ทางเท้าถือเป็นพื้นที่สาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และมีความสำคัญกับวิถีชีวิตของคนเมือง แต่ทุกวันนี้ผู้ใช้ทางเท้าในเมือง ต้องเจอกับปัญหาหลายอย่างที่ทำให้การใช้งานทางเท้าไม่สะดวกสบาย อาทิ ทางเท้าที่แคบเกินไป จนเดินไม่สะดวก
The MATTER ได้ชวน ‘อึ่ง – สิทธานต์ ฉลองธรรม’ เจ้าของเพจ ‘The Sidewalk โลกกว้าง ข้างทางเท้า’ มาพูดคุยถึงปัญหาที่มักพบเจอบนทางเท้าในไทย บทบาทของทางเท้า และแนวทางในการพัฒนาทางเท้า
ทำไมจึงเริ่มทำเพจ The Sidewalk?
เมื่อ 5 – 6 ปีก่อน เคยทำรายการคนเดินเมือง มีเนื้อหาคล้ายกับเพจที่ทำอยู่ปัจจุบัน แต่ออกอากาศทางโทรทัศน์ มีเพียง 13 ตอน จนมาปลายปี ค.ศ. 2018 จึงเริ่มทำเพจ The Sidewalk ตอนแรกจะเน้นลงบทความและภาพถ่าย พอมาช่วงเดือนเมษาปี ค.ศ.2019 ก็เริ่มทำวิดีโอ
ช่วงนั้นรู้สึกว่าสภาพแวดล้อมในกรุงเทพฯ ถึงจุดที่ไปไหนลำบาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเดินเท้า หรือ การเดินทางโดยรถทุกประเภท เพราะมีการก่อสร้างเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำทางเท้าใหม่บนถนนเส้นหลักเกือบทุกเส้น การทำรถไฟฟ้าคร่อมบนถนนเกือบทุกเส้น ปัญหาที่สะสมในเวลานั้น ทำให้เรารู้สึกว่าทำไมคุณภาพชีวิตของตัวเองถึงเป็นแบบนี้
เราคิดว่าน่าจะทำวิดีโอออกมาอีกสักครั้งหนึ่ง เป็นวิดีโอที่ไม่ยาว และไม่มีกรอบของการเป็นรายการโทรทัศน์มาครอบไว้ เราจะชวนให้คนตั้งข้อสังเกตในบางมุม หรือในบางวิธีแก้ปัญหาที่อาจจะไม่เคยถูกตั้งคำถามและหาคำตอบ
เพราะตลอด 50 ปีที่ผ่านมา เราจะเจอปัญหาเดิม และแก้ปัญหาแบบเดิม เช่น การแก้ปัญหารถติดคือ การขยายถนน การทำอุโมงค์ลอดแยก การทำสะพานลอยให้คนเดินข้าม ไล่คนให้ข้ามทางม้าลายทั้งๆ ที่ทางม้าลายคนก็ข้ามไม่ได้ และสะพานลอยก็ไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนจะใช้ได้
เราคิดว่าน่าจะพูดถึงเรื่องนี้ได้เรื่อยๆ เพราะมีอีกหลายปัญหามาก ไม่ใช่เพียงบนทางเท้าหรือถนน รวมไปถึงปัญหาที่เกี่ยวกับการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกัน เช่น สวนสาธารณะทำไมต้องขออนุญาตก่อนถ่ายทำรายการ หรือว่า สถานีรถไฟฟ้าทำไมห้ามถ่ายรูป มันเป็นปัญหาในอีกหลายปัญหาที่ทำให้การเรียนรู้ที่จะใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันถูกบิดเบือน กลายเป็นว่าทำให้เราไม่ได้รู้จักเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตบนพื้นที่สาธารณะอย่างที่มันควรจะเป็น
ทางเท้ากรุงเทพฯ มีปัญหาอะไรบ้าง?
