เมื่อสังคมมองเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในแง่ของศีลธรรมมากกว่าวัฒนธรรม จึงทำให้น้ำเมา ไม่ว่าจะเหล้า เบียร์ ไวน์ หรือค็อกเทล ถูกตีตรามาอย่างยาวนานว่าเป็นสิ่งเสื่อมทราม นำไปสู่ความหายนะ ถึงขั้นที่ต้องออกกฎหมายเพื่อควบคุมกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งการผลิต การเก็บภาษี การจำหน่าย การเข้าถึง การนำเข้า ไม่เว้นแม้แต่กฎหมายควบคุม ‘การโฆษณา’ อย่าง ‘พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551’ ที่หลายคนกำลังสงสัยถึงการมีอยู่ในขณะนี้
พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถูกบังคับใช้เมื่อ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2551 หากใครยังคงจำได้ เหล่าดาราคนดังถูกไล่เช็กบิลกันเป็นกะตัก จากการโพสต์รูปภาพเหล้าเบียร์ลงโซเชียลมีเดีย ซึ่งเข้าข่ายการโฆษณาและสื่อสารการตลาด
แต่จู่ๆ ในปี พ.ศ.2563 ก็เกิดกระแสอีกครั้งหลังประชาชนทั่วไปและผู้ประกอบการหลายราย ได้รับ ‘ใบแจ้งค่าปรับ’ เดลิเวอรี่ส่งตรงถึงที่บ้าน โดยไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า เป็นจำนวนทั้งสิ้น 50,000 บาท ส่งผลให้หลายคนเคลือบแคลงใจว่า กฎหมายนี้มีขึ้นเพื่อกดสิทธิเสรีภาพของประชาชนหรือเปล่า
The MATTER ได้พูดคุยกับ เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ผู้พยายามผลักดันคราฟต์เบียร์เข้าสู่สภา และ ธนากร คุปตจิตต์ นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย หรือ TABBA เกี่ยวกับพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขอบเขตในการควบคุมการนำเสนอ และผลกระทบต่อผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อย
เมื่อการโพสต์รูปเบียร์กลับมาเป็นเรื่องต้องห้ามอีกครั้ง
น่าแปลกใจที่กฎหมายนี้ถูกบังคับใช้มาหลายสิบปี และเงียบหายไปนานหลังจากที่เหล่าดาราโดนปรับ แต่จู่ๆ ก็กลับมาฮือฮาอีกครั้งในปี พ.ศ.2563 และไม่ใช่คนมีชื่อเสียงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประชาชนทั่วไป ทั้งที่มีเจตนาและไม่ได้มีเจตนาโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เริ่มได้รับใบแจ้งค่าปรับที่ถูกส่งมายังตามบ้านเป็นจำนวนมาก
ซึ่งเท่าพิภพและธนากรเห็นตรงกันว่า อาจเพราะช่วงCOVID-19 ที่ผ่านมา มีมาตรการเพื่อความปลอดภัยโดยสั่งปิดกิจการและสถานบันเทิง ส่งผลให้ผับ บาร์ ร้านอาหารที่จำหน่ายสุราขาดรายได้ โดยเฉพาะธุรกิจเครื่องดื่มประเภทคราฟต์ อย่างค็อกเทลและคราฟต์เบียร์ ที่สินค้ามีอายุสั้น หากไม่รีบจำหน่ายหรือบริโภค อาจทำให้สินค้าเสื่อมคุณภาพและเสียรสชาติ
การปรับตัวของธุรกิจคราฟต์ในช่วงนั้น จึงมีแค่ทางเลือกเดียว นั่นก็คือการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งมาตรการความปลอดภัยไม่ได้ห้ามเอาไว้ แต่การจำหน่ายสินค้าออนไลน์ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากการจำหน่ายที่หน้าร้าน ที่ผู้บริโภคจำเป็นจะต้องเห็นตัวสินค้า และทราบรายละเอียดสินค้า ตามสิทธิที่ผู้บริโภคพึงมี
