เพราะการลงทุนมีความเสี่ยง การศึกษาหาข้อมูลก่อนการลงทุนจึงจำเป็น
โดยเฉพาะตลาดคริปโตเคอร์เรนซีที่ขึ้นสุดลงสุดเหมือนเล่นโรลเลอร์โคสเตอร์ในบางที แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเพราะสิ่งนี้แหละที่ทำให้นักลงทุนหรือหลายคนผันตัวมาเป็นนักลงทุนสายคริปโตฯ เพราะเชื่อว่าได้ผลตอบแทนดีกว่าเงินฝาก
จำนวนนักลงทุนคริปโตฯ เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ผลสำรวจล่าสุดปลายเดือนเมษายน พ.ศ.2564 จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ระบุว่า มีนักลงทุนคริปโตฯ และบุคคลธรรมดาเปิดพอร์ตลงทุนอยู่ที่ 698,000 บัญชี จำนวนเพิ่มขึ้นจากช่วงปลายปีก่อนราวสามเท่าตัว
ตลาดคริปโตฯ ที่ผันผวนสูงจนหลายคนขนานนามให้ว่าเป็น ‘ตลาดซิ่ง’ เวลาได้อาจได้มาก เวลาเสียก็อาจจะเสียมากเช่นกัน
ช่วงนี้ตลาดคริปโตฯ กำลังขาลงกันอยู่ หลายคนที่ตามข่าวและอาจจะมีคิดๆ ไว้ว่าจะเข้าไปลงทุนด้วยดีไหม
นอกจากเตรียมเงิน เตรียมตัว เตรียมใจ ยังต้องเตรียมความรู้ให้พร้อม จังหวะนี้ The MATTER ขออาสาบอกเล่าข้อเท็จจริง สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับตลาดคริปโตเคอร์เรนซี ย้ำอีกครั้ง! การลงทุนมีความเสี่ยง
ตลาดที่มีความผันผวนสูง
ข้อนี้อาจจะต้องเตือนตัวเองบ่อยๆ ว่า การเข้าไปลงทุนในตลาดคริปโตฯ นั้นมีโอกาสผันผวนได้ตลอดเวลา ตัวสินทรัพย์ขึ้นได้หลัก 1000% ก็ลงได้หลัก 1000% ได้เช่นกัน เพราะตลาดไม่มีเพดานราคา (ceiling) ไม่มีการห้ามซื้อขายเหรียญตัวไหนในบางเวลา (circuit breaker) เปิดตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีเวลาปิดตลาด เหมือนตลาดหุ้น และเปิดซื้อขายกับนักเทรดทั่วโลก
ตลาดคริปโตฯ ไทยถึงกับมีชื่อเรียกนักลงทุนจากชาติตะวันตกว่า “แก๊งตีสาม” เพราะเป็นเวลาที่นักลงทุนต่างชาติตื่นมาเทรด ดังนั้นคนอีกฟากโลกตื่นมาเงินเพิ่มหรือเงินหาย ก็ไม่น่าแปลกใจ
ยังไม่ถูกกำกับให้สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย
เป็นอีกหนึ่งข้อเท็จจริงที่ต้องรู้ คริปโตเคอร์เรนซีในหลายประเทศทั่วโลกยังไม่ถูกกำกับให้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้บอกว่าผิดกฎหมายเช่นกัน และมูลค่าของมันยังถือว่าเกิดจากการให้ ‘มูลค่าร่วมกัน’ ของนักลงทุน ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ธนาคารกลางทั่วโลกจะออกมาเตือนถึงตลาดคริปโตฯ เพราะมองว่าเป็นของใหม่
ซึ่งสถานะทางกฎหมาย หมายความว่า การที่กฎหมายยอมรับให้สกุลเงินนั้นสามารถนำมาชำระหนี้ได้อย่างถูกกฎหมายภายในเขตประเทศของตน เช่น เงินไทยบาทในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม การที่ภาคเอกชนไทยหรือในประเทศอื่นให้รับชำระและซื้อของด้วยคริปโตฯ นั้น ถือว่าทำได้หากเป็นการตกลงทำธุรกรรมร่วมกันโดยทั้งสองฝ่าย แต่จะไปบังคับให้ซื้อ-ขาย รับชำระเงินด้วยคริปโตฯ นั้น ทำไม่ได้ เพราะตามกฎหมายไม่สามารถบังคับคู่สัญญาได้นั่นเอง
ข่าวสารและทวิตเตอร์คนดังมีผลต่อการขึ้น-ลงของเหรียญ
