หลังจากข่าวการเสียชีวิตของนักเขียนชื่อดังผู้ทรงอิทธิพลต่อวงวรรณกรรมและนวนิยายไทยร่วมสมัย—ระดับที่ไม่มีใครในสังคมไม่รู้จัก ไม่เคยอ่านหรืออย่างน้อยก็ต้องเคยดูหนังละครจากงานเขียนของนักเขียนผู้น่าจะได้สมญาว่าเป็นราชินีแห่งวงการโรมานซ์ไทย—ไม่นานสังคมไทยก็เกิดกระแสต่อการจากไปของนักเขียน
กระแสที่น่าสนใจ คือ แน่นอนว่านักเขียนผู้เคยเป็นที่รักนี้กลายเป็นว่ามีบทบาทในการปราบปรามนักศึกษา เป็นผู้สนับสนุนและลงมือกระทำการเอื้อให้เกิดการสังหารหมู่นักศึกษาจากกระจายเสียงของวิทยุยานเกราะ ความตายในครั้งนี้จึงดูจะเป็นการตายครั้งที่ 2 จากครั้งแรกที่ตายลงจากการเป็นนักเขียนขวัญใจของผู้คน และต่อมาจากกระแสความเคลื่อนไหวประชาธิปไตย การทบทวนประวัติศาสตร์ และการเยียวบาดแผลจากโศกนาฏกรรมกลางเมืองของประวัติศาสตร์อันใกล้ ดูเหมือนว่านักเขียนคนสำคัญก็ยังไม่ได้แสดงท่าทีต่อการกระทำของตนในการนองเลือดครั้งนั้น ยังไม่มีการแสดงความเสียใจหรือสำนึกผิดอย่างเป็นทางการ
จึงไม่แปลก—ทว่าเป็นท่าทีที่แปลกใหม่สำหรับสังคมไทย—ที่ตอนนี้ผู้คนกลับไม่ได้แสดงความอาลัย แต่กลับขุดร่องรอยการกระทำของผู้ตายกลับขึ้นมาทบทวน ซึ่งแปลกในแง่ที่ว่าเดิมนั้นถ้ามีการตายลง สังคมไทยมักจะเรียกร้องแนวคิดแบบพุทธๆ คือเราเน้นการให้อภัย หากใครจากไปเรื่องราวทั้งหลายนั้นยุติลงแล้ว การตายของนักเขียนผู้ทรงอิทธิพลเลยเป็นปรากฏการณ์ที่น่าคิด เพราะบางการกระทำนั้นต้องการการสำนึกผิด และบาดแผลจากการกระทำเมื่อครั้งยังมีชีวิตนั้นรุนแรงและนำไปสู่การฆ่าฟันอย่างอำมหิต มันจึงดูยุติธรรมดีที่เราจะจดจำคนคนหนึ่งทั้งเรื่องดีงามและเลวร้ายเอาไว้
ในการตายลงของนักเขียน สำหรับผู้สนใจวรรณกรรมโดยเฉพาะวรรณกรรมวิจารณ์และทฤษฎีวรรณคดี เรามักจะนึกถึงตัวบทสำคัญที่มีชื่องานตรงไปตรงมาคือ The Death of the Author หรือเรียกกันอย่างสละสลวยว่า ‘มรณกรรมของประพันธกร’ งานเขียนชิ้นสำคัญจากช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ของ รอล็อง บาร์ต ที่ทำให้วงการวิจารณ์และวิชาการด้านวรรณคดีก้าวไปสู่กระบวนทัศน์ใหม่ๆ ซึ่งการตายในความหมายของบาร์ตและการตายลงของตัวตนนักเขียนที่เคยเป็นที่รักก็อาจจะมีความเกี่ยวข้องกันอยู่
Death of Author – Birth of Reader
The Death of the Author ตัวมันเองเป็นความเรียงสั้นๆ ที่ส่งผลสะเทือนวงการวรรณกรรมวิจารณ์ เป็นการปลดแอกการอ่าน ตีความวรรณกรรมไปสู่กรอบความคิดใหม่ๆ อันที่จริงงานเขียนชิ้นนี้ทำให้อ่านวรรณกรรมหลุดพ้นไปจากการวิเคราะห์ว่า ‘ผู้เขียนคิด/รู้สึกอย่างไร’ เป็นการปลดปล่อยตัวบทวรรณกรรมออกจากอำนาจของผู้เขียน และมอบอำนาจในการอ่านตีความในฐานะผู้อ่าน (reader) ด้านหนึ่งนั้นก็เป็นการลดทอนการมองวรรณกรรมในแง่ของอัจฉริยะส่วนบุคคลไปสู่การเป็น ‘ตัวบท’ ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมทางวัฒนธรรม จากภาษา จากความคิด จากอุดมการณ์ของสังคมในห้วงเวลานั้นๆ
งานศึกษาวรรณกรรมในยุคหนึ่ง ขนบการอ่านนั้นค่อนข้างผูกโยงเข้ากับตัวผู้เขียน อ่านงานเขียนในฐานะผลผลิตที่เฉพาะเจาะจงของนักเขียนคนนั้นๆ งานศึกษาก็จะเน้นไปขุดคุ้ย ไปศึกษาอัตชีวประวัติโดยละเอียด ไปเน้นการอ่านตีความว่านักเขียนที่เก่งกาจและผลงานที่ยอดเยี่ยมนั้น ผู้เขียนต้องการสื่ออะไร สัมพันธ์ประวัติส่วนบุคคลไหม คนเขียนมีมุมมองอย่างไร ถ่ายทอดออกมาอย่างไร
