“The Court should never be influenced by the weather of the day but inevitably they will be influenced by the climate of the era”
“ศาลไม่ได้เปลี่ยนไปตามสภาพอากาศประจำวัน แต่จะถูกปรับเปลี่ยนไปตามภูมิอากาศแห่งยุคสมัย”
คำกล่าวสุดตรึงใจจากพอล ฟรอนด์ (Paul Freund) นักกฎหมายชาวสหรัฐฯ ที่ถูกเอ่ยถึงหลายต่อหลายครั้งในแวดวงนักกฎหมาย เพราะเป็นข้อความที่สะท้อนให้เห็นว่า ‘ศาล’ ไม่ได้ต้องทำเพียงแค่ตัดสินคดีอย่างเที่ยงธรรม แต่ยังต้องปรับเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงของค่านิยม ความเชื่อ และวัฒนธรรมในยุคสมัยใหม่ด้วย
แต่ในช่วงหลายปีมานี้ ‘ตุลาการ’ ในประเทศไทย กลับถูกตั้งคำถามอยู่บ่อยครั้ง ทั้งจากกรณีที่ผู้ถูกฟ้องร้องคดีความมั่นคงต้องถูกขังคุกนานนับเดือน ทั้งที่ยังไม่มีคำตัดสินออกมาว่าพวกเขาทำผิด หรือในกรณีที่ศาลไม่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย อย่างเมื่อครั้งที่มีคำวินิจฉัยว่า การให้สมรสเฉพาะชายหญิง ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงการที่ศาลยอมรับประกาศหรือคำสั่งและรัฐธรรมนูญที่ออกมาจากคณะรัฐประหารด้วย
ด้วยเหตุนี้ ความเชื่อความศรัทธาในองค์กรตุลาการจึงถูกสั่นคลอน
The MATTER ชวนมาฟังความเห็นจาก สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา และอดีตคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถึงมุมมองที่มีต่อตุลาการในยุคปัจจุบัน และความสำคัญของศาลที่มีต่อประชาชน
เพราะหากศาลไร้ซึ่งศรัทธาจากประชาชนแล้ว ก็คงไม่อาจดำรงอยู่ได้
ในขณะที่ศาลถูกตั้งคำถาม และผู้คนอยากให้มีการปฏิรูปศาล อาจารย์คิดว่า มันควรต้องปฏิรูปไหม จำเป็นหรือเปล่า?
ปฏิรูปถึงขั้นที่จะต้องไปเขียนกฎหมายเปลี่ยนแปลงใหม่ อาจารย์คิดว่ายังไม่จำเป็นนัก แต่อาจจะมีบางเรื่องที่ต้องเขียนกฎหมายคุ้มครองผู้พิพากษา อย่างกรณีที่ท่านวินิจฉัยคดีไปแล้วมันเกิดไปกระทบกับผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะผู้มีอำนาจที่ไม่ได้เป็นไปตามประชาธิปไตย ก็ต้องออกกฎหมายมาปกป้องเขา
แต่ถึงไม่ปฏิรูปกฎหมาย ในวงการของตุลาการ ไม่ใช่แค่ผู้พิพากษาศาลยุติธรรม แต่หมายถึงทุกๆ ศาล รวมถึงตำรวจด้วย ท่านต้องมีการปฏิรูปในด้านจิตใจและกระบวนการใหม่ ขณะนี้ท่านมีกระบวนการทำงานที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิม ผู้พิพากษามีการทำงานที่ต้องยึดอยู่บนความศรัทธาของประชาชน ถ้าเมื่อไหร่ประชาชนเกิดวิกฤตศรัทธา ผู้พิพากษาจะทำงานลำบาก หรืออาจจะทำงานไม่ได้เลย
