1-14 กุมภาพันธ์ 2567 เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ประกาศแคมเปญล่ารายชื่อ เพื่อยุติการดำเนินคดีต่อประชาชนที่แสดงออกทางการเมือง ผ่านการออกกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน
ถ้านับเฉพาะคดี ม.112 ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนล่าสุด (19 มกราคม 2567) ระบุว่า นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงปัจจุบัน มีคดี ม.112 ที่ยังอยู่ในชั้นศาลถึง 193 คดี จากทั้งหมด 288 คดี คิดเป็นจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 263 คน
แต่ถ้านับรวมคดีทางการเมืองทุกๆ คดี ปัจจุบันมีผู้ถูกดำเนินคดีไปแล้วมากถึงประมาณ 1,900 คน
เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนจึงเสนอว่า ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่กินระยะเวลายาวนาน – ซึ่งถ้านับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปี 2549 ก็กินระยะเวลาเกือบ 20 ปี – การนิรโทษกรรมบุคคลที่ถูกดำเนินคดี ในคดีการเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสีอะไร หรือมาจากฝ่ายใด จะเป็นหนทางที่จะทำให้อนาคตของประเทศเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีวุฒิภาวะ
ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ. …. จึงเกิดขึ้น
เนื้อหาของร่างกฎหมายนี้มีอะไรบ้าง? ครอบคลุมถึงใครบ้างที่จะได้รับประโยชน์? และอะไรคือแนวคิดทางการเมืองเบื้องหลังของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน?
The MATTER พูดคุยกับ ทนายเมย์—พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน เพื่อหาคำตอบในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง กับการร่างกฎหมาย และผลักดันแคมเปญออกกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน
ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน คืออะไร ทำไมถึงต้องมี
ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน เกิดขึ้นมาจากปัญหาคดีความทางการเมือง ซึ่งจริงๆ แล้วความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นมาตลอด ระลอกล่าสุดก็คือตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ก็คือการชุมนุมของเยาวชนและกลุ่มราษฎร
ทีนี้ ตั้งแต่กรกฎาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน มีคนที่ถูกดำเนินคดีไปแล้วประมาณ 1,900 กว่าราย และ ณ วันนี้ที่เรานั่งพูดคุยกัน [31 มกราคม 2567] มีคนที่ถูกคุมขังจากคดีทางการเมืองอยู่ ทั้งคดีที่สิ้นสุดไปแล้วและยังไม่สิ้นสุด ประมาณ 39 ราย ซึ่งถ้าเกิดว่า เราไม่ทำอะไรเลยกับคดีต่างๆ เหล่านี้ ก็จะมีคนเข้าไปอยู่ในเรือนจำเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เลยเป็นที่มาของ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน
เราใช้คำว่า นิรโทษกรรมประชาชน เพราะนัยของมันก็คือว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้จะนิรโทษกรรมให้เฉพาะประชาชน จะไม่รวมเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำเกินกว่าเหตุในการสลายการชุมนุมหรือปฏิบัติการต่างๆ
เป็นร่างที่เราตั้งใจร่างขึ้นมา โดยความร่วมมือขององค์กรประมาณ 23 องค์กรด้วยกัน ที่ร่วมกันทำงาน ทำแคมเปญตรงนี้
ไอเดียเรื่องการนิรโทษกรรมในลักษณะนี้ มีที่มาจากไหน เคยผ่านการพูดคุยมาอย่างไรบ้าง
ช่วงต้นปีที่แล้ว ศูนย์ทนายฯ เสนอข้อเสนอยุติการดำเนินคดีทางการเมือง มันสามารถทำได้หลายวิธีเหมือนกันในการที่จะยุติการดำเนินคดีทางการเมือง อย่างเช่น คดีที่มีอยู่ ณ ตอนนี้ เราก็สามารถใช้กลไกฝั่งบริหาร รัฐบาลมีนโยบายชะลอการฟ้อง หรือชะลอการดำเนินคดี หรืแม้กระทั่งถอนฟ้อง สั่งไม่ฟ้องโดยอัยการ มันสามารถใช้กลไกต่างๆ เหล่านี้ได้อยู่เหมือนกันโดยที่ไม่ต้องใช้การนิรโทษกรรม
แต่ว่าอย่างที่บอกว่า เนื่องจากกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบ มันกว้างมาก และสเต็ปในแต่ละสเต็ปในกระบวนการยุติธรรม มันใช้เครื่องมือต่างกัน เพราะฉะนั้น นิรโทษกรรมคือเครื่องมือที่ครอบคลุมมากที่สุด
สุดท้าย มันก็เลยพัฒนามาจากข้อเสนอการยุติการดำเนินคดีทางการเมือง ซึ่งตอนนั้นเสนอให้ใช้กลไกที่มีอยู่ อย่างเช่น การให้ประกัน การสั่งไม่ฟ้อง หรือการถอนฟ้อง แต่ว่า ณ ตอนนี้ ใช้เครื่องมือเหล่านั้นไม่เพียงพอแล้ว ก็เลยคุยกันถึงไอเดียการนิรโทษกรรมประชาชน เราก็ชวนมาคุยกันว่า มันจะต้องมีคดีประเภทไหนบ้าง ยังไงบ้าง เพื่อให้ครอบคลุมทุกคนที่ได้รับผลกระทบ
การนิรโทษกรรมจะครอบคลุมคดีในช่วงเวลาใดบ้าง
ถ้าดูระยะเวลารวมกัน เราเสนอให้ร่างฉบับนี้ย้อนกลับไปที่ความขัดแย้งตั้งแต่ปี 2549 ตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เพราะเราคิดว่า ตรงนั้นมันเป็นจุดตั้งต้นขของความขัดแย้งจริงๆ และถ้าดูระยะเวลา 10 กว่าปี เกือบๆ 20 ปี มันมีความขัดแย้งในหลายระลอกตั้งแต่ปี 2549 ตั้งแต่ 2552-2553 ตั้งแต่ปี 2557 และจนถึงระลอกล่าสุด ก็คือตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน
แล้วใครบ้างที่จะได้ประโยชน์จากร่างกฎหมายฉบับนี้
จริงๆ ถ้านับรวมผู้ที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองทั้งหมด ตัวเลขกลมๆ อาจจะได้ถึง 6,000 คน ทั้งหมด แต่ว่า แน่นอนว่า คนที่จะได้ผลประโยชน์จริงๆ มันก็จะมีเฉพาะคนที่คดียังค้างอยู่ และคดีปัจจุบัน
ทีนี้ กลุ่มคนที่จะได้รับผลประโยชน์ อย่างกว้างๆ ก็คือประชาชน แต่ถ้ามองเจาะลงไป ในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน เราเสนอเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรกคือคนที่จะได้นิรโทษกรรมทันที โดยที่ไม่ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการนิรโทษกรรมประชาชนเลย ซึ่งเป็นคดีการเมืองแท้ๆ คือ