ตามปกติของตลาดหุ้น หุ้นหลายตัวถูกบอกว่ามี ‘พื้นฐานดี’ อาจตัดสินได้จาก traditional assets (สินทรัพย์พื้นฐาน) ที่เป็นมูลค่าคอยค้ำหุ้นตัวนั้นไว้ ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตของกิจการ รายได้บริษัท ข่าวการลงทุนใหม่ๆ กระทั่งตัวผู้บริหารขององค์กรนั้นเองๆ ที่มีความน่าเชื่อถือ
แต่ตลาดคริปโตฯ นั้นต่างออกไป เหรียญหลายเหรียญไม่มีพื้นฐาน เหรียญบางเหรียญมีโปรเจกต์ซัพพอร์ตแต่ยังไม่พัฒนาเป็นรูปเป็นร่าง ซึ่งการมีเหรียญออกมาให้เทรดก็เพื่อเติมสภาพคล่องให้กับโปรเจกต์นั้นนั่นเอง
ทุกการเทรดคริปโตฯ เกิดขึ้นบนโลกดิจิทัลและโลกอินเทอร์เน็ตที่ทุกอย่างแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ ‘ข่าวสาร’ ที่แชร์บนโซเชียลมีเดียได้ตลอด 24 ชั่วโมง (เทียบกับตลาดหุ้นข่าวมักจะออกช่วงเวลาเปิด-ปิดขององค์กร) ข่าวสารหรือการคาดการณ์ต่างๆ ในวงการคริปโตฯ จึงสามารถสร้างความสับสน และความไม่แน่นอนได้อย่างรวดเร็ว
ยังไม่รวมถึงคนดังและผู้มีอิทธิพลที่ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียของตัวเองเป็นกระบอกเสียงพูดถึงคริปโตฯ ไม่ว่าจะ โดนัล ทรัมป์, โจ ไบเดน หรือขาประจำอย่าง อีลอน มัสก์ เจ้าของบริษัทเทสลา ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าชื่อดังจากสหรัฐอเมริกา ที่เรียกตัวเองว่า Techno King (ราชาวงการเทคโนโลยี)
และด้วยความที่คริปโตฯ ไม่ได้มีสินทรัพย์พื้นฐานคอยค้ำการเติบโตของเหรียญ จึงไม่แปลกที่ข่าวสารหรือเสียงของคนดังจะสามารถลากมูลค่าของเหรียญขึ้น-ลงได้อย่างชัดเจน เพราะคริปโตฯ ผูกไว้กับความเชื่อมั่น รวมไปถึงความสับสนและความกลัวของนักลงทุนโดยตรง
เบื้องหลังของคริปโตฯ คือเทคโนโลยีบล็อกเชน
บล็อกเชน (blockchain) เรียกว่าเป็นทั้งเสน่ห์และอนาคตของสินทรัพย์ดิจิทัลก็ว่าได้ เพราะผู้พัฒนาบล็อกเชนเองก็เชื่อว่ามันจะเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้การเงินโปร่งใสและกระจายศูนย์ได้ในวันข้างหน้า
บล็อกเชนคือเทคโนโลยีที่ข้อมูลถูกแบ่งเป็นกล่องๆ (block) และร้อยต่อกันเป็นโซ่ (chian) ข้อดีของมันจึงคือการที่ทุกคนในระบบบล็อกเชนสามารถเห็นข้อมูลของการทำธุรกรรมทั้งหมดร่วมกัน จุดเด่นอีกอย่างของบล็อกเชนคือการตัดตัวกลางและใช้คอมพิวเตอร์ในการตรวจสอบธุรกรรม เมื่อธุรกรรมใดเกิดขึ้น มันจะกระจายสำเนาไปยังทุกคอมพิวเตอร์ในระบบ ดังนั้นตัวธุรกรรมจึงปลอมแปลงแก้ไขได้ยาก
นักลงทุนคริปโตฯ หลายคนเลือกลงทุนก็เพราะเชื่อมั่นในเทคโนโลยีบล็อกเชนนี่แหละ โดยเชื่อว่ามันจะเปลี่ยนโลกการเงินมนุษย์ในอนาคตไปอย่างสิ้นเชิง ไปสู่โลกการเงินที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และมนุษย์ไม่สามารถแก้ไขธุรกรรมเพื่อฉ้อโกงได้
อย่างไรก็ตามแม้จะตรวจสอบได้จริง แต่ไม่นับรวมเรื่องการแฮ็กในระบบ ช่วงนี้ข่าวสารการแฮ็กวงการสินทรัพย์ดิจิทัลมีรายงานให้ได้เห็นเกือบทุกสัปดาห์ เนื่องจากผู้พัฒนาหลายโปรเจกต์ที่เพิ่งเปิดตัวยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับช่องวางของความปลอดภัยในระบบมากนัก นี่เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เป็นความเสี่ยงของวงการนี้—เมื่อทุกอย่างเกิดขึ้นบนโลกไซเบอร์
