เราพูดกันถึงประเทศไทย 4.0 พูดถึงเรื่องการใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับรายได้ แต่กลายเป็นว่ามีความกังวล (หรือถึงขั้นตื่นตระหนก) ในทิศทางตรงกันข้าม ว่าเทคโนโลยี เครื่องจักร และ AI จะมาแย่งงานคน ต่อไปเราอาจจะตกงาน!
เราถูกสะกิดเตือนกันอยู่บ่อยๆ แหละว่า ถ้ายังอยากมีงานทำก็ต้อง ‘อัพสกิล’ ตัวเอง ใช่! นั่นยังเป็นสิ่งที่ควรทำและต้องทำ แต่ในงานเสวนาวิชาการ ‘Job Security and Human Skills in the Age of Automation : ความมั่นคงทางอาชีพและทักษะที่จำเป็นของมนุษย์ในยุคจักรกลอัตโนมัติ’ ที่จัดขึ้นโดยคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีประเด็นน่าสนใจที่มองไปกว้างกว่าตัวบุคคล นั่นก็คือบทบาทของภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน ที่ต้องยื่นมือเข้ามาในระบบแรงงานด้วย นั่นเพราะเทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องแยกขาดจากสังคม
จากการแลกเปลี่ยนในวงสนทนาโต๊ะกลมเมื่อวานนี้ The MATTER เลยขอหยิบเอาประเด็นที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ของจักรกลอัตโนมัติในประเทศไทยและเพื่อนบ้านใน ASEAN แรงกระเพื่อมของงเทคโนโลยีที่มีกับสังคม และที่สำคัญ คือเราต้องเตรียมตัวกันยังไงทั้งในระดับบุคคลและระดับประเทศ สำหรับอนาคตในยุค Age of Automation นี้
ตอนนี้สถานการณ์ของเราเป็นยังไงในยุคจักรกลอัตโนมัติ?
งานเสวนาเริ่มต้นด้วยการบอกเล่าสถานการณ์ของหุ่นยนต์หรือเครื่องจักรกล ที่เข้ามามีบทบาทกับแรงงานของ ASEAN ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงประเทศไทย โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ได้ยกเอาข้อมูลที่น่าสนใจจากงานวิจัย ASEAN in Transformation มาให้ดู
ปรากฏว่าคนไทย 17 ล้านคน หรือ 44% ของแรงงานไทยมีความเสี่ยงสูงในการถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติในอนาคตอันใกล้ จากประเด็นเรื่องค่าแรง ทักษะที่ไม่เพียงพอ หรือลักษณะงานที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ถ้าเทียบใน ASEAN แล้ว แรงงานเวียดนามถือว่ามีความเสี่ยงในการถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติสูงที่สุดถึง 70%
งานวิจัยชิ้นนี้ยังนำเสนอข้อมูลเชิงวิเคราะห์เกี่ยวกับผลกระทบของเทคโนโลยีต่อ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งก็คือยานยนต์, ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม, รับเหมาช่วง (Business process outsourcing) และค้าปลีก
พบว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีความเสี่ยงที่แรงงานมนุษย์จะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีมากที่สุด อย่างการเอา 3D printing เทคโนโลยีการสแกนสัดส่วนร่างกาย หรือการออกแบบโดยใช้คอมพิวเตอร์ (CAD) มาใช้ ก็ทำให้แรงงานคนหายไปจากสายการผลิตหลายคน ส่วนอุตสาหกรรมค้าปลีกของ ASEAN เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ถูกคุกคามโดยเทคโนโลยีน้อยที่สุด แม้ว่าทางทฤษฎี โทรศัพท์มือถือและ E-commerce ดูเหมือนจะเข้ามาแทนที่ร้านค้าปลีกแบบเดิมได้ แต่ก็ยังไม่กว้างขวางและครอบคลุมใน ASEAN
สำหรับประเทศไทย แรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์มีความเสี่ยงสูงที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายงานประกอบชิ้นส่วนและสายงานทักษะต่ำ ผู้ผลิตเริ่มหันไปมองหาแรงงานทักษะสูง มีความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มมากขึ้น
อย่างที่คาดเดากันได้และพูดกันบ่อยๆ ทักษะของแรงงานเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญสำหรับการพัฒนาด้านเทคโยโลยีของ ASEAN ซึ่ง ILO ก็บอกว่าปัญหาด้านแรงงานหลักๆ อยู่ที่การขาดความรู้เฉพาะทาง (Technical Knowledge) ซึ่งส่วนใหญ่จะมีปัญหากับงานด้านการผลิต ส่วนงานบริการจะเน้นเรื่องทักษะในการสื่อสาร นอกจากนั้นก็คือเรื่องของการขาดแคลนทักษะการทำงานเป็นทีม ภาษาต่างประเทศ การคิดอย่างมีระบบ ความคิดที่นำไปสู่นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์
อ่านรายงานฉบับเต็มที่ http://www.ilo.org/public/english/dialogue/actemp/whatwedo/aseanpubs/report2016.htm
เทคโนโลยีไม่ได้แยกขาดจากสังคม และเราก็ไม่ควรอยู่ในสังคมที่ปราศจากรัฐ
“Machines were, it may be said, the weapon employed by the capitalists to quell the revolt of specialized labor.”
