ปัญหาฝุ่น PM2.5 ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในกรุงเทพมหานคร หากยังรวมไปถึงจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ จนกลายเป็นข้อเรียกร้องให้ปัญหานี้ต้องเป็นวาระแห่งชาติ ที่ทั้งภาคประชาชนและรัฐต้องหาทางออกกันแบบจริงจังในระยะเร่งด่วนและระยะยาว
ท่ามกลางมาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐออกมาเพื่อควบคุมแหล่งกำเนิดจากทั้งรถยนต์ และโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงข้อเสนอให้ประชาชนแบบเราๆ หันไปใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้นเพื่อลดอัตราการเกิดขึ้นของฝุ่น PM2.5 ให้ได้มากที่สุด
‘ธารา บัวคำศรี’ ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เชื่อว่า อุปสรรคใหญ่ที่ขวางกั้น ไม่ให้การแก้ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างเด็ดขาดและมีประสิทธิภาพ คือระบบราชการไทยที่ยังขาดเจ้าภาพที่ดีสำหรับการดูแลและจัดการนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมกับปกป้องผู้คนจากมลพิษต่างๆ
ไม่กี่วันก่อนมีคำแนะนำจากภาครัฐให้เราเปลี่ยนไปใช้ขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น คุณคิดอย่างไรกับเรื่องนี้
มีคนคำนวณมาว่า กว่าเราจะออกจากบ้านมาถึงรถไฟฟ้าแล้วกว่าจะมาถึงที่ทำงาน ถ้าคุณกระตุ้นให้คนมาใช้ขนส่งมวลชนมากขึ้น มันจะมีคนที่ไปสะสมอยู่ที่ป้ายรถเมล์ หรือรถไฟฟ้ามากมายมหาศาลเท่าไหร่ ตรงนี้คือไม่ได้บอกต่อว่าถ้าวันนี้มันวิกฤต รถไฟฟ้าจัดขบวนใหม่ให้มันยาวขึ้นไหม หรือจะสนับสนุนคนขึ้นรถไฟฟ้ามากขึ้นด้วยการลดค่าโดยสาร มันไม่มีอะไรที่เป็นรายละเอียดออกมา
คือเราบอกกันแค่ให้คนไปใช้ขนส่งสาธารณะ แต่ระบบขนส่งในบ้านเรามันก็ยังแย่อยู่ นี่คือความอิหลักอิเหลื่อของการจัดการปัญหามลพิษที่เรากำลังเจออยู่ในปัจจุบัน
อีกมาตรการคือเรื่องควบคุมการก่อสร้างไม่ให้เกิดฝุ่น PM2.5 มองว่ามันได้ผลแค่ไหน
ผมคิดว่ามันต้องไปไล่ดูรายงาน EIA ของโครงการต่างๆ ว่าแต่ละโครงการดูแลเรื่องฝุ่นหรือเสียงอย่างไร แม้กระทั่งการขยายรถไฟฟ้าก็ตาม มันก็มีรายงานอยู่ในมือ สิ่งที่เป็นประเด็นคือ บางจุดที่มันไม่ได้เกี่ยวข้องกับการขยายการก่อสร้างรถไฟฟ้า มันเป็นสถานีรถไฟฟ้าที่มีอยู่แล้ว และเราก็มีคอนโดขึ้นอยู่สองข้าง ซึ่งคอนโดเหล่านี้ก็ผ่าน EIA กันหมดอยู่แล้ว
