ตั้งแต่ข้ามมาปี ค.ศ.2020 คลื่นข่าวร้ายลูกใหญ่ซัดกระหน่ำเข้าฝั่งแบบไม่หยุดหย่อน ทุกๆ ต้นเดือนต้องมาคอยลุ้นว่า เดือนนี้จะมีข่าวร้ายอะไรเข้ามาให้รับมืออีก แต่บางเหตุการณ์เราก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่าติดตามข่าวสารอยู่เงียบๆ ซึ่งในยุคโลกาภิวัฒน์ ก็คงเป็นโซเชียลมีเดียที่ทำหน้าที่รายงานข่าวสารนั้นให้ทราบได้รวดเร็วที่สุด
หลายคนคงรู้สึกได้ว่า แต่ละวันนั้นผ่านไปด้วยเรื่องราวมากมาย เกินกว่าที่เราจะติดตามได้ครบทั้งหมด เพราะนอกเหนือจากความเคลื่อนไหวระดับโลก เหตุการณ์ความไม่สงบ หรือกระแสสังคมแล้ว ก็ยังมีเรื่องหยุมหยิมเล็กน้อยอย่างดราม่าของชาวบ้าน ที่มักจะโผล่มาได้ทุกเมื่อ ไม่เว้นแม้แต่กลางดึกกลางดื่น ทำให้จู่ๆ ก็ตาค้าง นอนไม่หลับ พร้อมกับเฝ้าติดตามสถานการณ์แบบวินาทีต่อวินาทีผ่านไทม์ไลน์ หรือแฮชแท็ก แม้เรื่องนั้นจะชวนเศร้าชวนหดหู่แค่ไหนก็ตาม แต่เราก็ยังคงไม่วางมือถือสักที เลื่อนมันอยู่อย่างนั้น โดยที่ไม่รู้ตัวว่ากำลังเข้าข่ายพฤติกรรมที่เรียกว่า ‘doom scrolling’
เลื่อนหน้าฟีดแล้วเศร้า แต่เราก็หยุดเลื่อนไม่ได้
ในช่วงโรคระบาด COVID-19 ที่ผ่านมา เกิดคำสแลงใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นเพราะพฤติกรรมผู้คนเปลี่ยนไปจากแต่ก่อน อย่างการเข้ามามีบทบาทของ Zoom แพล็ตฟอร์มเพื่อการประชุมออนไลน์ ก็ทำให้เกิดศัพท์อย่าง Zoom Bombing ที่ใช้เรียกเวลาที่ใครสักคนสร้างจุดสนใจขึ้นมาขณะที่กำลังวิดีโอคอล หรือ Corona Bae ที่ใช้เรียกคนที่เจอบนโซเชียลมีเดีย แล้วรู้สึกตกหลุมรัก
doom scrolling เอง ก็เป็นอีกคำศัพท์ที่ผุดขึ้นมาเพื่อใช้อธิบายพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียของผู้คนในช่วงนี้ ซึ่งระบาดพร้อมๆ กับโรค COVID-19 เพราะช่วงที่ผู้คนกักตัวอยู่ในบ้าน และมีเวลาอยู่กับหน้าจอมือถือเพิ่มมากขึ้น อันที่จริงก็เป็นพฤติกรรมที่ไม่ได้แตกต่างอะไรไปจากอาการติดโซเชียลมีเดียทั่วๆ ไปหรอก เพียงแต่ความแตกต่างอยู่ที่ เนื้อหาข่าวที่เรากำลังเสพ หรือติดตามอยู่ เป็นเนื้อหาที่ไม่ค่อยจรรโลงใจเลยนี่สิ เลื่อนไปก็เจอยอดผู้ติดเชื้อ ยอดผู้เสียชีวิต คนตกงาน เจ้าหน้าที่ขาดแคลนอุปกรณ์รักษา อ่านแล้วชวนหดหู่ใจ แต่เราก็ยังคงใช้เวลาอยู่บนหน้าจอเป็นเวลานานๆ เหมือนเป็นเวรกรรมยังไงยังงั้น จึงใช้คำว่า doom นำหน้า ที่มีความหมายว่า ‘เคราะห์ร้าย หรือชะตากรรม’
เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าทำไม doom scrolling ถึงได้มาระบาดในช่วง COVID-19 เพราะที่ผ่านมา เรายังไม่เคยเผชิญหน้ากับสถานการณ์โรคระบาดครั้งใหญ่ ที่ถึงขั้นทำให้เกือบทั้งโลกต้องชัตดาวน์มาก่อน ซึ่งถ้าหากไม่ใช่ด่านหน้าอย่างหมอ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หน้าที่หลักๆ ของเราก็คือการรักษาตัวเองให้ปลอดภัยภายในบ้าน คอยติดตามข่าวสารและวิธีการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องอยู่เสมอ ซึ่งโซเชียลมีเดียเองก็เป็นเครื่องที่ดีในการอัปเดตความเคลื่อนไหวและให้ความรู้ หลายคนจึงใช้เวลาหลายชั่วโมงช่วงกักตัวในบ้าน เลื่อนดูความเป็นไปที่เกิดขึ้นข้างนอก
