ก่อนหน้านี้มีกรณีธุรกิจรายใหญ่ในบ้านเราทำน้ำจิ้มเลียนแบบร้านบาร์บีคิวชื่อดัง และนำไปวางขายในร้านสะดวกซื้อของตัวเอง ไม่ว่าบทสรุปสุดท้ายจะเป็นยังไง สังคมก็เกิดคำถามไปแล้วว่า การที่รายใหญ่มีอำนาจเหนือตลาด และใช้อำนาจนั้นเพื่อความได้เปรียบในการดำเนินธุรกิจ เอาเปรียบปลาตัวที่เล็กกว่า เท้าความกลับไปถึงปัญหาว่าเรื่อง ‘การผูกขาดตลาด’ นั้นควรแก้ไขจริงจังได้แล้วหรือยัง
เพราะแม้เราจะมี ‘พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560’ เป็นกฎหมายควบคุมความเป็นธรรมการแข่งขันในตลาดธุรกิจไทย แต่ในประเทศไทยเราก็ไม่เคยนำกฎหมายดังกล่าวมาใช้งานอย่างจริงจัง
การผูกขาด หรือการทำให้ ‘ไม่มีคู่แข่งที่จะเข้ามาผลิตสินค้าและการบริการ’ ในทางเศรษฐศาสตร์ การผูกขาดหมายถึงการมีผู้ขายสินค้าคนเดียว ส่วนในทางกฎหมาย การผูกขาดหมายถึงธุรกิจที่มีอิทธิพลต่อตลาดและเป็นผู้กำหนดราคาสินค้าให้สูงขึ้นได้ ดังนั้นอาจจะไม่ได้หมายความถึงการควบคุมตลาดอย่างเดียว แต่หมายถึงการร่วมมือกันระหว่างธุรกิจเพื่อดันราคาให้สูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคเสียประโยชน์ หรือกำจัดคู่แข่งอย่างไม่เป็นธรรม ก็ได้
ในหลายประเทศ ‘การผูกขาดตลาด’ ของใครคนใดคนหนึ่ง ถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ทำให้มีการกำหนดกฎหมายต้านการผูกขาดขึ้น (ในแต่ละประเทศใช้ชื่อต่างกันไป) รูปแบบคร่าวๆ คือ รัฐจะทำหน้าที่จัดการฟ้อง ขณะที่ประชาชนและกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบก็ส่งเรื่องฟ้องได้ และมีคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและทำการตัดสินข้อพิพาทต่างๆ ซึ่งบทลงโทษมีหลายระดับ ตั้งแต่คำสั่งให้ ‘แตกบริษัท’ ไปจนถึงการจ่ายค่าปรับ หรือการสั่งห้ามการกระทำนั้นๆ ที่ทำเข้าข่ายการผูกขาดตลาด
เพื่อทำให้เห็นภาพมากขึ้น The MATTER รวบรวมกฎหมายต้านการผูกขาดจากต่างประเทศ รวมถึงกรณีข้อพิพาทที่สนใจ มาให้อ่านกัน
สหรัฐอเมริกา
กฎหมาย : ‘Antitrust Laws’
ประกอบด้วย 3 กฎเกณฑ์หลัก
1. Sherman Act of 1890
2. พระราชบัญญัติเคลย์ตันปี ค.ศ.1914
3. พระราชบัญญัติคณะกรรมการการค้าของรัฐบาลกลางปี ค.ศ.1914
โดยภาพรวม สหรัฐอเมริกากำหนดห้ามการกำหนดราคาและการดำเนินการของกงสี และห้ามการปฏิบัติที่สมรู้ร่วมคิดอื่นๆ ที่จำกัดการค้าอย่างไม่มีเหตุผล ห้ามมิให้มีการใช้อำนาจผูกขาดโดยมิชอบ และจำกัดการควบรวมและซื้อกิจการขององค์กรที่มีแนวโน้มที่จะลดการแข่งขันลงอย่างมาก
คดีผูกขาดที่โดดเด่น :
สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการผูกขาดมากที่สุดประเทศหนึ่ง และมีคดีการตัดสินบริษัทที่ผูกขาดตลาดระดับตำนานมากมาย เพราะมีกฎหมายต้านการผูกขาดมานานกว่า 100 ปี
- เคส ‘Standard Oil’ บริษัทน้ำมันของอภิมหาเศรษฐี John D. Rockefeller ซึ่งใหญ่มากจนผูกขาดตลาดของอเมริกาได้แบบสมบูรณ์ สุดท้ายศาลตัดสินให้ ‘แตกบริษัท’ ออกมา 34 บริษัทในปี ค.ศ.1911 ภายใต้ชื่อที่คุ้นเคยอย่างเช่น Exxon, Chevron
- เคส ‘AT&T’ บริษัทให้บริการเครือข่าย ที่ถูกศาลตัดสินว่าผูกขาดเช่นกัน ทำให้สุดท้ายต้องแตกเป็น 7 บริษัทในปี ค.ศ.1974
