การประกาศล็อกดาวน์ ไม่ให้นั่งทานอาหารภายในร้านที่มีผลตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา ผิดหรือถูก เหมาะสมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าถามใคร?
แต่หากมองนาฬิกา และเปลี่ยนคำถามเป็นว่ามันเหมาะสมหรือไม่ ที่มีการออกประกาศในกลางดึกสงัด อันเวลาล่วงเลยเที่ยงคืนไปแล้ว? ทุกฝ่ายน่าจะเห็นตรงกันว่า มันขาดการสื่อสารที่ดี ไม่มีการวางแผนล่วงหน้า และเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางโดยไม่สนผู้ได้รับผลกระทบ
แม้ในวันที่ 29 มิถุนายนจะมีการประกาศมาตรการเยียวยาเพิ่มเติม สำหรับบางร้านมันคือการล้างแผลสดที่ถูกจ้วงแทงให้ดีขึ้นหน่อยเท่านั้น ขณะที่สำหรับบางร้านพวกเขาไม่ได้รอคอยมันอีกแล้ว เพราะร้านที่พวกเขาสร้างขึ้นมาไม่มีอยู่อีกแล้ว ..
The MATTER ได้พูดคุยกับผู้ประกอบการร้านอาหาร 4 ท่าน และดูเหมือนทุกเสียงเห็นตรงกันว่า COVID-19 ทำให้ธุรกิจของพวกเขาลำบากเป็นทุนอยู่แล้ว แต่การตัดสินใจอันฉุกละหุกราวกับไม่เคยคุยกันของ ศบค. นั่นแหละคือ การสับคัตเอาท์ตัดไฟชีวิตของธุรกิจร้านอาหารที่แท้จริง
(1)
ไม่ใช่เพื่อผลกำไร แต่เพื่อประคองให้อยู่รอด
บอล หนึ่งในเจ้าของร้าน Beergasm ย่านนนทบุรี เป็นหนึ่งในตัวแทนจากร้านอาหาร 3 ร้าน (ร่วมกับ A Book with No Name และ Teens of Thailand) ที่เข้าฟ้องศาลปกครอง เรียกร้องค่าเสียหายจากนโยบายสั่งห้ามทานอาหารภายในร้านของ ศบค. เล่าให้ฟังถึงผลกระทบจากคำสั่งฟ้าผ่าครั้งนี้ว่า
“ผมคิดว่ามันไม่ใช่สั่งปิดทันทีอย่างเดียว แต่เขาสับขาหลอกตอนแรกด้วย คือตอนแรกบอกจะปิดแค่แคมป์คนงานก่อสร้าง 1 เดือน แต่ร้านอาหารไม่ปิด ทีนี้ร้านเขาก็สั่งของมาสต็อกกัน แต่ดันมาประกาศปิดร้านตอนตี 1 แล้วบอกว่าทุกอย่างที่พูดไป มันไม่ใช่ จะล็อคดาวน์อีก 1 เดือน ”
“เห้ย คุณรู้ไหมของบางอย่างเราสั่งแล้วยกเลิกไม่ได้ ทำไมไม่บอกเราตั้งแต่วันศุกร์เราจะได้เตรียมตัว ผมก็งงตรงนี้ว่ามันยังไง”
เขาระบายต่อถึงมาตรการควบคุมและยับยั้งการระบาดของ ศบค. ว่า “ผมอยากพูดว่าครั้งหนึ่งสนามมวย ครั้งที่สองบ่อน ใครดูแล? แล้วมาครั้งที่สามแคมป์คนงานก่อสร้าง คือทั้งสามครั้งไม่ได้มาจากร้านอาหารเลย”
“พวกเราระวังตัวกันตลอด ระวังมากกว่าที่คุณอยากให้เราระวังเสียอีก เพราะมันคือความเป็นความตายของเรา ถ้าเรามีใครคนไหนติดขึ้นมา ร้านถูกปิดเราก็แย่กันหมด”
