บ่ายวันก่อนระหว่างนั่งทานข้าวที่โต๊ะอาหาร มือถือของผมวางอยู่บนโต๊ะคว่ำหน้าปิดไว้ แม่ภรรยาพูดถึงเจ้าโฟมกระป๋องที่ฉีดรอยร้าวตามบ้าน แน่นอนวันต่อมา…โฆษณาของเจ้าโฟมกระป๋องก็ตามมาอยู่บนนิวส์ฟีดเฟซบุ๊กของผมทันที
มันอาจจะเป็นเรื่องบังเอิญ, แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรก
นี่น่าจะเป็นทฤษฎีแผนการลับสุดยอดอย่างหนึ่งของเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน ที่บอกว่าสมาร์ทโฟนของเรานั้นอยู่เงียบๆ เพื่อเก็บข้อมูลและดักฟังสิ่งที่เราพูดคุยในชีวิตประจำวัน เกือบทุกคนที่รู้จักต่างมีประสบการณ์แบบเดียวกันกับที่ได้กล่าวไป พูดเรื่องเดินทางท่องเที่ยวไปยุโรปกับแฟน สักพักก็เห็นโฆษณาตั๋วเครื่องบินลดราคาเพื่อเดินทางไปยุโรปทันที แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องที่ชวนตกใจเสียขวัญไม่น้อย คำอธิบายแบบตรงๆ เลยก็คือว่า “เฟซบุ๊กต้องดักฟังกูอยู่แน่นอน” ต้องฟังคีย์เวิร์ดบางอย่างและยิงโฆษณาที่ใช้คำเหล่านั้น (อย่างเช่น ‘ยุโรป’ หรือ ‘โฟมกระป๋อง’) มาให้ผู้ใช้งาน และแน่นอนว่าเฟซบุ๊กก็คงไม่บอกหรอกว่ากำลังทำอยู่
ปัญหาของข้อสันนิษฐานนี้ก็คือว่า นอกจากเคสต่างๆ ที่หลายๆ คนเจอแล้ว ไม่มีใครเลยที่มีหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ได้เลยว่ามันเกิดขึ้นจริงๆ บริษัท Wandera ที่เชี่ยวชาญด้านระบบความปลอดภัยบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ก็เพิ่งโพสต์เกี่ยวกับการทดลองเหล่านี้ ซึ่งก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผลลัพธ์ออกมาว่าสมาร์ทโฟนไม่ได้ดักฟังบทสนทนาของเรา แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การที่เฟซบุ๊กสามารถยิงโฆษณาที่ตรงเป้าถึงผู้ใช้งานแต่ละคนจนน่ากลัวนั้น ที่จริงเป็นอะไรที่ค่อนข้างซับซ้อนและในเวลาเดียวกันก็น่ากังวลใจมากๆ เช่นเดียวกัน
ความจริงอย่างแรกที่เรารู้กันตอนนี้ก็คือว่าเฟซบุ๊กยอมรับว่าคอยฟังการสนทนาแบบเสียงของผู้ใช้งานที่พูดคุยกันผ่านแอพพลิเคชั่น Facebook Messenger เรื่องมาแดงเมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ตอนที่ Bloomberg News เปิดเผยข้อมูลว่า เฟซบุ๊กได้ว่าจ้างบริษัทนอกเพื่อถอดบทสนทนาของผู้ใช้งานเวลาพูดคุยกัน โดยเฟซบุ๊กแถลงว่าสิ่งที่พวกเขาทำเป็นการทดสอบความแม่นยำของระบบอัลกอริทึมถอดบทสนทนาอัตโนมัติที่พวกเขากำลังจะปล่อยออกมา อีกอย่างหนึ่งที่บริษัทแจ้งก็คือว่า ผู้ใช้งานที่เข้าร่วมโปรแกรมนั้นรู้อยู่แล้วว่าอาจจะมีระบบรีวิวโดยการใช้มนุษย์ สิ่งที่เราไม่รู้ก็คือความโปร่งใสของการแจ้งเตือนจากเฟซบุ๊กว่ามีมากขนาดไหน และข่าวก็แพร่กระจายอย่างรวดเร็วโดยมีพาดหัวประมาณว่า “เฟซบุ๊กยอมรับว่าดักฟังคุณอยู่”