แต่พอมาสังเกตดูดีๆ วันวันหนึ่งเราก็เจอไม่ได้เจอแค่สิ่งที่เราอยากจะอ่านเท่านั้น แต่ข่าวร้ายมักจะผ่านมาโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจจะให้ผ่านตา ทั้งข่าวฆ่าแกงกันตาย ข่าวข่มขืนคนในครอบครัว โพสต์ด่าคนคิดต่างทางการเมือง (และสารพัดข่าวที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นในประเทศที่เคลมตัวเองว่าเมืองพุทธ) นานๆ ทีจะเจอคลิปหมาแมวน่ารักๆ ที่จำได้ว่าเคยกดติดตามไปหลายเพจ แต่ปัจจุบันถูกข่าวเหล่านี้ก็มากลบหายไปหมดเอาซะได้ เพราะถึงแม้จะไม่ได้ติดตามด้วยตนเอง แต่เพื่อนร่วมไทม์ไลน์ก็แชร์มาให้เห็นอยู่ตลอด
และบางคนอาจจะหนักกว่านั้น ด้วยลักษณะของงานที่บังคับให้ต้องติดตามข่าวสารอยู่เรื่อยๆ เช่น นักข่าว นักสร้างคอนเทนต์ นักการตลาด ที่มีแนวโน้มจะเกิดอาการกลัวการตกข่าว (Fear Of Missing Out : FOMO) พวกเขาจึงเหมือนเป็นผู้ถูกสาปให้ต้องติดตามข่าวสารบ้านเมืองตลอดเวลา เพราะถ้าตกหล่นอะไรสักอย่างไป ก็จะรู้สึกกระวนกระวายและวิตกกังวลเป็นอย่างมาก
หยุดเลื่อนฟีดก่อนสุขภาพจิตพัง
ไม่ใช่แค่ข่าวร้ายที่สร้างผลกระทบให้กับสภาพจิตใจ เพราะแม้กระทั่งโพสต์ทั่วไป หรือโพสต์ส่วนตัว อย่างคนนั้นอัปเดทหุ่นหลังออกกำลังกาย คนนี้ไปกินของดีๆ เที่ยวที่ไกลๆ ก็อาจทำให้เกิดการเปรียบเทียบชีวิตเขา ชีวิตเรา รู้สึกเครียด วิตกกังวล กดดันที่จะใช้ชีวิตต่อ จนท้ายที่สุด นำไปสู่ความพึงพอใจในตัวเองที่ต่ำลง
มีผลการวิจัยหนึ่งในปี ค.ศ.2016 ได้ชี้ให้เห็นว่า ผู้ใช้งานบนเฟซบุ๊กที่เลื่อนผ่านไทม์ไลน์โดยไม่มีการคอมเมนต์ ไม่มีการตอบโต้ใดๆ กับโพสต์ หรือเรียกว่า ‘แอบส่องเงียบๆ’ (lurking) มีแนวโน้มที่จะประสบกับความเครียดและอารมณ์ดิ่งมากกว่าคนที่มีส่วนร่วม เพราะคนเหล่านี้ มักจะแอบเก็บเอาทุกสิ่งที่เห็นไปตีความหรือคิดต่อ ซึ่งถึงแม้อะไรเหล่านั้นจะเป็นแค่ภาพมายา แต่ก็สามารถกระทบอารมณ์และความพอใจในการใช้ชีวิตของตัวเองได้
รวมไปถึงคุณลักษณะของโซเชียลมีเดียที่เป็นการสื่อสารสองทาง (two-way communication) จึงไม่ใช่แค่คนใดคนหนึ่งเป็นผู้พูดเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายล้านบัญชี (หรือจะบอกว่าผู้ใช้งานทั้งหมดบนโซเชียลมีเดียเลยก็ว่าได้) ที่มีส่วนร่วมแบบ active สามารถไลก์ แชร์ ไปจนถึงตอบโต้ หรือแสดงความคิดเห็นได้ จนบางครั้ง ก็เป็นที่มาของอาการที่หลายคนเรียกกันว่า ‘ประสาทแดก’ (aka ปสด) ที่มักจะไปคอมเมนต์ด่าทอ แหกกันไปมา เพียงแค่ไม่เห็นด้วยกับชุดความคิดนั้นๆ ทำให้การเลื่อนหน้าฟีดครั้งหนึ่ง เราจึงไม่ได้แค่เห็นข่าว แต่ยังเห็นความปสดเหล่านั้นด้วย
ฟังๆ ดูแล้ว เหมือนโซเชียลมีเดียเป็นแหล่งรวมสารพิษต่อจิตใจที่เราขาดไปไม่ได้ แต่โปรดจำไว้ว่าการ ‘หยุด’ ความรู้สึกเชิงลบ สามารถทำได้ทุกเมื่อด้วยวิธีง่ายๆ อย่างวางมือถือ จำกัดช่วงเวลาการเสพสื่อ หรือเรื่องราวของผู้คน ‘เลือก’ ติดตามเฉพาะสิ่งที่มีประโยชน์และดีต่อสุขภาพจิตจริงๆ รวมถึงอย่าลืมว่ายังมีกิจกรรมจรรโลงใจอีกมากมายรอให้เราไปทำ นอกเหนือจากการเข้าออกแอปฯ เลื่อนดูหน้าฟีดจนไม่เหลืออะไรให้เลื่อน ซ้ำยังเจอแต่เรื่องราวน่าหดหู่ใจอีก
เปรียบการใช้โซเชียลมีเดียเหมือนกับการกินข้าว ซึ่งถ้าเรารับเอาของไม่ดีเข้าไปมากๆ ก็ย่อมส่งผลเสียต่อร่างกาย ฉะนั้น ลองเป็นคน ‘ช่างเลือก’ ดูบ้างก็ไม่เสียหายหรอก
อ้างอิงข้อมูลจาก