สีอะไรจะมาในปีหน้า? ลูกค้ามีแนวโน้มว่าจะชอบอะไรแบบไหน? โลกทั้งใบกำลังชอบหรือไม่ชอบอะไร?
ทุกๆ ปี ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (Thailand Creative & Design Center : TCDC) จะทำการศึกษาแนวคิดและหลักการเหตุผลของเทรนด์ต่างๆ ทั่วโลก แล้วนำมาวิเคราะห์สรุปเพื่ออัพเดตให้คนไทยรู้ว่าโลกกำลังสนใจอะไรหรือมุ่งหน้าไปทางไหน และนี่คือสรุปเรื่องที่คุณควรรู้จากรายงาน ‘เจาะเทรนด์โลก 2020’ โดย TCDC
เทรนด์สีที่น่าจับตามองสำหรับปี ค.ศ. 2020
- สีน้ำเงิน (Surf the Web) ซึ่งเป็นตัวแทนของพื้นที่เปิด อิสรภาพ ความลุ่มลึก จินตนาการ และการแสดงออก มีความเสถียรของเม็ดสี บริษัทต่างๆ ให้ความสนใจในคุณสมบัติเรื่องพลังงาน เพราะสามารถสะท้อนคลื่นอัลตร้าไวโอเล็ตของดวงอาทิตย์ และช่วยให้อาคารเย็นสบายได้
- กลุ่มสีชมพูอมม่วง (Beetroot Purple) สะท้อนคุณค่าของความอุดมด้วยธรรมชาติ เกิดจากบริษัทในสหรัฐฯ ที่พัฒนาสี 4 สีที่ผลิตจาก Superfood ซึ่งบางส่วนได้ถูกพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและลิปสติก
- สีน้ำตาลทอง (Golden Brown) เป็นสีที่สะท้อนความหมายการเชื่อมโยงกับอดีตและมรดกของพื้นที่ ได้รับความนิยมสำหรับงานแสดงศิลปะที่เกี่ยวเนื่องกับพื้นที่
- กลุ่มสีดินเผา (Terracotta) มักถูกใช้ในกลุ่มเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน มีแนวโน้มจะเข้ามาแทนที่กลุ่มสีเทาซึ่งกำลังอิ่มตัวในตลาด โดยกลุ่มสีดินเผาที่ช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้กับบ้าน จะกลายเป็นตัวเลือกใหม่ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น
- กลุ่มสีเขียว คืออีกกลุ่มสีที่เรียกได้ว่าทรงพลังในปี ค.ศ. 2020 เพราะสีที่เคยใช้อ้างอิงถึงธรรมชาติ กำลังเป็นตัวแทนใหม่ของความแตกต่างและผิดธรรมชาติ เหมือนกับในศิลปะยุคกลางที่มักใช้เป็นสัญลักษณ์เชื่อมโยงกับยาพิษ อสูรกาย หรือปีศาจ
- สีเขียวพาสเทล (Neo Mint) จะยึดครองพื้นที่ในโลกแฟชั่นและการตกแต่งในปี ค.ศ. 2020 เป็นสีโทนสดชื่น เป็นกลางทางเพศ และให้ความรู้สึกลงตัวจากการผสมระหว่างเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และธรรมชาติไว้ด้วยกัน
เทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคในปี 2020
- The Glocalist : สังคม การเมือง และเศรษฐกิจท้องถิ่น จะมีความสำคัญต่อผู้คนไม่น้อยกว่าเรื่องของทวีปหรือโลก เพราะผู้คนรู้สึกว่ารัฐชาติและรัฐบาลนั้นไม่มีความน่าเชื่อถือหรือมีอำนาจที่เหมาะสมอีกต่อไป และพวกเขามีความสามารถที่จะยกระดับเรื่องของท้องถิ่นสู่ความเป็นสากลได้
- The Hybrid Humanist : ผู้เชี่ยวชาญหลายรายเชื่อว่าในปี ค.ศ. 2020 นั้นจะเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า Hybrid Intelligence หรือยุคของการผสมผสานระหว่าง Human Intelligence และ Artificial Intelligence เพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนให้กับอุตสาหกรรม ผู้บริโภคก็จะยินดีเปิดใจรับนวัตกรรมใหม่นี้ (เช่น การเชื่อมสมองเข้ากับอินเทอร์เน็ตให้กลายเป็น IoT แบบเรียลไทม์) แต่ก็คาดหวังต่อบริษัทด้านเทคโนโลยีให้มีจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อการดำเนินงานมากขึ้น