- ในยุคปี ค.ศ.2019 เป็นต้นมา สหรัฐเริ่มเล็งเห็นปัญหาใหญ่ของการขยายตัวของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ ดังนั้น ‘Facebook’ จึงโดนฟ้องและสอบประเด็นผูกขาดโซเชียลมีเดีย จากที่ไปกว้านซื้อโซเชียลมีเดียอื่นอย่าง Instagram มาไว้ครอบครอง หรือ ‘Google’ ก็โดนฟ้องว่าผูกขาดตลาดธุรกิจสืบค้นข้อมูล
- แต่ก็มีกรณีการควบรวมของยักษ์ใหญ่ที่ถูกตัดสินให้ควบรวมได้เช่นกัน คือ ดีลควบกิจการ AT&T กับ Time Warner เมื่อสามปีก่อน เพราะศาลสหรัฐฯ ตัดสินว่าไม่พบหลักฐานที่บ่งชี้ว่าการควบรวมจะลดทอนการแข่งขันในตลาด
จีน
กฎหมาย : Anti-Monopoly Law and Practice in China (2011)
โดนระบุพฤติกรรมการผูกขาดดังนี้
1. ห้ามข้อตกลงผูกขาดระหว่างผู้ประกอบการ
2. ห้ามการใช้ฐานะผู้นำในตลาดไปในทางที่ผิด
3. ห้ามการรวมกิจการ ที่จะเป็นผลเสียต่อการแข่งขันทางการค้า
คดีผูกขาดที่โดดเด่น :
- เคสการสั่งปรับ ‘Alibaba’ ของจีน ที่มีมูลค่ากว่า 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีนี้ เพราะอาลีบาบากีดกันไม่ให้คนขายไปขายของกับแพลตฟอร์มอื่น ด้วยการผูกให้ใช้แต่ช่องทางการชำระเงินตัวเอง ถือว่าเป็นเคสสำคัญ และเป็นบรรทัดฐานของประเด็นการผูกขาดในจีน ที่กฎหมายเพิ่งออกมาครบ 10 ปี
แม้ว่าเป็นเรื่องน่าประหลาดใจว่าทำไมอาลีบาบา ซึ่งส่งเสริมเศรษฐกิจเทคโนโลยีจีนอย่างโดดเด่น ขณะที่จีนเองก็ดำเนินนโยบายการก้าวเป็นผู้นำเทคฯ โลกอย่างขันแข็ง จึงโดนตัดสินจ่ายค่าปรับ (ที่คิดเป็นเพียงมูลค่า 4 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ในประเทศ)
มีหลายความเห็นถกเถียงกันว่าจีนไม่ได้กังวลประเด็น ‘ผูกขาด’ นัก แต่กังวลการแสวงหากำไรเกินควรของบริษัทเทคโนโลยี จนอาจจะลืมเป้าหมายการพัฒนานวัตกรรมของชาติ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับความมั่นคง
โดย ‘Zhu Ning’ นักวิจัยจาก Tsinghua University ให้ความเห็นไว้ว่า “การขยายตัวและเติบโตของทุนที่ไม่เป็นระเบียบเป็นภัยต่อเศรษฐกิจ ผู้บริโภค และสังคมโดยรวม จะทำให้สังคมหันเหออกจากเส้นทางความก้าวหน้าและการพัฒนาเทคโนโลยี ไปสู่หนทางที่จะแสวงหากำไรแบบง่ายๆ ใช้ทุนไปเพิ่มธุรกรรมและขยายฐานลูกค้า แต่กลับละเลยการสร้างนวัตกรรมต้นแบบทางเทคโนโลยี”
สหภาพยุโรป
กฎหมาย : European Union competition law
โดยมีหลักการสำคัญคือ
1. ควบคุมการควบรวมกิจการที่ทำให้ราคาสูงขึ้น ลดทางเลือกผู้บริโภค และไม่กระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมใหม่
2. ตรวจสอบการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐ ซึ่งทำให้เกิดการบิดเบือนทางการแข่งขัน
3. การป้องกันการผูกขาด กรณีคู่แข่งขันตกลงแบ่งตลาดหรือกำหนดราคาตลาด และใช้อำนาจเอาเปรียบคู่แข่งอื่นในตลาด
คดีผูกขาดที่โดดเด่น :
เนื่องจากสหภาพยุโรปเป็นการรวมกลุ่มของ 20 กว่าประเทศ กลายเป็นตลาดขนาดใหญ่อันดับต้นของโลก และมีศักยภาพในการลงทุนสูง จึงมีการให้ความสำคัญกฎหมายแข่งขันทางการค้า (Competition Law) เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงสองปีหลัง ค่อนข้างเข้มงวดกับการขยายกิจการของบริษัทเทคโนโลยีอย่างมีนัยสำคัญ คล้ายกับสหรัฐอเมริกา
- ปี ค.ศ.2009 ‘Intel’ โดนปรับ 1,450 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ฐานผูกขาดตลาดชิปคอมพิวเตอร์ เพราะใช้ส่วนลดพิเศษ
