ประเทศไทยเพิ่งเปิดตัวอินฟลูเอนเซอร์เสมือน หรือ virtual influencer คนแรก ชื่อว่า ’ไอ’ ไปเมื่อไม่นานมานี้ ไล่เลี่ยกับเกาหลีใต้ ที่เพิ่งเปิดตัว ‘Rozy’ ไปเช่นเดียวกัน
ตัวตนเหล่านี้คือ AI เทคโนโลยีเสมือน ไม่มีชีวิต แต่ยอดติดตามของพวกเขาพวกเธอกลับพุ่งทะยาน นักพัฒนาเองก็สร้างเหล่า virtual influencer มาโลดแล่นบนโซเชียลมีเดียไม่หยุดหย่อน แถมหน้าตาก็คล้ายมนุษย์ขึ้นเรื่อยๆ จนแทบแยกไม่ออก (ในยุคแรกถ้าจำได้อินฟลูเอนเซอร์เสมือนฝั่งญี่ปุ่นจะมาในคาแร็คเตอร์อนิเมะ ซึ่งได้รับความนิยมมากเช่นกัน)
หนึ่งในคำตอบคงเป็น ‘รายได้’ มหาศาล ที่นักพัฒนาจะได้จากการที่เหล่าอินฟลูเอนเซอร์เอไอมีชื่อเสียง มีสปอตไลต์ และรับหน้าที่พรีเซนเตอร์ หรือไปจับมือกับแบรนด์ต่างๆ ไม่ต่างจากอินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นคนจริงๆ
หลาย virtual influencer ที่โด่งดังรับงานจากแบรนด์ระดับโลกเป็นว่าเล่น ทั้งงานแฟชั่น และยังร่วมงานกับองค์กรสิทธิต่างๆ ด้วย แน่นอนมีผู้ติดตามระดับหลักหลายล้าน
Vox วิเคราะห์จุดร่วมความดังของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์เสมือนว่า ตัวตนเหล่านี้มักจะสวยหล่อแบบไร้ที่ติ ขณะเดียวกันแต่ละอินฟลูเอนเซอร์ก็มีคาแร็คเตอร์ที่ยอดเยี่ยม มีแอ็กเคานต์โซเชียลเป็นของตัวเองเหมือนคนจริงๆ และเปิดตัวอย่างลึกลับให้คนตามหาว่าเป็นใคร (ซึ่งทั้งหมดสร้างจากคอมพิวเตอร์) หลังจากนั้นแม้ผู้ติดตามจะรู้ว่าเป็นใคร แต่ที่สำคัญคือ พวกเขาหรือพวกเธอไม่ใช่มนุษย์ ไม่มีวันแก่ ไม่แคร์การบูลลี่ออนไลน์ ไม่มีทางทำพฤติกรรมหักอกแฟนคลับเด็ดขาด
และยิ่งในช่วงโรคระบาดที่จำกัดการไปข้างนอกของมนุษย์ การให้เอไอทำกิจกรรมทางการตลาด ก็ดูจะเป็นเหตุผลอีกข้อที่ฟังดูน่าสนใจและเป็นโอกาสที่ดี
ทั้งหมดทั้งมวลจึงนำมาสู่ไอเดียที่ว่า เหล่าไอดอลเสมือนนี่แหละ จะเป็นอนาคตของวงการโฆษณา อนาคตวงการแฟชั่น และอนาคตของการตลาด
มีใครน่าจับตาบ้าง ไปดูกัน
Lil Miquela (2016)
สัญชาติ : อเมริกา
จุดเด่น : สาวซ่าจากแคลิฟอร์เนีย เป็นไอดอลที่ได้รับความนิยมที่สุดในโลกเสมือน ด้วยไลฟ์สไตล์แบบสาวเมือง สนุกสนาน ช่วงแรกที่มีการเปิดตัว ผู้คนถกเถียงว่าเธออาจจะเป็นคาแร็คเตอร์จากเกม เดอะ ซิมส์ แต่สุดท้ายเธอคืออาวุธสุดยอดทางการตลาดที่ได้รับความนิยมที่สุดในโลก
ผู้สร้าง : Brud Marketing Agency
ผู้ติดตาม : 1.2M คน (Facebook), 3M คน (Instagram)
รายได้: 11M USD/ปี
Instagram : @lilmiquela
Bermuda (2016)
สัญชาติ : อเมริกา
จุดเด่น : สาวเซ็กซี่ อดีตซัพพอร์ตเตอร์ของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่เปลี่ยนจุดยืนทางการเมืองในเวลาต่อมา เป็นคู่แข่งของ Lil Miquela และด้วยจุดยืนทางการเมืองตอนแรกจากผู้สร้าง ทำให้เธอเป็นอินฟลูเอนเซอร์เสมือนที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์หนาหูที่สุดเลยก็ว่าได้
ผู้สร้าง : Cain Intelligence
ผู้ติดตาม : 280K คน (Instagram)
รายได้ : 440K USD/ปี
Instagram : @bermudaisbae
Lu Do Magalu (2009)
สัญชาติ : บราซิล