- The New Skecptical : ผู้บริโภคลดความวางใจและเชื่อใจจากโฆษณา โดยใส่ใจคำแนะนำของเพื่อน รีวิวออนไลน์ บล็อกเกอร์และอินฟลูเอนเซอร์มากกว่า การเข้าถึงข้อมูลได้ครบถ้วนและทันทีที่เกิดความสงสัยจึงเป็นกุญแจสำคัญ รวมถึงการมีส่วนในการแสดงออกและแลกเปลี่ยนความเห็นด้วย
- The Boundaryless : ผู้บริโภคจะไม่ยึดติดกับกรอบความคิดหรือธรรมเนียมปฏิบัติแบบเดิม ทั้งในแง่อายุ เพศ หรือเขตแดนทางภูมิศาสตร์ ดังนั้น คำหรือแนวคิดที่ใช้ในแคมเปญจึงต้องเปิดกว้างและครอบคลุมมากขึ้น
เทรนด์อื่นๆ ที่น่าสนใจของโลกในปี ค.ศ. 2020
- บ้านและคอมมูนิตี้เป็นสิ่งสำคัญ : การเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนต่างๆ ของโลก ทำให้คนส่วนใหญ่ให้คุณค่ากับบ้านและชีวิตรอบบ้าน ประกอบกับความสะดวกสบายจากโลกออนไลน์ ทำให้ไม่ค่อยเหลือเหตุผลให้ต้องออกจากบ้าน โมเดลการพักอาศัยรูปแบบใหม่อย่าง Co-operative Housing หรือ Shared-Living จึงเพิ่มขึ้น เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยมีส่วนร่วมในชุมชนและใช้ชีวิตอยู่ในโครงการได้อย่างมีความสุข
- โลกต้องการความเอื้ออารีต่อกัน : การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการทำงานในยุค GigEconomy เราจึงเห็นบล็อกและหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ รวมถึงเรื่องการพัฒนาจิตใจจนชินตา พร้อมคำอธิบายว่า นั่นคือสิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นมนุษย์ ที่สามารถบรรเทาความเจ็บปวดแห่งยุคสมัยได้
- ผู้บริโภคกำหนดทิศทางของแบรนด์ : โครงการ CSR ไม่สามารถซื้อใจผู้บริโภคได้อีกต่อไป คุณค่าของแบรนด์อยู่ที่ความเชื่อและประสบการณ์ที่ผู้บริโภคสั่งสมผ่านตัวพวกเขาเองมากกว่า และผู้บริโภคยุคใหม่ก็ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยในการท้าทายแบรนด์ เพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘เศรษฐกิจทางอารมณ์’ (Emotion Economy) คือผู้บริโภคกำหนดทิศทางของแบรนด์ ผ่านความต้องการหรือความคาดหวังของตนเอง แบรนด์ต่างๆ จึงจำเป็นต้องสร้างอารมณ์ร่วม เคารพ และแสดงจุดยืนฝั่งเดียวกับผู้บริโภคให้ได้ โดยเฉพาะเรื่องความหลากหลาย
- DNA Economy : ข้อมูลและเทคโนโลยีด้านชีวภาพและพันธุศาสตร์ สามารถทำให้เราวินิจฉัยและแก้ปัญหาสุขภาพได้ตรงจุดมากขึ้น รวมถึงสามารถออกแบบการรักษาแบบเฉพาะบุคคล (Personalized Medicine) เรื่องของดีเอ็นเอจึงไม่ได้อยู่เพียงในห้องแล็บอีกต่อไป แต่ก้าวออกมาสู่ความสนใจของคนทั้งโลก การพิชิตความเจ็บป่วยด้วยดีเอ็นเอจึงเติบโตขึ้น พร้อมกันกับที่ประเทศต่างๆ ปฏิวัติระบบดูแลสุขภาพ เพื่อเป็นแนวทางการรักษาโรคที่สำคัญอย่างมากในอนาคต
- Local Activism : กลุ่มคนรุ่นใหม่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง เพราะประชาชนทั่วโลกต่างสูญเสียศรัทธาที่มีต่อรัฐบาลหรือองค์กรของประเทศตัวเอง กลุ่มคนเล็กๆ จึงเริ่มต้นแก้ปัญหารอบด้านที่เกิดขึ้นโดยไม่พึ่งพาศูนย์กลาง
