เราทุกคนชอบหนังสือ แต่หนังสือก็มีหลายประเภท และการอ่านก็มีหลายแบบ บางคนอ่านเงียบๆ บางคนอ่านออกเสียง บ้างกลับมาชอบอ่านหนังสือเด็กที่เราเคยอ่านตอนเด็กๆ บางครั้งเราก็เจอหนังสือยากๆ
หนังสือมีมนต์ขลังตั้งแต่การได้มา การตัดสินใจหยิบมันขึ้นมาอ่าน ไปจนถึงการนำหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่งกลับมาอ่านซ้ำๆ การอ่านในด้านหนึ่งจึงมีความเป็นศิลปะไม่ต่างกับการเขียน ในหลายวิธีคิดมองว่า ผู้อ่านเองเป็นผู้ที่ร่วมสร้างความหมายผ่านการตีความ และประสบการณ์ร่วมของคนคนนั้นที่มีร่วมกับผู้เขียนและสังคมโดยรอบ
ก่อนที่จะน่าเบื่อไปกว่านี้ การอ่านเป็นกิจกรรมสนุก งานสัปดาห์หนังสือกำลังใกล้เข้ามา เพื่อเป็นการรับมือกับหนังสือจำนวนมาก ไปจนถึงการที่เราอาจจะกลับไปลองอ่านหรือสังเกตการอ่านของตัวเองในการอ่านหนังสือแต่ละเล่ม The MATTER จึงชวนกลับไปอ่านข้อแนะนำสั้นๆ ว่าด้วยการอ่าน และบางข้อความเป็นความคิดที่รายรอบอยู่กับกิจกรรมการอ่าน หนึ่งในกิจกรรมของมนุษย์เราในการก้าวเข้าสู่โลกใบอื่น หรือกระทั่งกลับเข้าไปภายในจิตใจของเราหรือผู้เขียน
แน่นอนว่า ใครกันจะให้คำแนะนำหรือชวนคิดเรื่องการอ่านได้มากกว่านักเขียนชั้นแนวหน้าที่บ้างก็ขึ้นแท่นปรมาจารย์ นักเขียนผู้ซึ่งมักพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเติบโตขึ้นจากการอ่าน บางคนเขียนงานที่อ่านยาก บางคนเป็นนักปรัชญา บ้างก็เป็นบรรณาธิการ ที่สำหรับคนเหล่านี้บางครั้งการอ่านเป็นมากกว่าชีวิตจิตใจหรือการอ่านเพื่อความสนุกสนาน
ในข้อแนะนำว่าด้วยการอ่านของนักอ่านและนักเขียนที่หลากหลายนี้ เราเองจะได้สำรวจความหมายและเทคนิกของการอ่านในมุมต่างๆ ตั้งแต่ข้อแนะนำของ โนม ชอมสกี ในมุมที่ค่อนไปทางวิชาการ ข้อแนะนำว่าด้วยการอ่านงานยากๆ ที่พูดเรื่องความจำเป็นของการเผชิญกับสิ่งที่อาจไม่สนุก การอ่านออกเสียง ไปจนถึงคำนำแนะจากหนังสือว่าด้วยการอ่านหนังสือจากปี ค.ศ.1972 และข้อแนะนำที่เราเข้าใจดีกว่า การนอนนั้นดี แต่บางทีการอ่านอาจจะดีกว่า
“การอ่านไม่ใช่แค่การพลิกหน้ากระดาษ แต่หมายถึงการขบคิดเกี่ยวกับสิ่งนั้นๆ มองหาจุดที่เราอยากกลับไป และคิดว่าจะวางสิ่งที่เราอ่านลงไปในบริบทที่กว้างขึ้นได้อย่างไร มองหาความคิดต่างๆ […] การอ่านคือกิจกรรมทางปัญญาที่กระตุ้นการคิด การตั้งคำถามและจินตนาการ” – โนม ชอมสกี