“แล้วคุณรู้ไหม มันไม่ใช่แค่ชีวิตของผู้ประกอบการ มันเป็นชีวิตของลูกจ้างที่เขามาอยู่กับเรา เราให้เงินเดือนเขาไปจุนเจือครอบครัว เขามีลูก มีพ่อ แม่ ใครที่เขาต้องดูแลข้างหลังอีกเท่าไร”
ร้าน Beergasm อันที่จริงจดทะเบียนแบบร้านอาหาร แต่ด้วยชื่อร้านมีคำว่า ‘Beer’ นำหน้า ทำให้ถูกแบนจากการโฆษณาในเฟซบุ๊ก เพราะกฎหมายควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกฮอล์ ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้บอลและร้าน Beergasm ต้องดิ้นรนมากขึ้นในช่วงวิกฤตการระบาดของไวรัสเช่นนี้
“เรายกมาทุกกระบวนท่าแล้ว ทั้งทำข้าวกล่อง เรียกครอบครัว ญาติ พี่น้อง เพื่อนฝูง ให้มาช่วยเราซื้อ เขาก็ช่วยกันจนแบบหมดแล้ว เราไม่รู้จะไปต่อยังไงแล้ว”
“คือพูดได้เลยว่าตั้งแต่ช่วง COVID-19 เข้ามา เราไม่ได้ทำธุรกิจเพื่อผลกำไรแล้ว เราทำเพื่อประคองให้ร้านอยู่รอด ให้มันมีเงินพอหล่อเลี่ยงค่าน้ำ ค่าไฟ เงินเดือนพนักงานที่อยู่กับเรา ค่าเช่าที่รัฐบาลไม่เคยช่วยเหลือเราอย่างเต็มที่และจริงใจเลย”
เจ้าของร้าน Beergasm พูดด้วยน้ำเสียงคับแค้นถึงมาตรการของภาครัฐว่า “มันน่าน้อยใจนิดหนึ่ง อย่างตอนคลัสเตอร์แคมป์คนงานก่อสร้าง คุณบอกจะซัพพอร์ตหัวเท่านี้ แต่พอชุมชนร้านอาหารเรียกร้อง กลับไม่ได้อะไรสักอย่าง แม้กระทั่งสิ่งพื้นฐานอย่าง การฉีดวัควีนให้พวกเราก่อน คุณก็ไม่ทำ”
“ทุกวันนี้ผมขอแค่วัคซีนถึงผู้อยู่ในวงจรร้านอาหาร พนักงานร้าน ไรเดอร์ส่งอาหาร ให้ลูกค้ามีความมั่นใจกับร้านผม ผมขอแค่แค่นั้น”
“เรื่องสินเชื่อช่วยเหลือก็ช่วยทำให้มันเข้าถึงได้จริงและง่ายบ้าง ไม่ใช้ออกเพื่อรับใช้ระบบนายทุนเหมือนเดิม เพราะสุดท้ายธนาคารเป็นผู้ตัดสินใจให้สินเชื่อตรงนี้ ดังนั้น ถ้าเกิดธนาคารมองว่าคุณไม่มีกำลังที่จะคืนเขา เขาก็ไม่ให้คุณยืมหรอก ความเป็นไปได้ในการเข้าถึงสินเชื่อจริงๆ มันต่ำ”
“ค่าสาธารณูปโภคอย่างค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแก๊ซ ก็ช่วยเหลือเถอะครับ ถ้าทำได้ก็อยากให้ช่วยเจรจากับ เจ้าของที่เช่า (Land Lord) ถ้าคุณทำได้ ทำเถอะครับ วันนี้ร้านค้าปิดไปกว่าแสนร้านแล้ว รีบทำเถอะ ก่อนที่จะไม่เหลืออะไร”
คำถามสุดท้าย เราถามเขาอย่างตรงไปตรงมาถึงจุดประสงค์และความคาดหวังที่เข้ายื่นฟ้องภาครัฐ เขาตอบกลับอย่างฉะฉานชัดเจนเช่นกัน
“ผมไม่คาดหวังอะไร ไม่ได้อยากตั้งตัวเลขอะไร สิ่งที่เราต้องการแค่อยากให้เขาฟังเราบ้าง”