แต่ถ้าเราเอา EIA ของทุกโครงการที่อยู่ตรงนั้นมารวมแล้วดูกัน ถามว่ามันจะทำให้เกิดการสร้างความเข้มข้นของฝุ่นในบริเวณนั้นมากน้อยแค่ไหน รวมถึงฝุ่นจากถนนและรถที่อยู่ข้างล่าง ดังนั้น เราต้องมานั่งคิดกันว่า ในอนาคตเราควรให้คอนโดมันขึ้นในบริเวณนั้นได้มากน้อยเท่าไหร่ หรือออกแบบให้มันลดความเข้มข้นของฝุ่นลง แล้วให้อากาศมันถ่ายเทได้ยังไง
ฟังแบบนี้แล้ว เหมือนกับว่าปัญหามันรวมไปถึงเรื่องผังเมืองด้วย
ใช่ มันก็เป็นเรื่องของผังเมือง ขณะเดียวกัน รถยนต์ก็เป็นเรื่องของกรมขนส่ง หรือถ้ามีโรงงานอุตสาหกรรมขึ้นแถวนั้น มันก็เป็นเรื่องของกรมโรงงาน ส่วนค่าที่วัดฝุ่นว่าเกินมาตรฐานไหม มันเป็นเรื่องของกรมควบคุมมลพิษ หรือกรุงเทพมหานคร แต่หน่วยงานเหล่านี้ต่างคนต่างทำ ปัญหามันเลยเป็นอย่างที่เห็นกันอยู่
กลายเป็นว่าตอนนี้เราไม่มีหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพตรงกลาง รวมฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไว้ด้วยกัน
จึงมีคนเสนอว่าควรตั้ง Environmental agency ขึ้นมา เพื่อที่ทำงานด้านการดูแลควบคุมมลพิษให้มันเข้มงวดขึ้น บางคนก็บอกว่าเราต้องมี Clean Air Act หรือกฎหมายเพื่ออากาศที่สะอาด แต่ถ้าเรายังอยู่ภายใต้การทำงานของหน่วยงานราชการที่แยกส่วนกันเหมือนเดิม มันก็ไม่เกิดแน่นอน เพราะไม่มีเจ้าภาพ
เจ้าภาพควรจะเป็นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรึเปล่า
ถ้ากระทรวงทรัพยากรฯ เป็นเจ้าภาพ แต่ผังเมืองก็ยังทำของตัวเองไป กรมโรงงานก็ทำของตัวเองไป พอเป็นแบบนี้กระทรวงทรัพยากรฯ ก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี ถ้าเราไม่ได้มีการปฏิรูประบบราชการที่มันเป็นอยู่ ที่มันจะเอาสิ่งที่เกี่ยวข้องกันมาอยู่ที่เดียวกัน และมีกระบวนการตัดสินใจและการบังคับใช้มาตรการต่างๆ จากที่เดียวจบโดยไม่ต้องเกรงใจหน่วยงานโน้นหน่วยงานนี้ ปัญหามันก็เลยคาราคาซัง
ถ้าจะมีองค์กรที่เจ้าภาพขึ้นมาตามแนวคิดนี้ สถานะขององค์กรควรจะเป็นยังไง
อาจจะเป็นองค์กรมหาชนก็ได้ เหมือนกับที่เรามีองค์กรมหาชนว่าด้วยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งทำหน้าที่จัดการการบริหารการปล่อยก๊าซ การติดตามตรวจสอบ เก็บข้อมูลจากภาคส่วนต่างๆ
ผมคิดว่าถ้าเป็นองค์กรมหาชน ก็จะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะตอนนี้ระบบจัดการสิ่งแวดล้อม ไม่เฉพาะแค่มลพิษทางอากาศมันอยู่กระจายไปหมด มันอุ้ยอ้าย กฎหมายสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย มันอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับเดียวคือ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีทั้งเรื่องดิน น้ำ อากาศ ป่าไม้ รวมอยู่ในนั้น
กฎหมายนี้อยู่ภายใต้กระทรวงทรัพยากรฯ แล้วมีหน่วยงานต่างๆ ดูแล แต่พอเป็นเรื่อเกี่ยวกับมลพิษ มันก็จะไปเกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่นๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น กรมเจ้าท่าในกรณีสารพิษรั่วลงทะเล กรมโรงงานในกรณีฝุ่น หรือผังเมือง และกรมขนส่งที่จะต้องไปดูแลเรื่องการเข้มงดมลพิษจากรถยนต์ กรมควบคุมมลพิษอาจจะยกร่างมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมขึ้นมา คอยทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบ คือมันอิรุงตุงนัง พันกันไปหมด
จริงๆ แล้วรัฐบาลก็รู้ว่ามันมีปัญหาแบบนี้ เขาถึงตั้งลำดับขั้นของการบริหารจัดการขึ้นว่า เช่น ถ้าฝุ่นไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรให้ผู้ว่าฯ ดูแล ถ้าอยู่ระหว่าง 50-90 จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กระทรวงและกรมต่างๆ แต่ถ้าเกิน 90 ขึ้นไปแล้วจะเป็นหน้าที่ของนายกฯ ที่มีอำนาจออกมาตรการได้ทันที
แล้วการแบ่งเช่นนี้มีปัญหาไหม
มันแก้ไขอะไรไม่ค่อยได้ สมมติว่าผู้ว่าฯ เป็นคนจัดการ เขาก็จะเจอปัญหาในพื้นที่ของตัวเอง เช่น มีคนเผาไร่อ้อย ผู้ว่าฯ ก็ต้องไปไล่บี้กับชาวไร่อ้อย ซึ่งผู้ว่าฯ อาจจะไม่กล้าทำเพราะอีกฝั่งมีมวลชนของเขา ปัจจัยคือการเมืองระดับท้องถิ่นที่มีความสัมพันธ์เชิงอุปถัมถ์ระหว่างนายทุน ลูกจ้าง กลุ่มผู้ใช้แรงงาน
การทำแบบนี้เหมือนผลักภาระ โยนลูกให้องค์กรท้องถิ่นจัดการปัญหาของตัวเองซึ่งได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ส่วนใหญ่มักจะไม่ได้ เพราะผู้ว่าฯ มักจะเกรงใจผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับปัญหามลพิษ
มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ถ้าเราไม่มีหน่วยงานส่วนกลางที่ทำหน้าที่ยกร่างมาตรการ ดำเนินมาตรการ และมีอำนาจให้คุณให้โทษได้ มันเป็นแบบจำลองที่ US EPA (Environmental Protection Agency) ของสหรัฐฯ ทำอยู่ คือเขามีผู้ตรวจราชการ เป็นคล้ายๆ DSI ในเรื่องสิ่งแวดล้อม คอยตรวจค้นข้อมูลต่างๆ และออกมาตรการและบทลงโทษต่างๆ ทั้งนี้ US EPA เขาจะมีฐานข้อมูลที่รู้เลยว่ามีโรงงานกี่โรง แต่ละโรงงานปล่อยอะไรออกมาบ้าง ปล่อยเยอะแค่ไหน ทุกจุดที่เป็นแหล่งกำเนิดแบบอยู่กับที่ จะต้องส่งข้อมูลมาให้กับเจ้าหน้าที่ ถ้าส่งข้อมูลที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงก็จะถูกลงโทษ
แต่ของประเทศไทยคือให้กรมโรงงานดูแล ดูแลแค่โรงงานที่อยู่นอกนิคมอุตสาหกรรม ส่วนซึ่งโรงงานภายในนิคมก็เป็นแหล่งปล่อยฝุ่นออกมาเหมือนกัน แต่กรมโรงงานเข้าไปดูไม่ได้