“การขายผ่านออนไลน์ไม่ต่างอะไรจากการเดินไปที่จุดขาย หรือซูปเปอร์มาร์เก็ตที่มีเครื่องดื่มวางเรียงรายบนชั้น เราจำเป็นต้องเห็นสินค้า เห็นรายละเอียด ไม่ใช่จู่ๆ เดินไปบอกว่าเอาเหล้าชนิดนั้นชนิดนี้ แต่พอเป็นการบรรยายสรรพคุณที่ว่านี้บนออนไลน์ ทำไมถึงกลายเป็นเรื่องผิด” ธนากรเสริม
ประภาวี เหมทัศน์ ผู้ประสานงานสมาพันธ์คราฟต์เบียร์แห่งประเทศไทย ได้รวบรวมคำร้องเรียนจากผู้ได้รับผลกระทบ และเผยให้เราฟังว่า ประชาชนที่แจ้งเรื่องเข้ามา มีทั้งผู้ประกอบการ และไม่ใช่ผู้ประกอบการ แน่นอนว่าร้านคราฟต์เบียร์และร้านค็อกเทลที่ลงขายสินค้าบนออนไลน์คงหนีไม่พ้น
แต่บางคน ลงรูปเพื่อรีวิวเบียร์หรือค็อกเทลในช่องทางส่วนตัว โดยไม่ได้รับค่าจ้างจากแบรนด์ ก็โดนปรับ เนื่องจากมีรูป โลโก้ และรายละเอียดเครื่องดื่ม รวมไปถึงแอดมินเพจคอมมิวนิตี้คราฟต์เบียร์หลายเพจก็โดน แม้จะไม่ได้มีการโฆษณาสินค้าใดๆ เพียงแค่พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลคราฟต์เบียร์กันเท่านั้น
เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ว่าคนทั่วไปมีสิทธิ์ที่โดนปรับมากน้อยแค่ไหน หรือแค่ไปดื่มสังสรรค์กับเพื่อนแล้วติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาในรูปจะโดนปรับมั้ย ประภาวีบอกว่า สิ่งที่เจ้าหน้าที่จะพิจารณาหลักๆ คือคนที่มีแนวโน้มจะเป็น ‘อินฟลูเอนเซอร์’ หรือมียอดผู้ติดตามค่อนข้างเยอะ รวมถึงโพสต์นั้นมีข้อความพรรณาถึงสรรพคุณของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น การรีวิวสินค้า การพูดถึงสินค้าตรงๆ โดยมีรูปและโลโก้ชัดเจน ฉะนั้น ในกรณีคนทั่วไป อาจจะยังไม่โดนปรับง่ายๆ ในตอนนี้ หรือท้ายที่สุด ก็คงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ว่าจะเอาผิดหรือไม่ แต่ดุลยพินิจที่ว่านี้เอง ก็ดูเหมือนจะสร้างช่องโหว่ขนาดใหญ่ให้กับกฎหมายจนเกิดความไม่ยุติธรรม
ช่องโหว่ของกฎหมาย และความไม่ชัดเจนของดุลยพินิจ
สิ่งที่น่าสนใจของกฎหมายควบคุมนี้ คือความกำกวมที่ซ่อนอยู่ในคำว่า ‘ดุลยพินิจ’ ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งกว้างใหญ่ไพศาลเกินกว่าจะสรุปได้ว่า การกระทำแบบไหนกันแน่ที่เข้าข่ายมีความผิด
“ปัญหาก็คือความกำกวมนี่แหละครับ คนคิดไปอย่างหนึ่ง เจ้าหน้าที่คิดไปอย่างหนึ่ง ทุกคนคิดในฝั่งของตัวเอง นั่นแหละคือปัญหา ถ้าในความเห็นผม มันเกิดจากการตีความกฎหมายที่ไม่ชัดเจน จนทำให้ประชาชนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ได้รับโทษไปด้วย เราควรตั้งคำถามว่ามันเป็นการใช้ดุลยพินิจเกินขอบเขต เป็นการใช้ข้อกฎหมายเอาผิดคนอย่างกว้าง และกระทบประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในทางสุจริตหรือเปล่า” เท่าพิภพให้ความเห็น
นอกจากดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ที่ทั้งกว้างและมีความปัจเจก โดยใครจะมองว่าใครผิดก็ได้ ถูกก็ได้ แล้วแต่จะพิจารณา ด้านธนากรก็ได้กล่าวว่า การไล่จับประชาชนโพสต์รูปเบียร์ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ขณะนี้ เกิดขึ้นจาก ‘มูลเหตุจูงใจทางอ้อม’ ของเจ้าหน้าที่ด้วยเช่นกัน
“นอกจากดุลยพินิจ ยังมีเรื่องของ ‘สินบนรางวัล’ ซึ่งเป็นมูลเหตุจูงใจทางอ้อมที่ทำให้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ไม่เสมอภาค ทุกคนได้รางวัลนำจับสูงสุด 80% ของค่าปรับ ไม่ว่าจะเป็นคนที่ไปแจ้งความ เจ้าหน้าที่ที่ไปจับ เจ้าหน้าที่ที่สอบสวน แล้วแบบนี้จะเกิดความยุติธรรมได้ยังไง ในเมื่อใครๆ ก็อยากจับ จริงๆ ควรจะยกเลิกเรื่องสินบนรางวัลด้วยซ้ำ