- สั่งปรับ ‘Google’ ในปี ค.ศ.2018 ที่ 2.42 พันล้านยูโร หรือราว 9.5 หมื่นล้านบาท ฐานฝ่าฝืนกฎหมายต่อต้านการผูกขาด เพราะ Google Shopping เสนอข้อมูลสินค้าที่จ่ายเงินให้กูเกิลอยู่บนสุดทุกครั้งในหน้าค้นหา เวลาผู้บริโภคค้นหาข้อมูลที่ตนต้องการ
- ปี ค.ศ.2020 ทั้ง Apple และ Amazon และบริษัทเทคโนโลยีเจ้าใหญ่รายอื่นๆ เช่น Facebook Google ก็ถูกเรียกสอบกรณีที่อาจทำธุรกิจที่ผูกขาดตลาด
- ขณะเดียวกัน ก็เพิ่มความเอาจริงเอาจัง เมื่อ EU กำลังดัน ‘ร่างกฎหมายควบคุมบริการธุรกิจดิจิทัล’ และ ‘กฎหมายตลาดธุรกิจดิจิทัล’ เพื่อใช้ควบคุมบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ไม่ให้ต่อต้านการแข่งขันในตลาด
สิงคโปร์
กฎหมาย : Competition Act
หลักการสำคัญก็คือ
1. ไม่ให้ธุรกิจทำข้อตกลง ตัดสินใจ หรือกระทำสิ่งที่ทำลายการแข่งขันในตลาด
2. ควบคุมไม่ให้ธุรกิจใช้อำนาจผู้นำตลาดในทางที่ผิด
3. ควบคุมการควบรวมกิจการ ไม่ให้ธุรกิจใดมีอำนาจเหนือตลาด
คดีผูกขาดที่โดดเด่น :
มาดูตัวอย่างใกล้บ้านเราบ้าง สิงคโปร์เป็นประเทศใกล้บ้านที่มีมาตรการลงโทษธุรกิจที่เข้าข่ายผูกขาด เป็นตัวอย่างสำคัญในภูมิภาคอาเซียน
- เคสของการควบรวม ‘Grab X Uber’ นั้น ถูกคำสั่งตัดสินให้จ่ายค่าปรับ 13 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ โดยให้เหตุผลว่า การควบรวมทำลายระบบตลาดอันเป็นธรรม ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในเรื่องค่าโดยสารที่สูงขึ้น และการเอาเปรียบเรื่องรายได้หรือค่าคอมมิชชั่นของคนขับรถรับจ้าง เนื่องจากในเวลานั้น Grab ก็ครองตลาดสิงคโปร์ไปราว 80% แล้ว ทำให้ไม่มีคู่แข่งอื่นมีโอกาสต่อสู้ได้
ประเทศไทย
กฎหมาย : พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560
โดยมีหลักการสำคัญ การควบคุมไม่ให้เกิด
1. การรวมธุรกิจที่ทำให้เกิดการผูกขาด ลดหรือจำกัดการแข่งขันทางการค้า
2. การปฏิบัติทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม
3. การตกลงร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจต่างประเทศโดยไม่มีเหตุอันควร ทำให้เกิดการผูกขาด
คดีผูกขาดที่โดดเด่น:
ประเทศไทยมีกฎหมายต้านการผูกขาดฉบับแรกคือ พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2552 ก่อนอัพเดตอีกทีในปี พ.ศ.2560 ซึ่งที่ผ่านมาถูกวิพากษ์ว่า ยังไม่เคยมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นรูปธรรมนัก
- กระทั่งในปีที่แล้ว ที่มีเสียงประชาชนผลักดันให้สอบกรณีการควบรวม ‘CP x TESCO’ มีที่มูลค่ากว่า 3.3 แสนล้านบาท ว่ากันว่าเป็นดีลควบรวมที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ซึ่งแม้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีมติเสียงข้างมาก 4:3 ให้อนุญาตควบรวมกิจการได้ บอกว่าเป็นการเพิ่มอำนาจแต่ไม่ผูกขาด ซึ่งแน่นอนว่าเรียกเสียงวิพากษ์ในสังคมตามมา
อย่างไรก็ตาม เคสนี้ถือเป็นการควบรวมกิจการในธุรกิจค้าปลีกคดีแรกๆ ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าโดยตรง และคงจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ในการพิจารณาการควบรวมธุรกิจในอนาคตของประเทศไทยได้
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Krittaporn Tochan