ส่วนโรงงานที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม จะมีการนิคมแห่งประเทศไทยดูแล ประเด็นคือ โรงงานในนิคมก็เป็นแหล่งปล่อยมลพิษทางอากาศมาเหมือนกัน แต่กรมโรงงานเข้าไปดูไม่ได้ การนิคมฯ ทำหน้าที่ขายพื้นที่ให้โรงงานมาตั้ง มันจึงยากที่จะลงโทษโรงงานเพราะเดี๋ยวการนิคมฯ ก็ขาดทุน
คุณกำลังจะบอกว่าระบบมันยุ่งเหยิงจริงๆ
มันอิรุงตุงนังไปหมด นี่คือสภาพปัญหาว่าทำไมเราถึงจัดการไม่ได้
ตอนนี้ภาครัฐไทยเรามีเครื่องมือไปตรวจวัดฝุ่น PM2.5 จากจุดกำเนิดของมันแค่ไหนบ้าง
สถานีตรวจวัดไม่ว่าจะของกรมควบคุมมลพิษ หรือใครก็ตาม มันวัดแค่ว่ามีอะไรอยู่ในอากาศ แต่มันไม่สามารถบอกได้หรอกว่ามันมาจากไหน
ขณะนี้เรายังไม่มีค่ามาตรฐาน PM2.5 จากจุดกำเนิด อย่างที่กรมโรงงานให้ข่าวว่าไปตรวจโรงงานแล้วไม่เจอ PM2.5 เกินมาตรฐาน ที่เป็นแบบนั้นก็เพราะเราไม่ได้บังคับ เราไม่ได้มีกฎหมายออกมาบอกว่าคุณต้องไปวัด เวลาเขาทำรายงานก็ไม่มี PM2.5 เพราะไม่มีการวัดตั้งแต่ตอนปล่อยออกมาจากปล่อง
ต่างประเทศเขามีเครื่องตรวจวัดที่จุดกำเนิดตรงโรงงานไหม
บางประเทศมี ด้วยความที่ PM2.5 มันมาจากทั้งแหล่งกำเนิดที่ระบุได้ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า หรือจุดที่มีการเผาในที่โล่ง เราจึงคำนวณได้และมีด้านหนึ่งคือรถยนต์ ซึ่งมันจะมีมาตรฐานว่าควันที่จะปล่อยออกมาจากท่อว่าต้องมีสารต่างๆ ได้เท่าไหร่ แต่เครื่องยนต์ดีเซลมันไม่ได้ปล่อย PM2.5 ออกมาโดยตรง คือมันอย่างอื่นออกมาก่อนที่มันจะรวมตัวกันกลายเป็นฝุ่นภายหลัง
แล้วแบบนี้เรื่องควันดำจากรถเมล์ เราควรแก้ไขยังไง
ปัญหาพวกนี้มันเป็นหน้าที่ของตำรวจและกรมขนส่ง แต่กรมขนส่งก็ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องมลพิษเท่าไหร่ เพราะด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ ซึ่งก็เข้าใจได้เพราะด้วยทรัพยากรที่มีอยู่เขาก็ทำได้แค่นั้น
ผมพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ต้นทุนการให้บริการรถโดยสารของ ขสมก. รถปรับอากาศของ ขสมก. มีทั้งเก่าและใหม่ รถเมล์ดีเซลมีต้นทุนให้บริการต่อคันและต่อวันสูงกว่ารถแบบอื่นโดยเปรียบเทียบ มันเลยเป็นเหตุผลว่าเราเอามันออกไปไหม แล้วเอาอย่างอื่นเข้ามาแทน ต้นทุนจะได้ต่ำลง ถ้าเราทยอยเปลี่ยนรถเมล์ที่เป็นดีเซลออกไปมันก็จะช่วยแก้ปัญหาได้เยอะนะ
คิดว่าหลังจากมีมาตรการเร่งด่วนแล้ว ภาครัฐควรทำอะไรต่อไป