โนม ชอมสกี เป็นนักคิดและนักวิชาการที่ยังมีชีวิตอยู่ งานของปู่โนมนอกจากปูทางให้กับวงการภาษาศาสตร์สมัยใหม่แล้ว โนม ชอมสกี ยังคงรักษาบทบาทปัญญาชน คือ ยังคงวิพากษ์วิจารณ์และแสดงความเห็นเพื่อทำความเข้าใจสังคมร่วมสมัยอยู่เสมอ แน่นอนการอ่านในมุมมองของโนมจึงสัมพันธ์กับการเป็นกิจกรรมทางปัญญา เน้นการครุ่นคิดทั้งในส่วนตัวบทรวมถึงบริบท และการใช้กิจกรรมการอ่านในการเปิดไปสู่การตั้งคำถาม จินตนาการ และการครุ่นคิดที่จะพาเราไปยังพรมแดนของความรู้ใหม่ๆ
“อย่างน่าประหลาดใจ เราเองไม่สามารถอ่านหนังสือได้ เราทำได้แค่อ่านพวกมันซ้ำ นักอ่านที่ดี นักอ่านตัวยง นักอ่านผู้ขะมักเขม้นและช่างคิดล้วนเป็นนักอ่านซ้ำ” – วลาดีมีร์ นาโบคอฟ
วลาดิมีร์ นาโบคอฟ เจ้าของ Lolita ผลงานร่วมสมัยแสนวาบหวามที่พาเราไปสำรวจความปรารถนาอันล้ำลึกและพรมแดนแห่งศีลธรรม ประเด็นที่นาโบคอฟพูดถึงเป็นทั้งการเล่นคำและกิจกรรมที่น่าคิด พูดถึงการอ่านในฐานะการอ่านซ้ำ (reread) คล้ายๆ กับเวลาที่เราพูดถึงการเขียนในฐานะการเขียนใหม่ (rewrite) ในแง่นี้เราอาจมองกิจกรรมการอ่านสัมพันธ์กับการพินิจพิเคราะห์ที่แม้ว่าจะเป็นประโยคเดิม เราก็อาจจะซึมซับรับความหมายใหม่ด้วยการอ่านซ้ำอีกครั้ง การอ่านซ้ำในที่นี้อาจหมายถึงการหยิบหนังสือเล่มเดิม ไปจนถึงการอ่านบางช่วงตอน บางย่อหน้า หรืออาจหมายถึงการอ่านโดยทั่วไปที่หลายครั้งเราอ่านประโยคหนึ่งๆ แล้วเรากวาดตากลับมาทบทวนและนึกย้อนถึงสิ่งที่ถูกเขียนนั้นซ้ำๆ ในทันที
“อ่าน อ่าน อ่าน อ่านทุกอย่าง—จะงานขยะ งานคลาสสิก งานชั้นดี งานชั้นเลว และดูว่าพวกเขาเขียนมันขึ้นมาอย่างไร เป็นเหมือนกับช่างไม้ที่กำลังฝึกฝนและศึกษางานชั้นครู อ่าน! แล้วคุณจะซึมซับมัน” – วิลเลียม โฟล์กเนอร์
วิลเลียม โฟล์กเนอร์ เป็นปรมาจารย์นักเขียนของวรรณคดีอเมริกันสมัยใหม่จากนวนิยายและเรื่องสั้น ข้อแนะนำของโฟล์กเนอร์นั้นแสนเรียบง่าย คือ การอ่านนั้นอ่านได้ไม่ว่าจะเป็นงานชั้นเลวหรืองานคลาสสิก ในคำแนะนำนี้ของโฟล์กเนอร์อาจจะเน้นไปที่การแนะนำนักเขียนที่อยากจะฝึกฝนฝีมือ การฝึกฝนนั้นคือการสัมผัสกับงานทุกประเภททุกระดับ จนกระทั่งรับรู้ได้ว่าของของตัวเองนั้นดีพอหรือไม่
“อ่านหนังสือที่ดี หนัก และจริงจังบ้าง เพื่อสร้างระเบียบวินัย จัดการตัวเองให้อยู่และรู้จักควบคุมตัวเอง บังคับตัวเองให้ทำสิ่งที่ไม่ชอบเพื่อที่จะอยู่เหนือจิติวิญญาณของลูกเอง” – ดับบลิว. อี. บี. ดูบอยส์
