คดีแพรวา กลับมาอยู่ในความสนใจของผู้คนอีกครั้ง จนแฮชแท็ก #แพรวา9ศพ กลายเป็นเทรนดิ้ง หลังผ่านมา 9 ปี แล้วผู้สูญเสียรู้สึกว่ายังไม่ได้รับการชดเชยอย่างเพียงพอ
The MATTER เลยอยากพาทุกคนย้อนกลับไปทบทวนเหตุการณ์ดังกล่าวว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง และผลที่ตามมาคืออะไร มีใครบ้างที่ชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล
เกิดอะไรในคืนนั้น
ราว 21.30 น.ของวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2553
เกิดอุบัติเหตุรถยนต์ฮอนด้า ซีวิค ทะเบียน ฎว 8461 ทะเบียนกรุงเทพมหานคร ผู้ขับคือ ‘แพรวา’ หรือ ‘อรชร’ วิ่งมาบนทางด่วนอุตราภิมุข (หรือ tollway) ขาเข้าดอนเมืองมุ่งหน้าไปดินแดง และชนเข้ากับรถตู้โดยสารสาธารณะ ยี่ห้อโตโยต้า ไฮแอซ ทะเบียน 13-7795 กรุงเทพมหานคร ซึ่งวิ่งเส้นทางระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต-สถานีหมอชิต (สาย ต.118) ที่บรรทุกผู้โดยสารและคนขับ 14 คน บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ติดกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ก่อนทางลงบางเขน
แรงชนทำให้รถตู้เสียหลักหมุนไปชนกับไหล่ทางคอนกรีตด้านซ้าย จนรถพลิกตะแคง ประตูเปิดออก มีผู้โดยสารบางส่วนกระเด็นออกจากรถตกลงมายังถนนวิภาวดีรังสิตที่เบื้องล่าง tollway ถึง 20 เมตร ผู้โดยสารรายหนึ่งติดอยู่บนสะพานลอย
ในคำบรรยายฟ้องต่อศาล เล่าข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ไว้ว่า
- ก่อนเกิดเหตุ รถยนต์ที่แพรวาขับอยู่เลนขวาสุด (จากทั้งหมด 3 เลน) ส่วนรถตู้อยู่เลนกลาง ทั้งคู่แล่นด้วยความเร็วสูง
- จากนั้นแพรวาได้เปลี่ยนจากเลนขวาสุดไปเลนซ้ายสุด
- แต่เมื่อด้านหน้าของรถที่แพรวาขับขนานกับท้ายของรถตู้ กลับเปลี่ยนไปเลนขวากะทันหัน ทำให้หน้ารถชนเข้ากับด้านซ้ายของท้ายรถตู้อย่างแรง
- จนรถตู้เสียหลักหมุนไปครูดกับคอนกรีตด้านซ้าย ก่อนชนกับเสาไฟฟ้าและเสาป้ายบอกทาง ทำให้ประตูเปิดออกและผู้โดยสารบางส่วนกระเด็นออกจากรถตู้
- ส่วนรถของแพรวากระเด็นไปชนคอนกรีตด้านขวาและหมุนกลับไปชนรถตู้อีกครั้ง ก่อนไถลไปอยู่ในเลนซ้ายมือสุด ห่างจากจุดเกิดเหตุ 50 เมตร
รายชื่อผู้เสียชีวิต
ผลจากอุบัติเหตุดังกล่าว ทำให้มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุรวมกัน 8 คน (คนขับรถตู้และผู้โดยสารอีก 7 ราย) บาดเจ็บ 5 ราย และเสียชีวิตในสามวันถัดมาอีก 1 ราย ส่วนแพรวา ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย
รวมผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุครั้งนั้นมีทั้งหมด 9 คน ประกอบด้วย
- นฤมล ปิตตาทะนัง (อายุ 38 ปี) คนขับรถตู้
- ภิญโญ จินันทุยา (อายุ 34 ปี) อาจารย์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ดร.ศาสตรา เช้าเที่ยง (อายุ 33 ปี) นักวิจัย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
- อุกฤษณ์ รัตนโฉมศรี (อายุ 30 ปี) ผู้ช่วยนักวิจัย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
- ตรอง สุดธนกิจ (อายุ 24 ปี) บัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- เกียรติมันต์ รอดอารีย์ (อายุ 23 ปี) นักศึกษา ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ
- ปรัชญา คันธา (อายุ 23 ปี) นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- สุดาวดี นิลวรรณ (อายุ 20 ปี) นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- จันจิรา ซิมกระโทก (อายุ 22 ปี) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ *เสียชีวิตภายหลัง
อายุของแพรวา
ในคำพิพากษาของศาลฎีการะบุว่า ขณะเกิดเหตุแพรวามีอายุเพียง 16 ปี 6 เดือน (แปลว่า เธอเกิดกลางปี 2537) ยังถือเป็น ‘ผู้เยาว์’ อายุไม่ถึงเกณฑ์ 18 ปีที่จะสามารถมีใบขับขี่ได้
ผลจากการที่ขณะเกิดเหตุ แพรวายังเป็นผู้เยาว์ ทำให้พ่อแม่ของเธอ ถูกฟ้องร้องร่วมในบางคดี (ขณะที่สื่อมวลชนบางแห่งจำเป็นต้องปกปิดชื่อจริงหันไปใช้นามสมมุติ เช่น นางสาวเอ สาวซีวิค ในการรายงานข่าว เนื่องจากข้อจำกัดทางกฎหมาย)
รถที่ไปชน เป็นของใคร
รถยนต์คันที่แพรวานำมาขับจนเกิดอุบัติเหตุ ยืมมาจาก สุพิรัฐ จ้าววัฒนา ที่ขณะนั้นอายุ 31 ปี ซึ่งรู้จักสนิทสนมกับแพรวา เคยไปบ้านของฝ่ายหญิงเป็นประจำสัปดาห์ละ 2 ครั้ง และเคยเจอกับพ่อแม่ของแพรวาด้วย
ในคำพิพากษาของศาลฎีกา ในคดีแพ่ง ให้ข้อมูลว่า วันเกิดเหตุสุพิรัฐขับรถพาแพรวาไปที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว ระหว่างลงไปหยิบของที่กระโปรงหลัง แพรวาก็เปลี่ยนมานั่งที่คนขับแล้วขับออกไปทันทีโดยบอกว่า “ขอยืมรถ” โดยไม่ได้บอกว่าจะขับไปที่ใด ส่วนสุพิรัฐก็รีบไปหาเพื่อนที่นัดไว้ที่ร้านกาแฟแล้วนั่งรถไฟฟ้าต่อไปย่านอโศก ก่อนจะกลับมายังห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว เวลาประมาณ 22.00 น. และรู้ว่าเกิดเหตุเฉี่ยวชนจากแพรวา
คดีความที่ตามมา
คดีอาญา – สิ้นสุดแล้ว
บทลงโทษ: รอการลงโทษ 4 ปี / รายงานตัวทุก 3 เดือน / บริการสังคม 48 ชั่วโมงทุกปี / ห้ามขับรถยนต์จนกว่าจะอายุ 25 ปี
หลังเกิดเหตุมีการยื่นฟ้องแพรวาต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ศาลชั้นต้นตัดสินให้จำคุกแพรวาในความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและทำให้ทรัพย์สินเสียหาย เป็นเวลา 3 ปี แต่เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์ลดโทษลง 1/3 เหลือจำคุกเป็นเวลา 2 ปี และเป็นความผิดครั้งแรก ประกอบการรู้สำนึกในการกระทำผิด เปลี่ยนเป็นรอการลงโทษ 3 ปี กำหนดเงื่อนไขให้รายงานตัวทุกๆ 3 เดือน ให้ทำงานบริการสังคมดูแลผู้ป่วยจากอุบัติเหตุเป็นเวลา 48 ชั่วโมง ภายใน 2 ปี และห้ามขับรถยนต์จนกว่าจะมีอายุครบ 25 ปีบริบูรณ์ (หรือกลางปีพ.ศ. 2562 นี่เอง)
ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแก้ ให้รอลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 4 ปี กับให้ทำงานบริการสังคมดูแลผู้ป่วยจากอุบัติเหตุปีละ 48 ชั่วโมง ส่วนโทษอื่นให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ทั้งนี้ ฝ่ายแพรวาได้ยื่นฎีกาด้วย แต่ศาลไม่รับ ทำให้คดีอาญาถึงที่สุดแล้ว
คดีความที่ตามมา
คดีแพ่ง – สิ้นสุดแล้ว
ศาลสั่งให้แพรวา พ่อแม่ และเจ้าของรถ ชดใช้ค่าสินไหมแก่ผู้เสียหายและญาติ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 25,261,164 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปีนับแต่วันที่ทำการละเมิด