คริปโตฯ เกิดขึ้นจากแนวคิดประชาธิปไตยทางการเงิน
เรื่องนี้เชื่อมโยงกับข้อด้านบน และเป็นเรื่องที่ขออธิบายต่อมา จากการได้พูดคุยกับเจ้าของแพลตฟอร์มโบรกเกอร์คริปโตเคอร์เรนซีชาวไทยท่านหนึ่ง เขาเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของการถือกำเนิด ‘บิตคอยน์’ (Bitcoin) สกุลเงินดิจิทัลแรกของโลก ที่ปัจจุบันหลายคนเทียบให้มันเป็นทองคำของโลกคริปโตฯ และถูกกำหนดให้มีจำนวนสูงสุดที่ 21 ล้านเหรียญ
บิตคอยน์ถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ.2009 (ปัจจุบันก็ยังไม่มีใครรู้ว่าใครเป็นคนสร้าง) ซึ่งเป็นปีวิกฤติเศรษฐกิจใหญ่ที่อเมริกา และลามไปทั่วโลก รัฐบาลสหรัฐฯ อุ้มเศรษฐกิจด้วยการพิมพ์เงินเพื่อไม่ให้บริษัท องค์กร และธนาคารเจ๊ง แต่คนบางกลุ่มไม่คิดว่าภาษีประชาชนควรนำมาใช้อุ้มสถาบันการเงิน เพราะพวกเขาไม่ตัวการก่อให้เกิดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ จึงเกิดการพัฒนาเหรียญดิจิทัลขึ้นมาเป็นสินทรัพย์ทางเลือก และมีจำนวนจำกัดเพื่อไม่ให้ทางการ (ซึ่งก็คือตัวกลาง) กำกับหรือควบคุมได้ ก่อนจะบอกว่าตัวเหรียญจะเป็นสกุลเงินที่โปร่งใสที่สุดในโลกด้วยเหตุผลที่มันเกิดขึ้นบนเทคโนโลยีบล็อกเชน เป็นเงินที่ทุกคนเข้าถึงได้และรับรู้การเกิดขึ้นของธุรกรรมพร้อมกันทั่วโลก
บางเหรียญมีการผลิตออกมาไม่จำกัด
กระนั้นแม้ไอเดียของคริปโตฯ และบล็อกเชนจะฟังดูล้ำและน่าสนใจ ทว่ามันก็มีเหรียญคริปโตฯ บางเหรียญที่ผลิตออกมาไม่จำกัดเหมือนกัน อย่างเหรียญ Dogecoin ที่โด่งดัง ซึ่งผู้พัฒนาสร้างมันขึ้นมาเพื่อล้อเลียนบิตคอยน์ และเรียกมันว่า fun version ของบิตคอยน์
เส้นทางของ Dogecoin ในระยะก่อนหน้านี้จึงถูกเรียกว่าเหรียญไม่มีมูลค่า หรือถึงขั้นเรียกว่า shitcoin เลยทีเดียว ซึ่งนักวิเคราะห์คริปโตฯ มองว่าการมีขึ้นอย่างไม่จำกัดของมันมีทั้งข้อดีข้อเสีย แน่ล่ะว่าข้อเสียก็คือภาวะฟองสบู่จากการเติมเงินเก็งกำไรไปเรื่อยๆ จนทำให้ผู้พัฒนาเหรียญอื่นออกมาบอกว่า Dogecoin กำลังทำให้คนมองวงการคริปโตฯ ไม่ต่างจากวงการพนัน
ส่วนข้อดีของ Dogecoin เพิ่งถูกพูดถึงไม่นานมานี้จากการที่ อีลอน มัสก์ เจ้าเก่า ผู้ซึ่งออกตัวว่าโปรดปราด Dogecoin มาอย่างยาวนาน ออกมาบอกว่าจะพัฒนาโปรเจกต์ซัพพอร์ตให้ Dogecoin ใช้ได้จริง ทำให้หลายคนมองว่าความไม่จำกัดชองเหรียญจะทำมให้ตัวมันเองแพร่หลายและมีอิทธิพลได้จริง ซึ่งก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าความไม่จำกัดจะสร้างอะไรให้เกิดขึ้นได้บ้าง จะรุ่งหรือร่วง คนจะยังให้มูลค่ามันหรือไม่
ในตลาดมีสิ่งที่เรียกว่า ‘วาฬ’
ในตลาดหุ้นอาจจะมีกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า ‘เจ้า’ ส่วนตลาดคริปโตฯ นั้นมีสิ่งที่เรียกว่า ‘วาฬ’ หรือคนที่ถือคริปโตฯ จำนวนมหาศาลหลักร้อยล้านถึงหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งต้องยอมรับว่า การซื้อ-ขายของกลุ่มวาฬสามารถทำให้มูลค่าตลาดคริปโตฯ ขึ้นหรือลงได้ง่ายๆ