ข้อความข้างต้นมาจากจดหมายถึงลูกสาวของ ดับบลิว. อี. บี. ดูบอยส์ นักคิด นักเขียน นักสังคมศาสตร์อเมริกันผิวดำผู้เคลื่อนไหวเรื่องสิทธิและการศึกษา คนผิวดำคนแรกที่ได้รับปริญญาเอกจากฮาร์วาร์ด ในตอนนั้นคนผิวดำเริ่มเข้าถึงการศึกษาได้แล้ว แต่ยังมีปัญหาเรื่องสิทธิ ข้อเขียนที่พ่อเขียนถึงลูกจึงมีนัยของการให้ฝึกตนและด้านหนึ่งก็เพื่อก้าวผ่านไปสู่การพัฒนา บางส่วนสัมพันธ์กับแนวคิดของศาสนาคริสต์เรื่องความเคร่งครัดและการฝึกตน การอ่านจึงดูจะเป็นช่วงทางสำคัญที่ผู้หญิงจะเข้าถึงการศึกษาและองค์ความรู้ต่างๆ หลังจากนั้น โยลันเดอ ลูกสาวก็กลายเป็นนักการศึกษาและนักเคลื่อนไหวด้วย
“หนังสือทุกเล่มควรอ่านด้วยความเร็วที่ไม่ช้าไปกว่าที่มันควรถูกอ่าน และไม่ควรเร็วเกินกว่าที่เราจะอ่านมันด้วยความพึงพอใจและจับใจความได้ทัน” – มอร์ติเมอร์ เจ. แอ็ดเลอร์
จะมีใครแนะนำการอ่านได้ดีกว่าอาจารย์และนักปรัชญา มอร์ติเมอร์ เจ. แอ็ดเลอร์ เขาเป็นนักปรัชญาและอาจารย์เชี่ยวชาญปรัญชาตะวันตกตั้งแต่ยุคคลาสสิกจนถึงร่วมสมัย และถือว่าเป็นหนึ่งในนักคิดที่โด่งดังจากการเผยแพร่ความคิดสู่มวลชนในฐานะนักเขียน หนึ่งในเนื้องานสำคัญคือการรวบรวมหนังสือตะวันตกชั้นเยี่ยมและก่อตั้งสมาคมหนังสือในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 แน่นอนว่าเมื่อทำเรื่องการอ่านการเขียนแล้ว ตัวเองก็เลยออกแนวทางการอ่านในรูปแบบหนังสือที่ตรงไปตรงมา เป็นคู่มือว่าจะอ่านหนังสือที่ยอดเยี่ยมอย่างไร ในหนังสือนั้นมีข้อแนะที่น่าสนใจเรื่องจังหวะของการอ่านที่ฟังดูเซนนิดหน่อย แต่ก็พอเข้าใจได้ จังหวะของการอ่านของเราคงเหมือนก้าวเดิน ไม่ช้าเกินกว่าเนื้อหาและความจำเป็น และไม่เร็วจนอ่านไม่ทันได้รสและไม่ทันซึมซาบความหมาย
“ข้อเสียของการอ่านออกเสียงดังๆ อยู่ที่ว่าการอ่านนั้นอาจจะใช้เวลานานขึ้น แต่หนังสือที่ถูกอ่านออกเสียงก็อยู่ในความทรงจำของเราอย่างยาวนา” – เบิร์นฮาร์ด ชลิงก์
เบิร์นฮาร์ด ชลิงก์ เป็นนักเขียนชาวเยอรมนีผู้เขียน ‘The Reader’ นวนิยายสำคัญที่ว่าด้วยการอ่าน ประวัติศาสตร์บาดแผลความสัมพันธ์อันลึกซึ้งของผู้คนที่สัมพันธ์กับร่องรอยของสงครามโลกครั้งที่ 2 และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แน่นอนว่าการอ่านในเรื่องดำรงบทบาทสำคัญในความสัมพันธ์ทั้งของตัวละครและต่อประวัติศาสตร์ของตัวเองในฐานะลูกหลานของผู้มีส่วนร่วมในสงครามและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ดูเหมือนว่าข้อความจากนวนิยายจะสัมพันธ์กับทั้งแกนเรื่องและประเด็นของการอ่านและการจดจำได้อย่างประทับใจ การอ่านสัมพันธ์กับการทบทวนและจดจำอีกครั้ง บาดแผลและเรื่องราวในอดีตหลายครั้งส่งผลกับปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในความหมายทั่วไปที่สุด ข้อความนี้ทำให้เราเห็นมิติของการอ่านที่การอ่านออกเสียงก็อาจจะมีคุณสมบัติเฉพาะลงไป