สำหรับคนที่อ่านข่าวเฉพาะพาดหัวแล้วเอาไปเล่าต่อ นี่ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้พวกเขาเชื่อทฤษฎีลับที่บอกว่าเฟซบุ๊กกำลังดักฟังคุณอยู่อย่างแน่นอน การพาดหัวแบบนี้ยิ่งทำให้ปักใจว่าข้อสันนิษฐานของพวกเขาเป็นจริงและนี่คือหลักฐานชั้นดี เหมือนเป็นการราดน้ำมันบนกองไฟที่ใกล้จะมอดดับจนลุกติดโหมไหม้ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
สื่อเองก็เล่นกับประเด็นนี้อย่างสนุกมือ มีการตัดภาพตอนที่ Gary Peters หนึ่งในคณะกรรมมาธิการของวุฒิสภา สหรัฐอเมริกา ถามคำถามที่น่าสนใจว่า “ใช่ หรือ ไม่ ที่เฟซบุ๊กแอบฟังเสียงผู้ใช้เพื่อเก็บข้อมูล” พี่มาร์กตอบสวนทันที “ไม่” ซึ่งสื่อก็เหมือนเป็นการแซะว่า “อั้นแน่! จับโกหกได้แล้วนะ” ประมาณนั้น
ซึ่งตอนนั้นพี่มาร์กแกพูดต่อว่า
“คุณกำลังพูดถึงประเด็นทฤษฎีสมคบคิด (conspiracy theory) ที่มีกล่าวอ้างกันทั่วไปว่าเรากำลังดักฟังอะไรต่างๆ จากไมโครโฟนของคุณอยู่และใช้มันสำหรับโฆษณา เราไม่ได้ทำแบบนั้น”
ซึ่งที่จริงแล้วเฟซบุ๊กได้ปฎิเสธประเด็นนี้หลายปีแล้วด้วยซ้ำตั้งแต่ช่วงกลางปี ค.ศ.2016 แล้ว
“เฟซบุ๊กไม่ได้ใช้ไมโครโฟนของคุณเพื่อใช้มันสร้างโฆษณาหรือเปลี่ยนแปลงสิ่งที่คุณจะเห็นบนนิวส์ฟีด บทความช่วงที่ผ่านมาพยายามชี้ว่าเราต้องฟังบทสนทนาของทุกคนเพื่อจะยิงโฆษณาให้ตรงจุดแก่ทุกคน นั้นเป็นเรื่องที่ไม่จริงเลย เราแสดงโฆษณาโดยใช้พื้นฐานของความสนใจและข้อมูลโปรไฟล์อื่นๆ—ไม่ใช่สิ่งที่คุณกำลังส่งเสียงพูดอยู่”
ลองมาดูกันว่าทำไม,
จากการทดสอบของ Wandera ทฤษฎีที่บ่งบอกว่าโทรศัพท์ของเรากำลังฟังสิ่งที่เราคุยกันอยู่รึเปล่า
การทดลองของพวกเขาไม่ได้ซับซ้อนอะไรแต่ตอบข้อสงสัยของเราได้พอสมควรเลย สิ่งที่พวกเขาทำก็คือวางสมาร์ทโฟน iPhone และ Samsung ในห้องและเล่นโฆษณาเกี่ยวกับ ‘อาหารสัตว์เลี้ยง’ (pet food) วนลูปไปเรื่อยๆ เป็นเวลาสามสิบนาทีต่อวัน ติดต่อกันสามวัน และอีกการทดสอบหนึ่งคือวางสมาร์ทโฟนทั้งสองเครื่องไว้ในห้องเงียบ (quiet room) เพื่อเป็นตัวเปรียบเทียบ โดยเปิด user permissions สำหรับแอพพลิเคชั่น Facebook, Instagram, Chrome, SnapChat, YouTube และ Amazon หลังจากนั้นก็ปิดแอพพลิเคชั่นตัวอื่น รวมไปถึงปิดการอัพเดตอัตโนมัติ (automatic updates ด้วย
การทดสอบครั้งนี้มีเป้าหมายอยู่สองอย่างก็คือ หนึ่ง ดูว่าสมาร์ทโฟนทั้งสองเครื่องมีโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับ ‘อาหารสัตว์เลี้ยง’ โผล่ขึ้นมาให้เห็นหรือไม่ และสอง (ซึ่งน่าจะเป็นหลักฐานที่มีน้ำหนักกว่า) คือการสังเกตอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับการใช้ข้อมูล (data) แบตเตอรี่ และกิจกรรมที่อยู่เบื้องหลังของสมาร์ทโฟนทั้งสอง