- Crowd-based Capitalism : ที่ผ่านมา เศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Eeconomy) เติบโตและเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ในปี ค.ศ. 2020 เราทุกคนจะเข้าสู่ระบบทุนนิยมจากมวลชน (Crowd-based Capitalism) ซึ่งเป็นรูปแบบเศรษฐกิจใหม่ รัฐและองค์กรต่างๆ จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจรูปแบบการทำงานของคนที่เปลี่ยนไป และมองหาโอกาสที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลง
- HI-AI : ปี ค.ศ. 2020 คือจุดเริ่มต้นของการวางระบบปปฏิบัติการ AI ในธุรกิจดิจิทัลทุกประเภท แต่ความเคลือบแคลงใจปัญญาประดิษฐ์เป็นที่มาของการผสานความอัจฉริยะของมนุษย์ (Human Intelligence) กับความฉลาดของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) รวมถึงการป้อน EQ ให้กับระบบปฏิบัติการ เพื่อทำให้เทคโนโลยีมีความเป็นมนุษย์มากที่สุด
- จริยธรรมเทคโนโลยี : การละเมิดสิทธิบนโลกดิจิทัลเกิดขึ้นตลอดเวลา และเริ่มทวีความเสียหายมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะผู้คนต่างยินยอมแลกข้อมูลส่วนตัวเพื่อให้ได้มาซึ่งบริการและความสะดวกสบายในชีวิต การสร้างมาตรฐานใหม่ด้านจริยธรรมเทคโนโลยี (Tech Ethics) จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่งขณะนี้มีหลายประเทศกำหนดเป็นกฎหมายใช้แล้ว รวมถึงได้รับการบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยด้วย
- โภชนาการด้านดิจิทัล (Digital Nutrition) : ปี ค.ศ. 2019 นับเป็นปีที่เป็นที่สุดของสื่อโซเชียลมีเดียในหลายๆ ด้าน ขณะเดียวกัน อาการเสพติดโซเชียลมีเดียและสมาร์ตโฟนก็รุนแรงขึ้นในหลายๆ ประเทศ จนบริษัทด้านเทคโนโลยีหลายบริษัทต้องออกระบบหรือฟังก์ชั่นมาเพื่อแสดงความรับผิดชอบกับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นระบบ Do Not Disturb, Bed Time Mode, หรือแคมเปญ Digital Detox ของแบรนด์ต่างๆ ซึ่งในปีหน้าก็มีแนวโน้มว่าจะมีการ customized ขึ้นเรื่อยๆ
- ยุคหลังลัทธิบริโภคนิยม (Post-consumerism) : ในด้านของสิ่งแวดล้อม ปัญหาสภาพอากาศ ขยะพลาสติก หรือมลพิษด้านต่างๆ ยังคงอยู่ และความยั่งยืนยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนของทุกภาคอุตสาหกรรม กระบวนการผลิตจะเกิดการพลิกผัน สินค้าขั้นสุดท้ายจะถูกนำมาเป็นต้นทุนในการผลิตสินค้าใหม่ ผู้บริโภคจะซื้อสินค้าน้อยลงและลงทุนมากขึ้นกับระบบใหม่ที่ช่วยยกระดับวงจรของผลิตภัณฑ์ แต่ละแบรนด์จึงพยายามมองหาวิธีการปรับปรุงกระบวนการออกแบบและผลิตสินค้า หลายๆ ประเทศก็มีการออกบนโยบายเพื่อขับเคลื่อนเมืองเชิงบวก (Positive City) ที่มุ่งเน้นการทำในสิ่งที่ดีขึ้นต่อโลก ไปพร้อมกันกับการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ถูกนำมาใช้มากขึ้น แม้จะถูกท้าทายจากระบบทุนนิยม
อ่าน ‘เจาะเทรนด์โลก 2020 โดย TCDC’ ฉบับเต็มได้ที่นี่