ปัญหาของคนใช้ทางเท้า โดยรวม คือ เจอทางเท้าที่ไม่เป็นมิตรกับการเดิน เช่น ทางเท้าแคบ เดินสวนกันแทบจะไม่ได้ ทางเท้ามีสิ่งกีดขวาง สิ่งกีดขวางมีอยู่สองอย่าง ได้แก่ สิ่งกีดขวางที่เป็นมิตรกับคนเดินเท้า กับสิ่งกีดขวางที่ไม่เป็นมิตรกับคนเดินเท้า ที่เห็นได้ทั่วไป คือ เสา ป้าย ป้อมตำรวจ ฐานบันไดสะพานลอย เป็นอันตรายด้วย ทำให้คนต้องไปเดินบนถนน ถ้าบอกว่าแผงลอยทำให้คนเดินบนถนน พวกนี้มีมากกว่าแผงลอยด้วยซ้ำไป สิ่งกีดขวางที่เป็นมิตร เช่น หาบเร่แผงลอย คือ เราเดินไปเราหิวน้ำ เราหยุดซื้อกินได้ แต่ต้องเดินได้
เมื่อก่อนเรามีทางเท้าที่ทำด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก แต่หลังๆ ไม่ใช่ เปลี่ยนเป็นกระเบื้องเล็กบ้าง กระเบื้องใหญ่บ้าง มีความหนาบางที่แตกต่างกันบ้าง มีคุณภาพของการปูที่ไม่ได้มาตรฐานแตกต่างกัน ผิวทางเท้า พื้นทางเท้าต้องมีความเรียบ ดูแลรักษาง่าย เราเจอผิวทางเท้าที่ไม่เรียบ ดูแลรักษายาก แบบว่าแตกบ้างละ อะไรบ้างละ ทางกรุงเทพฯ ก็บอกว่า หนึ่งเป็นเพราะ มันถูกใช้ผิดวัตถุประสงค์ มีมอไซค์ขึ้นไปวิ่ง มีแผงลอยขึ้นไปตั้ง แต่เราก็สงสัยว่าการปูกระเบื้องแบบนี้ เวลาปูในเมืองสมัยใหม่ มีแผงลอยตั้ง มีรถเข็น มีคนเดิน ก็ยังไม่เห็นพัง
ถึงเขาจะบอกว่าดินกรุงเทพฯ อ่อน แต่ดินกรุงเทพฯ ยังขุดไปทำรถไฟฟ้าใต้ดินได้เลย อยู่ที่มาตรฐานการทำรึเปล่า? เราอ่านตามข่าวเวลาทำเป็นกระเบื้อง เวลามันเกิดการขุดท่อซ่อมง่ายดี มันง่ายสำหรับเขา แต่คนเดินมันลำบาก เพราะเวลาซ่อมแต่ละครั้ง ก็ไม่สามารถทำให้เรียบเหมือนเดิมได้ทั้งหมด มันคือเรื่องของความใส่ใจ ไม่ใช่เพราะเขาไม่มีความรู้ ไม่มีความเข้าใจ เพราะสมัยก่อนคนยังเข้าใจเลยว่าคอนกรีตเสริมเหล็กมันดี หรือ การเทแบบลาดยางมะตอยมันดี เพราะมันเป็นแผ่นเดียวกัน
ทางเท้าในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีสิ่งอำนวยความสะดวก คือ พวกม้านั่ง ไฟส่องสว่าง ชีวิตบนทางเท้าถ้าเกิดมันตาย ส่วนหนึ่งที่บอกว่ามันตายอาจเพราะมีสกายวอล์ค จะเห็นว่ามันยิ่งทำให้ทางเท้ามืด ยิ่งทำให้คนเดินบนถนนลำบาก กล้องวงจรปิดช่วยสร้างความปลอดภัยหรือไม่? มันมืด พอมันเกิดขึ้นแล้ว มันตามไม่ได้ ถ้าทำให้ถนน ทางเท้า มีชีวิต มีผู้คนเดินเยอะๆ นี่คือการป้องกัน