ในระยะสั้นและเร่งด่วนนี้ การฉีดน้ำมันก็อาจจะช่วยในแง่เห็นภาพว่าได้ทำอะไรลงไปสักอย่างนึง หลายประเทศอินเดียกับจีนก็ใช้วิธีนี้เหมือนกัน ประเด็นอยู่ที่ว่าการแก้ระยะสั้นแบบนี้มันจะช่วยทำให้เกิดการตัดสินใจ หรือการวางแผน หรือมีมาตรการที่มันเชิงรุกในระยะกลางและยาวไหม
เพราะบางครั้ง มันก็เหมือนกับว่า พอเราแก้ไม่ถูกจุดมันก็คือการซื้อเวลาให้ปัญหานี้มันหายไป มันเหมือนถ่วงเวลาว่าเดี๋ยวอีกไม่กี่เดือนฝุ่นก็ไปแล้ว บางคนก็บอกว่าไม่โกรธที่เขาฉีดน้ำ ฉีดได้ แต่พอฉีดเสร็จทำยังไงต่อ รอให้ปัญหามันจบแล้วปีหน้ากลับมาฉีดใหม่เหรอ เราจะต้องทนเห็นมาตรการซ้ำแล้วซ้ำอีกแล้วยังไง เพราะฉีดกันมาตั้งแต่ปีที่แล้ว
มันเป็นคำถามใหญ่ว่าฉีดแล้วล้างถนนแล้ว แต่มันจะเกิดแบบนี้อีกไหมในปีหน้า เราต้องทำสิ่งเหล่านี้ซ้ำอีกรึเปล่า หรือเราจะมีมาตรการที่ดีและตรงจุดมากกว่านี้
รัฐบอกว่ารออีก 3 ปีจะมีรถไฟฟ้าที่เชื่อมต่อการเดินทางได้ดีขึ้น ปัญหามันก็อาจจะหายไป มันจะเป็นแบบนั้นจริงไหม
มันคือการซื้อเวลา การพูดว่าให้รอโครงข่ายรถไฟฟ้าแบบนั้นใครก็พูดได้ แต่พอเอาเข้าจริงแล้ว ถ้าตอนนั้นเราไม่มาตรการต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะส่งเสริมเรื่องรถไฮบริด หรือใช้พลังงานที่สะอาดขึ้น
สมมติว่าอีก 3 ปีข้างหน้า รถไฟฟ้าสามารถเชื่อมต่อพื้นที่ต่างๆ ได้ แต่ถ้าเรายงไม่มีมาตรการจูงใจให้คนใช้รถส่วนตัวน้อยลง ถ้าพื้นที่จอดรถยนต์ที่ยังเหมาะสมพอ หรือยังไม่มีราคาการจอดรถที่สมเหตุสมผล คนก็ไม่อยากเปลี่ยน ปัญหาก็จะอยู่เหมือนเดิม และอาจจะมากขึ้นด้วย
ตอนนี้มันเหมือนกับว่า การพัฒนาเมืองมันเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีมลพิษไปแล้วรึเปล่า หรือเราควรมีทางเลือกที่ดีกว่านั้น
มีหลายประเทศที่ทำให้เมืองน่าอยู่ และคนก็มีความสุข ไปไหนมาไหนสะดวกด้วย แต่มันไม่ใช่สำหรับกรุงเทพ เคยมีคนคำนวณว่า ซอยในกรุงเทพประมาณเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์เป็นซอยตัน แต่ถ้าไปเทียบกับสิงคโปร์ หรือกรุงโซลของเกาหลีใต้แล้ว ซอยของเขามันทะลุถึงกันได้
กรุงเทพคือเข้าไปแล้วซอยตัน พูดถึงการไหลของการเดินทาง มันก็จำกัดด้วยเรื่องของผังเมือง มันอาจจะเป็นมายาคติที่ว่า เมืองโตจำเป็นต้องมีมลพิษเยอะ มันเป็นมายาคติมากๆ มันขึ้นอยู่กับว่าเราว่าผังเมืองยังไง เราทำให้เมืองมันน่าอยู่ยังไงบ้าง
ยกตัวอย่างชุมชนในย่านของสำนักงานเรา เขาขึ้นป้ายประกาศว่าไม่ต้องการคอนโด แล้วอยากจะทำให้ซอยเล็กๆ มันเชื่อมต่อเข้าหากันได้ ผมคิดว่าไอเดียแบบนี้น่าสนใจ ซึ่งกรุงเทพสามารถทำได้
ตอนนี้ประชาชนเรารับภาระการดูแลตัวเองมากเกินไปไหม
