ถ้าพูดถึง ‘ฝุ่น’ แต่ละคนมีภาพจำกับมันแบบไหน?
สำหรับคนส่วนใหญ่ที่อยู่อาศัยในเมืองหลวง เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวก็จะเป็นที่รู้กันว่าค่าฝุ่น และคุณภาพอากาศจะเปลี่ยนจากสีเขียว-เหลือง ไปเป็นสีส้ม-แดง และบางครั้งไปถึงม่วง ซึ่งการห้ามเผา รณรงค์ให้ใช้ขนส่งสาธารณะ ไปจนถึงการประกาศให้ทำงานที่บ้าน ก็พอจะช่วยบรรเทาปัญหาสุขภาพคนเมืองไปได้บ้าง
แต่สำหรับ ‘คนเหนือ’ ที่ต้องเผชิญกับมันอยู่ทุกๆ ปี ในเวลาที่ยาวนานกว่าภาคอื่นๆ ได้เปลี่ยนภาพฤดูฝุ่นให้กลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่ค่อยๆ กัดกินทั้งคุณภาพชีวิต และวิถีของพวกเขาไปเรื่อยๆ จนนำมาสู่การเรียกร้อง และตั้งคำถามถึงการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนจากภาครัฐ
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา The MATTER ลงพื้นที่ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นจังหวัดที่ขึ้นชื่อว่า เผาหนัก และมีฝุ่น-ควันปกคลุมหนาอยู่ตลอดทุกปี อีกทั้งยังเป็นจังหวัดที่กำลังเผชิญกับไฟป่าภาคเหนืออยู่ในตอนนี้ด้วย เพื่อรับฟังผลกระทบที่พวกเขาได้รับ พร้อมส่งต่อ ‘เสียง’ ที่รัฐอาจจะยังไม่ได้ยิน
“เป็นห่วงหลาน อยากให้มีระบบป้องกันเหมือนกัน แต่นี่ถ้าเที่ยงแล้วก็จะเอาหลานเข้าบ้านไม่ให้ออกจากบ้าน เพราะที่บ้านมีลมผ่านตลอด ก็พอจะอยู่ได้หน่อย”
เสียงจาก ‘ลุงผ่อน’ ชายวัย 70 หน้าตาใจดีที่กำลังอุ้มหลานชายตัวเล็กที่อายุไม่เกิน 2 ขวบ เดินเล่นอยู่หน้าบ้าน

อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน (กุมภาพันธ์ 2568) / Photographer: Asadawut Boonlitsak
ลุงผ่อน เป็นอดีตทหารที่ใช้ชีวิตวัยเกษียณไปกับการเลี้ยงหลานตัวน้อย เล่าให้เราฟังว่า ฝุ่นสำหรับที่นี่ (แม่ฮ่องสอน) เป็นเรื่องที่ต้องเผชิญกันอยู่ทุกปี ซึ่ง ‘ควัน’ จะเริ่มปกคลุมไปทั่วช่วงราวๆ เดือน กุมภาพันธ์ ไปจนถึงเมษายน และสาเหตุก็มาจากการทำไร่เลื่อนลอย
“อย่างปีที่แล้วก็มีทั้งฝุ่น ทั้งควัน แต่ทางดอยนู้น ช่วงมีนาคม-เมษายน เขาจะเผาป่ากัน ช่วงนั้นนะ แสบหูแสบตาไปหมด” ลุงผ่อนเล่าพร้อมกับชี้นิ้วไปที่ภูเขาลูกหนึ่งที่อยู่ห่างจากหน้าบ้านแกไปไม่ถึง 10 กม.
เราถามแกถึงมาตรการห้ามเผาที่ภาครัฐจัดทำขึ้นมาเพื่อลดปริมาณฝุ่นควัน ลุงผ่อนอมยิ้มและบอกว่า “มันก็มีนะห้ามเผาน่ะ แต่คนไปดูแลมันไม่ทั่วถึงบนดอยนู่นน่ะ”
“แล้วพวกที่มาหาเสียงตอนเลือกตั้งนะ ตอนหาเสียงนโยบายดีที่สุดแต่พอได้เป็นก็หาย ไม่เคยเข้ามาคุยด้วยเลย ระบบในไทยเราเป็นกันแบบนั้น เคยไปรวมตัวแจ้งตอนฝุ่นเยอะๆ ทำทุกอย่างแล้ว แต่เขาก็ไม่ทำแบบที่พูดไว้ เราก็เสียความรู้สึก” ชายวัย 70 กล่าวทิ้งท้าย

ถนนคนเดิน อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน (กุมภาพันธ์ 2568) / Photographer: Asadawut Boonlitsak
ก่อนหน้านี้ ‘อำเภอปาย’ กลายเป็นกระแสขึ้นมาบนหน้าข่าว จากปัญหานักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลที่แห่แหนกันเข้ามา แต่อีกประเด็นที่เมืองท่องเที่ยวเล็กๆ แห่งนี้ต้องเผชิญคู่กัน คือพวกเขาต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพ ที่ยังคงส่งผลต่อชีวิตพวกเขามาอย่างต่อเนื่อง
“พี่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับปอดมาตั้งแต่ช่วง COVID-19 แล้ว เป็นธาลัสซีเมียด้วย เลยหนักเลย ต้องส่งเครื่องปล่อยออกซิเจนจากกรุงเทพฯ มาใช้ที่นี่”
เสียงจาก ‘แม็กซ์’ เจ้าของร้านค้าเล็กๆ หลังถนนคนเดิน เล่าถึงความยากลำบาก และปัญหาสุขภาพของเธอในช่วงที่เข้าสู่ฤดูฝุ่น
“ถ้าดูตอนเย็นๆ นะ จะเห็นเลยว่าฝุ่นมันชัดมาก ซึ่งก็ยังไม่มีใคร หรือหน่วยงานไหนเข้ามาพูดคุยด้วยเลย แต่ตอนนี้ก็มีการปราบปรามการเผาอยู่” พี่นก หญิงวัยกลางคนญาติของแม็กซ์ที่นั่งอยู่ในวงสนทนาเริ่มเล่า
“เดินออกมาจากบ้านบางทีแสบตา เคืองตากันไปหมด ซึ่งตอนที่เปิดร้านมันก็จำเป็นต้องเปิดประตู เปิดหน้าต่าง เราก็ต้องรับฝุ่นเข้าไปทุกวัน มันทำอะไรไม่ได้เนอะ ต้องใส่หน้ากากอนามัยเอา เพราะไม่ได้ซื้อเครื่องฟอกอากาศ” พี่นกเล่าต่อ

อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน (กุมภาพันธ์ 2568) / Photographer: Asadawut Boonlitsak
เมื่อถามคำถามเดียวกับที่ถามกับลุงผ่อน พี่นกตอบในทันทีว่า “เราทำอะไรเขาไม่ได้หรอก เพราะเขาเผากันรอบนอก พอมันไหม้ก็ลามมาตามลม ถึงจะปราบก็เอาไม่อยู่หรอก เราก็ไม่คาดหวังอะไรหรอกเพราะมันเป็นอย่างนี้ทุกปี เผากันตลอด”
“พี่ต้องพาลูกไปอยู่ที่อื่น เพราะถ้าป่วยที่นี่เครื่องมือรักษามันมีไม่พอ บางทีก็ลงไปเชียงใหม่ แต่ก็ต้องทำเพราะลูกเราได้รับผลกระทบมากๆ”
‘เผากันทุกปี’ รากลึกปัญหาฝุ่นภาคเหนือ
เพื่อขยายความคำว่า ‘เผากันทุกปี’ ที่ได้ยินจากลุงผ่อนและพี่นกก่อนหน้านี้ เรารู้กันแค่ว่าภาคเหนือเผชิญไฟป่าอยู่บ่อยครั้ง แต่มันบ่อยจริงแค่ไหนกัน? อิงตามข้อมูลบนเว็บไซต์ สํานักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA พบว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นพื้นที่ที่มีจุดความร้อนสูงที่สุด 581 จุด รองลงมาเป็นเชียงใหม่ 162 จุด และตาก 96 จุด (สถิติถูกบันทึกเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568)

