“คืนคําพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน” คำกล่าวทิ้งท้ายในจดหมายของผู้พิพากษาคณากรที่ยิงตัวเองเสียชีวิต เป็นประโยคที่ถูกนำมารีรันซ้ำไปซ้ำมา ตามการชุมนุมเรียกร้องให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย
ยิ่งในช่วงเดือนที่ผ่านมานี้ ข้อเรียกร้องของ ตะวัน—ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และแบม—อรวรรณ ภู่พงษ์ สองนักกิจกรรมที่เรียกร้องให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ยุติการดำเนินคดีกับผู้คิดเห็นต่าง และพรรคการเมืองต้องสนับสนุนนโยบายยกเลิกกฎหมาย ม.112 และ ม.116 โดยทั้งคู่ใช้วิธีอดน้ำ-อาหาร เพื่อเอาชีวิตเป็นเดิมพัน
ไม่เพียงเท่านั้น ก่อนหน้านี้ก็มีหลายกรณีที่สร้างข้อกังขาต่อสาธารณชนว่า ศาลได้ทำหน้าที่อย่างเที่ยงธรรมหรือไม่
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ตุลาการ’ หนึ่งในคานของอำนาจอธิปไตย กำลังถูกประชาชนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก กลายเป็นข้อถกเถียงกันว่า จะทำอย่างไรให้ศาลมีความเป็นอิสระ แต่ก็ไม่ตัดขาดตัวเองออกจากความคิดเห็นของประชาชนเกินไป
ขณะเดียวกัน ภายในองค์กรตุลาการ ก็มีคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ซึ่งมีบทบาทและภารกิจในการวางแผนกำลังคนฝ่ายตุลาการ เช่น บรรจุแต่งตั้ง พัฒนาบุคลากร ควบคุมให้ข้าราชการตุลาการอยู่ในกรอบจริยธรรม และมาตรการในการรักษาวินัย
The MATTER จึงขอเปิดสัดส่วนคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม มาเพื่อให้ดูกันว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สัดส่วนในคณะกรรมการดังกล่าว เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง?
ขอชวนย้อนกลับไป ตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมปี 2543 ที่ปรับให้สัดส่วนของคณะกรรมการศาลยุติธรรม ในปี 2543 แบ่งเป็น
- ประธานศาลฎีกา 1 คน
- ผู้พิพากษาศาลฎีกา 4 คน
- ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ 4 คน
- ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น 4 คน
- ผู้ทรงคุณวุฒิ (โดยมี ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นคนเลือก) 2 คน
จะเห็นได้ว่า ในโมเดลนี้ ตัวแทนของผู้พิพากษาจากแต่ละศาลจะมีจำนวนเท่าๆ กัน นั่นทำให้สัดส่วนของคณะกรรมการที่มาจากศาลชั้นต้น อุทธรณ์ และฎีกา มีเสียงเท่ากัน ขณะที่ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงตุลาการ และมาจากการเลือกโดยคนภายนอกนั้น ก็มีข้อกำหนดว่า ต้องมาจากสภาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งในช่วงเวลานั้น ส.ว.ก็มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน
แต่สัดส่วนนี้ก็ทำให้เกิดคลื่นใต้น้ำในกลุ่มผู้พิพากษาที่คิดว่า ผู้พิพากษาผู้ใหญ่ ควรมีอำนาจในการตรวจสอบผู้พิพากษาศาลชั้นต้นได้ โดยอธึกกิต แสวงสุข หรือใบตองแห้ง คอลัมนิสต์ชื่อดัง กล่าวในประชาไทว่า คลื่นใต้น้ำนี้ มาปรากฏให้เห็นชัดเจนในตอนที่เกิดรัฐประหารเมื่อปี 2549 และในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550
“ผมยังจำได้ ประมาณปี 49 อ.จรัญ ภักดีธนากุล ท่านก็มีบทบาทในตุลาการภิวัตน์ตอนที่ขับไล่ 3 กกต. ท่านอภิปรายเรื่องศาลว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นด้อยลง มันมีการแก้กฎหมายที่มีนัยยะสำคัญในรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ที่เห็นกันก็คือเริ่มจากพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 11 ที่บอกว่าให้อธิบดีทำความเห็นแย้งได้ ให้ตรวจสำนวนด้วย”