ทั้งนี้ ผู้เสียหายและญาติฟ้องต่อศาลแพ่งเรียกค่าสินไหม รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 113,077,510 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ศาลชั้นต้นให้ชดใช้ 26,061,137 บาท ศาลอุทธรณ์แก้เป็น 21,626,925 บาท โดยปรับลดค่าเสียหายต่อรายลงเฉลี่ย 20% เพราะจำเลยสู้ว่า คนขับรถตู้มีส่วนทำให้เกิดอุบัติเหตุด้วย แต่ศาลฎีกาตีตกคำแก้ต่างดังกล่าว และปรับเพิ่มเป็น 25,261,164 บาท
ความเปลี่ยนแปลงหลังเกิดเหตุ: มาตรการความปลอดภัย
ผู้เสียชีวิตบาดส่วนเกิดจากการกระเด็นออกนอกตัวรถตู้ ทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกประกาศ ให้รถตู้โดยสารที่ออกจากมหาวิทยาลัยทุกคน จะต้องบังคับให้ผู้โดยสารคาดเข็มขัดนิรภัย พร้อมกับห้ามคนขับที่มีสภาพไม่พร้อม เช่น เมาค้าง อ่อนเพลีย หรืออดนอน มาขับเด็ดขาด โดยมีการให้หมายเลขโทรศัพท์ผู้เกี่ยวข้องสำหรับร้องเรียนด้วย
ขณะที่กรมการขนส่งทางบก ประกาศว่าจะออกกฎบังคับให้ผู้โดยสารรถตู้สาธารณะทุกคนต้องคาดเข็มขัดนิรภัย
ความเปลี่ยนแปลงหลังเกิดเหตุ : ชีวิตของแพรวา
หลายๆ คนยังจำได้ว่า หญิงสาวรายนี้เป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตของคนถึง 9 คนด้วยกัน จึงมีการขุดรูปภาพการใช้ชีวิตปกติออกมาเผยแพร่อยู่เป็นระยะ เช่น เมื่อแพรวาเข้ารับน้องในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง
หรือล่าสุด ก็มีการเปิดเผยว่า เจ้าตัวได้เปลี่ยนชื่อจริงจาก อรชร เป็น บัวบูชา และเปลี่ยนเป็น รวินภิมย์ นอกจากนี้ยังเปลี่ยนนามสกุลของบิดา ไปใช้เป็นของมารดาด้วย
ความเปลี่ยนแปลงหลังเกิดเหตุ : ชีวิตของผู้สูญเสียและญาติ
แม้ศาลฎีกาจะตัดสินคดีแพ่งให้แพรวาและผู้ปกครองต้องชดใช้ค่าสินไหมกับผู้สูญเสียและญาติ รวมเป็นเงิน 25 ล้านบาทเศษ แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครได้รับเงินดังกล่าวเลยแม้แต่รายเดียว เพราะต้องมีขั้นตอนการบังคับคดี
ทั้งนี้ ยังมีความเหนื่อยใจจากผู้สูญเสียและญาติๆ บางราย ที่บอกว่า ฝั่งผู้ก่อเหตุมาเยี่ยมผู้บาดเจ็บและมาปรากฏตัวที่ศาลเพียงครั้งเดียว นอกจากนี้ ยังเห็นความพยายามในการประวิงเวลาให้คดีล่าช้าออกไปจนบางคนรู้สึกหมดแรงที่จะทวงความยุติธรรม
วรัญญู เกตุชู ผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ทวิตเล่าความเจ็บช้ำและลำบากในการสู้คดีนี้ผ่านทวิตเตอร์ @tintinwarunyoo หลายสิบข้อความ “เราเข้าใจเลยว่าเธอไม่ตั้งใจ มันคืออุบัติเหตุ แต่หลังจากนั้นหรือเปล่า สิ่งที่เพื่อนมนุษย์เขาปฏิบัติต่อกัน”
ขณะที่ญาติของผู้เสียชีวิตไปออกไทยรัฐทีวีเล่าถึงความลำบากในการทวงการชดเชยเยียวยาตลอด 9 ปีที่ผ่านมา ศรัล นิลวรรณ พ่อของสุดาวดี นิลวรรณ บอกว่า “ตั้งแต่เกิดเหตุ ผมไม่เคยได้รับโทรศัพท์หรือคำทักทาย คำพูดจากฝ่ายผู้ชนเลย” เช่นเดียวกับ ถวิล เช้าเที่ยง แม่ของ ดร.ศาสตรา เช้าเที่ยง ก็บอกว่า “ทนายเขาพูดเปรยๆ ว่า อยากได้เงินเหรอ ก็สู้กันให้นานไปเลย ส่วนใหญ่ทนายเป็นคนพูด ส่วนจำเลยเขาไปฟังศาลตัดสินแค่หนเดียว” และ “เราอยากได้ลูก เราไม่อยากได้เงินเขา ประเภทยื้อเยอะๆ แบบนี้เอาลูกมาคืนฉันได้ไหมล่ะ”
นี่คือเรื่องน่ารู้ทั้งหมดเกี่ยวกับคดีแพรวา