แต่ถ้าถามว่ากฎหมายอื่นๆ มีเรื่องสินบนรางวัลมั้ย มีแน่นอน อย่างยาเสพติดที่มีรางวัลนำจับ เพราะเป็นภัยต่อสังคม เป็นความเสี่ยง ปัญหาจราจรมีรางวัลนำจับ ก็เพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน แต่ไม่ควรจะมีสัดส่วนถึง 80% เพราะจะเป็นการชักจูงให้เจ้าหน้าที่มีมูลเหตุจูงใจ”
“การมีมูลเหตุจูงใจส่งผลต่อดุลยพินิจของคน
และชักจูงให้เจ้าหน้าที่จับผิดประชาชน”
เมื่อพูดถึงบทลงโทษอย่าง ‘ค่าปรับ’ ที่สูงถึง 50,000 บาท มีคนตั้งคำถามว่า ทำไมความผิดฐานโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถึงมีบทลงโทษมากกว่าความผิดฐานเมาแล้วขับ ที่มีบทลงโทษเพียง 10,000-20,000 บาท หรือหากเมาแล้วขับ จนทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ก็มีค่าปรับ 60,000-200,000 บาท ซึ่ง 200,000 บาทนี้ ก็ยังน้อยกว่าค่าปรับขั้นสูงสุดของความผิดฐานโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 500,000 บาท แต่แทบไม่ได้สร้างความเสียหายหรือทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายเลย
เท่าพิภพช่วยคลายความสงสัยให้ว่า กฎหมายข้อนี้มีความล้าหลัง และยังไม่มีการอัปเดต เพราะเดิมเป็นกฎหมายที่มีไว้เพื่อห้ามผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่โฆษณาสินค้าของตัวเอง ค่าปรับจึงมีราคาสูงถึง 50,000 บาท ยังไงบริษัทหรือห้างร้านก็มีจ่ายแน่นอน และคนทั่วไปก็คงไม่ไปลงหนังสือพิมพ์ ออกอากาศ หรือติดป้ายว่าตัวเองกำลังดื่มเหล้า
ค่าปรับนี้จึงไม่ได้มีไว้สำหรับคนทั่วไป หรือผู้ประกอบรายย่อยหน้าใหม่ ถ้าเป็นคนทั่วไป ค่าปรับคงอยู่ที่ประมาณ 500-2,000 บาท เหมือนโทษอื่นๆ และในยุคสมัยที่โซเชียลมีเดียเข้ามา ใครก็สามารถโพสต์ได้ ซึ่งทุกอย่างกลายเป็นโฆษณาและสื่อสารการตลาดโดยไม่รู้ตัว กฎหมายก็ควรมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เหมาะสม
แต่ถึงแม้ค่าปรับจะสูงลิ่วเทียบเท่าความผิดทางอาญาอื่นๆ แต่ก็มีผู้ที่ยอมจ่าย แม้ตัวเองจะไม่ได้เข้าข่ายความผิดตามที่กฎหมายระบุ ธนากรอธิบายให้ฟังว่า เจ้าหน้าที่มักจะแนะนำให้จ่ายค่าปรับ เพื่อที่จะได้จบเรื่องไวๆ แต่ถ้าไม่ยากจบก็ไปต่อที่ชั้นศาล ซึ่งการไปศาลต้องทำอะไรบ้าง อย่างแรกต้องมีการประกันตัว และการประกันตัวก็ใช้เงินจำนวนพอๆ กับค่าปรับ จึงทำให้หลายคนเลือกที่จะจ่ายค่าปรับ ไม่ดำเนินคดีต่อ
และการเสียค่าปรับในขั้นตอนแรกก็ไม่ใช่เรื่องยากลำบากอะไร เพราะถ้าหากใครไม่มีเงินจำนวน 50,000 บาท ก็สามารถ ‘ผ่อนจ่าย’ ได้เรื่อยๆ เห็นสะดวกสบายแบบนี้ ก็คงไม่มีใครอยากยุ่งยากไปสู้ต่อในชั้นศาล ทำให้ที่ผ่านมายังไม่มีการสู้คดีนี้อย่างจริงจังสักที
เราต้องปรับหรือกฎหมายต้องเปลี่ยน?
เมื่อเกิดกระแสความไม่พึงพอใจต่อข้อกฎหมายทั้งในภาคผู้บริโภคและผู้ประกอบการ คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วกฎหมายนี้ยังจำเป็นอยู่หรือไม่? ถ้าจำเป็น ควรมีการแก้ไขอย่างไรเพื่อให้เหมาะสม หรือไม่เอารัดเอาเปรียบประชาชนในหลายภาคส่วน?