ในขณะที่คนต้องเดินบนสกายวอล์ค หรือ เดินบนสะพานลอย ได้ยินบ่อยเรื่องโจรสะพานลอยคน เมื่อก่อนสะพานลอยตรงหลักสี่น่ากลัวมาก มันยาวด้วย มีตำรวจเขียนป้ายติดไว้ มีนกหวีดติดไว้ว่า วิธีที่จะป้องกันโจรสะพานลอย หนึ่งหยิบนกหวีด สองเอาขึ้นมาเป่า สามเก็บที่เดิม ซึ่งนกหวีดมันไม่มีแล้ว เพราะถูกขโมย นี่คือวิธีการป้องกันโจรสะพานลอย จะเห็นว่าวิธีแก้ปัญหามันเพี้ยนๆ หลายอย่าง
ต้นไม้ริมทางต้องเป็นต้นไม้ใหญ่ ไม่ใช่ไม้ประดับ เพราะต้นไม้ใหญ่ให้ความร่มรื่น ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ บางคนบอกว่าปลูกต้นไม้ใหญ่ขวางทางเดิน ก็ทางเท้ามันแคบ หรือจริงๆ มันมีหลักว่าทางเท้ามันควรกว้างแค่ไหน มีช่องให้ต้นไม้ได้มากแค่ไหน บางคนบอกว่าปลูกต้นไม้ทำให้รากดันกระเบื้องขึ้นมา ต้องถามว่าถ้ารากดันจริง ก่อนปลูกไม่ได้ศึกษาว่ารากมันดัน? หลุมที่ขุดกว้างลึกมากพอหรือไม่ที่รากจะไม่ดันขึ้นมา? คนก็บอกว่าต้นไม้ปลูกไม่ดี เพราะทำกระเบื้องแตก
ทางเท้าที่ดีควรมีทางข้ามบนพื้นราบที่สะดวก ปลอดภัย เข้าถึงง่าย คือ ทางม้าลาย เราต้องมีโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ถ้าถามว่าเป็นปัญหาสำหรับคนเดินเท้าอย่างไร? คนเดินเท้ามีหลายประเภท คนเดินเท้าที่ใช้รถเข็นก็มี คนเดินเท้าที่ถือกระเป๋าลากก็มี คนเดินเท้าที่จูงลูกก็มี ดังนั้นต้องมี Infrastructure สำหรับคนเดินเท้าทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นทางลาดที่ได้มาตรฐาน มีความลาดเอียงที่ได้มาตรฐาน ทางเดินคนตาบอดถ้าลำบาก ปูเฉพาะวอร์นนิ่งบล็อก (Warning block) ก็ได้ เพราะจริงๆ คนตาบอดต้องการแค่ทางเท้าที่เรียบ กว้าง เพราะว่าปูไปเกิดมันใช้ไม่ได้ เขาเองก็ไม่ได้ต้องการ
เขาต้องการแค่จุดเตือนเฉยๆ หลายประเทศเองก็ปูเฉพาะจุดเตือน หรือในญี่ปุ่นเองที่เป็นต้นกำเนิดของเบรลล์บล็อก ทางเท้าที่มีการสัญจรที่หลากหลาย เขาก็ไม่ปูไกด์ดิงบล็อก (Guiding block) เพราะเขารู้ว่ามันยาก ต้องใช้กับทางเท้าที่กว้างจริงๆ หรือว่าพื้นที่ที่เป็นพื้นที่สาธารณะ เป็นขนส่ง เป็นสนามบิน ที่เหล่านั้นเขาปู เพราะว่าคนตาบอดไม่รู้จะไปทางไหน
การทวงคืนทางเท้าจากหาบเร่แผงลอยจะช่วยแก้ไขปัญหาทางเท้าได้หรือไม่?
