เมื่อเอ่ยถึงวีนัส (Venus) มีหรือที่ชื่อของมาร์ส (Mars) จะไม่ตามมา เพราะเราคุ้นเคยว่าทั้งคู่นั้นเป็นคู่รักระดับตำนาน มีฉันต้องมีเธอ แต่แท้จริงแล้ว วีนัสไม่ได้เป็นคู่สมรสกับมาร์สอย่างที่เราเข้าใจ จะตกใจกว่านั้นอีกไหมถ้ามาร์สเป็นเพียงหนึ่งในหนุ่มๆ ของวีนัส เทพีแห่งความรักที่กุมเอาหัวใจของชายหนุ่มทั้งเทพและมนุษย์ มาดูเรื่องราวความรักของเทพีแห่งความรัก ถ้าหากเธอไม่ได้คู่กับมาร์สตั้งแต่แรก แล้วใครกันล่ะที่เป็นคู่ครองของเธอจริงๆ
วีนัส ที่เรารู้จักกันในอีกชื่อกรีกอย่าง ‘อะโฟรไดต์ (Aphrodite)’ (ซึ่งหลังจากนี้ขอเรียกชื่อตัวละครทุกตัวเป็นชื่อกรีก) ผู้เป็นเทพีแห่งความงาม เธอจึงพร้อมไปด้วยรูปโฉม เทพีแห่งความรัก เธอจึงพร้อมไปด้วยเสน่ห์ล้นเหลือ และเทพีแห่งความปรารถนา เธอจึงสะพรั่งไปด้วยแรงดึงดูด
ภาพจำของเหล่ามนุษย์ที่มีต่อเทพีแห่งความรักที่แมสที่จุดคงจะเป็นภาพ ‘The Birth of Venus (ค.ศ.1485)’ ผลงานของ แซนโดร บอตตีเชลลี (Sandro Botticelli) สาวงามผมยาวสลวย หยัดยืนอรชรอยู่บนเปลือกหอยขนาดใหญ่ มีน้ำทะเลรองรับอยู่ใต้นั้นอีกที
เทพีแห่งความงามที่เกิดมาจากจู๋
ทะเลที่อยู่เบื้องล่างนั้นไม่ได้มาด้วยความไม่ตั้งใจ แต่เกิดจากเรื่องราวก่อนหน้านั้น ที่เราต้องขอกรอเทปย้อนปกรณัมกลับไปตั้งแต่ตอนที่ผืนฟ้าอย่าง ‘อูรานอส (Uranus)’ และผืนดินอย่าง ‘ไกอา (Gaia)’ ได้ครองรักกันจนเกิดเป็นเหล่าไททันทั้ง 12 ตน แต่อูรานอสกลับเอาเหล่าไททันไปฝังไว้ใต้พื้นพิภพ ไกอาผู้เป็นแม่จึงขอให้ลูกๆ ลุกขึ้นมาปราบความเอาแต่ใจของตาคนนี้เสียที
ไททันสุดท้องอย่าง ‘โครนัส (Cronus)’ ก็ได้ลุกขึ้นสู้ด้วยการเอาเคียวไปเกี่ยวพวงเดียวอันเดียวของอูรานอสผู้เป็นพ่อเข้าให้ เฉือนออกมาแล้วโยนทิ้งทะเลไป หลังจากนั้นก็เป็นมหากาพย์แช่งชักหักกระดูกกันว่าเอ็งน่ะ ก็ต้องโดนลูกโค่นบัลลังก์แบบที่ทำไว้ในวันนี้ แล้วคำสาปนั้นก็เป็นจริง เมื่อ ‘ซูส (Zeus)’ ผู้เป็นลูกกลับมาโค่นบัลลังก์ของโครนัสลงจนได้