- คดีที่เป็นคดีความผิดประกาศคำสั่งจาก คสช. ตั้งแต่รัฐประหารปี 2557
- คดีพลเรือนที่ถูกพิจารณาในศาลทหาร
- คดี ม.112
- คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
- คดีประชามติ รัฐธรรมนูญปี 2559
- และคดีที่เกี่ยวข้องกับข้อ 1 ถึงข้อ 5
กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่จะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการนิรโทษกรรมประชาชน ครั้งนี้จะเป็นการนิรโทษกรรมโดยระยะเวลาที่ยาวมาก เพราะฉะนั้น ต้องมีคนมาดู มากรองอีกชั้นหนึ่ง เราก็เสนอว่า คดีที่จะมีคณะกรรมการนิรโทษกรรมประชาชนขึ้นมาพิจารณาดู เป็นคดีที่เกิดจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือการกระทำใดๆ ที่เกี่ยวเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมือง
แต่ก็ต้องบอกว่า มีข้อยกเว้นอยู่ประเภทคดีหนี่งเหมือนกัน ที่เราไม่ได้รวมในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ก็คือ ความผิดฐานก่อกบฏ ในประมวลกฎหมายอาญา ม.113 ประมวลกฎหมายอาญา
คณะกรรมการนิรโทษกรรมประชาชน เป็นใคร มาจากไหนบ้าง
เราเสนอเป็น 20 คน องค์ประกอบก็จะมีในส่วนของสภาฯ 14 คน ในส่วนของตัวแทนของผู้ที่ถูกดำเนินคดีในช่วงต่างๆ 4 คน และองค์กรที่ทำงานด้านความยุติธรรมภาคประชาสังคมอีก 2 คน
การสรรหาส่วนแรก คือ สภาฯ น่าจะไม่มีปัญหาอยู่แล้ว เพราะมาโดยตำแหน่ง และโดยสัดส่วนเขาก็จะไปเลือกกันมา ในส่วนของประชาชน กับขององค์กร เราให้ประธานสภาฯ เป็นคนกำหนดรายละเอียดระเบียบอีกทีหนึ่ง แต่ก็จะมาจากการเลือกกันเอง
ถามว่า ทำไมเราให้สัดส่วนของ สส. เยอะจัง เรามองว่า คนที่จะเข้าใจความเป็นการเมืองหรือความขัดแย้งทางการเมืองมากที่สุด ควรจะเป็นตัวแทนของประชาชน ซึ่งก็คือคนที่ถูกเลือกมา เรามองว่า สุดท้ายแล้ว เขาก็เป็นตัวแทนของประชาชนอยู่ดี เราก็เลยให้ 14 คน ถ้าลงไปดูในรายละเอียด ก็มีประธานสภาฯ ผู้นำฝ่ายค้าน ผู้ประสานงานฝ่ายรัฐบาล และ สส. 10 คน ตามสัดส่วนของการเลือกตั้ง แล้วก็เป็นเลขาธิการสภาฯ อีกคนหนึ่ง
แล้วคณะกรรมการฯ จะมีหน้าที่อะไร
- อันดับแรก หน้าที่เขาก็คือ มาพิจารณาว่าคดีอะไรเป็นคดีที่เกิดจากการชุมนุมทางการเมือง คดีแสดงออกทางการเมือง หรือคดีที่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง
- อย่างที่สองก็คือ เขาก็จะมีหน้าที่จัดทำข้อเสนอในการเยียวยาว่า ควรจะต้องเยียวยากลุ่มบุคคลต่างๆ เหล่านี้ที่ได้รับนิรโทษกรรม หรือกลุ่มอื่นๆ อย่างไร