เรารู้สึกว่าทางเท้าในฝันของเรา หรือใครหลายคน คือ ทางเท้าที่อยู่หน้าโรงเรียนเราสมัยเด็ก ที่มันกว้าง มีรถขายขนม ขายก๋วยเตี๋ยวผัด ขายไอศกรีม เราสามารถเดินกอดคอกับเพื่อน 4 – 5 คน หรือต่อให้มีคนพิการเดินสวนมา มันก็เดินผ่านได้ เพราะมันกว้างมาก เราสามารถแวะตามร้านขายหนังสือที่มันตั้งแผงออกมาได้ เชื่อว่าทุกคนมีประสบการณ์กับทางเท้าดีๆ แบบนั้นในอดีต
ถ้าจะบอกว่าแผงลอยเป็นสิ่งที่กีดขวางการเดินเท้า หรือ กีดขวางการจราจรของรถบนถนน เราก็อยากถามว่า ใครเป็นคนบอกว่าถนนมีไว้ให้รถวิ่งอย่างเดียว? หรือ ทางเท้ามีไว้เดินอย่างเดียว? ทุกเมืองเคยประสบปัญหาแบบนี้มาก่อน แต่ในระยะหลังๆ หลายเมืองเริ่มตระหนักว่า การทำให้เมืองมันมีชีวิตชีวา ทางเท้าจะต้องมีชีวิตชีวาด้วย เพราะมันคือพื้นที่สาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในเมือง มีพื้นที่ที่มากที่สุดในเมือง ถ้ามันเงียบแสดงว่าเศรษฐกิจไม่ดี ชีวิตชีวาก็ไม่มี
เราไปที่ย่างกุ้งครั้งแรก เรามีความรู้สึกว่าทำไมเหมือนมีเทศกาลทุกวัน คนเดินบนทางเท้าเยอะมาก ขายของบนทางเท้าเยอะมาก ทางเท้ากว้างมาก แม้หลังๆ รถเยอะขึ้น และเริ่มตัดทางเท้าให้ถนน แต่ก็ยังกว้างอยู่
การยกเลิกการขายของบนทางเท้าหรือบนถนน ที่บอกว่ากีดขวางการจราจรหรือทางเดิน มันก็ต้องถามว่าเป็นเพราะอะไร เพราะรถมันเยอะ หรือเป็นเพราะทางเท้ามันแคบ ถ้าเกิดทางเท้าไม่ได้แคบ ถนนไม่ได้มีรถเยอะ การขายของก็ไม่ใช่สิ่งกีดขวาง
หลายเมืองเริ่มตระหนัก และเริ่มให้มีการขออนุญาตที่จะขายของบนทางเท้าได้อย่างถูกกฎหมาย อย่างล่าสุดไปที่เมลเบิร์น เข้าไปดูที่เพจของเทศบาล เขาก็บอกเลยว่าอนุญาตให้ตั้งตู้คีออสขายของ อนุญาตให้ตั้ง Sidewalk cafe ได้
คือ ทางเท้ามันกว้าง การตั้งขายของก็ยังเหลือที่บนทางเท้าที่กว้างมากกว่าทางเท้าในกรุงเทพฯ 2 – 3 เท่า ดังนั้นแสดงว่าการที่มันกีดขวางจราจร หรือว่าทางเดิน ไม่ใช่เพราะร้านขายของ แต่เป็นเพราะทางเท้ามันแคบ
ถ้าการยกเลิกหาบเร่ทำให้เมืองขาดสีสัน แสดงว่ามันก็ไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง ที่อื่นทำยังไง ที่ๆ ทางเท้ามันกว้างอยู่แล้ว เขาให้ขายของ ที่ไหนแคบเขาก็ยืดทางเท้าออกไป ที่เรียกว่าเป็นโร้ดไดเอท (Road diet) ทำให้ถนนแคบลง เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้กับคนเดินเท้า ร้านขายของ ทางจักรยาน นี่คือวิธีการแก้ปัญหาที่ถูกใช้ในเมืองสมัยใหม่
ทางเท้าที่ดีควรใช้ทำอะไรได้บ้าง?
