1 ธันวาคมของทุกปี เป็น ‘วันเอดส์โลก’ (World AIDS Day) ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อรณรงค์ยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อเอดส์ ที่เป็นสาเหตุทำให้คนทั่วโลกเสียชีวิต ซึ่งในปีนี้ บ้านเราก็ยังคงมีการรณรงค์ และพยายามสร้างความเข้าใจให้ประชาชนตระหนักถึงโรคเอดส์ และสร้างความเข้าใจต่อโรคนี้อย่างถูกต้องต่อเนื่อง
แต่โรคเอดส์ มักถูกเข้าใจผิดๆ อยู่มาก ไม่ว่าจะมองว่าเป็นโรคร้ายแรง และมีไม่น้อยที่ถูกมองว่าโรคนี้จะแพร่เฉพาะเพศสัมพันธ์เท่านั้น หรือส่วนมากติดต่อกันเฉพาะกลุ่มคนรักร่วมเพศ ซึ่งในความเป็นจริงจากการเก็บข้อมูลกลับระบุว่า ปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วยโรคเอดส์คือเพศสัมพันธ์จากผู้ชายที่รักต่างเพศ
The MATTER สำรวจข้อมูลและสถิติของผู้ป่วยโรคเอดส์ จากข้อมูลของกลุ่มงานแผนงานและระบบข้อมูล กองควบคุมโรคเอดส์ วัณโรคและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่ได้เก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2527 – 2561 ที่มีทั้งจำนวนผู้ป่วยแยกเป็นเพศ อาชีพ รวมถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ
อย่างไรก็ดี ข้อมูลนี้เป็นเพียงการเก็บข้อมูลในกรุงเทพมหานคร และ เป็นเพียงความร่วมมือเพียงส่วนหนึ่งของ สถานพยาบาลทั้งหมด ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าตัวเลขจำนวนนี้ รวมทั้งผู้เสียชีวิตจึงน้อยกว่าความเป็นจริงมาก
จำนวนผู้ป่วยโรคเอดส์แบ่งตามเพศ
จากรายงานของกลุ่มงานแผนงานและระบบข้อมูล กองควบคุมโรคเอดส์ วัณโรคและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่ได้เก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2527 – 2561 ด้วยบัตรรายงาน 506/1, 507/1 จากสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและพบว่ามีรายงานผู้ป่วยเอดส์จํานวน 47,958 คน ในกรุงเทพมหานคร แบ่งเป็นชาย 34,890 ราย เพศหญิง 13,068 ราย
โดยรายงานระบุว่า ที่จำนวนเพศชายมีมากกว่าเพศหญิง อาจจะเนื่องมาจาก ‘เชื้อเอดส์สามารถถ่ายทอดทางเพศสัมพันธ์จากผู้ชายไปสู่ผู้หญิงได้ง่ายกว่าจากผู้หญิงไปสู่ผู้ชาย ขณะเดียวกันผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดที่ติดเชื้อเอดส์ส่วนใหญ่จะเป็นเพศชาย และแพร่เชื้อให้กับผู้ใช้เข็มฉีดยารวมกันได้ แม้ว่าอัตราการติดเชื้อเอดส์ในกลุ่มผู้หญิงจะสูงขึ้นแต่ผู้ป่วยเอดส์และผู้ติดเชื้อเอดส์ที่มีอาการส่วนใหญ่ยังคงเป็นผู้ชาย’
แต่ถึงอย่างนั้น การเก็บข้อมูลด้วยบัตร 506/1, 507/1 ของสถานพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นเพียงความร่วมมือเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น คือประมาณ 60.36% ของสถานพยาบาลทั้งหมด ซึ่งกองควบคุมโรคเอดส์ วัณโรคและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ก็ระบุว่า ตัวเลขจำนวนนี้ รวมทั้งผู้เสียชีวิตจึงน้อยกว่าความเป็นจริงมาก