แล้วทีนี้ ทำไมถึงเกิดวิกฤตศรัทธา อาจารย์พูดเสมอว่าท่านต้องแก้ไขตัวท่านด้วยว่าไปทำอะไรให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา หมายถึงในทุกขั้นของกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ตำรวจไปจนถึงผู้พิพากษา
ก่อนหน้านี้ มีกรณีที่วิชิต ลีธรรมชโย ผู้พิพากษาอาวุโส ถูกปลด และคาดกันว่าเป็นเพราะเคยร่วมม็อบราษฎร อาจารย์มองเรื่องนี้ว่าอย่างไร
อาจารย์ยังไม่เห็นคำสั่ง เข้าใจว่าเป็นมติของ สำนักคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เป็นคณะกรรมการซึ่งมีประธานศาลฎีกาเป็นประธาน แล้วก็มีผู้พิพากษาซึ่งถ้าจำไม่ผิด มี 15 คนด้วยกัน มีทั้งจากศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ซึ่งจะดูแลแค่ในเรื่องของดุลพินิจความประพฤติ ในเรื่องของการตัดสินคดีไม่สามารถไปเกี่ยวข้องได้ ก.ต.ไม่มีสิทธิ์จะไปบอกว่า ผู้พิพากษาต้องตัดสินคดีอย่างนี้ๆ ไม่ได้ ต้องดูแลเรื่องความประพฤติและการปฏิบัติของผู้พิพากษาให้อยู่ในกรอบของวินัยและจริยธรรม
ทีนี้ อาจารย์ดูในเรื่องของท่านวิชิต ยังไม่ได้เห็นคำสั่งที่ชัดเจน แต่การจะลงโทษอย่างนี้ ก.ต.จะต้องดูว่า ท่านทำผิดอะไรในทางประมวลจริยธรรมหรือไม่ อาจารย์ก็มาเปิดดูประมวลจริยธรรมของผู้พิพากษา คือท่านไปนั่งชุมนุมอยู่ด้วยใช่ไหม แล้วนี่ก็เป็นม็อบเรียกร้องประชาธิปไตย พอมาดูข้อ 33 ซึ่งระบุว่า ผู้พิพากษาจักต้องสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ เขาไม่ได้ไปทำอะไรที่ล้มล้างระบอบเลย เขาอาจจะเห็นว่าการปกครองตอนนี้มันไม่เป็นประชาธิปไตยโดยตรง มันมีปรวนแปรบางอย่างเกิดขึ้น เขาจึงเรียกร้องให้เป็นประชาธิปไตยโดยตรง เขาก็ไม่ผิดนะ
หรือถ้าไปดูข้อ 34 ระบุว่า ผู้พิพากษาจักต้องไม่เป็นกรรมการ สมาชิก หรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง และจักต้องไม่เข้าเป็นตัวกระทำการ ร่วมกระทำการ สนับสนุนในการโฆษณาหรือชักชวนใดๆ ในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาหรือผู้แทนทางการเมืองอื่นใด ทั้งไม่พึงกระทำการใดๆ อันเป็นการฝักใฝ่พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง นอกจากใช้สิทธิเลือกตั้ง เขาก็ไม่ได้ทำแบบนั้นนะ เขาใช้สิทธิในการชุมนุม ซึ่งเป็นสิทธิเบื้องต้นของประชาชนทั่วไปซึ่งบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 ระบุว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เขามีข้อยกเว้นแค่นี้ ถ้าชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ทุกคนทำได้เป็นสิทธิ์เบื้องต้น เรามีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ เราชุมนุมได้