บทบาทของทางเท้าที่ดีมีอยู่สามอย่าง หนึ่งคือมีไว้เดินสัญจร สองคือมีไว้ทำกิจกรรมบนทางเท้า จะเห็นว่าเวลาที่เราไปต่างประเทศ เมืองที่เป็นมิตรกับผู้คน จะเห็นการเล่นดนตรีบนทางเท้า จะเห็นการเล่นมายากลบนทางเท้า ซึ่งเมื่อก่อนเรามีแต่หลังๆ ไม่ค่อยเห็น สาม คือ มีไว้ขายของ แต่ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้ทางเท้ามันกว้าง
ปัญหาทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาขยะ ปัญหาที่มีคนกล่าวว่าเจ้าหน้าที่รับสินบน ทำให้มันถูกต้อง มีขยะก็จัดการเก็บ หรือ ทำให้มีน้อยลง ถ้ามันสกปรกก็ทำให้มันสะอาด
หาบเร่ แผงลอย ไม่ได้มีทั่วกรุงเทพฯ มีเฉพาะบางจุดที่สำคัญ แต่สิ่งกีดขวางที่มีอยู่ทั่วกรุงเทพฯ กลับเป็นสิ่งกีดขวางของทางการ เช่น เสา ป้าย ฐานสะพานลอย เราเคยพิสูจน์แล้วว่า กระถางต้นไม้ของกรุงเทพฯ มีความกว้างมากกว่ารถเข็นหนึ่งคัน ทำไมถึงบอกว่าหาบเร่แผงลอยขวาง แต่กระถางต้นไม้ไม่ขวาง
การสร้างสะพานลอย หรือ สกายวอล์คเป็นวิธีการแก้ปัญหาการข้ามถนนที่ดีหรือไม่?
มองเผินๆ มันช่วยเรื่องความปลอดภัยของคนข้ามถนน แต่ถ้าถามว่ามันเป็นวิธีการแก้ปัญหาหรือไม่? หลายที่เขาพิสูจน์แล้วว่าไม่ใช่ สกายวอล์คบ้านเราครั้งแรกที่เห็นเรารู้สึกว่ามันดี บางครั้งเราลืมนึกถึงคนอื่น ดังนั้นการจะเอื้อประโยชน์อย่างแท้จริง คือ ทุกคนต้องได้ประโยชน์หมด ไม่มีใครเสียเปรียบ ไม่มีใครได้เปรียบ
การทำสกายวอล์คข้างบน ทำให้ข้างล่างมันตาย คนเองก็ไม่ได้เดินบนสกายวอล์คได้ตลอด คนที่เดินได้ตลอด คือ คนที่ใช้รถไฟฟ้า คนที่ใช้รถเมล์ไม่ได้ใช้สกายวอล์ค ถ้าเกิดว่าข้างล่างเงียบเหงา จะเห็นว่าเมื่อก่อนมีร้านอยู่ตามหัวมุม แต่พอมีสกายวอล์ค ร้านมันปิดหมดเลย เพราะไม่มีคนผ่าน เพราะอะไร? คือ รถเมล์ถอยป้ายออกมาไกลขึ้น จะเห็นว่าตามที่ต่างๆ ที่ใช้ชีวิตได้อย่างสะดวก ป้ายรถเมล์จะอยู่ใกล้แยกมากๆ พอรถเมล์ถอยมาไกลขึ้น คนก็ไม่ค่อยเดิน
หลังๆ สกายวอล์คมันมีอะไรมากกว่าการเข้าห้าง มันถูกใช้เป็นทางข้ามด้วย และทำให้คนต้องเดินอ้อม หลายคนเริ่มมองว่าการข้ามถนนบนพื้นราบสะดวกที่สุด เพียงแต่ต้องทำให้มันปลอดภัย ซึ่งทางการไม่ทำให้มันปลอดภัย กลับไปสร้างสกายวอล์คให้คนข้ามแทน ซึ่งคนพิการก็ใช้งานยาก การทำอะไรบนที่สาธารณะที่มีคนหลายๆ ประเภท หลายๆ ช่วงอายุ หลายๆ สภาพร่างกาย ต้องทำให้คนมีความเปราะบางมากที่สุด อย่างเช่น คนแก่ เด็ก คนพิการ มีความสะดวกสบาย ที่เหลือก็จะมีความสะดวกสบายที่สุดตามมาเอง
ปัญหาทางเท้าของเมืองเราจะแก้ไขได้อย่างไร?