วิธีดูแลสุขภาพที่ดีสุดคือป้องกันไม่ให้มันเกิดโรค ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกที่ทำร่วมกับเวิร์ดแบงก์ บอกว่า ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรราวๆ 37,000 คนต่อปี
พูดให้เห็นภาพคือ แทนที่จะเสียชีวิตกันในอายุ 90 ก็เสียชีวิตกันในอายุ 80 หรือเด็กที่เกิดมาภายใต้สภาวะแวดล้อมที่เราเจอแบบนี้ แทนที่เขาจะอยู่ในวัยอันสมควร แต่อายุเขาก็จะสั้นลงเพราะโรคที่สะสมเข้าไป เหล่านี้คือต้นทุนภายนอกที่ไม่ได้รวมเข้าไปในการตั้งมาตรฐานคุณภาพอากาศ
เวลาเราบอกว่า เราตั้งค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศด้วยเกณฑ์เท่านี้ เพราะเราต้องการพัฒนาเพิ่ม ต้องมีโรงงานเพิ่ม แต่ต้นทุนที่เกิดขึ้นกับคน รวมถึงผู้ป่วยอีกเป็นแสนคน มันเป็นตัวเลขที่สูงมาก และมันเป็นต้นทุนที่รัฐไม่ได้ให้น้ำหนักเท่ากับต้นทุนเรื่องการพัฒนาอื่นๆ เพราะต้นทุนที่เรามองไม่เห็นได้ยาก มันเป็นต้นทุนซึ่งแฝงอยู่ในค่ารักษาพยาบาล อยู่ในภาษีที่เราเสียไป
ในประเทศเราที่มีความเหลื่มล้ำค่อนข้างสูง มันยิ่งทำให้คนที่มีต้นทุนไม่เยอะมากจะได้รับผลที่รุนแรงจากมลพิษด้วยรึเปล่า
ตอนนี้เราตั้งไว้ว่าถ้าค่าฝุ่นอยู่ที่ระหว่าง 50-90 ให้เป็นหน้าที่รับผิดชอบของหน่วยงานกลาง แต่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง แม่ค้า คนเดินถนน ไม่ต้องไปถึงค่านั้นหรอก แค่ 30 กว่าๆ ก็หนักแล้ว เพราะเค้าต้องสูดมันตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะนักเรียนที่ไปโรงเรียนตอนเช้า หรือว่านักกีฬาเขาต้องเสียเวลา
คนกวาดถนนที่ต้องกวาดทุกเช้า รัฐสามารถให้อะไรได้บ้าง เช่นแจกหน้ากากฟรี มันทำได้นะ ผมไม่เสียดายเลยนะถ้าจะเอาภาษีของประชาชนไปกระจายหน้ากากให้กับคนกลุ่มเสี่ยง หรือให้กับคนที่มีรายได้น้อย คนที่ต้องหาเช้ากินค่ำ หรือคนที่ต้องอยู่กลางแจ้ง รวมถึงคนงานต่างชาติในสถานที่ก่อสร้าง
คุณคิดว่าการได้อยู่ในสังคมที่ไม่ต้องเจอมลพิษ มันเป็นสิทธิที่เราควรได้รับไหม
มันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน มันกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะทุกคนต้องหายใจ เรามีสิทธินี้นะ แต่เราต้องรับมลพิษเหล่านี้เข้ามาแบบไม่เต็มใจ สมมติว่ารัฐบาลจัดการปัญหาได้ดีทุกอย่างแล้ว และบอกว่าเดี๋ยวมันจะมีพื้นที่หนึ่งว่าจะมีแหล่งกำเนิดฝุ่นมาตั้ง และมีการปรึกษากับชุมชนแถวนั้นว่าจะมีผลกระทบอะไร และจะมีบทลงโทษถ้าทำอะไรเกินไปบ้าง