เท่าพิภพมองว่า กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นี้ยังมีความจำเป็นอยู่ เพราะหลักการทั่วไปของกฎหมายย่อมมีเจตนารมณ์ที่ดี และรัฐสามารถเอาสิทธิเสรีภาพของประชาชนไป เพื่ออ้างความปลอดภัยของประชาชนเอง อย่างในกรณีนี้ หากบริษัทเบียร์รายใหญ่ตั้งป้ายโฆษณาที่ป้ายรถเมล์หน้าโรงเรียน ก็คงจะดูไม่เหมาะสม
แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายควรจะบังคับใช้อย่างชัดเจน และต้องได้สัดส่วนที่เท่าเทียมกัน ระหว่างความปลอดภัยและความเสรีภาพ อีกทั้ง ไม่ควรตีความเกินเจตนารมณ์หรือตีความกว้างเกินไป จนทำให้คนธรรมดาได้รับความเดือดร้อนไปด้วย เพราะแบบนั้นจะดูเหมือนเป็นการหว่านแหเพื่อหาคนผิด โดยที่บางคนไม่มีความผิดเลย
“ตามหลักกฎหมายอาญาทั่วไป
ถ้ามีคนทำผิด ต้องมีการพิสูจน์ว่าเขาผิดจริง
ไม่ใช่บอกว่าคนคนนั้นทำผิดไว้ก่อน
แล้วค่อยให้เขามาแก้ตัวทีหลัง”
ในส่วนของการเคลื่อนไหวที่กำลังจะเกิดขึ้น เท่าพิภพชี้แจ้งว่า ตอนนี้มีการยื่นหนังสือเพื่อร้องเรียนความเสียหาย และเร็วๆ นี้ เขาจะตั้งคณะอนุกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยจะชวนชาวบ้านที่ผลิตสุรา เจ้าของโรงไวน์ โรงเหล้า มาพูดคุยถึงข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรคและไม่เหมาะสม เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอุตสาหกรรมต่อไป
ส่วนธนากรเสนอในมุมของกฎหมายว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 77 “รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่างๆ ได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง”
เมื่อมีมาตรานี้ออกมา ก็ได้มีกฎหมายลูกเกี่ยวกับ ‘การประเมินผลสัมฤทธิ์’ ของกฎหมายขึ้น ซึ่งอาจนำไปใช้เพื่อหาข้อยุติหรือถอดถอนกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ แต่นั่นก็คือการแก้ไขปัญหาในระยะยาวที่จำเป็นต้องใช้เวลา และต้องผ่านหลายกระบวนการ ดังนั้น ในระยะเร่งด่วนที่สามารถทำได้ก็คือ ในช่วงโควิด-19 นี้ ที่มีมาตรการสั่งผิดกิจการและสถานบันเทิง ควรมี ‘การผ่อนปรน’ ให้ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สามารถสื่อสารการตลาดไปยังผู้บริโภคผ่านช่องทางออนไลน์ได้ เพื่อที่จะต่อลมหายใจให้ธุรกิจเหล่านี้ต่อไป
สุดท้ายนี้ สำหรับใครที่โดนใบแจ้งเก็บค่าปรับส่งมาถึงที่บ้าน ประภาวีเสนอว่า ตอนนี้อย่าเพิ่งรีบร้อนไปจ่ายค่าปรับกัน เนื่องจากคนส่วนใหญ่มักจะหลีกเลี่ยงการขึ้นศาล ที่ทั้งเสียเงิน เสียเวลา จึงยอมจ่ายค่าปรับในขั้นตอนแรก เพื่อให้เรื่องรีบจบไป ซึ่งอันที่จริงแล้ว ยังมีกระบวนการต่อสู้ที่มากกว่านั้น และสามารถทำได้ถ้าเรามั่นใจว่าเราไม่มีความผิด หรือมองว่ากฎหมายนี้ยังคงมีทางสู้ต่อไป
การปรับแก้ตัวบทกฎหมายให้เข้าใจง่าย ไม่กำกวม อาจเป็นทางออกของปัญหาในระยะสั้น อย่างน้อยๆ ก็ทำให้เรารู้ว่าควรทำตัวยังไง โพสต์ได้แค่ไหน พูดถึงได้หรือเปล่า แต่ในระยะยาว เราจะสามารถอยู่กับกฎหมายที่กดขี่สิทธิเสรีภาพได้หรือไม่ นั่นคือสิ่งที่ควรตั้งคำถาม เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคต