‘ต่อไปในอนาคต AI อาจจะมาแย่งงานคน’ เราได้ยินเรื่องประมาณนี้กันบ่อยๆ ในช่วงนี้ แต่ที่เราอาจจะลืมกังวลไปด้วย คือไม่ใช่เพียงระบบอัตโนมัติหรือ AI เท่านั้น ที่ทำให้อาชีพของเรารอดหรือร่วงในอนาคต
เทรนด์อื่นๆ ของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง อย่างสภาพแวดล้อม การขยายตัวของความเป็นเมือง หรือความผันผวนทางการเมืองก็ล้วนมีผลต่อหน้าที่งานการของเราในอนาคตเหมือนกัน คำถามคือ แล้วเราจะต้องทำยังไง หากเรายังอยากมีงานทำในอีก 10 หรือ 20 ปีข้างหน้า?
มีคู่มือเตรียมตัวสำหรับอนาคตมาฝาก! มีรายงานฉบับหนึ่งชื่อว่า ‘The Future of Skills : Employment in 2030’ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง Nesta องค์กรเพื่อสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมของสหราชอาณาจักร กับ Oxford Martin School ของสหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาปัจจัยการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของอาชีพในอนาคต ว่าจะมีอาชีพไหนเพิ่มขึ้นลดลงยังไง หรือมีอาชีพใหม่ๆ อะไรเกิดขึ้นบ้าง รวมไปถึงว่าเราควรจะพัฒนาทักษะอะไร ถ้าหากว่ายังอยากมีงานทำในอนาคต โดยไม่ได้ดูแค่การแทนที่ของระบบอัตโนมัติเท่านั้น แต่ยังดูเทรนด์ของโลกอื่นๆ ประกอบด้วย
ก็อย่างที่คาดการณ์ไว้และเดากันได้แหละว่า อาชีพที่ดูแล้วมีความน่าจะร่วง คืองานที่ถูกยึดครองด้วยระบบอัตโนมัติได้ เป็นงานประเภทที่มีลักษณะงานซ้ำๆ ทำอะไรเป็นแพทเทิร์น อย่างฝั่งสหรัฐฯ ก็บอกว่าช่างไม้ ช่างพิมพ์ ช่างเหล็ก เสมียน อาชีพขายปลีก หรืออาชีพบริการลูกค้าในอุตสาหกรรมบันเทิงนี่ไม่น่าจะรอด หรือฝั่งสหราชอาณาจักรก็บอกว่าอาชีพด้านการผลิตอุตสาหกรรมนั้นก็จะหดตัวลง
ส่วนอาชีพที่น่าจะอยู่รอดและรุ่ง ก็จะเป็นงานที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์หรือทักษะทางสังคม อย่างในตลาดแรงงานในสหรัฐฯ ก็ประเมินว่าอาชีพด้านการศึกษาและอาชีพดูแล (Personal Care) Sales Engineer และนายหน้าค้าอสังหาริมทรัพย์ น่าจะมีอนาคตที่สดใส ส่วนฝั่งของสหราชอาณาจักรก็คล้ายๆ กัน อาชีพด้านสาธารณสุขและการศึกษา อาชีพที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ การออกแบบ ดิจิทัล และวิศวกรรม ก็ยังมีแนวโน้มจะไปได้ดี แถมยังคาดว่าในอนาคตจะมีอาชีพใหม่ เช่น นักให้คำปรึกษาผู้มีอายุเกิน 100 ปี (100 Year Counselor) หรือนักออกแบบประสบการณ์ (Immersive Experience Designer) เกิดขึ้นด้วย
สิ่งที่น่าสนใจและเราน่าจะเอาไปปรับใช้กันได้จากรายงานฉบับนี้ ก็คือทักษะที่ประเมินมาแล้วว่าจำเป็น และเป็นทักษะที่เราควรจะพัฒนา หากว่าเรายังอยากมีงานทำในอนาคต โดย 4 ทักษะที่ทั้งฝั่งสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรเห็นพ้องต้องกันคือ
1) กลยุทธ์การเรียนรู้ (Learning strategies) สามารถเอาข้อมูลใหม่ๆ มาใช้ในการตัดสินใจและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต
2) ความมีเอกลักษณ์ (Originality) เสนอไอเดียใหม่ๆ ที่แตกต่างจากที่มีอยู่ได้ หรือคิดหาวิธีการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์และเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยมีมา
3) การคิดไอเดียใหม่ๆ (Fluency of ideas) อันนี้จะเน้นเรื่องของปริมาณของไอเดียใหม่ๆ ที่สามารถนำเสนอได้ อาจจะไม่จำเป็นต้องถูกต้องหรือใช้ได้เสมอไป
4) การเรียนรู้แบบ Active Learning คือรู้จักเลือกใช้วิธีการเรียนการสอนที่เหมาะกับสถานการณ์ และมีส่วนร่วมในการเรียนรู้/การสอนสิ่งใหม่ๆ
นอกจากนี้ ทักษะอื่นๆ ที่จำเป็นอันดับต้นๆ ก็อย่างเช่น ทักษะด้านจิตวิทยา, การอธิบาย (Instructing), การอ่านสังคม (Social Perceptiveness), สังคมศาสตร์และมานุษยวิทยา, การศึกษาและการฝึกฝน, การประสานงาน, การตัดสินใจ, การประเมินและวิเคราะห์ระบบ, การใช้เหตุผล, การแก้ปัญหาที่ซับซ้อน และการเฝ้าสังเกตการณ์ (Monitoring)
ซึ่งถ้ามองภาพรวมแล้ว ทักษะเหล่านี้เป็นทักษะกว้างๆ เป็น Soft Skills ที่เอาไปปรับใช้ได้กับหลายๆ อย่าง หรือ Metaskill ที่ต่อยอดไปเพื่อเรียนรู้ทักษะอื่นๆ ได้ ที่สำคัญน่าจะตอบโจทย์กับโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่แทบจะตลอดเวลามากกว่า
‘ต่อไปในอนาคต AI อาจจะมาแย่งงานคน’ เราน่าจะยังคงได้ยินได้เห็นเรื่องราวประมาณนี้ต่อไป แต่อยู่ที่เราแล้วล่ะว่า เราจะพัฒนาทักษะตัวเองตามที่ ‘คู่มือเตรียมตัวสำหรับอนาคต’ แนะนำไว้หรือไม่
ขนาดซอฟต์แวร์ยังต้องอัพเดทเลย เราก็น่าจะต้องอัพเกรดตัวเองให้ทันความเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน ถ้ายังอยากมีงานทำหรืออยู่รอดต่อไปในอนาคต
อ้างอิงจาก
nesta.org.uk
nesta.org.uk/six-jobs-for-2030
futureskills.pearson.com