ทุกวันนี้หลายประเทศพุ่งเป้าการพัฒนาไปที่ผู้คนเป็นหลัก หรือที่เรียกว่าเป็น people-oriented ไม่ใช่ car-oriented ต้องยึดคนเดินเท้าเป็นหลัก เพราะเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ต่อให้คุณมีรถยนต์ก็ตาม คุณอยู่หลังพวงมาลัยทั้งวันไม่ได้ ต้องลงมากินข้าว ข้ามถนน ต่อให้คุณขี่จักรยาน คุณก็อยู่บนอานไม่ได้ทั้งวัน ก็ต้องลงมาซื้อของกิน
ถ้าสามารถทำให้คนเดินเท้ามีความสะดวกสบาย มีความปลอดภัย ทุกคนก็จะสะดวกสบาย ปลอดภัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีเอง โดยที่คุณไม่ต้องไปแก้ปัญหารถติดเลย มีคำพูดว่า รถติดยิ่งแก้ยิ่งติด ถนนยิ่งตัดยิ่งติด ยิ่งขยายยิ่งติด ต่อให้มีถนนเยอะแค่ไหน ที่จอดรถเยอะแค่ไหน ก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหารถติด หรือรถเยอะ
ทางเท้าของเมืองเป็นมิตรกับคนพิการไหม?
เมืองเราไม่ว่าจะเป็นทางเท้า หรือ ถนน ไม่เป็นมิตรกับอะไรเลย แม้กระทั่งกับรถ ไม่เป็นมิตรแม้กระทั่งกับรถยนต์ ตัวเพจเองไม่ได้ร้องเรียน ไม่ได้รัองทุกข์ เราอยากเรียกร้องให้คุณทำสิ่งต่างๆ ให้มีมาตราฐานตั้งแต่แรก การที่เราร้องเรียนร้องทุกข์ หลายคนกลับบอกว่า เจ้าหน้าที่เขาดีจัง เขาใส่ใจ เขามาเก็บแก้ให้ มันไม่ใช่ ต้องทำให้มีมาตราฐานตั้งแต่แรก ไม่จำเป็นต้องมาแก้ทีหลัง
ทำไมเราถึงรับสภาพนี้มาตลอด เมื่อก่อนเราก็ไม่รู้ตัว เป็นคนที่ร้องเรียนเยอะ จนกระทั่งรู้สึกว่าคงแก้อะไรไม่ได้ ถ้าเกิดร้องเรียนแบบนี้ไปเรื่อยๆ เพราะก่อนหน้าเราก็ร้องเรียนไม่รู้กี่ปีแล้ว ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่ ถ้าถามว่าเป็นมิตรกับคนพิการไหม คนธรรมดายังไม่เป็นมิตรเลย คนพิการจะไปหวังอะไรได้มากมาย
เราเห็นความพยายามในการทำอยู่ แต่ทำไมทำมากี่ครั้งกี่ครั้ง วีลแชร์ก็ใช้ไม่ได้ คนตาบอดก็ยังเดินชนนู่นชนนี่ มันเป็นเพราะอะไร? เราเองไม่ได้เรียนสถาปนิกมา ไม่ได้เป็นนักวิชาการ ยังรู้เลย คนที่มาแสดงความเห็นในเพจหลายคนก็รู้ คนที่รับผิดชอบไม่ใช่ว่าไม่รู้ คือ เขารู้ เขาเข้าใจ แต่ความใส่ใจน้อยมาก
เมืองไหนที่เป็นต้นแบบในการพัฒนาทางเท้าในกรุงเทพฯ ได้?
ตอบยากเหมือนกัน ความเห็นส่วนตัว เราชอบเดินที่ไทเป เพราะมีร้านอาหารข้างทางเยอะ มีรถเข็น มีอะไรเยอะ แต่ความยากง่ายในการเดิน การข้ามถนน การเดินทางโดยขนส่งมวลชนก็ใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ ก็ต้องถามว่าต้นแบบของคุณเป็นต้นแบบแบบไหน
บางคนบอกว่าสิงคโปร์ แต่ถ้าเกิดถามเรา เราจะรู้สึกว่าสนุกกับการเดินบนทางเท้าที่ไทเปมากกว่า เพราะกว้างมาก และมีชีวิตบนถนนที่เราได้เห็น ผู้คนก็คือเป็นมิตร มีคนอุ้มลูก มีคนจูงเด็ก เยอะแยะไปหมด
พูดถึงทางเท้าที่ดี มันเชื่อมโยงกันหมดถึงเรื่องของระบบการเดินทางด้วยรถเมล์ ซึ่งขึ้นง่ายลงง่าย และมีให้เลือกเยอะ มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ป้ายโดยสาร มีอะไรที่แบบพร้อม ต้องเรียกว่าเป็นต้นแบบของการเดินทางในชีวิตประจำวันของคนที่อยู่ในเมือง ทางเท้าก็เป็นแค่ส่วนหนึ่ง
ชอบทางเท้าของที่ไหนมากที่สุด?