จุดเด่น : อินฟลูเอนเซอร์เสมือนคนแรกๆ ของโลก ผลงานจากแม็กกาซีน Luisa ที่อาจจะไม่ได้เป็น meta-human เหมือนอินฟลูเอนเซอร์เสมือนยุคใหม่ แต่ก็ได้รับความนิยมไม่น้อย และเป็นตัวทำรายได้ให้กับผู้สร้างได้อย่างมหาศาล ด้วยคอนเทนต์การรีวิวสินค้า unboxing และให้คำแนะนำทิปส์ด้านซอฟต์แวร์ของบริษัทผู้สร้าง
ผู้สร้าง : Magazine Luisa
ผู้ติดตาม : 14M คน (Facebook), 5.5M คน (Instagram)
รายได้ : n/a
Instagram : @magazineluiza
Knox Frost (2021)
สัญชาติ : อเมริกา
จุดเด่น : อินฟลูเอนเซอร์เสมือนผู้ชายจากแอตแลนตา ชอบเล่นเกม อเมริกันฟุตบอล และฮิปฮอป แต่ก็มีบางจังหวะเหมือนวัยรุ่นทั่วไปที่เขารู้สึกว่าตัวเองเข้ากับบางสังคมไม่ได้ เขาเคลมว่าตัวเองเป็น Male Top Virtual Influencer ของโลก โดยเปิดตัวในยุค COVID-19 และได้รับหน้าที่ในการรณรงค์ประเด็นเกี่ยวกับโรคระบาดร่วมกับ WHO
ผู้สร้าง : Influential
ผู้ติดตาม : 700K คน (อินสตราแกรม)
รายได้ : n/a
Instagram : @knoxfrost
Imma (2018)
สัญชาติ : ญี่ปุ่น
จุดเด่น : ชื่อ Imma ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า ‘ปัจจุบัน’ ด้วยทรงผมบ๊อบสีชมพูและสไตล์การแต่งตัว เธอถือเป็นไอดอลเสมือนที่สมบูรณ์แบบและได้รับความนิยมติดหนึ่งในสามของโลก กวาดงานมาแล้วทั้ง Dior, Porsche, Ikea, ฯลฯ
ผู้สร้าง : Modeling Cafe
ผู้ติดตาม : 310K คน (Facebook), 350K คน (Instagram)
รายได้ (คาดการณ์) : 500K USD/ปี
Instagram : @imma.gram
Rozy (2021)
สัญชาติ : เกาหลีใต้
จุดเด่น : สร้างด้วยอุดมคติความงามแบบคนรุ่นมิลเลนเนียลส์และเจน Z ผู้สร้างบอกว่าโรซี่ไม่ได้สวยอย่างสมบูรณ์แบบทุกประการ และไม่เป็นไปตามบิวตี้สแตนดาร์ดของตะวันตก หลังเปิดตัวมีโฆษณาจ่อเข้ากว่าร้อยตัว ซึ่งสิ้นปีนี้เธอน่าจะรับเละราวหนึ่งพันล้านวอน
ผู้สร้าง : Sidus Studio X
ผู้ติดตาม : 1K (Instagram)
รายได้ (คาดการณ์) : 845K USD/ปี (2021)
Instagram : @rozy.gram
Ayayi (2021)
สัญชาติ : จีน
จุดเด่น : meta-human คนแรกของประเทศจีน เป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วในโซเชียลมีเดียจีนจากภาพลักษณ์แฟชั่นนิสต้าสาว หน้าตาสมบูรณ์แบบ เสมือนคนจริงๆ จนแทบแยกไม่ออก (ลองไปไล่ดูรูปได้) โดยปัจจุบันตลาดไอดอลเสมือนจีนก็แข่งขันหนักหน่วงไม่แพ้คนจริง เพราะมูลค่าตลาดพุ่งทะลุพันล้านดอลลาร์ฯ ไปเรียบร้อยแล้ว
ผู้สร้าง : Ranmai Technology
ผู้ติดตาม : 510K คน (Weibo)
รายได้ : n/a
Weibo : AYAYI
Ai Ailynn (2021)
สัญชาติ : ไทย
จุดเด่น : อินฟลูเอนเซอร์เสมือนคนแรกของไทยวัย 21 ปี ชอบดนตรี เต้น การถ่ายภาพ
ผู้สร้าง : SIA Bangkok
ผู้ติดตาม : 3.9K คน (Instagram)
รายได้ : n/a
Instagram : @ai_ailynn
จะเห็นว่านอกจากต่างประเทศแล้ว บ้านเราเองก็กระโดดเข้าหาไปโอกาสใหม่ในวงการ virtual influencer เหมือนกัน เพราะข้อมูลจาก สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ระบุว่าเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าใน ค.ศ. 2020 อยู่ที่ 21,058 ล้านบาท เติบโต 8% และมีการคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ.2021 จะเติบโตที่ 11% มีมูลค่าอยู่ที่ 23,315 ล้านบาท
สัดส่วนช่องทางโซเชียลมีเดียที่เกี่ยวข้องกับอินฟลูเอนเซอร์อยู่ที่ 9% หรือคิดเป็นประมาณ 2,113 ล้านบาท เป็นรองแค่ Facebook และ YouTube
อ้างอิงข้อมูลจาก