เพราะถ้าเทียบตลาดคริปโตฯ (ที่แม้จะมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกปี) กับตลาดหุ้นทั่วโลก มูลค่าตลาดคริปโตฯ นั้นถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนตลาดหุ้น ดังนั้น ‘วาฬ’ หรือผู้ที่มีทุนมากจึงมีอิทธิพลกับวงการคริปโตฯ ได้ไม่ยาก การปั่นราคาก็ทำได้ง่าย การทุบราคาเกิดขึ้นบ่อยครั้งจากการเทขายของเจ้ามือเหรียญเยอะ
อย่างการที่บิตคอยน์ราคาตกรอบล่าสุดเกือบครึ่งนั้น ก็ต้องยอมรับว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดจากการที่วาฬเทขายเหรียญกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลายคนก็บอกว่ามันเป็นวัฏจักรวงการคริปโตฯ ที่เกิดขึ้นเป็นรอบๆ ไป และมันเคยเกิดขึ้นมาแล้วสองครั้งก่อนหน้านี้ ลองเอาตัวเลขขาลงของบิตคอยน์รอบก่อนๆ มาให้ดูกัน
ในครั้งแรก ราคาสูงสุดของบิตคอยน์เกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2013 ที่ราคา $1,119.80 และลงอย่างหนักในเดือนมกราคม ค.ศ.2015 ทำให้ราคาต่ำสุดที่ $152.40
ครั้งที่สอง ราคาสูงสุดของบิตคอยน์เกิดขึ้นในเดือนธันวาคม ค.ศ.2017 ที่ราคา $19,666 และลงอย่างหนักในเดือนธันวาคม ค.ศ.2018 ทำให้ราคาต่ำสุดที่ $3,122.28
การซื้อ-ขายบนแพลตฟอร์มต่างประเทศยังไม่ได้รับการคุ้มครองจาก กลต. ไทย
นักลงทุนชาวไทยต้องศึกษาข้อนี้ไว้ให้ดี เพราะปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) คุ้มครองนักลงทุนที่เทรดกับแพลตฟอร์มไทยที่ขึ้นทะเบียนกับทาง กลต. ภายใต้ พรก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 เท่านั้น หากนักลงทุนไปลงทุนกับแพลตฟอร์มต่างประเทศแล้วโดนโกงขึ้นมา กลต. ไม่คุ้มครองให้ ซึ่ง กลต. เองเคยเรียกแพลตฟอร์มต่างประเทศว่า black market หรือตลาดมืด
โดย ในประเทศไทย ‘Bitkub’ ถือเป็นแพลตฟอร์มซื้อ-ขายเหรียญที่มูลค่าเยอะที่สุด รองมาคือ ‘Satang Pro’
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนหลายรายมองว่าการเทรดกับแพลตฟอร์มต่างประเทศมีข้อดีบนความเสี่ยงคือ มีจำนวนเหรียญให้เลือกเยอะกว่า ทำให้มีโอกาสเพิ่มขึ้น และมีสภาพคล่องไหลเวียนมากกว่าเพราะคนทำการซื้อ-ขายจากทั่วทุกมุมโลก โดยกระดานที่มูลค่าสูงสุดในโลกคือ ‘Coinbase’ ส่วนกระดานที่มีธุรกรรมเกิดขึ้นเยอะที่สุดในโลกคือ ‘Binance’
ข้อนี้เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่นักลงทุนต้องประเมินความเสี่ยงตัวเองให้ดีเหมือนกันว่าตัวเองรับความเสี่ยงได้มากได้น้อยแค่ไหน
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ คือข้อเท็จจริงที่เราหยิบยกมาเล่าให้ฟังกัน นอกเหนือจากความรู้ ความเข้าใจ การสำรวจตัวเองว่าพร้อมรับมือกับความผันผวนของตลาดได้มากน้อยแค่ไหนก็เป็นอีกตัวแปรสำคัญที่อาจจะต้องนำมาพิจารณา เราเสียได้มากน้อยแค่ไหนกับตลาดที่ต้องยอมรับว่ามีความเสี่ยงสูง
อ้างอิงข้อมูลจาก