ประทับใจทางเท้าในย่านเกาะรัตนโกสินทร์ แม้หลายคนจะบอกว่าทางเท้าแคบ รถติด หรืออะไรก็ตาม แต่เราจะเห็นว่าความเป็นเมืองเก่าตรงนั้น เป็นลักษณะของเมืองที่มีความกระชับตัว คนจะเดินไปไหนมาไหน ก็เดินได้หมด ถนนเองก็ไม่ได้กว้าง บ้านก็ไม่ได้สูงใหญ่
มันเป็นลักษณะของการสร้างเมืองที่ทำให้คนมีปฏิสัมพันธ์กัน มีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน คุณเปิดประตูบ้านมา คุณคุยกับคนหน้าบ้านได้ แม้ว่าจะมีการตากผ้าบนถนน หรือ ซักผ้าบนทางเท้า แต่มันเป็นลักษณะของสังคมที่ความเกื้อกูลกันสูง
อะไรคือเสน่ห์ของการเดินบนทางเท้า?
การได้เจอคนเยอะๆ ทางเท้าที่น่าเดินสำหรับเรา ไม่ใช่ทางเท้าโล่งๆ ต่อให้มีต้นไม้ก็ตาม ถ้าเดินไปแล้วไม่เจอคน มันก็แปลกๆ เราพูดอยู่ตลอดเวลาว่า ทางเท้าไม่ได้มีไว้เดินอย่างเดียว ทางเท้ามีไว้ทำกิจกรรม ทางเท้ามีไว้ขายของ ทางเท้ามีไว้อยู่อาศัยใช้ชีวิต บางครั้งเราอยากจะนั่งที่เก้าอี้บนทางเท้า
ถ้าเราไปเดินตามชุมชนเก่าๆ จะเห็นว่ามีคนเฒ่าคนแก่ออกมาตั้งเก้าอี้นั่งหน้าบ้าน เขาก็นั่งดูคนที่เดินผ่านไปผ่านมา ถ้าเกิดว่าคนรู้จักผ่านมาก็ทักทาย จริงๆ แล้วคนไม่ต้องการเดินโล่งๆ บนทางเท้า การได้เดินบนทางเท้าแล้วเจอผู้คนยิ่งหลายวัย หลายฐานะ เราจะยิ่งรู้สึกว่า ชีวิตเรามีคนอื่นอยู่ด้วย ไม่ใช่ว่าอยู่คนเดียว การใช้ชีวิตบนพื้นที่สาธารณะก็เป็นการเรียนรู้ชีวิตแบบหนึ่ง ทำให้เราอยู่ร่วมกับคนอื่นได้โดยที่เราคิดถึงคนอื่น
ทำอย่างไรให้รถกับคนอยู่ร่วมกันได้?