– Karl Marx
วิทยากรได้ยกประโยคของนักปรัชญาเศรษฐศาสตร์สายสังคมนิยม Karl Marx ขึ้นมา เพื่ออธิบายว่าจริงๆ แล้วเครื่องจักรไม่ใช่ศัตรูของคนทำงาน แต่ประเด็นอยู่ที่วิธีการผลิตที่รองรับระบบทุนนิยมต่างหาก งานเสวนาจึงชี้ประเด็นไปที่ว่าการนำระบบจักรกลอัตโนมัติมาใช้สนับสนุนกลไกของแรงงาน ไม่ควรมุ่งไปที่ผลผลิต แต่ควรดำเนินควบคู่ไปกับการสร้างงานด้วย เพื่อไม่ให้คนในสังคมมองเทคโนโลยีเป็นศัตรูด้านแรงงานและเกิดปัญหาขึ้น เหมือนอย่างสมัยปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เกิดขบวนการทำลายเครื่องจักร (Luddite Movement) แต่สุดท้ายวิกฤตครั้งนั้น ก็นำไปสู่ขบวนการสังคมนิยมและสหภาพแรงงาน ซึ่งเป็นกระบวนการทางสังคมที่พัฒนาขึ้นมาในภายหลังเพื่อตอบรับปัญหาที่เกิดขึ้น
หรือกรณีของโรงงานทอผ้าไทยเกรียงเมื่อปี 2530 ที่นำเอาเครื่องทอผ้าไร้กระสวยเข้ามาใช้ ทำให้จากที่ต้องใช้หนึ่งคนคุมหนึ่งเครื่อง กลายเป็นคนเดียวคุม 10 เครื่องก็ได้ ทำให้คนงานที่เคยคุมกระสวย 90% ตกงาน และในขณะนั้นก็ไม่มีนโยบายด้านแรงงานสัมพันธ์รองรับ ก็เลยเกิดปัญหาขึ้น ซึ่งวิกฤตครั้งนั้นนำไปสู่การแก้กฎหมายแรงงานกรณีเลิกจ้างเช่นกัน
เพราะฉะนั้น บทเรียนจากการมาแทนที่ด้วยเครื่องจักรหรือระบบอัตโนมัติหลายต่อหลายครั้ง สอนให้โลกและสอนให้เรารู้ว่า การเติบโตของเทคโนโลยีไม่ใช่ปัญหา (และจริงๆ ก็น่าจะเป็นเรื่องดีด้วย) จะเติบโตก็ให้เติบโตไป แต่ต้องมีกระบวนการทางสังคมที่มารองรับการเติบโตนั้นด้วย ถ้าคนงานมีผลพลอยได้จากการเติบโตของเทคโนโลยี มีอำนาจต่อรอง หรือสามารถขอแบ่งปันผลผลิตในอัตราที่เป็นธรรม ก็จะทำให้การต่อต้านเทคโนโลยีลดลง คลายความกังวลว่าเครื่องจักรจะมาแย่งงานลงได้
“เราก็ไม่ควรอยู่ในสังคมที่ปราศจากรัฐ เราต้องสร้างพันธะให้รัฐในการเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาแรงงานด้วย”
เมื่อพูดถึงกระบวนการทางสังคม หลายคนก็หันหน้าไปหารัฐ และวงเสวนานี้ก็สนับสนุนการเรียกหานั้น เพราะ รัฐบาลเองก็เป็นผลผลิตของทุนนิยม และเราก็ไม่ควรอยู่ในสังคมที่ปราศจากรัฐ สิ่งที่เสนอกันในวงเสวนาก็อย่างเช่น ขึ้นค่าชดเชยเพื่อทำให้การเลิกจ้างมีราคาแพงขึ้น กดดันให้โรงงานหรือองค์กรพัฒนาคนที่มีอยู่ แทนที่จะเลิกจ้างเพราะคุณสมบัติไม่ถึง ทางกรมพัฒนาสหภาพแรงงานเอง ก็ต้องทำข้อตกลงที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันกับองค์กรต่างๆ
“ถ้าเทคโนโลยีทำให้คนตกงาน ถึงจะผลิตของออกมาได้ แล้วใครจะซื้อ? มันก็ต้องประสานกันระหว่างการรักษาอำนาจซื้อกับการเพิ่มผลผลิต”
แล้วสังคมต้องทำตัวยังไงในยุคจักรกลอัตโนมัติ