ถนนคนเดิน อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน (กุมภาพันธ์ 2568) / Photographer: Asadawut Boonlitsak
นอกจากนี้ เมื่อย้อนกลับไปดูพื้นที่ที่เผาไหม้มากที่สุดในปี 2566 ของ GISTDA พบว่า จังหวัดที่มีพื้นที่เผาไหม้มากที่สุดรวมกันคือ แม่ฮ่องสอน ที่ 1,761,038 ไร่ ขณะที่ปี 2568 ลดลงมาเหลือ 1,415,058 ไร่ แต่ก็ยังถือว่าสูงที่สุดในบรรดาจังหวัดภาคเหนือ
ขณะที่เว็บไซต์ IQAir รายงานคุณภาพอากาศใน อำเภอปาย ณ วันที่ 3 เมษายน 2568 (เวลา 11.00 น.) ไว้ที่ 129.5 มคก./ลบ.ม. ซึ่งเป็นคุณภาพอากาศที่มีผลกระทบต่อทุกคนอย่างรุนแรง โดยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากไฟป่าที่กำลังลุกลามไปทั่วภาคเหนืออยู่ในขณะนี้
ข้อมูลเหล่านี้ คือสิ่งที่ช่วยยืนยันว่า คนแม่ฮ่องสอนต้องรับมือกับฝุ่นควันที่หนาแน่นในช่วงฤดูฝุ่นและช่วงที่มีไฟป่า ซึ่งสำหรับ ‘อุ้ย’ เจ้าของร้านอาหารตามสั่งบนถนนคนเดินปาย ได้แต่หวังให้ฝนตกลงมาเพื่อบรรเทาอาการแสบตา และเพิ่มอากาศดีๆ ให้หายใจบ้าง
“หายใจไม่ค่อยออก ต้องใช้ผ้าปิดปาก ปิดหน้า ไม่ค่อยได้ออกไปไหนหรอกมันแสบตา เพราะควันเนี่ยแหละ เทศบาลก็เอาน้ำมาฉีดตามถนนอยู่แต่มันไม่ช่วยอะไรหรอก มันเหมือนเดิมนั่นแหละ”
อุ้ยเล่าและบอกด้วยว่า ถ้ามีฝนตกลงมาก็จะช่วยให้อะไรๆ ดีขึ้นมาบ้าง

อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน (กุมภาพันธ์ 2568) / Photographer: Asadawut Boonlitsak
เจ้าของร้านอาหารตามสั่งรายนี้บอกทิ้งท้ายว่า ถึงปีนี้จะไม่ให้เผา มันก็ลอยมาจากที่อื่นอยู่ดี บนดอยเขาเผากันเยอะแล้วมันก็ลอยมาตามลม บางที่แห้งมากๆ ก็ลามเยอะ
แม่ฮ่องสอน – จังหวัดยากจนที่ไร้โอกาสแม้แต่ ‘หน้ากากกันฝุ่น’
นอกเหนือจากเสียงของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบแล้ว The MATTER ยังได้พูดคุยกับบุคลากรทางการแพทย์ ที่ทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งต้องแลกมาด้วยสุขภาพของตัวพวกเขาเอง และความยากลำบากในการรักษาคนไข้
“ถ้าลดฝุ่นได้ก็ดี แต่ถ้าลดไม่ได้ก็ช่วยซัพพอร์ตบุคลากรหน่อย เช่น เพิ่มอุปกรณ์ต่างๆ หรือเพิ่มจำนวนคนให้หน่อย”
หมอส้ม (นามสมมติ) พูดคุยกับเราโดยขอสงวนชื่อจริงจากเหตุด้านความปลอดภัย เริ่มเล่าถึงการทำงานของเธอในช่วงฤดูฝุ่น
หมอส้มเล่าว่า พื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นแอ่งกระทะ ให้ความรู้สึกเหมือนมีคนเอาอะไรมาปิด สถานการณ์ฝุ่นเลยหนักอยู่แค่จุดนี้ โดยเฉพาะช่วงพีค ค่าฝุ่นจะสูงไปถึง 700-800 ระดับสีม่วง ซึ่งคนไข้มักจะมาหาหมอกันตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป และจะเริ่มซาลงในช่วงก่อนหน้าฝน