กลับมาที่จู๋ของโครนัสที่ลอยเท้งเต้งอยู่กลางทะเล ถูกพัดไปมาตามเกลียวคลื่น ม้วนแล้วม้วนเล่า เกิดเป็นฟองคลื่น และเหล่าฟองคลื่นนั้นเองที่ก่อกำเนิดเทพีแห่งความงามและความรักขึ้นมา (บางตำนานก็บอกว่าอะโฟรไดต์เป็นลูกของซูส) คลื่นซัดไปเรื่อยๆ จนเธอไปติดอยู่ที่ชายฝั่งเกาะไซปรัส (Cyprus) จึงถูกเชื้อเชิญขึ้นไปยังโอลิมปัสพบปะกับเหล่าทวยเทพ
ความงามแบบหาใครเปรียบมิได้มีหรือที่จะไม่สะดุดตาขาประจำแห่งความซุกซนอย่างซูส แต่อะโฟรไดต์ไม่ยินดีที่จะครองคู่กับเขา จึงถูกยกให้กับ ‘เฮเฟตุส (Hephaestus)’ เทพแห่งไฟและการตีเหล็ก โดยอ้างว่าเพื่อตอบแทนความดีความชอบที่เฮเฟตุสนั้นทำสายฟ้าอาวุธคู่กายให้ แต่นัยหนึ่งอาจเป็นการแก้เผ็ดที่อะโฟรไดต์ไม่ยอมรับซูส เนื่องจากเฮเฟตุสนั้นเป็นเทพที่ไม่ได้มีรูปเป็นทรัพย์ มักจะถูกล้อเลียนจากเทพด้วยกันอยู่บ่อยครั้ง ถึงอย่างนั้นการสมรสกันของเทพีแห่งความงามผู้หาใครเปรียบมิได้ กับเทพผู้ที่มิได้มีรูปลักษณ์งามหมดจดก็เกิดขึ้น
ชีวิตรักมันน่าระอา รักลับๆ จึงเกิดขึ้น
ชีวิตคู่ของทั้งสองก็ไม่ได้ราบรื่นนัก ไม่ได้เป็นเหมือนเรื่องโฉมงามกับเจ้าชายอสูร อะโฟรไดต์ไม่พึงใจในสามีของตัวเองแม้แต่น้อย จนทั้งคู่นั้นไม่ได้มีลูกด้วยกันเลยสักคนเดียว (บ้างก็ว่าไม่ได้มีกิจกรรมทางเพศกันด้วยซ้ำ) เพราะความรัก ความหลงใหลที่มีของอะโฟรไดต์นั้น ได้มอบให้กับ ‘เอรีส (Ares)’ หรือ ‘มาร์ส (Mars)’ เทพเจ้าแห่งสงคราม ผู้เต็มไปด้วยความกราดเกรี้ยวและโกรธา ความรักของทั้งคู่เบ่งบานเสียจนมีพยานรักด้วยกันหนึ่งในนั้นคือ ‘เอรอส (Eros)’ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อคิวปิดนั่นเอง
ลักลอบรักกันจนมีลูกขนาดนี้เฮเฟตุสไม่รู้อะไรเลยหรอ? รู้สิ แล้วก็แก้เผ็ดได้เจ็บแสบมากอีกด้วย ปกติแล้วเวลาอะโฟรไดต์กับเอรีสแอบมามีสัมพันธ์สวาทกันยามค่ำคืน จะให้ ‘อเล็กไทรออน (Alectryon)’ ทำหน้าที่เฝ้ายามให้ แต่คราวนี้ต้นทางดันหลับลึกหลับเพลินจนถึงรุ่งเช้า ‘เฮเมส (Hermes)’ ผ่านมาเห็นเลยรีบไปฟ้องเฮเฟตุสว่าเห็นอะไรมา