ผลลัพธ์ที่ได้ (ซึ่งก็อาจจะไม่ได้น่าแปลกใจเท่าไหร่) ก็คือว่า โฆษณาเกี่ยวกับ ‘อาหารสัตว์เลี้ยง’ ไม่โผล่ขึ้นมาเลยตามแอพพลิเคชั่นต่างๆ หลังจากผ่านการทดสอบ และหลักฐานอีกข้อที่บ่งบอกชัดเจนว่าสมาร์ทโฟนไม่ได้ดักฟังเราอยู่ก็คือมันไม่มีการใช้ข้อมูล แบตเตอรี่ หรือกิจกรรมเบื้องหลังที่แตกต่างกันในสมาร์ทโฟนทั้งสองเครื่องที่ทดสอบในห้องทั้งสองเลย ความจริงเรื่องนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะถ้าเกิดว่าแอพพลิเคชั่นนั้นดักฟังเราอยู่จริงๆ มันต้องมีการส่งข้อมูลกลับไปยังบริษัทแม่ของตัวเองเพื่อทำการวิเคราะห์ อย่างน้อยมันต้องมีหลักฐานหลงเหลืออยู่และมีอะไรที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนของทั้งสองสถานการณ์ (พวกเขาเปรียบเทียบข้อมูลนี้กับการใช้ siri ที่ส่งข้อมูลเสียงไปยัง Apple เพื่อการวิเคราะห์ ถ้าเกิดว่ามีการดักฟังจริงๆ มันต้องมีการใช้ข้อมูลที่ไม่ต่างกันมาก)
หลักฐานที่บ่งบอกว่าไม่มีการใช้ข้อมูลเบื้องหลังนั้นหักล้างความเชื่อที่อยู่มายาวนานได้เป็นอย่างดี Antonio Garcia-Martinez อดีต product-manager ของเฟซบุ๊กที่ลาออกในปี ค.ศ.2013 เคยกล่าวไว้ในบทความหนึ่งกับ The Wired ด้วยเหตุผลที่คล้ายคลึงกับที่ Wandera ได้พยายามพิสูจน์ ก็คือ ข้อมูลที่ต้องส่งกลับคืนไปยังบริษัทนั้นเป็นปริมาณที่เยอะมากและมันไม่มีทางเลยที่จะซ่อนเอาไว้ได้ถ้ามันเกิดขึ้นจริงๆ เขาบอกว่า
“การที่จะทำแบบนี้ได้เฟซบุ๊กต้องทำการบันทึกทุกอย่างที่สมาร์ทโฟนได้ยินตลอดเวลาที่เปิดเครื่องอยู่ ซึ่งก็เหมือนฟังก์ชั่นการโทรศัพท์หาเฟซบุ๊กแบบ ‘always-on’ โดยเฉลี่ยแล้วการโทรแบบ voice-over-internet จะใช้ข้อมูลประมาณ 24 Kbps ทางเดียว หรือประมาณ 3 kBs ของข้อมูลทุกวินาที ลองคิดดูว่าถ้าเราใช้โทรศัพท์ครึ่งวัน ถือเป็นข้อมูลประมาณ 130 MBs ต่อคน ต่อวัน ประมาณการผู้ใช้งานราวๆ 150 ล้านคนที่ใช้งานในแต่ละวัน แค่ในอเมริกา นั้นเทียบเป็น 20 petabytes ต่อวัน (เทียบภาพยนต์ความชัดแบบ 4K ประมาณ 20,000 เรื่อง) นั่นแค่ในประเทศอเมริกา เมื่อมองจากมุมนั้น ข้อมูลทั้งหมดที่เฟซบุ๊กเก็บในฐานข้อมูลมีเพียง 300 petabytes และอัตราการอ่านข้อมูลที่ประมาณ 600 terabytes”
บางคนอาจจะบอกว่าเฟซบุ๊กก็แค่สแกนคีย์เวิร์ดบางคำที่เข้ามาพร้อมๆ กับไฟล์เสียง ซึ่งก็หมายความว่าพวกเขาก็ไม่จำเป็นต้องเปิดช่องไมโครโฟนไว้ตลอดเวลา แต่ Garcia-Martinez ก็บอกอีกว่า เฟซบุ๊กมีคีย์เวิร์ดเป็นล้านๆ คำที่ต้องคอยติดตาม แต่ซีพียูในสมาร์ทโฟนของผู้ใช้งานทุกคนก็จะทำงานหนักขึ้นจนสังเกตเห็นได้ง่าย และคงไม่มีทางซ่อนเอาไว้ได้