ถ้าคนในพื้นที่รับได้ มันก็เป็นความเต็มใจที่ชุมชนพร้อมรับความเสี่ยงในกติการ่วมกัน แต่สถานการณ์มลพิษทางอากาศตอนนี้ เราไม่เต็มใจ มันต้องจำยอมรับสิ่งนี้เข้ามา เพราะเราหายใจเข้าไป มันก็เป็นการละเมิดสิทธิดีๆ นี่เอง โดยที่ทุกคนถูกละเมิดในระดับที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าคนที่อยู่บนถนน อยู่ในห้อง อยู่ในสำนักงาน ทุกครั้งที่เราสูดมลพิษเข้าไป มันคือการถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะได้หายใจเอาอากาศดีเข้าไป
ซึ่งสิทธินี้เราควรจะได้รับการปกป้องจากรัฐ
ใช่ รัฐมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะถูกร่างโดยใครก็ตาม มันเป็นสิทธิที่ควรจะถูกปกป้อง ยิ่งเรามีความโปร่งใสในการจัดการคุณภาพอากาศ โดยเปิดให้คนมีส่วนในการคิดว่าเราจะจัดการปัญหานี้ยังไงมากขึ้น มลพิษทางอากาศมันจะค่อยๆ ดีขึ้น อากาศมันจะสะอาดขึ้น ไม่ใช่ว่าเรามีแค่มาตรฐาน ไม่ใช่โดยอำนาจของรัฐที่ตั้งออกมาแบ่งเกณฑ์ต่างๆ คือคุณต้องเปิดให้มีเวทีของคนตั้งแต่ระดับคนใช้ชีวิตบนถนน ไปจนถึงคนระดับผู้บริหารบนตึกสูงๆ มาวางแผนว่ากรุงเทพจะมีอากาศดีได้ยังไง
ข้อเสนอของกรีนพีซคืออะไร
มันมีกรณีที่เชียงใหม่ซึ่งมีกลุ่มประชาคม ระหว่างภาคประชาชน นักวิชาการ และหอการค้า พวกเขาคิดดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพของชาวเชียงใหม่ขึ้นมา มันเป็นดัชนีที่เตือนว่าไม่ต้องมีค่าฝุ่นถึง 50 มันก็แย่แล้ว และควรออกประกาศแจ้งเตือนประชาชนทันที อันนี้คือ Air Quality Health Index ซึ่งมันแยกออกมาจาก Index ของกรมควบคุมมลพิษ มันเป็นข้อตกลงประชาคม แม้ไม่มีผลบังคับในทางกฎหมาย
กรุงเทพมันก็ต้องตกลงกันเองเหมือนกัน เพราะผลกระทบสุขภาพมันไม่ได้เริ่มต้นที่ค่า 90 บางทีมันกระทบตั้งแต่ค่าเกิน 25 ตอนนี้เวลาเตือนกลุ่มเสี่ยงเขาเตือนที่ค่า 51 ขึ้นไป แต่ถ้าเป็นที่เชียงใหม่หากยึดตามเกณฑที่ยกมานี้ เขาอาจจะเริ่มเตือนตั้งแต่เมื่อค่ามันเกิน 35
เราจะแก้ปัญหายังไงไม่ให้เรื่องแย่ๆ แบบนี้ตกทอดไปถึงคนรุ่นหลังจากเรา
กรุงเทพต้องรื้อความล้าหลัง และความอุ้ยอ้ายของระบบราชการที่เกี่ยวกับการจัดการคุณภาพอากาศออก ไม่อย่างนั้น มันจัดการไม่ได้ ผมเห็นใจกรมควบคุมมลพิษนะ เพราะเขาไปสั่งกรมโรงงานไม่ได้ สั่งผังเมืองไม่ได้
เราต้องอาศัยคนที่ตื่นตัวในการคิดอะไรใหม่ๆ ทำแบบที่เชียงใหม่ทำ การที่เชียงใหม่ทำแบบนี้ จริงอยู่ที่ตัวอย่างในเชียงใหม่มันยังไม่สมบูรณ์แบบ เพราะยังมีปัญหาหลายอย่าง แต่การที่เขาเสนอให้มีเกณฑ์ใหม่ขึ้นมา มันก็เป็นจังหวะแรกที่สะท้อนว่า เราต้องคนและสุขภาพเป็นตัวตั้ง
ถ้าเราเอาคนเป็นตัวตั้ง คุณภาพชีวิตคนจะดีขึ้น สังคมและเศรษฐกิจก็จะดีขึ้นเอง