ทางฝั่งเฮเฟตุสที่รู้แกวมานาน เลยจัดแจงเอาตาข่ายล่องหนที่ทำไว้ไปคลุมทั้งคู่ให้ติดกับ ยังไม่หมด เฮเฟตุสยังเรียกเหล่าทวยเทพองค์อื่นให้มาดูชู้รักที่อยู่ภายใต้กับดักของเขาอีกด้วย ส่วนเจ้าอเล็กไทรออน ที่ทำหน้าที่ต้นทางได้บกพร่องจนเอรีสถูกจับได้ จึงถูกสาปให้กลายเป็นไก่คอยขันในช่วงก่อนรุ่งเช้านั่นเอง
เมื่อเทพีแห่งความรักคลั่งรักเสียเอง
หลังจากชีวิตสมรสที่ไม่สมหวังกับเฮเฟตุส ต่อมาก็ห่างหายจากเอรีสไป ก็ยังไม่ได้มีคนรักใหม่อย่างเป็นจริงเป็นจัง วันหนึ่งนั่งเล่นนอนเล่นกับอีรอส อยากจะแกล้งโน้มไปจุ๊บลูก แต่ศรรักก็ปักเข้ากลางอกอย่างไม่ตั้งใจ ทิ้งรอยแผลเอาไว้พร้อมกับอำนาจแห่งศรที่จะมอบความรักให้กับผู้ที่พบเป็นคนแรก และคนนั้นคือหนุ่มน้อย ‘อะดอนิส (Adonis)’
อะโฟรไดต์หลงรักหนุ่มน้อยเข้าอย่างจัง ทั้งคู่ใช้ชีวิตรักที่เปี่ยมไปด้วยความปรารถนาในตัวกันและกัน (ถ้าเป็นสมัยนี้คงเรียกว่าคลั่งรัก) ด้วยความที่อะดอนิสต้องล่าสัตว์ในป่าเป็นประจำ อะโฟรไดต์ก็เฝ้าพะเน้าพะนอเอาใจ คอบเตือนด้วยความเป็นห่วงว่าระวังสัตว์ร้ายด้วยนะ พูดไม่ทันขาดคำ วันหนึ่งอะดอนิสเดินเข้าป่าและโดนหมูป่าเล่นงานเข้าจนถึงแก่ชีวิต (บ้างก็ว่าเอรีสนั่นแหละที่แปลงกลายเป็นหมูป่าเพราะหึงหวง)
ความโศกเศร้าของอะโฟรไดต์เกินจะพรรณา ใบหน้างามเปื้อนหยาดน้ำตาหยดแล้วหยดเล่า หนุ่มน้อยที่เธอมอบความรักให้ต้องจากไปไวเกินกว่าจะทันตั้งตัว เทพีที่กำลังคลั่งรักหนุ่มน้อยผู้กำลังจะจากไปในอ้อมอกนี้ สร้างดอกไม้สีแดงสดเช่นเดียวกับเลือดอุ่นๆที่ไหลรินจากร่าง ให้เป็นของไว้ดูต่างหน้าที่จะได้พบกันบนโลกใบนี้ แม้อะดอนิสจะจากไปสู่ยมโลกแล้วก็ตาม ดอกไม้นั้นชื่อว่า ‘อะนีโมนี (Anemone)’
แม้จะมีความรักอีกมากมายหลายครั้งกับเทพองค์อื่นๆ แต่ความรักในแต่ละครั้งของเธอนั้นก็ไม่อาจทำให้เราไปตัดสินด้วยไม้บรรทัดในโลกยุคศตวรรณที่ 21 ได้ว่าเธอมันมักมาก หลายใจ ใช้ความรักเหมือนใช้ทิชชู่ อย่าลืมว่าสุดท้ายแล้วเรื่องราวเหล่านี้ก็ผ่านปลายปากกาของมนุษย์เดินดิน แต่งเติมมาจากสิ่งที่พวกเขาอธิบายไม่ได้ในสมัยก่อนนั่นแหละนะ แล้วคุณล่ะ ชอบความรักครั้งไหนของเทพีแห่งความรักที่สุด?
อ้างอิงข้อมูลจาก