ถ้ามีขนส่งมวลชนที่สะดวกสบาย ปลอดภัย และประหยัด ไม่มีใครอยากใช้รถเลย เพราะมันลำบากมากในการที่จะดูแล คนมีเงินก็มีไว้ เผื่อขับไปต่างจังหวัด แต่การใช้รถในเมืองลำบากเป็นภาระ คนใช้รถส่วนใหญ่ ไม่อยากจะใช้รถ แม้ว่าหลายคนบอกว่ารถเป็นการแสดงถึงฐานะ แต่เราว่าไม่ใช่คนส่วนใหญ่ คนใช้รถส่วนใหญ่ คือ คนที่อยู่ในภาวะจำยอม เพราะไม่มีทางเลือก
ดังนั้นถ้าถามว่าเราจะพัฒนาเมืองยังไงให้บาลานซ์ มันมีลำดับความสำคัญที่ต้องให้ก่อนหลัง คนเดินเท้าทุกประเภทต้องมาก่อน ถ้าเกิดคนเดินเท้ามีความสะดวกสบาย อันดับสองขนส่งมวลชนทุกประเภทต้องประหยัด ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะเห็นว่าแค่นี้ก็พอแล้วสำหรับการใช้ชีวิตในเมือง โดยเฉพาะเมืองชั้นใน รถยนต์ก็แทบจะไม่จำเป็นและ อันดับที่สามก็คือ รถที่เป็นรถบริการทั้งหลาย รถเก็บขยะ รถไปรษณีย์ จะเห็นว่าต่างประเทศ ตามเมืองชั้นใน รถพวกนี้จะเยอะมาก รถยนต์จะไม่ค่อยมี เพราะว่าเมืองชั้นในจะมีไว้ให้กับการเดินเท้าอย่างเดียวเลย โดยเฉพาะย่านธุรกิจ มีคนพลุกพล่านรถยนต์จะไม่ค่อยมี เอารถเข้าไปก็ลำบาก ค่าจอดรถก็แพง
อันดับสุดท้ายเลยที่ควรจะให้ความสำคัญก็คือ รถทุกประเภทที่เป็นรถส่วนตัว รถมอเตอร์ไซค์ส่วนตัว รถยนต์ส่วนตัว ลืมไปนิดนึง ขนส่งมวลชนทุกประเภทแล้วก็จักรยานด้วย ตรงนี้เรียกว่าลำดับการออกแบบถนน สำหรับเมืองที่คำนึงถึงสิ่งที่เรียกว่า’ความยั่งยืน’ (sustainability) ทุกคนที่นั่งอยู่ในกระทรวงคมนาคม หรือกรุงเทพฯ ทุกคนรู้หมด มีหลายคนที่คุยกับเราว่าอยากทำ แต่ด้วยระบบราชการหรืออะไรต่างๆ ที่ไม่เอื้อ ไม่มีใครตอบได้ว่าทำไมรถถึงเยอะขนาดนี้ ทั้งๆ ที่ทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่า การเดินทางที่ยั่งยืนคืออะไร
ยังมีความหวังที่จะเห็นทางเท้าในกรุงเทพฯ พัฒนาขึ้นไหม?
คนที่มาดูเพจในสมัยก่อนจะเป็นสถาปนิก วิศวกร ซึ่งไม่สนุกเลย แต่หลังๆ จะเห็นเลยว่ามันมีความหลากหลายมาก มีคนต่างจังหวัดด้วย เด็กมัธยม เด็กมหาลัย มีคนแก่ มีคนพิการ เรียกได้ว่ามีความหลากหลายของคนที่สนใจ และแสดงความคิดเห็น
ตรงนี้เอง หลายคนมักถามว่าเราทำแล้วมีอะไรเปลี่ยนแปลงขึ้นไหม เราบอกว่าเปลี่ยนแปลงเยอะ สังเกตได้จากคนที่เข้ามาแสดงความคิดเห็น หรือคนที่มาติดตามเยอะขึ้นกว่าสมัยก่อน มีการแลกเปลี่ยนความรู้ที่เยอะขึ้น ตรงนี้เราถือว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ซึ่งเราถือว่ามันเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างน่าพอใจ มากไปกว่าที่อยู่ๆ ทางเมืองทำอะไรขึ้นมาสักอย่างหนึ่ง แล้วเรียกว่าเป็นการพัฒนา โดยที่คนเองก็ไม่เข้าใจว่าดีหรือไม่ดี
มีอยู่ครั้งหนึ่งมีแม่คนหนึ่งเขาส่งข้อความมาหาเราว่าเขามีความหวัง ก่อนหน้านี้เขาไม่เคยมีความหวังเลย เพราะว่าเขามีลูกตาบอด 3 ขวบ พอเขารู้สึกว่ามันมีเรื่องราวเหล่านี้ขึ้นมาสู่สาธารณะชนได้รับรู้ เขาเริ่มมองเห็นแล้วว่า ลูกเขาจะอยู่ยังไง ตรงนั้นก็ทำให้เรายังมีความหวัง