ช่วงต้นปี ค.ศ.2017 Jingjing Ren นักศึกษาปริญญาเอกที่ Northeastern University และ Elleen Pan นักศึกษาปริญญาตรีมหาวิทยาลัยเดียวกันได้ออกแบบการศึกษาเกี่ยวกับประเด็นนี้โดยเฉพาะ ผลลัพท์ที่พวกเขาเจอก็ไม่ต่างกัน ไมโครโฟนไม่ได้ถูกใช้งานเพื่อดักฟังบทสนทนาของผู้ใช้งาน แต่สิ่งที่พวกเขาเจอกลับเป็นบางอย่างที่น่ากังวลใจมากกว่านั้นอีก อีกหนึ่งนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ชื่อ Christo Wilson ที่ร่วมทำโปรเจ็กต์บอกว่า
“มันไม่มีการรั่วไหลของเสียงแน่นอน—ไม่มีแอพพลิเคชั่นไหนเลยที่ใช้งานไมโครโฟน แต่เราเริ่มเห็นบางอย่างที่เราคาดไม่ถึง แอพพลิเคชั่นนั้นเก็บรูปถ่ายหน้าจอของการใช้งานตัวเองแล้วส่งไปยัง third parties แบบอัตโนมัติ ในเคสหนึ่งมีแอพพลิเคชั่นที่อัดวิดีโอของหน้าจอและส่งข้อมูลเหล่านั้นให้อีกบริษัทหนึ่ง”
(แอพพลิเคชั่นที่อัดวิดีโอชื่อว่า GoPuff เป็นบริการฟาสต์ฟู้ดเดลิเวอรี่ที่ส่งหน้าจอไปยัง Appsee ที่เป็นบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่ โดยที่ผู้ใช้งานไม่ได้รับรู้ถึงจุดนี้เลย)
มากกว่า 9,000 แอพพลิเคชั่น ใน 17,000 ที่พวกเขาตรวจสอบมีโอกาสที่จะแคปหน้าจอของผู้ใช้งาน และมีจำนวนหนึ่งที่ทำอยู่ตลอดเวลา มันเป็นอะไรที่น่ากลัวกว่าไมโครโฟนที่คอยฟังบทสนทนาที่เราคุยในแต่ละวันและเป็นอะไรที่ป้องกันได้ยากมากด้วย
เพราะฉะนั้นสมาร์ทโฟนที่เราใช้อยู่นั้น ‘อาจจะ’ (เราต้องพูดแบบนี้ไปก่อน) ไม่ได้ดักฟังการสนทนาของเราอยู่ แต่มันมีความสามารถที่จะติดตามเราได้อีกมากมายหลายช่องทาง สิ่งเหล่านี้แหละที่ทำให้เฟซบุ๊กสามารถยิงโฆษณาที่ตรงจุดให้กับผู้ใช้งานแต่ละคนได้ ซึ่งก็แม่นจนน่ากลัว Mike Campin รองประธานด้านวิศวรของ Wandera กล่าวว่า
“ทุกอย่างที่ทำให้โทรศัพท์ของคุณนั้นมีประโยชน์ เช่น รู้ว่าคุณอยู่ที่ไหน การถ่ายรูป การซื้อของออนไลน์และการทำธุรกรรมธนาคาร—สิ่งเหล่านี้แหละคือจุดอ่อนและจุดเปราะบาง ยิ่งสมาร์ทโฟนมีประโยชน์เท่าไหร่ ยิ่งทำให้มันน่าดึงดูดกับบริษัทโฆษณา แฮ็กเกอร์ หรือใครก็ตามที่ต้องการข้อมูลของคุณ”
นี่คือความจริงที่อาจจะดูรุนแรง
แต่มันอธิบายได้ว่าทำไมโฆษณาของเฟซบุ๊กถึงได้น่ากลัวขนาดนั้น
Garcia-Martinez กล่าวต่อว่า “ความจริงอันโหดร้ายก็คือว่าเฟซบุ๊กไม่จำเป็นต้องใช้ปาฏิหาริย์ทางเทคนิคอะไรเพื่อยิงโฆษณาหาคุณด้วยวิธีการแบบนั้น พวกเขามีวิธีที่ดีกว่านั้นมากอยู่แล้ว จำเอาไว้ว่าเฟซบุ๊กสามารถหาคุณได้ ถ้าอุปกรณ์เครื่องนั้นเคยใช้ล็อกอินเฟซบุ๊ก ดึงข้อมูลเกี่ยวกับตัวคุณจากร้านค้าต่างๆ และในบางครั้งสามารถรู้ได้ว่าคุณจับจ่ายซื้ออะไรบ้าง ; บัตรสมาชิกลดราคาเหล่านั้นต้องผูกกับเบอร์โทรศัพท์หรืออีเมลเพราะสาเหตุบางอย่าง”