- อีกอย่างหนึ่ง เราเสนอว่า ต้องทำเรื่องลบประวัติอาชญากรรมด้วย ก็คือเขียนกำหนดให้ชัดเจนว่าลบประวัติอาชญากรรมของคนที่ได้รับการนิรโทษกรรมด้วย ก็ให้เขามีหน้าที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติอีกทีหนึ่งให้ทำเรื่องนี้ เพราะคนที่กุมข้อมูลก็คือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ถ้าเกิดว่า ร่าง พ.ร.บ. นี้ออกได้จริง กลุ่มแรกก็จะได้รับการนิรโทษกรรมไปเลย ส่วนกลุ่มที่ 2 ก็อาจจะต้องมีคนเสนอเรื่องเข้ามา หรือว่ากรรมการแอกทีฟ ไปหยิบเรื่องขึ้นมาพิจารณาเอง แล้วก็อาจจะต้องมีการประกาศ หรือมีคำสั่งออกมาว่า คดีนี้ได้รับการนิรโทษกรรม ผ่านการพิจารณา
ซึ่งเราก็วางให้คณะกรรมการมีเวลาทำงานประมาณ 2 ปีด้วยกัน แต่เผื่อไม่ทัน ก็ขยายเวลาไปได้อีกปีหนึ่ง ถ้ามีเคสหลุดหลังจาก 3 ปี หลังจากคณะกรรมการยุบไปแล้ว ก็จะให้เป็นหน้าที่ของศาลในการพิจารณาแทน
พอเรากำหนดกรอบขึ้นมา แล้วมันจะต้องมีคนใช้ดุลพินิจ เราก็เลยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา ซึ่งสมมติว่าถ้าเราไม่ตั้งเลย คนที่จะใช้ดุลพินิจจริงๆ ก็จะเป็นศาล แต่ในช่วงที่เคลียร์คดีล็อตแรก เราคิดว่า ก็ควรจะเป็นตัวแทนของประชาชนในการพิจารณา แต่ถ้าเลยไป เล็ดลอดไป ก็เป็นการเปิดช่องไว้กว้างๆ
ทำไมถึงต้องผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ตอนนี้
เราคิดว่า ความขัดแย้งมันมีนานแล้ว แม้กระทั่งระลอกล่าสุดก็ 3 ปีแล้ว และสถานการณ์มันถูกเร่งรัดโดยการที่มีคนเข้าเรือนจำมากขึ้นเรื่อยๆ
ถามว่า ทำไมต้องใช้เครื่องมือนี้ [การออกกฎหมายนิรโทษกรรม] ก่อน ก็คือว่า เครื่องมือการนิรโทษกรรมมันครอบคลุมทั้งหมด หมายถึงว่า มันสามารถครอบคลุมตั้งแต่ชั้นสอบสวน ยันคดีที่พิพากษาไปแล้วได้
และเราคิดว่า พอความขัดแย้งมันสะสมมาระยะเวลาหนึ่ง มันมีการตกผลึกร่วมกันของสังคมในระดับหนึ่งด้วย แม้กระทั่งกลุ่มคนที่อยู่ในความขัดแย้งมาก่อน อย่างกลุ่มเสื้อเหลืองเสื้อแดง ทีนี้ถ้าให้ประเมินก็คือว่า จริงๆ หลายฝ่ายเห็นร่วมกันว่าควรจะต้องมีการนิรโทษกรรม แต่ประเด็นหลักที่จะนำไปสู่ข้อขัดแย้งอันหนึ่งในการถกเถียงกันน่าจะเป็น ม.112 ว่าจะรวมคดี ม.112 หรือเปล่า
อยากให้เล่าถึงไทม์ไลน์ของแคมเปญล่ารายชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน และเงื่อนไขการลงชื่อ
สำหรับแคมเปญนี้ เราเริ่มในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึง 14 กุมภาพันธ์ ก็เป็นระยะเวลาที่จะเปิดให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ซึ่งตอนนี้ก็สามารถเปิดเข้าไปดูได้ในเว็บไซต์ amnestypeople.com ก็จะมีทั้งที่ให้ลงชื่อ และจะมีตารางกิจกรรมต่างๆ
เงื่อนไขง่ายๆ เลย เข้าไปในเว็บไซต์ และกดตรงลงรายชื่อ สิ่งที่ต้องการก็มีแค่เลขบัตรประจำตัวประชาชน และลายเซ็นของเราเท่านั้นเอง พอเซ็นเสร็จ โหลดกลับเข้าไปแล้ว ก็จะมีช่วงกระบวนการตรวจสอบของสภาฯ เขาก็จะมีหนังสือถามกลับไปอีกทีหนึ่งว่า ท่านได้ลงชื่อในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน หรือเปล่า ซึ่งถ้าเราเป็นคนลงชื่อ ยืนยันเรียบร้อย ก็ไม่ต้องทำอะไร เขาก็แค่แจ้งมาเฉยๆ ว่า มีการใช้เลขของคุณในการลงชื่ออันนี้ เป็นการเช็กอีกทีหนึ่ง ก็เท่านั้นเอง