“ผมบอกได้เลยว่าผู้ประกอบการทุกคนสามารถหยุดกิจการได้เลย ไม่เสียค่าเช่า ไม่เสียค่าสต็อกของ น้ำไฟแก๊ซ แต่คนที่จะตายคือลูกน้องเรา และถามว่าถ้าทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิม แล้วผมไปขอให้เขากลับมาทำงานให้ผม เขาจะว่าไง ถ้าในวันที่แย่ผมทิ้งเขาอะ” สุดท้ายที่แฝงอยู่ในระหว่างบรรทัดคือความห่วงใยต่อเพื่อนมนุษย์ที่ร่วมฟันฝ่าอุปสรรคโรคระบาดกันมาร่วมปีครึ่ง
(2)
สุดท้ายก็ไม่พ้นควักเนื้อ
“เมื่อวานขายได้ 300 วันนี้ขายได้สามออเดอร์เอง พี่คิดดูมันแย่ขนาดไหน” เด็กหนุ่มวัยต้น 20 คนหนึ่งที่ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการร้านหมูกระทะและชาบูแห่งหนึ่งในย่านหลังมหาวิทยาลัยรามคำแหงเล่าให้เราฟัง ขณะที่เบื้องหน้าคือกองเก้าอี้ที่ถูกยกซ้อนกันเพื่อปฏิบัติตามคำสั่งห้ามนั่งทานอาหารที่ร้านของ ศบค.
พูดกับชายหนุ่มจบ เราโทรหาภัทรหนึ่งในเจ้าของภูเขาเก้าอี้ร้าง และหุ้นส่วนของร้านหมูกระทะและชาบูแบรนด์เฟรนไชส์แห่งนี้ ซึ่งปกติร้านของพวกเขาจะมีคนมาต่อคิวยาวอยู่เสมอ แต่ด้วยรูปแบบของกิจการ ทำให้การสต็อกสินค้าสดเป็นของจำเป็น และคำสั่งของ ศบค. ที่รวดเร็วก็ทำให้พวกเขาได้รับผลกระทบอยู่ไม่น้อย
“ปกติช่วงปลายเดือน เราจะสั่งของเยอะอยู่แล้ว เพราะลูกค้ามักจะเข้ามาเยอะ เรียกว่ามันเป็นช่วงโกยของเรา แต่กลายเป็นว่ายอดที่ควรจะได้กลายเป็นหายหมดเลย สุดท้ายต้องควักเนื้อจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าลูกน้อง (หัวเราะ)”
“ตั้งแต่มี COVID-19 เข้ามา ยอดขายมันก็ลดลงไปประมาณ 70 เปอร์เซนต์อยู่แล้ว รอบที่แล้วก็ค่อนข้างหนัก ตอนนั้นก็สั่งเร็วเหมือนกัน เอาจริงคือทุกรอบมันมีคำสั่งเร็วไปหมด เราก็ได้รับผลกระทบคล้ายกันทุกรอบ”
“เราพยายามปรับตัวหลายวิธีนะ ให้มันทันกับคำสั่ง พยายามฟรีซของสดไว้ดีๆ และรีบทำเป็นเมนูเดลิเวอรี่บ้าง แต่ด้วยรูปแบบของร้านมันเป็นบุฟเฟ่ต์ มันทำเดลิเวอรี่ยังไงก็ไม่คุ้มหรอกครับ”
ภัทรเชื่อว่าร้านอาหารอย่างพวกเขาเองก็พยายามป้องกันและปฏิบัติตามมาตรการอย่างเต็มที่แล้ว และที่สำคัญ ไม่เคยมีคลัสเตอร์ระบาดใหญ่ครั้งไหนที่เริ่มมาจากร้านอาหาร
“ผมมองว่าคลัสเตอร์หลักๆ ที่เกิดขึ้น มันไม่ได้มาจากร้านอาหาร ผมว่าคุณเปลี่ยนเป็นให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างเข้มข้นดีกว่า ร้านไหนไม่ทำตามมาตรการ คุณค่อยสั่งปิด อยู่ดีๆ มาสั่งปิดทุกร้าน ผมว่ามันไม่จำเป็นขนาดนั้น มันดูเหมาเกินไป ยิ่งกะทันหันด้วยยิ่งหนักเลย”