“เรื่องราวสำหรับเด็กๆ ที่อ่านได้แค่เด็กๆ เท่านั้น ไม่ใช่เรื่องเล่าสำหรับเด็กที่ดีเลย” – ซี. เอส. ลิวอิส
ซี.เอส. ลิวอิส เป็นเจ้าพ่อวรรณกรรมสำหรับเด็กร่วมสมัย เจ้าของโลกในตู้เสื้อผ้าและดินแดนแห่งนาร์เนีย หนึ่งในสิ่งที่นักเขียนวรรณกรรมสำหรับเด็กมักจะพูดตรงกัน คือ งานสำหรับเด็กไม่ได้เขียนแค่ให้เด็กๆ อ่าน และการอ่านตามลำดับอายุก็อาจจะไม่ใช่ข้อจำกัดที่พึงปฏิบัติตาม ดังนั้นถ้าเราอ่านข้อคิดเห็นข้างต้น คือ เรื่องเล่าของเด็กๆ ที่ผู้ใหญ่อ่านแล้วไม่สนุก ต้องให้เด็กๆ อ่านเท่านั้นก็ไม่ถือว่าเป็นวรรณกรรมที่ดี(ไม่ว่าจะสำหรับเด็กหรือใครก็ตาม) แปลว่างานเขียน เช่น วรรณกรรมเด็ก นิทาน หรืองานสำหรับเด็กๆ ย่อมมีมิติอันลึกซึ้งที่ผู้ใหญ่เองก็อ่านและสนุกไปกับมันได้ การอ่านงานที่เราเคยอ่านตอนเด็กเมื่อโตขึ้น อาจทำให้เรามองเห็นเนื้อหาหรือย้อนออกมามองเห็นโลกในมิติที่ต่างออกไป
“เราอ่านเพื่อรู้ว่าไม่ได้อยู่อย่างเดียวดาย” – วิลเลียม นิโคลสัน
วิลเลียม นิโคลสัน เป็นนักเขียนนวนิยายแฟนตาซี ผู้กำกับ และนักเขียนบทหนังชาวอังกฤษที่ได้รับเสนอชื่อรางวัลออสการ์สองสมัย ผลงานสำคัญก็เช่น Gladiator หรือ Les Misérables ซึ่งนอกจากออสการ์ก็ยังรับรางวัลสำคัญทั้งทางบทภาพยนตร์ของอีกหลายสำนัก ข้อเขียนข้างต้นเป็นประเด็นน่าคิดเรื่องการอ่าน แง่หนึ่งการอ่านมักเป็นกิจกรรมที่เราทำตามลำพัง แต่กลับกัน การอ่านนั้นกลับทำให้เราไม่รู้สึกว่าเราโดดเดี่ยวหรือเดียวดาย การอ่านพาเราไปพบปะกับเรื่องราวอื่น เสียงของผู้อ่าน และหลายครั้งการไปร่วมประสบพบเจอในโลกของการอ่านทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ได้เผชิญโลกอยู่เพียงลำพัง
“การนอนหลับนั้นดี, เขาบอก, แต่หนังสือนั้นดีกว่า” – จอร์จ อาร์. อาร์. มาร์ติน
ส่งท้ายด้วยเจ้าพ่องานแฟนตาซี เจ้าของโลกของบัลลังก์เหล็ก แดนเหนือ และมารดาของมังกร ข้อความของ จอร์จ อาร์. อาร์. มาร์ติน เป็นปัญหาหรือพฤติกรรมที่คนรักการอ่านมักต้องเผชิญ คือรู้แหละว่าการนอนหลับนั้นสำคัญ แต่บางที หนังสือมันดีเกินกว่าที่เราจะนอน ขอบทต่อไป รู้อีกทีนกข้างนอกหน้าต่างก็ร้องซะแล้ว
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Waragorn Keeranan