จริงๆ เราก็เปิดให้ประชาชนที่มีความแอกทีฟขึ้นมาหน่อย สนใจอยากจะเป็นผู้ร่วมล่ารายชื่อ ก็สามารถรวบรวมรายชื่อ หรือทำกิจกรรมโดยขออุปกรณ์สนับสนุนจากทางส่วนกลางได้
พอประเมินได้ไหมว่า คนจะสนใจมาเข้าร่วมแคมเปญนี้มากน้อยแค่ไหน
เราอยากรวมให้ได้มากที่สุด จริงๆ ขั้นต่ำตามกฎหมาย การเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ก็คือ 10,000 รายชื่อ แต่เราก็คาดหวังว่าจะมีคนที่สนใจและเห็นความสำคัญของประเด็นนี้มากกว่านั้น ซึ่งถ้าไปได้ถึง 100,000 รายชื่อ ก็จะเป็นการแสดงพลังของคนที่ยังให้ความสนใจในเรื่องนี้อยู่
ร่าง พ.ร.บ. นี้ มีจุดประสงค์เพื่อนำไปสู่การปรองดองด้วยหรือเปล่า หรือมีวัตถุประสงค์ทางการเมืองอย่างไร
เรามองว่า การปรองดองมันไม่ใช่แค่เรื่องนี้เรื่องเดียว คือเรื่องนี้เป็นประโยชน์ส่วนหนึ่งในการปรองดองได้ แต่ไม่ใช่อยู่ๆ จะนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง แล้วจะไม่เกิดอะไรขึ้นต่อ เราปรองดองกันแล้ว จับมือกัน เราคิดว่ามันไม่ได้สวยงามในแบบนั้นอย่างเดียว
แต่เราจะคุยกันได้ยังไง ในเมื่อคนที่ยังถูกดำเนินคดียังมีอยู่จริงๆ
และเราคิดว่ามันเป็นจังหวะเวลาด้วย ระยะเวลามันยาวนาน คนก็อาจจะเบื่อแล้ว หรือแม้กระทั่งเหนื่อยแล้ว ที่จะใช้วิธีต่างๆ ซึ่งเราคิดว่า การหันหน้ามาคุยกันอย่างมีวุฒิภาวะ และไม่ได้ทิ่มแทงใส่กัน มันเป็นประโยชน์มากกว่า
และจริงๆ เรามองว่ามันเป็นก้าวแรก ถ้ามองระยะยาว กระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (transitional justice) แบบหลายๆ ประเทศ มันต้องทำหลายเรื่อง ตั้งแต่การเอาคนผิดมาลงโทษ การปฏิรูปสถาบัน-โครงสร้างต่างๆ การสร้างความจดจำ การเยียวยา ซึ่งคดีทางการเมืองเป็นแค่องค์ประกอบส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง ถ้าเกิดว่าเราไม่ดำเนินการในขั้นอื่น ก็อาจจะทำให้มันไม่ได้เกิดการปรองดองอย่างแท้จริงได้
เราคิดว่า เราต้องเริ่มผลัก และเราต้องเริ่มก้าวแรกก่อน ในเมื่อบรรยากาศในทางการเมือง ซึ่งขั้วตรงข้ามสามารถจับมือเป็นรัฐบาลกันได้ มันก็เป็นจุดเริ่มต้นที่จะต้องผลักด้านนี้ได้แล้ว
เมื่อสักครู่บอกว่าการเสนอร่าง พ.ร.บ. เป็นก้าวแรก – สำหรับก้าวที่ 2 อะไรคือสิ่งที่ภาคประชาสังคมจะทำต่อไป
อย่างที่บอกว่ามันมีหลายอย่าง แต่ที่เป็นรูปธรรมและเป็นไปได้มากที่สุด เราคิดว่า เรื่องการปฏิรูปโครงสร้างต่างๆ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เป็นส่วนหนึ่ง อย่างในส่วนของศูนย์ทนายฯ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมก็เป็นเป้าหมายหนึ่งที่เราจะต้องทำ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่จะต้องคุยกันต่อไป
มีข้อถกเถียง เช่น การทำผิดกฎหมาย ม.112 ก็ถือเป็นการทำผิดกฎหมายอาญา หรือกฎหมายความมั่นคง แล้วทำไมต้องไปนิรโทษกรรมให้คนที่กระทำผิด – อย่างนี้เราจะโต้แย้งอย่างไร