“ก็หมายความว่าอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นรวมถึงประธานศาลอุทธรณ์ มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ นั่งพิจารณาแล้วพิพากษาคดีใดๆ ของศาลหรือเมื่อตรวจสำนวนใดๆ แล้วมีอำนาจทำความเห็นแย้งได้ เหมือนกับว่าเป็นเสมือนองค์คณะคนหนึ่งสามารถตรวจสำนวนต่างๆ ได้ โดยเฉพาะในคดีสำคัญ เพราะฉะนั้นการเข้าไปตรวจสำนวนมันก็เกิดขึ้น”
แต่โมเดลนี้ก็ถูกเปลี่ยนไปอีกครั้ง สัดส่วนของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ในปี 2551 โดยแก้ในยุคสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถูกปรับเป็น ดังนี้
- ประธานศาลฎีกา 1 คน
- ผู้พิพากษาศาลฎีกา 6 คน
- ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ 4 คน
- ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น 2 คน
- ผู้ทรงคุณวุฒิ (ส.ว.ที่มาจากเลือกตั้ง+สรรหา เป็นคนเลือก) 2 คน
กลายเป็นว่า ผู้พิพากษาศาลฎีกาได้โควตาจากผู้พิพากษาศาลชั้นต้นไป ทำให้สัดส่วนของคณะกรรมการเปลี่ยนไป ซึ่งหลายคนมองว่า สะท้อนระบบอาวุโสของตุลาการที่ยิ่งเข้มข้นขึ้นในช่วงการเมืองหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2549 ขณะเดียวกัน ผู้ทรงคุณวุฒิ ก็ได้รับเลือกมาจาก ส.ว. แต่คราวนี้ ส.ว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ หากแต่ผสมๆ มากับการสรรหา 73 คน และมาจากการเลือกตั้ง 77 คน
นั่นอาจแปลได้ว่า ความยึดโยงของศาลกับประชาชน เริ่มถอยห่างออกไปมากกว่าสมัยรัฐธรรมนูญปี 2540
จากนั้น เมื่อเกิดการรัฐประหารปี 2557 นำมาสู่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 สัดส่วนของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมในปี 2561 ก็กลายเป็น ดังนี้
- ประธานศาลฎีกา 1 คน
- ผู้พิพากษาศาลฎีกา 6 คน
- ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ 4 คน
- ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น 2 คน
- ผู้ทรงคุณวุฒิ (ผู้พิพากษาศาลยุติธรรม เป็นคนเลือก) 2 คน
สัดส่วนของผู้พิพากษาศาลฎีกากับชั้นต้นนั้นยังคงเดิม แต่ที่เปลี่ยนไปคือ ผู้ทรงคุณวุฒิไม่ได้มาจากการเลือกของ ส.ว.อีกแล้ว (แม้ว่า ส.ว.ในยุคนี้ จะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็ตาม) แต่กลายเป็นว่า ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมจะเป็นคนเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเอง
นั่นเท่ากับว่า คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ไม่ได้มีเสียงจากคนนอกเข้าไปร่วมด้วยเหมือนเมื่อก่อนแล้ว
“รัฐธรรมนูญ 40 ยังให้มี ก.ต. อีก 2 คนที่มาจากคนนอก ไม่ใช่ผู้พิพากษา ไม่ใช่อดีตผู้พิพากษา ให้ สว. เป็นคนเลือกมา 2 คน ซึ่งถือเป็นการยึดโยงกับประชาชนตามหลักการระบอบประชาธิปไตยเพราะอำนาจตุลาการที่ผ่านมาไม่เคยยึดโยงกับประชาชน แล้วก็เป็นการยึดโยง ตรวจสอบ และมีกลไกอีกหลายอย่าง แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 ก็แก้กลับไปให้ผู้พิพากษาเลือกกันเอง กฎหมายเรื่องการถอดถอนผู้พิพากษา ส.ว. ก็ถอดถอนผู้พิพากษาไม่ได้อีกต่อไป เพราะเดิม ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง แต่ชุดนี้เป็น ส.ว. ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาตั้งก็ตัดความยึดโยงกับประชาชนออกไปหมด” อธึกกิตกล่าว
แล้วการยึดโยงกับประชาชนสำคัญขนาดไหน จะบาลานซ์อย่างไรให้ศาลยังมีความเป็นอิสระอยู่? คำถามนี้ ถือเป็นโจทย์ใหญ่ในสังคม เพราะทั้งสองประเด็นล้วนเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งศาลจำเป็นต้องมีความเป็นอิสระ ไม่ถูกแทรกแซงจากใคร เพื่อให้คำตัดสินนั้นชอบธรรม