“ซึ่งการทำงานของหมอเอง ก็จะได้เจอคนไข้ที่บางคนเขาเซนซิทีฟกับฝุ่นมาก บางคนมาด้วยโรคทางเดินหายใจ ต้องใส่ท่อช่วย หนักจนถึงขั้นต้องแอดมิดก็มี แต่ที่มันเยอะเพราะบางคนเป็นชาวเขา ชาวดอยที่ไม่มีแก๊สใช้ เขาจำเป็นต้องก่อไฟ เลยทำให้ควันเหล่านั้นมันไปกระตุ้นให้ป่วย” หมอส้มเล่า

อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน (กุมภาพันธ์ 2568) / Photographer: Asadawut Boonlitsak
หมอส้มบอกว่า นอกจากโรคทางเดินหายใจแล้ว ความเสี่ยงนี้ยังไปตกอยู่กับคนที่มีโรคหัวใจ และกลุ่มเปราะบางอย่างผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวานและความดัน ซึ่งก็จะได้รับผลกระทบกันไปด้วย “สำหรับกลุ่มเปราะบางนี้ มีเยอะมากในแม่ฮ่องสอน ปัญหาพวกนี้ไม่ได้มีแค่ในจังหวัดใหญ่อย่างเชียงใหม่ แม้ว่าคนในจังหวัดจะไม่ได้มากกว่า แต่ก็มีปัญหานี้อยู่เช่นเดียวกัน”
เราถามหมอรายนี้ว่าประสบกับการขาดแคลนเครื่องมือทางการแพทย์หรือไม่ ซึ่งเธอตอบว่า ‘เครื่องช่วยหายใจ’ เป็นสิ่งที่กำลังขาดแคลน เนื่องจากมีคนไข้ที่มีอาการเหนื่อยหอบหลังจากเผชิญฝุ่นเข้ามารักษาเป็นจำนวนมาก ประกอบกับการออกแบบโซนรอตรวจของโรงพยาบาลเป็นแบบเปิดโล่ง ทั้งพยาบาลและคนไข้จึงต้องนั่งรอท่ามกลางสภาพอากาศที่มีแต่ฝุ่นพิษ “เราสงสารทั้งคนไข้ ทั้งพยาบาลที่ทำงานอยู่ตรงนั้นมาก เพราะมันไม่ได้มีเครื่องฟอกอากาศ หรือระบบกรองฝุ่นใดๆ เหมือนกับห้องตรวจของหมอ”
หมอส้มให้ความเห็นว่า ปัญหาเรื่องฝุ่นไม่ใช่แค่ปัญหาของประเทศเราเพียงอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาของประเทศเพื่อนบ้านเราด้วย จึงเข้าใจว่าบางอย่างมันควบคุมไม่ได้ หากแต่รัฐสนับสนุนอุปกรณ์การแพทย์ หรือแจกหน้ากากอนามัยให้กับชาวบ้านสักหน่อย ก็น่าจะช่วยบรรเทาปัญหาลงได้บ้าง
“เพราะต้องพูดตรงๆ ว่า แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่ยากจน ชาวบ้าน ชาวดอยบางคนเขาไม่มีโอกาสเข้าถึงหน้ากากอนามัย ซึ่งถ้ารัฐเข้ามาสนับสนุนในส่วนนี้ก็น่าจะดีขึ้น”
ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงเสียงของชาวบ้านและบุคลากรทางการแพทย์จากหนึ่งจังหวัดเล็กๆ ในภาคเหนือที่ได้รับผลกระทบอยู่ทุกปี เช่นเดียวกับจังหวัดใหญ่ในภูมิภาคเดียวกัน
ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า ฝุ่น ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต และสุขภาพของผู้อยู่อาศัยอยู่อย่างต่อเนื่องจริงๆ
Photographer: Asadawut Boonlitsak
Graphic Designer: Krittaporn Tochan
Editor: Thanyawat Ippoodom