ทีนี้ ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐจะกระทำได้ไหม ในรัฐธรรมนูญมาตรา 27 วรรค 5 ระบุว่า บุคคลผู้เป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ และพนักงานหรือลูกจ้างขององค์กรของรัฐย่อมมีสิทธิและเสรีภาพเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป เว้นแต่ที่จำกัดไว้ในกฎหมายเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเมือง สมรรถภาพ วินัย หรือจริยธรรม เมื่อกี้อาจารย์บอกแล้วว่า จริยธรรมของผู้พิพากษากลับบอกด้วยซ้ำว่า ต้องปกปักรักษาระบอบประชาธิปไตย เพราะงั้น ท่านวิชิตไม่ผิดอะไรเลย แต่ทั้งนี้ต้องบอกว่า ยังไม่ได้อ่านมติ เพราะถามใครๆ ก็บอกว่า ตัวมติจริงๆ มันยังไม่มีใครเห็น ที่เขาไม่ให้เป็นหรือไม่ให้เลื่อนตำแหน่งนั้น ก็เป็นการพูดต่อๆ กันมา
ขณะเดียวกันก็มีคดีของบุ้ง-ใบปอ ที่ไม่ได้สิทธิประกันตัว ต้องอดอาหารมา 2 เดือน อาจารย์มองว่ายังไงบ้าง
สิทธิการประกันตัว การปล่อยตัวชั่วคราว เป็นสิทธิเบื้องต้นที่ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องได้รับ แล้วศาลก็ต้องถือตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญาฯ) ที่ระบุว่าบุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และหากจะไม่ปล่อยตัวเขาชั่วคราวก็จะต้องเป็นไปตาม ป.วิอาญาฯ ซึ่งข้อสำคัญก็คือ ความหนักเบาของเนื้อหาที่ต้องดูว่า โทษมันรุนแรงไหม แล้วพยานหลักฐานสืบมาแล้วเพียงใด แล้วก็เป็นผู้มีอิทธิพลที่จะไปยุ่งกับพยานหลักฐานของเขาหรือไม่ ที่สืบมาแล้วมีเพียงใด ถ้าปล่อยไปแล้วจะไปกระทำการให้เกิดอันตรายหรือไม่ นี่คือหลักใหญ่สำคัญ
ทีนี้ถามว่าบุ้งและใบปอ เขามีอิทธิพลอะไรที่จะไปทำให้พยานหลักฐานเปลี่ยนแปลงไปไหม เขาไม่ได้เป็นนักการเมืองใหญ่ เขาเป็นเด็กธรรมดาที่แสดงความคิดเห็น ดูแล้วจะไปยุ่งกับพยานหลักฐานก็ไม่ได้ แต่ในเรื่องของข้อหาหนัก อาจารย์จะบอกว่า มาตรา 112โทษหนักจริง เพราะเป็นกฎหมายที่อยู่ในหมวดความมั่นคงของรัฐ เป็นเรื่องเกี่ยวกับสถาบันสูงซึ่งเป็นที่เคารพของคนไทยทุกคน ทำให้โทษมันหนัก และในสมัยก่อนถ้าบุคคลใดถูกกล่าวหาใน ม.112 ศาลจะไม่ให้ประกันตัว
แต่ตลอดเวลาที่อาจารย์เป็นผู้พิพากษามา 36 ปี ไม่เคยเป็นเจ้าของคดี ม.112 ไม่มีการกล่าวหาในข้อหานี้เลย แสดงว่าการกล่าวหาที่อัยการจะส่งฟ้อง หรือตำรวจจะแจ้งข้อกล่าวหา เป็นเรื่องที่เขาต้องตรวจดูอย่างละเอียด คือจะเป็นความผิดหรือไม่ก็ต้องดูว่าเข้าองค์ประกอบไหม แล้วตำรวจก็ต้องดูว่าเขาทำอะไร หากเป็นการกระทำที่หมิ่นมาก เขาจึงจะดำเนินคดี อัยการก็ต้องมาดูอีกทีเพราะเป็นผู้ฟ้องคดี ศาลก็ต้องดูละเอียดเลย เพราะงั้น การที่ศาลจะไม่ให้ประกันตัว ศาลก็ต้องดูก่อน เพราะสิทธิ์ของเขาคือต้องได้รับการประกันตัว ถ้าเราจะไม่ให้เขาประกันตัว ก็ต้องดูข้อกฎหมาย ในกรณีของเยาวชนทั้งหลาย อาจารย์ดูแล้ว ไม่เข้าข่ายกฎหมายที่ไม่ให้ประกันตัวเลย
อาจารย์คุยกับลูกศิษย์หลายคนที่เป็นผู้พิพากษาผู้ใหญ่ เขาบอกว่า ไม่รู้ทำไมเป็นอย่างนั้น แต่ฟังจากผู้พิพากษาศาลชั้นต้นแล้วพบว่า ผู้พิพากษาที่ไม่ให้ประกันตัว ไม่ลงชื่อในคำสั่งศาล เฮ้ย มันทำได้ยังไง ต้องลงชื่อสิ คนสั่งเป็นผู้มีอำนาจ ในเรื่องตัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเป็นเรื่องสำคัญ จะสั่งแล้วไม่ลงชื่อ ไม่ได้ มันลอยไป แล้วถามว่า ใครเป็นคนเขียนคำสั่ง เขาก็บอกว่า รู้สึกจะเป็นกองผู้ช่วย ซึ่งเป็นผู้พิพากษารุ่นเด็กๆ หน่อยที่เขาจะมีหน้าที่ตรวจคำพิพากษา มันก็ชวนตั้งคำถามว่า เอ๊ะ ศาลจะทำอย่างนี้ได้ยังไง มันก็จะไปเข้ากับเรื่องที่ว่า ต้องเปลี่ยนหลักปฏิบัติและแนวคิดของผู้พิพากษาใหม่ คุณทำอย่างนี้ไม่ได้ คุณต้องรับผิดชอบในเรื่องสำคัญ
ที่อาจารย์ไปถามผู้พิพากษาผู้ใหญ่มา เขาก็บอกว่า เขาไม่ใช่ฝ่ายบริหาร เขาไม่รู้ว่ามีการเข้ามาแทรกแซงของฝ่ายอื่นหรือไม่ แต่อาจารย์อยากจะเตือนว่า การกระทำที่ผิดกฎหมายแบบนี้ และผิดหลักที่สายกระบวนการยุติธรรมยึดถือปฏิบัติกันมา ระวังนิดนึง ถ้ายิ่งมันผิดกฎหมาย แล้วท่านบอกว่า ท่านต้องทำเพราะเขามีอำนาจ ถ้าไม่ทำตำแหน่งก็ไม่ได้เลื่อน เงินเดือนก็ไม่ได้ หรือบางทีก็ธำรงวินัยยุ่งกันไปหมด อาจารย์ก็บอกว่า นี่เป็นเรื่องน่าเห็นใจ แต่ต้องระวัง อำนาจนั้นไม่อยู่กับใครนาน ยิ่งอำนาจที่มาโดยวิถีทางที่ไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมาย มันไปเร็ว แล้วเมื่อผู้มีอำนาจสั่งการให้เราทำผิดกฎหมาย แล้วเราทำตาม เมื่อเขาหมดอำนาจเมื่อไหร่ เราก็จะถูกดำเนินคดี เพราะในประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติว่า การกระทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา หากรู้ว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบแล้วยังทำอีก ก็จะถูกดำเนินคดี ดังนั้น ต้องคิดให้ดี
ขอเตือนนายตำรวจทั้งหลายที่เอาน้ำไปฉีดเขา เอากระสุนยางไปยิง ท่านจะอ้างว่ารับคำสั่งมาไม่ได้ ท่านต้องรับผิด ไม่ว่าผู้มีอำนาจจะหมดอำนาจไปแล้วได้รับโทษหรือไม่ ยังไงท่านก็ต้องรับผิด