“ร้านอาหารอย่างพวกผมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันในร้านอยู่แล้ว เว้นระยะห่าง การวัดอุณหภูมิ ทำความสะอาดภาชนะ วางฉากกั้นบนโต๊ะ เปิดประตูร้านทุก 15 นาที พวกผมพยายามทำอย่างดีที่สุดแล้ว และเชื่อว่ามันป้องกันได้ในระดับนึงครับ” เขายืนยันถึงสิ่งที่ตัวเองทำมาตลอด ซึ่งภาพของฉากกั้นบนโต๊ะในร้านก็ช่วยยืนยันได้ในระดับนึง
สิ่งหนึ่งที่ภัทรตั้งข้อสังเกตุคือ เกณฑ์ในการออกคำสั่งห้ามนั่งทางที่ร้านอาหาร และมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ต่างๆ ที่ดูไม่อยู่บนหลักการเสียเท่าไร
“ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพ.ค. ผู้ติดเชื้อมันก็หลักพันมาตลอด พอให้เปิดร้านวันที่ 17 พ.ค. คนติดเชื้อมันก้ยังไม่ได้ลดนะ ทีแรกเราก็คิดว่าเขาคงมีมาตรการคุมอยู่ เราก็เผลอดีใจเปิดมาตั้งแต่ตอนนั้น แต่ปัญหามันก็เรื้อรังมาถึงตอนนี้ ผู้ติดเชื้อโดดขึ้นมาอีกๆ และก็มาสั่งปิดซ้ำในตอนนี้ เลยยิ่งหนักเข้าไปใหญ่”
“พูดตรงๆ ว่า ถ้าผู้ติดเชื้อไม่ลดลง เขาคงกลับมาคลายล็อคยาก เพราะรัฐเขาคงกลัวเสียหน้าด้วย (หัวเราะ) ถ้าอยู่ดีๆ มาสั่งเปิด มันก็เหมือนกลืนน้ำลายตัวเอง ผมว่าเขาคงไม่ทำแบบนั้น ขั้นต่ำน่าจะเดือนนึง”
(3)
ช้ำเลือด ช้ำหนอง
“พี่พูดไม่อายเลยนะ ตอนนี้พี่ช้ำเลือดช้ำหนองไปหมด เรียกว่ากระอักเลือดเลยก็ได้ ไหนจะค่าเช่า ค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าของที่สต็อกไว้ จนพี่บอกลูกน้องครั้งสุดท้ายเลยว่าพี่แบกไม่ไหวแล้ว ถ้ามีโอกาสไปหางานใหม่ ไปเถอะนะ พี่ไปต่อไม่ไหวแล้ว”
เราเดินอยู่ในซอยมหาดไทย หรือรามคำแหง 65 และต้องมาสะดุดตาอยู่กับร้านหนึ่ง ด้านหน้าร้านมีป้ายเขียนว่าร้านหมูกระทะ แต่ด้านในเก้าอี้ถูกเก็บชิดเข้ามุมหนึ่ง ตู้เย็นถูกถอดปลั๊กจนมืดสนิท และป้ายหนึ่งที่มีข้อความว่า “คุณลูกค้าทานไม่หมด ห่อกลับบ้านได้ทุกอย่าง” ถูกแขวนไว้กลางร้านอย่างเศร้าศร้อย
พัดเป็นเจ้าของร้านหมูกระทะแห่งหนึ่งในซอยรามคำแหง 65 และเป็นเจ้าของร้านชาบูอีกหนึ่งร้านในซอย 20 มิถุนา (ห้วยขวาง) ด้วยประสบการณ์ของตัวเอง ร้านนี้ขายของดีในราคาที่คิดถึงผู้บริโภค คือคุ้มและไม่แพงเกินเงินเดือนชนชั้นกลางทั่วไป
เธอเล่าถึงมาตรการสั่งห้ามทานที่ร้านอย่างท้อแท้ว่า “รอบนี้เขาสั่งปิดแบบกะทันหัน ยังไม่ทันให้เวลาผู้ประกอบการตั้งหลักได้เลย ทั้งที่ไม่ว่าเขาจะสั่งอะไร เราก็ทำตามทุกอย่าง พอสั่งให้เราปิด เราก็ต้องปิดเหมือนสายฟ้าฟาดเลย ไปไม่ถูก เหมือนปิดสวิตช์ไฟเลย”