การใช้ข้ออ้างว่า เป็นคดีอาญา คดีความมั่นคง จึงนิรโทษกรรมไม่ได้ มันขัดแย้งในตัวของมันเอง เพราะจริงๆ ที่เราต้องนิรโทษกรรม ต้องออกกฎหมายมา เพราะว่ามันเป็นคดีอาญาไง คือถ้าอยู่เฉยๆ มันก็ [นิรโทษกรรม] ไม่ได้
ดังนั้น ประเด็นที่โต้แย้ง แท้จริงมันไม่ใช่เป็นเพราะเหตุผลเหล่านั้น แต่เป็นเหตุผลที่เขาไม่พูดจริงๆ มากกว่า เช่น เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์หรือเปล่า คุณเลยไม่เลือกที่จะทำอันนี้
มีหลายคนเสนอว่า ม.112 ให้ไปใช้ช่องทางอภัยโทษแทนสิ ซึ่งเราคิดว่า การออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มันเป็นการแก้ไขปัญหาโดยประชาชน โดยตัวแทนของประชาชน
และเรื่องนี้มันก็เป็นคดีความที่เกิดขึ้น ซึ่งเราไม่ควรที่จะดึงสถาบันเข้ามาเกี่ยวข้องเลย ในแง่ที่ว่า คุณบอกว่า กระบวนการยุติธรรม ใครแทรกแซงไม่ได้ คนที่ถูกดำเนินคดี ม.112 เกือบ 300 คน คุณยังจะผลักภาระให้สถาบันที่จะต้องมาพิจารณารายบุคคล
และในเมื่อ ม.112 มันอยู่ในความขัดแย้งอยู่แล้ว การที่คุณผลักภาระว่า ให้ไปอภัยโทษสิ มันเป็นการโยนความรับผิดชอบไปให้สถาบันหรือเปล่า ซึ่งมันไม่ควรเกิดขึ้นในแบบนั้น เราเสนอว่า ยิ่งเป็นแบบนั้น มันยิ่งสร้างความขัดแย้งมากขึ้น ถ้าคุณบอกว่า คุณรักสถาบันจริง จริงๆ ไม่ควรจะโยนภาระนี้ไปที่สถาบันเลยด้วยซ้ำ ก็ควรจะต้องจัดการด้วยตัวแทนของประชาขน และการพูดคุยกันมากกว่า
ทำไมศูนย์ทนายฯ เชื่อในเรื่องการนิรโทษกรรมประชาชน และทำไมประชาชนถึงต้องเชื่อในเรื่องนี้
เราเชื่อเรื่องความเป็นธรรม แต่เราเห็นความไม่เป็นธรรม ในการใช้กฎหมาย ในเชิงโครงสร้าง มาตลอดเกือบ 10 แล้ว ตั้งแต่ 2557 เราเห็นความพิลึกพิลั่นของมัน เราเห็นแม้กระทั่งสิ่งที่เปิดเผยไม่ได้ คนที่ติดตามงานศูนย์ทนายฯ ก็อาจจะเห็นว่า คดีส่วนใหญ่เราก็เปิดเผยแหละ ว่ามันเกิดขึ้นอะไรยังไง แต่มันมีความมหัศจรรย์พันธุ์ลึกอีกหลายอย่างเหมือนกันที่เปิดเผยไม่ได้ หรือบางอย่างที่เปิดเผยไปแล้วก็คือ ม.112 เลย มันมีอยู่แบบนั้น
เพราะฉะนั้น เราคิดว่า นิรโทษกรรมมันเป็นยาเบามากเลย ถ้าเทียบกับความร้ายแรงของสิ่งที่เราเผชิญ และมันเป็นสิ่งที่ขั้นต่ำสำหรับเราแล้วนะ ข้อเสนอในการเรียกร้องของผู้ชุมนุมก่อนหน้านี้ การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ หรือการแก้ไข ม.112 ต่างๆ ยังรุนแรงกว่า ในแง่ที่ไปกระทบกระทั่งกับผู้มีอำนาจ
อันนี้คือขั้นต่ำสุดแล้ว เคลียร์คดีต่างๆ ที่ผ่านมา แล้วเริ่มกันใหม่ และยังไม่ยกเลิก ม.112 ด้วยนะ ม.112 ยังอยู่ แปลว่าในอนาคต หลังจากออก พ.ร.บ. ไปแล้ว ใครทำอะไรที่สุ่มเสี่ยงอีก ซึ่งอาจจะเข้าข่ายหรือไม่เข้าข่ายก็ตาม เขาจะยังสามารถใช้เครื่องมือนี้ได้อยู่
นี่คือขั้นต่ำสุดๆ แล้ว ที่เราจะเริ่มคุยกันได้ แล้วทำไมไม่ทำ?