การทดแทนด้วยจักรกลอัตโนมัติเกิดขึ้นแน่ๆ และจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในอนคตอันใกล้ด้วย นี่ไม่ใช้การข่มขู่ให้ตื่นตระหนก แต่เราก็เห็นกันอยู่ว่าเทคโนโลยีพัฒนาเร็วขนาดไหน ประกอบกับโลกทุกวันนี้มีแรงกดดันสูง คู่แข่งทำแล้วก็ต้องทและความเป็น Digital Natives ของคนรุ่นใหม่เองก็นับเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงด้วย
วงเสวนานี้เสนอสองแนวทางในการรักษาความมั่นคงของแรงงานและอาชีพในประเทศไทยไว้ อย่างเช่น
– เราควรเลิกแข่งขันเรื่องค่าแรงที่ถูก เพราะนั่นไม่สามารถใช้เป็นจุดแข็งได้อีกต่อไป ทุกวันนี้ บริษัทใหญ่ๆ ด้านการผลิต เริ่มย้ายจากประเทศกำลังพัฒนาที่มีทรัพยากรแรงงาน ไปยังประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะเครื่องจักรทำงานแทนคนได้ ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าแรงแล้ว เขาก็เลือกย้ายไปอยู่ใกล้ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ เราน่าจะต้องพัฒนาทักษะในการควบคุมเครื่องจักรและฝีมือแทน
– เร่งสร้างบุคลากรในสายอาชีพที่มีความเสี่ยงต่ำในการถูกแทนที่ และเป็นอาชีพที่เป็นที่ต้องการในอนาคตจะเกี่ยวกับอารมณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และการดูแล (Caregiving) หรือพัฒนาทักษะที่น่าจะเป็นประโยชน์กับอาชีพที่อาจเกิดใหม่ อย่างเช่น AI Trainer คนฝึก AI, AI Explainer คนอธิบายกลไกเบื้องหลังการคิดของ AI, หรือ Sustainer คนที่คอยแก้ไขอคติที่เกิดขึ้นกับ AI
– ภาคการศึกษาอาจจะต้องเปลี่ยนเป้าหมายและแนวทางในการสอน จากความรู้ด้านวิชาการ ไปสอนทักษะในการเรียนรู้มากกว่า เพราะในโลกทุกวันนี้ เพียงระยะเวลา 5 ปี ทักษะที่ต้องการก็เปลี่ยนแปลงแล้ว จบออกมาบางทีความรู้ที่เรียนมาก็ล้าสมัยไปแล้ว และเนื่องจากว่าคงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหลักสูตรกันได้รายปี การเปลี่ยนแปลงจากการสร้างคนที่ตอบสนองตลาดแรงงาน ไปสร้างคนที่จะไปสร้างงานต่อหรือคนที่มีทักษะในการเรียนรู้ต่อ (Learnability) จะเป็นประโยชน์มากกว่า
สุดท้ายแล้ว เราต้องทำให้ทุกๆ ความเจริญและการพัฒนาอันเนื่องมาจากเทคโนโลยี ไม่ตกอยู่กับคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ต้องทำให้เห็นการพัฒนาต่อสังคมโดยรวม เพราะคนไม่ได้เป็นปฏิปักษ์กับเทคโนโลยี แต่เป็นปฏิปักษ์กับผลประโยชน์ที่ตกอยู่กับคนกลุ่มเดียวต่างหาก
อ่านเรื่องเกี่ยวกับทักษะในอนาคตและ AI เพิ่มได้ที่
THE FUTURE OF SKILLS : ต้องพัฒนาทักษะอะไร ถ้าอยากมีงานทำในอนาคต
เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว – นับถอยหลังอีกกี่ปีที่ AI จะทำทุกอย่างแทนคนได้