ถ้าบอกว่า แล้วจะทำยังไง ถ้าเขามีอำนาจแล้วสั่งการ ก็ขอให้คิดอย่างนี้ คนที่ไปเดินขบวนชุมนุมแล้วว่ากล่าวรัฐมนตรี บุคคลเหล่านี้เป็นบุคคลสาธารณะ ย่อมถูกวิจารณ์ได้ แต่ถ้าท่านไปทำตามคำสั่งที่มิชอบ ระวังจะโดนลงโทษ
ยิ่งกว่านั้น คนที่ก่อรัฐประหารก็มีโทษ ในทางกฎหมายเรียกว่ากบฏ ซึ่งมีโทษจำคุกตลอดชีวิตและประหารชีวิต ดังนั้น หากไปเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ท่านก็อาจจะเกี่ยวข้องกับโทษหนักด้วย แม้ว่าโทษจะเบากว่า แต่มันสมควรไหมที่ท่านจะต้องโดนไปด้วย ตำรวจจึงควรต้องศึกษากฎหมายให้ชัดแจ้งด้วย
กลับมาที่เรื่องของบุ้งกับใบปอ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรค 2 ระบุว่า ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ เพราะงั้น ท่านจะไปขังเขานานๆ โดยไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะขังได้ ไปทำกับเขาเหมือนเขามีคำพิพากษาแล้ว ทำไม่ได้เด็ดขาด หรือที่ก่อนหน้านี้ศาลจะอ้างว่า ไม่ปล่อยเพราะเกรงว่า ถ้าปล่อยแล้วจะทำความผิดอีก อาจารย์ก็ให้สัมภาษณ์ไปเยอะแล้วว่า ถ้าทำอย่างนี้ ศาลผิดกฎหมายนะ ท่านพิพากษาแล้วเหรอว่าเขากระทำความผิด ท่านไม่ได้สืบพยาน ไม่ได้อะไรเลย ท่านสั่งแบบนี้ ท่านผิดนะ ผิดวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108 เลยทีเดียว
รัฐธรรมนูญยังระบุอีกว่า การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี แต่เขาก็ไม่ได้หลบหนีอะไร ดังนั้น ท่านก็ไม่มีสิทธิจะกักขังเขา ไม่ใช่แค่บุ้งกับใบปอ แต่ผู้ชุมนุมทุกคน ท่านไม่มีสิทธิ์ที่จะขังเขาเป็นเดือนๆ แล้วให้เขาต้องอดอาหารจนป่วยหนักแบบนี้ หากท่านทำไป แล้วเมื่อไหร่ผู้มีอำนาจหมดอำนาจ ท่านก็จะไปหมดเลยนะ
พอเกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำๆ ก็ส่งผลต่อศรัทธาของประชาชนที่มีต่อศาล อาจารย์มองว่า จะเกิดอะไรขึ้นหากศาลขาดศรัทธาจากประชาชน
การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยมีอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เดิมทีประชาชนที่แสดงความโกรธแค่กับนิติบัญญัติกับบริหาร ไม่ได้เกรงกลัวกับสองฝ่ายนี้ เขายังยกเว้นให้กับฝ่ายตุลาการอยู่ เพราะท่านทำให้เขาเห็นความบริสุทธิ์ยุติธรรม การนั่งพิจารณาคดี ท่านต้องทำโดยประภัสสร คือจิตแจ่มใส สว่างจ้า ไม่อยู่ในอำนาจของใคร และอยู่ในหลักของความยุติธรรม เมื่อนั้นท่านจะไปรอด แต่ถ้าท่านทำให้คนระแวงสงสัย เพราะคนตั้งคำถามกันว่า มีคนจากฝ่ายบริหารเข้ามาแทรกแซงสั่งการหรือเปล่า ท่านจะทำลายระบอบประชาธิปไตยไปทั้งหมดหรือ เหตุใดท่านจึงไม่เหลือสถาบันตุลาการไว้สถาบันนึง แบบนี้มันจะเกิดกลียุคกันใหญ่ เมื่อสถาบันตุลาการไม่ได้เป็นที่พึ่งแล้ว
ไม่เคยมีเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน ไม่เคยมีการที่เด็กเอาโบว์ขาวไปผูกอยู่หน้าศาล เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มีนักวิชาการไปที่สำนักประธานศาลฎีกาเพื่อยื่นเรื่องปล่อยตัวบุ้งกับใบปอ
ท่านจะไม่หันมาดูเลยเชียวหรือ ความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อผู้ทำงานสายกระบวนการยุติธรรมนั้นสำคัญมาก หากเมื่อไหร่ประชาชนหมดศรัทธา ตุลาการจะทำงานไม่ได้ แล้วท่านก็จะล้มไปพร้อมกับฝ่ายนิติบัญญัติและบริหาร ประเทศเราก็จะยุ่งกันใหญ่
อยากให้อธิบายเพิ่มเติมถึงความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับสถาบันตุลาการอีกนิด
แปลว่า หากศาลมีคำสั่งหรือมีคำตัดสินอะไร ประชาชนก็จะลุกฮือไม่ทำตาม เพราะเขาไม่ศรัทธาแล้ว ประชาชนไม่เชื่อว่าที่ท่านสั่งพิพากษาคดีไปจะเป็นธรรม เนื่องด้วยที่ผ่านมาก็ไม่มีหรอกการที่ศาลสั่งไม่ให้ประกันตัวนานจนเขาต้องอดอาหารประท้วง ร่างกายล้มป่วย ไม่เคยมี ถึงได้มีคนมาประท้วง มายืนหน้าศาล มายื่นคำร้องต่อประธานศาลฎีกา อันนี้เป็นพฤติกรรมที่แปลก
ศาลต้องหมุนหัวไปตามสมัยบ้าง ถามว่า หมุนหัวในที่นี้คืออะไร คือศาลเวลาพิพากษาคดีจะยึดแนวบรรทัดฐานศาลฎีกา คดีกบฏ ตั้งแต่ พ.ศ.2496 2505 2523 ยึดเหมือนกันหมดว่า บุคคลที่ทำการปฏิวัติรัฐประหารสำเร็จ หัวหน้าคณะปฏิวัติรัฐประหาร ในคำสั่งตามกฎหมาย ระบุว่าเขาเป็นรัฏฐาธิปัตย์ นอกจากไม่ถูกลงโทษแล้ว ยังให้เขามาปกครองได้
นี่ท่านทำผิดกฎหมายนะ ผิดแนวบรรทัดฐาน แล้วมีประเทศไหนในโลกที่ยึดถือการปฏิวัติรัฐประหารบ้าง ไม่มี ประเทศอื่นเขาคบหาแค่กับประเทศที่มีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น ดังนั้น ท่านต้องเปลี่ยน อาจารย์ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่เปลี่ยน เมื่อปี 2561 ท่านก็ยังยึดแนวเดิมว่ามี พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในรัฐธรรมนูญ ท่านก็พิพากษายกฟ้องไป
อาจารย์ว่า มันต้องเปลี่ยนได้แล้ว นอกจากนี้ ยังมีความเห็นแย้งของท่านผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง ท่านเขียนไว้ดีมากเลย บอกว่า การที่ศาลวางแนวพิพากษา แสดงว่าศาลไม่รักษาระบอบประชาธิปไตย เป็นการรับรองการกระทำของคนที่ฉ้อฉลแล้วกลับได้รับผลดี แล้วคนที่กระทำความผิดในคดีแบบนี้ เป็นคดีอุกฉกรรจ์ด้วย มันต้องได้รับโทษ ไม่ใช่ให้มารับความนับถือว่าคำสั่งของเขาต้องถือเป็นกฎหมาย แบบนี้ไม่ได้
แล้วแนวคำพิพากษาจะเปลี่ยนได้หรือ?
เปลี่ยนได้สิ ตอนที่อาจารย์อยู่ที่ศาลฎีกา เวลาเขาเปลี่ยนแนวคำพิพากษาศาลฎีกา เขาจะเชิญประชุมใหญ่ คือพอพิพากษาศาลฎีกาเขียนคำพิพากษาแล้ว ต้องไปให้กองผู้ช่วยเขาตรวจว่าคำพิพากษานี้ผิดแนวบรรทัดฐานหรือกฎหมายอะไรไหม ถ้าผิดก็จะมีการทักท้วง ถ้าเขาไม่ทักท้วง ก็จะปล่อยไป แต่ถ้ามีการทักท้วงหรือมีใครเขียนคำพิพากษาฉบับนี้ว่า การกระทำนี้ถือเป็นกบฏให้มีการลงโทษ ก็ถือเป็นการกลับแนว พอกลับแนวเขาก็เอาไปเข้าที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาซึ่งถ้าอาจารย์จำไม่ผิดก็เกินกึ่งนึง แล้วเขาจะวิพากษ์วิจารณ์ ถ้ามีความเห็นว่าควรลงโทษ โดยมีเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ศาลก็กลับแนวได้เลย แต่เขาก็ไม่ทำ
อาจารย์เคยคุยกับท่านอดีตประธานศาลฎีกา ท่านพูดว่า มันมีบางสิ่งบางอย่างที่อยู่เหนือนายกรัฐมนตรีขึ้นไป ทำให้ไม่สามารถกลับแนวได้ งั้นจะแก้ยังไง ก็ต้องอาศัยนักวิชาการที่จะออกกฎหมายคุ้มครอง ถ้าศาลฎีกา หรือผู้พิพากษาศาลฎีกากลับแนว ไม่ให้มีใครมาทำลายท่านได้เลย ถ้าอย่างนี้เราจะกลับแนวได้
มีอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ท่านนึง บอกว่า ศาลฎีกานี่แหละคือตัวการใหญ่ที่สนับสนุนให้มีการปฏิวัติรัฐประหารตลอดมา เขาก็พูดถูก เพราะศาลไม่เคยกลับแนวคำตัดสินเรื่องนี้เลย
อาจารย์จะบอกว่า ในคดีกบฏนั้น อะไรที่เคยเป็นมาในอดีต ก็ไม่จำเป็นต้องคงไว้
ใช่ ถ้าตุลาการเปลี่ยนแนว ใครจะกล้าก่อปฏิวัติรัฐประหาร ถ้าก่อเสร็จแล้วจะต้องไปเข้าคุก แถมโทษยังสูงถึงจำคุกตลอดชีวิตด้วย แบบนี้คนก็ไม่กล้าทำหรอก แต่ที่เขากล้าทำรัฐประหารเพราะว่ามันมีแนวบรรทัดฐานศาลฎีการับรองเอาไว้อยู่
หลายคนออกมาเรียกร้องว่า ขอให้ผู้พิพากษายืนหยัดต่อสู้ตามกระบวนการทางกฎหมาย อาจารย์มองว่าอย่างไร
อาจารย์เคยพูดเรื่องกลับแนวบรรทัดฐาน ก็มีอดีตรองประธานศาลฎีกาท่านนึงมาบอกว่า ผู้พิพากษาก็รักชีวิตนะ ถ้าไปทำอะไรที่โดดเดี่ยวโดยไม่มีกฎหมายรับรอง หรือองค์กรใดรับรอง เขาก็ไม่กล้าทำ อดีตประธานศาลฎีกาท่านนึงก็บอกว่า สมมติว่าผมไม่เห็นด้วยกับการปล้นทรัพย์ แล้วผมก็อยากจะช่วยระงับเหตุการณ์นั้น แต่วันนั้นโจรเอาปืนจ่อหัวผมอยู่ ผมจะกล้าได้ยังไง อาจารย์ก็สะอึกเลย
แต่อาจารย์ก็มองว่า ถ้าอาจารย์เป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา อาจารย์จะเขียนคำพิพากษาฉบับนี้ว่า คนที่ลงมือปฏิวัติรัฐประหาร มีความผิดตามมาตรา 113 ต้องโดนโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต แล้วก็ส่งไปกองผู้ช่วย ดูว่ากองผู้ช่วยจะคัดค้านไหม ถ้าเขาคัดค้าน อาจารย์ก็จะไม่แก้ ท่านประธานจะต้องนำคำพิพากษาฉบับนี้เข้าที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา แล้วจะดูว่าเสียงไหนจะคัดค้าน เสียงไหนจะเห็นด้วย อาจารย์เชื่อว่ามันมีทางไปต่อได้ มันเป็นสิ่งที่เราทำตามกฎหมาย
สิ่งที่คนรุ่นใหม่เรียกร้องมีหลายเรื่อง เช่น ประชาธิปไตย อำนาจนิยม รื้อระบบอาวุโส สิ่งเหล่านี้ถูกนำไปคิดต่อในหลักคิดของศาลมากน้อยแค่ไหน
ผู้พิพากษาที่ดีก็มีมากนะ แต่บางทีเขาคานไม่ได้ เขาไม่สามารถจะคานในสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ได้ ซึ่งพอพูดแบบนี้ อาจารย์ก็อยากจะเสริมเรื่องท่านวิชิตหน่อย คือท่านวิชิตไปอยู่ในม็อบที่เรียกร้องประชาธิปไตย แต่อีกท่านหนึ่งที่ได้เป็นประธานศาลฎีกา ไปนั่งเป่านกหวีดกับเขา ไปทำลายระบอบประชาธิปไตย แต่ ก.ต.ก็ยังให้เป็นประธานศาลฎีกา การกระทำแบบนี้ถือเป็นการขัดขวางประชาธิปไตย แถมส่งเสริมให้ทหารออกมาปฏิวัติรัฐประหารอีก แถมคุณสุเทพกับพวกก็โดนพิพากษาว่าเป็นกบฏแล้ว ทำไมเขาถึงได้เป็นประธานศาลฎีกาอีก คนนึงส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยกลับโดนปลด อีกคนทำลายระบอบประชาธิปไตยกลับได้ดี
แปลว่า ที่ผ่านมาก็มีการเอาสิ่งที่คนรุ่นใหม่เรียกร้องไปใช้ในหลักคิดของศาลอยู่บ้าง แต่ก็มีคนที่คานอำนาจอยู่
ใช่ ยังมีคนที่มีอำนาจเหนือกว่าอยู่ ทำให้เขาไม่สามารถไปทัดทานได้
แล้วคิดว่าวัฒนธรรมในองค์กรตุลาการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่ทำให้ศาลยังรักษาระบอบอำนาจนิยม หรือระบอบอาวุโสอยู่ไหม
ระบบอาวุโสน่าจะยังมีอยู่ เพราะเรายึดถือมานาน เพราะตอนที่อาจารย์เป็นข้าราชการกระทรวงเศรษฐการ ก็คิดว่าเราไม่ก้าวหน้าแล้ว ต้องเบนไปเป็นผู้พิพากษา เพราะผู้พิพากษาเขาถือระบอบอาวุโส ไม่ต้องไปวิ่งเต้นหานาย พอเราสอบได้ก็คิดว่า เราตัดสินใจถูก เพราะชีวิตเราก็เป็นไปตามลำดับ
ดังนั้น วัฒนธรรมองค์กร มันก็ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับระบอบนี้อยู่ เรายังเคารพกันอยู่
ถ้าอย่างนั้น ควรปรับอย่างไร เพื่อให้วัฒนธรรมในองค์กรตุลาการเปลี่ยนได้
ท่านทำหน้าที่ไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม ยึดตัวหลักกฎหมายและความอิสระซึ่งรัฐธรรมนูญทุกฉบับรับรองแล้วว่า การพิพากษาคดีเป็นอิสระ ปราศจากอคติ อย่าให้ใครมาขอหรือสั่งอะไรได้ อย่ากลัวผู้มีอำนาจหรือฝ่ายไหนที่มาขอในสิ่งที่ท่านทำไม่ได้ เพราะมันจะทำให้ความเป็นอิสระในการพิพากษาคดีของท่านหายไป เพราะในระบบกฎหมาย มันดีอยู่แล้วว่า แม้แต่ประธานศาลฎีกายังสั่งผู้พิพากษาให้พิพากษาตามความเห็นของประธานไม่ได้นะ ท่านคุมได้แต่เพียงความประพฤติ วินัย แต่จะมาแทรกแซงคำตัดสินไม่ได้