ปัญหาสำคัญของการศึกษาวรรณกรรมแบบยึดผู้เขียนนั้นเลยมีปัญหามาก แน่นอนว่าวรรณกรรมถูกพิจารณาเป็นเรื่องของความเก่งกาจส่วนบุคคล—คือยึดตัวบุคคลเป็นหลัก และแน่นอนว่า การศึกษาวรรณกรรมนั้นมักทำในชั้นหลัง การตีความว่าคนเขียนคิดหรือไม่คิดอะไรนั้นเป็นเรื่องที่ยากจะตัดสิน
และอีกด้านหนึ่งนั้น กิจกรรมสำคัญของวรรณกรรมที่ล่องลอยอยู่ในสังคมคือการ ‘อ่าน’ การศึกษาในมุมของผู้อ่านและการตีความ ในแง่หนึ่งความหมายของวรรณกรรมที่เกิดขึ้น ล้วนเกิดจากที่ผู้อ่านนำมุมมองและประสบการณ์ของตนเข้าร่วมตีความงานเขียนนั้นๆ ดังนั้น ในความตายของผู้เขียน บาร์ตจึงได้ให้กำเนิดและมอบอำนาจในการให้ความหมายของงานแก่ผู้อ่านนั่นเอง
ผู้เขียนที่หายไป? แต่ไม่ใช่การตัดตัวบทออกจากบริบท
แง่หนึ่งการพิจารณาให้ผู้เขียนตายจากงานของตัวเอง ลดทอนความเป็นเจ้าของ (authorship) ในแง่ของการตีความให้ความหมายจากงานนั้นๆ ลง การลดความสำคัญของผู้เขียนลงก็ดูจะเป็นการลดการให้ความสำคัญในตัวบุคคล และพิจารณางานเขียนที่สัมพันธ์กับบริบท กับยุคสมัย กับความคิด หรือกับโครงข่ายของภาษา
แต่ว่าการตายของผู้เขียนก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะตัดตัวบท และพิจารณาตัวบทนั้นๆ อย่างลอยๆ โดยที่เราไม่สนใจผู้เขียนเลย เช่น กรณีงานเขียนโรมานซ์ของไทย เมื่อเรามองเห็นว่าผู้เขียนซึ่งเขียนงานเขียนประเภทพาฝัน พูดถึงความรักหรือการตามหาความฝันที่ปลายทางคือการแต่งงาน แต่ด้านหนึ่งตัวบทชุดนี้ก็เกิดขึ้นในช่วงที่สังคมไทยตั้งอยู่บนความคิดสองขั้ว โดยอยู่ในบริบทของการควบคุมปราบปราม งานเขียนพาฝันนั้นเฟื่องฟูขึ้นในยุคหลังยุคเผด็จการและการควบคุมงานเขียนและวรรณกรรมจนกลายเป็นรากฐานของนิยายรักและละครตอนเย็นของไทย
ดังนั้น ความเข้าใจในบริบทอาจทำให้เราอ่านเรื่องราวความรักข้ามชนชาติ การนำเสนอภาพทหารญี่ปุ่น ความปรารถนาที่จะเข้าไปในกระจกและกลับไปสู่ยุคที่สยามถูกล่าอาณานิคม ไปจนถึงการนำเสนอภาพของผู้หญิง หรือความขัดแย้งที่ดูเป็นเรื่องของปักเจกชนต่างออกไป ในที่สุดอาจจะอ่านไปจนเห็นประเด็นอื่นๆ ที่ใหญ่ขึ้น เช่น เรื่องสงคราม ชาตินิยม สถานะและคุณสมบัติของชาติ ไปจนถึงความซับซ้อนของความเป็นไทย
สุดท้าย การกลับไปอ่านแนวคิดเรื่องความตายของผู้ประพันธ์ในวันที่ผู้ประพันธ์ตายจากโลกนี้ไป ส่วนหนึ่งนั้นวิธีคิดจากบาร์ตในทศวรรษ 1960 ก็ดูจะสอดคล้องกับการตายทั้งในทางความหมาย คือ ตายจากใจแฟนๆ และการตายลงจริงๆ
ในที่สุดคือการลดการยึดติดในตัวบุคคลลง นำไปสู่การทบทวนงานเขียนที่สัมพันธ์กับบริบท กลับไปอ่านทำความเข้าใจงานที่สัมพันธ์กับสังคม กับปรากฏการณ์ที่ท้ายที่สุดเราอาจจะมองเห็นว่า ภาพความรัก ความฝัน และความเป็นอุดมคติที่กลายเป็นเรื่องยอดฮิตนั้น กำลังตอบสนองกับจินตนาการร่วมสมัยที่มีบาดแผล มีสงคราม มีภาพของมิตรและศัตรู ไปจนถึงภาพจินตนาการนั้นกำลังกลบเกลื่อนสิ่งที่ไม่งดงามที่เกิดขึ้นได้อย่างไร
สิ่งสำคัญคือ เมื่อผู้เขียนตายลง อำนาจในการอ่านตีความก็เกิดขึ้นในมือของผู้อ่าน
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Krittaporn Tochan