แต่การยึดโยงกับประชาชนก็สำคัญ เพราะตุลาการเป็นหนึ่งในสามอำนาจอธิปไตย และตามหลักประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยก็ต้องยึดโยงกับประชาชนด้วย
“เราก็จะเห็นว่าอย่างในอเมริกาผู้พิพากษาศาลสูงก็ต้องมาจากการที่ประธานาธิบดีเสนอชื่อและผ่านวุฒิสภา เขาก็เสนอชื่อผู้พิพากษานั่นแหละ แล้วสาธารณชนก็ดูว่าคนนี้มีประวัติความเป็นมาอย่างไร มีความเหมาะสม มีความสะอาด ขุดประวัติหมดเลย คุณเคยพิจารณาคดีอย่างไร ตัดสินอย่างไร มีทัศนะเรื่องประชาธิปไตยอย่างไร เหยียดเพศหรือเปล่า เหยียดผิวหรือเปล่า แล้วถึงจะขึ้นเป็นศาลสูงได้ ผมคิดว่านั่นคือกระบวนการประชาธิปไตย แต่ของเราไม่มี” อธึกกิตกล่าว
แล้วทำไมเหตุการณ์เช่นนี้จึงเกิดขึ้นกับประเทศไทยไม่ได้? เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับ Today ไว้ว่า ภาคการเมืองเองก็ต้องขยับตัวในเรื่องนี้ด้วย แต่ปัจจุบัน ภาคการเมืองของไทยไม่มีกำลังพอจะไปตรวจสอบศาลเลย เนื่องจากผู้คนเองก็ขาดศรัทธากับภาคการเมือง
“ถ้าบอกว่า นักการเมืองจะไปตรวจสอบศาล มันก็ฟังดู … นึกออกไหม เราคิดร้ายไว้ก่อนเลยว่า คุณจะไปทำลายศาลแน่ๆ แต่ผมเห็นว่า ถ้าภาคการเมืองไม่ขยับทุกอย่างมันก็จะยากมาก ถ้าการเมืองเข้มแข็ง และคนเชื่อถือ สมมติคุณจะแก้กฎหมายเปลี่ยนโครงสร้างคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมกลับไปให้สัดส่วนมันเป็นธรรมมากขึ้น หรือเพิ่มคนนอกเข้าไป ก็จะไม่ยากเท่านี้”
อ.เข็มทอง ยังตั้งคำถามอีกว่า ถ้าให้คนนอกมีส่วนร่วมในการเลือกคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ก็ต้องดูว่า จะให้ ส.ว.หรือ ส.ส.เป็นคนเลือก เนื่องจากตอนนี้ ส.ว.เองก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และยังเผชิญกระแสยกเลิก ส.ว.อีกด้วย นอกจากนี้ ภาคการเมืองเองก็สามารถตอบโต้ศาลได้ด้วยวิธีอื่นๆ เช่น อภิปรายถึงงบประมาณ ออกกฎหมายเพื่อขีดขอบเขตอำนาจศาลใหม่ เป็นต้น
ขณะที่ อธึกกิตกล่าวว่า ต่างประเทศเองก็เคยมีการปฏิรูปศาลอยู่เช่นกัน อย่างที่อังกฤษซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นในปี 2548 ซึ่งมีการตรวจสอบภายนอกและพูดถึงการคัดเลือกผู้พิพากษา โดยแต่เดิม อังกฤษให้ประธานสภาขุนนางไปทาบทามกรรมการบัณฑิตแต่ละแห่งว่าทนายความคนไหนมีฝีมือ การประพฤติดีเป็นที่ประจักษ์ ขณะเดียวกัน เนติบัณฑิตยสภาของอังกฤษก็มี 4 แห่ง ไม่ได้มีแห่งเดียว และมีความเป็นอิสระ ต่างจากของไทยที่มีเพียงแห่งเดียว และมีประธานศาลฎีกาเป็นประธาน
“ของอังกฤษมีประธานระดับชาติเป็นองค์กรภายนอกมีสมาชิก 15 คน ประธานเป็นบุคคลทั่วไป ไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 14 คน เพื่อเลือกผู้พิพากษา ศาลไม่ได้คัดเอง แต่กรรมการชุดนี้เป็นคนทำ กลั่นกรองผู้ที่มีคุณสมบัติ มีจดหมายรับรอง มีการตรวจสอบประวัติ เคยทำอะไรผิดบ้าง เคยมีเรื่องร้องเรียนไหม”
“องค์กรที่ 2 เขามีสำนักงานร้องทุกข์ของศาลยุติธรรมเป็นองค์กรอิสระแยกออกมาจากศาลยุติธรรม ทำหน้าที่รับคำร้องเรียนถ้าผู้พิพากษาประพฤติตนไม่เหมาะสม ผิดวินัย ร้องเรียนได้ เป็นคนที่มาตรวจสอบผู้พิพากษา เท่านั้นไม่พอยังมีอีกหน่วยงานหนึ่งที่คอยตรวจสอบทั้ง 2 หน่วยงานนี้อีกทีอันนี้คือระบบของอังกฤษ”
แตกต่างจากประเทศไทยที่เป็นระบบปิด และผู้คนเองก็ไม่กล้าเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับศาลมาเป็นเวลานาน จนขาดความรู้ ความเข้าใจ และกลายเป็นว่าปัญหาของตุลาการในปัจจุบัน
อ้างอิงจาก