เธอเชื่อว่าร้านอาหารทุกร้านน่าจะได้ผลกระทบไม่ต่างกัน และน่าน้อยใจเหลือเกิน ทั้งที่ทำตามกฎระเบียบทุกอย่างแต่ยังมีคำสั่งที่เด็ดขาดและไร้หัวใจออกมา “ศบค. ให้ร้านอาหารทำอะไร พวกเราก็ทำหมด ให้มีทางเข้าออกทางเดียวก็ทำ ให้มีเจลแอลกอฮอล์เราก็ทำ ให้เว้นระยะห่างเราก็ทำ”
“คนทำร้านอาหารเขาต้องดูแลมาตรการในร้านให้เข้มงวดทีสุด เพราะถ้าเกิดมีข่าวว่ามีคนติด COVID-19 จากร้านอาหาร มันคือการตัดอนาคตของร้านเลย”
“อย่างร้านเราต้องเดินไปตักอาหาร เราก็มีถุงมือให้ มีข้อกำหนดว่าลูกค้าต้องใส่แมสก์ก่อนลุกไปตักอาหาร เราเข้มงวดในกฎที่เราวาง ลูกค้าเองก็เซฟตัวเอง เขาจะเปิดแมสก์กินเฉพาะเวลาทานอาหารที่โต๊ะเท่านั้น และอาหารของเราเป็นอาหารร้อน เชื้อโรคมันก็กลัวความร้อนอยู่แล้ว” เธอเว้นหายใจนิดหนึ่ง ก่อนตัดพ้อแต่ก็พูดไม่ได้เนอะ เขาสั่งให้ทำอะไร เราก็ต้องทำ
เราถามเธอถึงมุมมองต่อคำสั่งรอบนี้ที่เด็ดขาดและรวดเร็ว “พี่ว่าร้านไหนที่ปฏิบัติตามกฎถูกต้องของภาครัฐ ก็ให้เขตไปตรวจไปอะไร ก็ให้เขาเปิด ไม่ใช่ว่าพอสั่ง ก็เหมารวมปิดหมดทุกอย่างเลย”
เธอทิ้งท้ายว่าเห็นด้วยกับมาตรการก่อนหน้านี้ที่ให้ลดจำนวนที่นั่งภายในร้านมากกว่า เพราะกรณีของร้านเธอที่เป็นรูปแบบหมูกระทะและชาบู การปรับรูปแบบสู่ออนไลน์ค่อนข้างเป็นอะไรที่ฝืน และยากในทางปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพ
เธอแสดงความเห็นว่าอยากให้ภาครัฐตัดสินใจให้เด็ดขาดมากขึ้น ถ้าอยากจะล็อคดาวน์ก็ควรทำเลย เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดให้ชะงัด
“ความคิดส่วนตัวของเรานะ ถ้าอยากเจ็บขอทีเดียวแล้วจบ คุณสั่งปิดไปเลย ปิดทุกอย่าง ให้ทุกคนอยู่ในบ้าน ล็อกดาวน์ก็ล็อกไปเลย ผู้ประกอบการร้านแบบอื่นเขาปิดไปไม่รู้นานเท่าไรแล้ว เรายอมเจ็บและจบเลยดีกว่า พี่พร้อมเลย ล็อกดาวน์เลย”
“เซเว่นก็ปิดด้วยนะ ไม่ต้องเปิด 24 ชม. อันนี้ส่วนตัวเนอะ (หัวเราะ)” เธอทิ้งท้าย
(4)
ผมไม่เคยได้อะไรจากรัฐเลย
เรียบถนนทางรถไฟย่านเพชรพระราม เวิ้งหนึ่งเคยเต็มไปด้วยร้านอาหารรสชาติจัดจ้าน เข้มข้น คลุกเคล้าวัฒนธรรมอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ อาทิ อาหารอีสานแบบฮาลาล แต่วันนี้ พนักงานกว่ายี่สิบคนกำลังนั่งเหงาหงอย เพราะไร้ซึ่งลูกค้าที่เดินทางมานั่งหน้าร้าน
เราสะดุดตากับป้ายหนึ่งที่มีข้อความเขียนว่า ‘เซ้งและเช่า ติดต่อ xxxx’ เราลองโทรไปที่เบอร์นั้น ไม่นาน เสียงนุ่มราบเรียบจากชายหนุ่มชื่อว่า กานต์ จากปลายสายก็ตอบกลับมา พร้อมเรื่องเล่าที่มากกว่าแค่ธุรกิจที่ล้มเพราะโรคระบาด
“ตอนแรกผมทำร้านกับเพื่อนอยู่ที่เอกมัย และพอ COVID-19 ระบาดประมาณกลางปีที่แล้ว ผมกับเพื่อนก็ออกหุ้นกันมา ก็คุยกับเพื่อนว่าจะทำอะไรดี เลยตัดสินใจเปิดร้านขายยำออนไลน์กันตอนนั้น พอสถานการณ์เริ่มดีขึ้น ก็มาเปิดหน้าร้านตรงนี้ตอนเดือนมกราคม”
กานต์เริ่มเปิดร้านขายยำตรงเวิ้งแห่งนี้ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยในช่วงเช้าตั้งแต่ 10 โมง จะขายผ่านระบบออนไลน์เท่านั้น ก่อนที่จะเริ่มเปิดหน้าร้านตั้งแต่บ่าย 3 เป็นต้นไป
“เปิดมาเรื่อยๆ ระบาดครั้งหนึ่งผมก็ปิด รอบที่ระบาดทองหล่อผมก็ปิดและเลิกจ้างลูกจ้างเลย เพราะแบกไม่ไหว แต่ก็พยายามจ่ายค่าเช่าอยู่ จนมาเพิ่งขึ้นป้ายเมื่อเดือนที่แล้ว เพราะคิดว่าถือไม่ไหวแล้ว ไม่มีรายได้เข้ามาเลย”
“ที่ผมตั้งเซ้งไม่ได้จะเอาเงินกลับ แต่จะเอาเงินไปใช้หนี้ เพราะทุนบางส่วนผมเอาบัตรเครดิตของเพื่อน พ่อแม่มาลงทุนก่อน ตอนนี้เงินเข้าไม่มีแล้ว แต่บัตรเครดิตต้องจ่ายตลอด”
กานต์เล่าว่าถึงแม้ร้านเขาจะปิดตัวลงก่อน จะมีคำสั่งแบบฟ้าแลบล่าสุดของ ศบค. แตเขาก็ไม่เห็นด้วยอยู่ดี เพราะรู้ดีว่าในธุรกิจร้านอาหารมีหลายเรื่องที่ต้องตระเตรียมไว้ก่อน ไม่ใช่ว่าคิดแล้ว สามารถทำได้เลย
แต่สิ่งหนึ่งที่น่าหดหู่ใจเมื่อคุยกับชายหนุ่มคนนี้คือ เขาไม่เคยได้รับสิทธิช่วยเหลือใดๆ จากภาครัฐเลย สาเหตุหนึ่งเพราะเขาเคยไปฝึกงานที่สหรัฐฯ มาก่อน และกลับมาพร้อมเงินก้อนหนึ่ง ทำให้เขาไม่ถูกนับเข้าเกณฑ์ช่วยเหลือจากโครงการต่างๆ ของภาครัฐ
“ก่อนหน้านี้ผมไปอยู่อเมริกามา พอลับมาก็เริ่มทำร้านเลย จึงไม่มีประกันสังคมของไทย ไม่ได้ ม.33 เงินช่วยเหลือคนละครึ่ง เราชนะ อะไรผมไม่ได้เลย เพราะตอนกลับมาจากอเมริกาผมพกเงินมาเยอะ ทีนี้ พอเวลาลงทะเบียน เขาไม่ได้ดูยอดเงินที่เรามีตอนนี้ แต่เขาดูย้อนหลัง”
“แต่ตอนนั้นมันมีไง ตอนนี้มันไม่มีแล้ว มันเจ๊งไปหมดแล้วตั้งแต่ COVID-19 รอบสอง” เป็นครั้งแรกที่เขาพูดด้วยเสียงขุ่นมัว
“ผมไม่ได้เยียวยาทั้งคนว่างงาน เงินช่วยเหลือ เจ้าของธุรกิจ ผมไม่ได้อะไรจากรัฐเลย แล้วตอนนี้วัคซีนที่คนอื่นได้ฉีด ได้ตรวจฟรีสำหรับคนมีประกันสังคม ผมก็ไม่ได้อีก วัคซีนผมก็จองไม่ได้ ไม่รู้เหมือนกันเพราะอะไร” เรากดปิดเครื่องอัดเสียง และเริ่มพูดคุยก้บเขาถึงวิถีเข้าถึงวัคซีนและรับเงินช่วยเหลือ
ไม่นานหลังจากนั้น เราก็วางสายจากกัน ในใจสงสัยว่าหลังจากนี้ เขาจะยังมีแรงเหลือสำหรับการเริ่มต้นครั้งใหม่หรือเปล่า
(5)
ขอให้ทำแบบนี้ครั้งสุดท้าย
แม้คำสั่งห้ามนั่งทานอาหารที่ร้านเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ตามมาด้วยมาตรการเยียวยา (29 มิ.ย.) 3 ข้อ
- กิจการในระบบประกันสังคม ลูกจ้างจะได้รับเงินกรณีเหตุสุดวิสัย 50% ของฐานเงินเดือน สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท และจะได้เงินเดิ่มเติมอีก 2,000 บาทต่อราย ส่วนนายจ้างหรือผู้ประกอบการ จะได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อลูกจ้างในบริษัท แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องไม่เกิน 200 คน
- กิจการนอกระบบประกันสังคม นายจ้างต้องยื่นลงทะเบียนเข้าประกันสังคมใน 1 เดือนก่อน แล้วลูกจ้างที่มีสัญชาติไทยจะได้เงิน 2,000 บาท แต่ไม่ได้เงินชดเชย 50% ของเงินเดือน ส่วนนายจ้างจะได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อจำนวนลูกจ้างที่อยู่ในสังกัด แต่ต้องไม่เกิน 200 คนเช่นกัน
- กลุ่มร้านอาหารและเครื่องดื่มจะได้รับเงิน 3,000 บาท ผ่านแอพพลิเคชั่น ‘ถุงเงิน’
แต่มันเป็นจำนวนเงินที่เพียงพอไหม กับผลกระทบที่ร้านอาหารได้รับจากการตัดสินใจที่ฉุกละหุก และได้รับมาตลอดวิกฤตการระบาดของไวรัส COVID-19 นั่นคือคำถามที่สำคัญ เพราะการเยียวยาก็เช่นเดียวกับชื่อของมัน มันเพียงพอต่อลมหายใจเท่านั้น ไม่ได้พอสำหรับการลุกขึ้นและเริ่มต้นใหม่ มันเป็นแสงเทียน ไม่ใช่แสงสว่างปลายอุโมงค์ของวิกฤตโรคระบาด
ถ้าติดตามข่าวสาร ย่อมตระหนักว่าแสงสว่างปลายอุโมงค์เดียวคือ วัคซีนที่มีประสิทธิภาพและถูกกระจายอย่างทั่วถึง ฝ่ายค้านรัฐบาลบางคนพูดเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ผู้มีอำนาจเพียงส่ายหน้า และทุบปุ่มซื้อวัคซีนจากจีนเพิ่มอีก 28 ล้านโดส
เป็นไปได้ไหมถ้าจะภาวนาให้การบริหารจัดการที่ล้มเหลว ไร้ตรรกะ ขาดการประเมินและเตรียมพร้อมทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้าย เป็นไปได้ไหมที่ภาครัฐจะเลิกวิ่งงับปัญหา และสร้างวิธีแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบเสียที หยุดเสียทีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าทีละเปลาะ แล้วตบท้ายด้วยคำหวานคำสร้อยอย่าง “นะจ๊ะ”
บางเสียงในสังคมคงพยักหน้าบอกในเชิงเป็นไปได้ และทิ้งท้ายอย่างแสบสันต์ว่า “แต่ไม่ใช่ในรัฐบาลชุดนี้”