย และความเรียบง่ายนั้นก็ทำให้เราสัมผัสสิ่งที่เธอเล่าจากมุมมองของสลัมสังกะสีและสายพานโรงงาน
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Krittaporn Tochan