มันเป็นเรื่องง่ายที่จะบอกว่าตอนนี้เฟซบุ๊กต้องฟังบทสนทนาของคุณเมื่อวานที่กำลังคุยกับเพื่อนเกี่ยวกับงานแต่งงาน แล้ววันนี้ก็มีโฆษณาแพ็คเกจงานแต่งงานโผล่ขึ้นมาให้เห็นเพียบเลย ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ไปค้นหาอะไรเลยเกี่ยวกับงานแต่งมาเป็นปีๆ แล้ว แต่มันก็มีช่องทางอื่นที่โฆษณาเหล่านี้สามารถเด้งมาหาคุณได้ เพราะไม่เพียงแต่ว่าระบบจะรู้ว่าคุณอยู่ที่ไหน (เมื่อวานคุณอาจจะคุยเรื่องงานแต่งงานที่ร้านเช่าชุดเจ้าสาว) แต่รู้อีกว่าเพื่อนของคุณเป็นใคร พวกเขาสนใจอะไรบ้าง (ถ้าเพื่อนของคุณหาชุดแต่งงานล่ะ?) แล้ววันนี้คุณใช้เวลากับใครอยู่ (ถ่ายรูปด้วยกัน แท็กกัน ฯลฯ) สามารถที่จะติดตามคุณผ่านอุปกรณ์ต่างๆ มากมายที่เชื่อมต่อกัน สามารถบันทึกบทสนทนาและเก็บข้อมูลที่เป็นข้อความบนเครื่องแอนดรอยด์ คอยดูว่าคุณเขียนอะไรอยู่ในกล่องข้อความที่อาจจะไม่ได้กดส่ง แม้กระทั่ง friend request ที่ไม่ได้กดรับ เฟซบุ๊กก็เก็บข้อมูลและคอยสังเกตสิ่งเหล่านี้ด้วยเช่นกัน
สิ่งสำคัญที่ต้องเรียนรู้จากประเด็นนี้ก็คือว่า ข้อมูลมากมายที่เฟซบุ๊กเก็บไปนั้นจะถูกนำไปเข้าระบบหลังบ้าน ผ่านอัลกอริทึมที่ซับซ้อน ก่อนจะออกมาเลือกว่าโฆษณาตัวไหนควรถูกส่งให้ใครดูบ้าง ซึ่งมันอาจจะเหมือนว่ามันช่างตรงกับสิ่งที่คุณกำลังสนใจอยู่เหลือเกิน แน่นอนว่ามันไมได้ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ (โฆษณาเสื้อผ้าจากแบรนด์ต่างๆ ไม่ได้อยู่ในความสนใจของผมแต่ก็ยังเห็นอยู่ ซึ่งก็น่าจะมาจากที่ภรรยาของผมไปกดดูรึเปล่า ซึ่งก็เป็นไปได้) แต่ตอนที่มันตรงจนน่ากลัวก็เป็นเรื่องง่ายทำให้เราหันกลับไปคิดว่า “มึงฟังกูอยู่ใช่ไหม?”
มันแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่สมองของมนุษย์จะเข้าใจว่าอัลกอริทึมหลังบ้านของเฟซบุ๊กทำงานยังไง เพราะมันซับซ้อนเป็นอย่างมาก ข้อมูลมากมายที่ใส่เข้าไปกว่าจะคำนวณสูตรต่างๆ ออกมาว่าต้องยิงโฆษณา ‘โฟมกระป๋อง’ ให้ผมนั้น แม้แต่วิศวกรที่เขียนโปรแกรมนี้ขึ้นมาก็อาจจะไม่สามารถอธิบายได้ด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นมันจึงไม่แปลกอะไรที่เรายังคงเชื่อทฤษฎีสมคบคิดที่ไมโครโฟนคอยดักฟังบทสนทนาของเราอยู่ เพราะมันเข้าใจง่ายและมีเหตุมีผลที่น่าเชื่อ (เพราะเมื่อเฟซบุ๊กได้ยินก็ยิงโฆษณามา แค่นั้น)
แต่ก็เหมือนทุกอย่างนั่นแหละที่ความจริงอาจจะซับซ้อนกว่านั้น…และในเวลาเดียวกันก็น่ากลัวกว่าที่เราคาดการณ์เอาไว้อีกต่างหาก
อ้างอิงข้อมูลจาก