จํานวนผู้ป่วยเอดส์ตามกลุ่มอายุ
สถิติจำนวนผู้ป่วยเอดส์ตามอายุ
อายุ 0-9 ปี จำนวน 1,410 คน (2.94%)
อายุ 10-19 ปี จำนวน 530 คน (1.2%)
อายุ 20-29 ปี จำนวน 12,013 คน (25.05%)
อายุ 30-39 ปี จำนวน 20,155 คน (42.02%)
อายุ 40-49 ปี จำนวน 9,905 คน (20.65%)
อายุ 50-59 ปี จำนวน 2,926 คน (6.2%)
อายุ 60 ปี ขึ้นไป จำนวน 1,019 คน (2.12%)
ผู้ป่วยเอดส์เป็นมากที่สุดในช่วงกลุ่มอายุ 30-39 ปี คือ 42.02% ซึ่งจากรายงานมองว่าเป็นผู้ที่อยู่ในวัยแรงงาน ซึ่งรองลงมาคือ กลุ่มอายุ 20-29 ปี ร้อย 25.05 และกลุ่มที่น้อยที่สุดคือ วัย 10-19 ปี ที่เพียง 1.2%
จํานวนผู้ป่วยเอดส์จําแนกตามกลุ่มอาชีพ
สำหรับกลุ่มอาชีพ อาชีพที่มียอดผู้ป่วยเอดส์มากที่สุดคือ รับจ้างทั่วไป จำนวน 18,671 คน หรือคิดเป็น 38.93% รองลงมาในอันดับ 2 และ 3 คือ ว่างงาน จำนวน 7,186 คน หรือ 14.98 % และงานบ้าน จำนวน 4,324 คน คิดเป็น 9.02%
ในขณะที่ 3 อันดับที่มีผู้ป่วยน้อยที่สุดคือ ขายบริการทางเพศ ที่ 64 คน ที่ 0.13% นักแสดง, นักร้อง, นักดนตรี จำนวน 38 คน คือ 0.08% และน้อยที่สุกคือ รับจ้างทําประมง 9 คน คือเพียงแค่ 0.02%
จำนวนผู้ป่วยเอดส์จำแนกตามปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อเอดส์ที่ทางรายงานนี้ ระบุไว้ มีทั้งหมด 5 ปัจจัย โดยปัจจัยเสี่ยงที่พบมากที่สุดคือ การติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ (80.40%) โดยเป็นเพศสัมพันธ์ของชายรักต่างเพศมากที่สุด (53.08%) ซึ่งมากกว่าจำนวนของชายรักสองเพศ และชายรักร่วมเพศ
ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่รองลงมาคือ การใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น (9.13%) ซึ่งเป็นการติดเชื้อในเพศชายมากกว่าเพศหญิง และปัจจัยเสี่ยงลับดับที่ 3 คือ ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่ทราบสาเหตุ (7.29%) ตามมาด้วย การติดเชื้อจากมารดาและการติดเชื้อจากการรับเลือด (3.17% และ 0.01 % ตามลําดับ)
จำนวนผู้ป่วยโรคเอดส์ที่ได้รับรายงานว่าเสียชีวิต
จากจำนวนผู้ป่วยโรคเอดส์ทั้งหมด 47,958 คนในกรุงเทพฯ ตอนนี้มีข้อมูลว่ามีผู้เสียชิวิตไปแล้ว 10,163 คน และยังมีชีวิตอยู่อีก 37,795 คน โดยอัตราการเสียชีวิตจะเริ่มสูงขึ้นในช่วงอายุ 20-29 ปี (24.8%) และสูงที่สุดในกลุ่มอายุ 30 – 39 ปี (22.1%)
เอดส์เป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถจะบอกได้แน่ชัดว่า มีการติดเชื้อ ณ วันใด เวลาใด โดยในรายงานระบุว่า ระยะเวลาที่ผู้ติดเชื้อเอดส์จะเป็นผู้ป่วยเอดส์นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นเอดส์ในระยเวลาภายใน 7-10 ปี ส่วนไม่เกิน 5% จะเป็นเอดส์ใน 3 ปี และอีก 5% ที่ติดเชื้อแล้ว แต่ไม่เป็นเอดส์นานกว่า 10 – 15 ปี ซึ่งคนกลุ่มนี้จะไม่พบเชื้อในกระแสเลือด แต่จะพบเชื้อในต่อมน้ำเหลือง
อ้างอิงจาก
Illustration by Naruemon Yimchavee