นึกถึงอะไรเมื่อเราพูดถึงนรก?
ที่ที่เต็มไปด้วยผู้คนและอสูรร้ายหิวโหย กิจกรรมกินแรงเช่นการปีนต้นงิ้ว อุปกรณ์ของมีคมที่ใช้ทิ่มแทงตัดเฉือนจำนวนนับไม่ถ้วน ไฟร้อนระอุทุกหนแห่ง หรือพื้นที่ที่เย็นจับจิต แน่นอน หนึ่งสิ่งที่เราต้องนึกถึงแน่ๆ เมื่อเราลิสต์องค์ประกอบเหล่านั้นมา คือ ‘เขาเอามันไปทำอาหารบ้างหรือเปล่านะ?’ นั่นบวกกันกับการที่ช่วงนี้ได้ยินชื่อรายการ Hell’s Kitchen ขึ้นมาบ่อยๆ ก็อดไม่ได้ที่จะทำให้เรานึกสงสัยเกี่ยวกับ ‘ครัวของนรก’
วันนี้ The MATTER เลยอยากพาไปดู 6 ตัวอย่างเกี่ยวข้องกับการทำอาหาร การกิน และการถูกกินในนรก ในตำนาน คัมภีร์ หรือเรื่องเล่าจากหลากหลายวัฒนธรรม
* Trigger warning: เนื้อหาต่อไปนี้มีการพูดถึงเลือด บาดแผล การทำร้ายร่างกาย และคำอธิบายเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ที่รุนแรง (และแหวะ)*
“กระทะทองแดง” บทลงโทษนรกหลากวัฒนธรรม
“กามทั้งหลายมีทุกข์มากกว่าการดื่มยาพิษที่ร้ายแรง กว่าการใช้น้ำมันที่เดือดพล่านรด กว่าการตกกระทะทองแดงที่กำลังละลายคว้าง”
‘เครื่องครัว’ ที่เรานึกถึงเป็นอย่างแรกๆ เมื่อพูดถึงนรกน่าจะเป็นกระทะทองแดง ในมุมของพุทธศาสนา บทลงโทษของมนุษย์ผู้ดื่มกินสุรา คือการถูกยมทูตจับลงทอดรวมกันเหมือนไก่ทอดในกระทะทองแดงที่เต็มไปด้วยน้ำมัน ทั่งนี้เราไม่ทราบแน่ว่าตามสูตรของทางนั้น จำเป็นต้องทอดนานขนาดไหน และทอดเสร็จนำไปทำอะไรต่อ
อย่างไรก็ดี ในความเชื่อทางพราหมณ์ฮินดู มีการลงโทษในนรกรูปแบบเดียวกันที่จับสัตว์นรกลงทอดในหม้อโลหะ แต่ต่างกันตรงที่มันเป็นบทลงโทษของความผิดคนละอย่างกัน ในหนังสือ Puranic encyclopaedia : a comprehensive dictionary with special reference to the epic and Puranic literature ซึ่งเป็นการแปลและรวบรวมจัดเก็บข้อมูลของปุราณะ หรือวรรณคดีอินเดียเป็นภาษาอังกฤษ เล่าว่าในหนึ่งขุมนรกมีชื่อว่า Kumbhipakam นรกสำหรับคนที่ฆ่าและกินนกและสัตว์ “น้ำมันถูกรองและต้มไว้ในภาชนะ ทูตนรกพาคนบาปลงไปในน้ำมันนั้น การลงโทษครั้งนี้จะกินเวลานับเป็น 1 ปีต่อ 1 เส้นขนบนกายของสัตว์ที่พวกเขาฆ่า”
ดูเหมือนว่าหากใช้เวลานานขนาดนั้น เราคงเรียกการลงโทษนี้ได้ว่าเป็น ‘สัตว์นรกกงฟี’
นรกชั้นที่ 3: ความตะกละ
จาก ‘แฟนฟิค’ เล่มแรกๆ ของโลก Divine Comedy – Inferno โดยดันเต อาลีกีเอรี (Dante Alighieri) มีการพูดถึงแผนที่และหน้าตาของนรกที่แบ่งตัวออกเป็นชั้นๆ ตามบาปในคริสต์ศาสนา หนึ่งในนั้นคือบาปของความตะกละที่กินพื้นที่ชั้นที่ 3 ของนรก
ในชั้นที่ 3 นี้ กลุ่มคนบาปผู้ใช้ชีวิตจากการบริโภคเกินพอดีร้องโอดโอยและหิวโหยอยู่บนพื้นโคลนเย็นเยือบ อาหารเดียวที่มีคือโคลนเหล่านั้นซึ่งไม่เติมเต็มพวกเขาเสียที ดันเตอธิบายด้วยว่าผู้คุมนรกขุมนี้คือเซอร์เบอรัส สุนัข 3 หัวจากปกรณัมกรีก ซึ่งกัดกินและฉีกเหล่าคนบาปเป็นชิ้นๆ
แต่งกายด้วยขนนก แล้วไปกินโคลนกัน
นรกของดันเตไม่ใช่ครั้งแรกที่เล่าถึงอาหารของคนบาปในนรก เพราะคอนเซ็ปต์นั้นถือกำเนิดมาตั้งแต่ยุคเมโสโปเตเมีย ในมหากาพย์กิลกาเมช หนึ่งในตัวละครหลักของเรื่อง เอกิดู ชายเพื่อสนิทของกิลกาเมชผู้ถูกสาปให้ตาย ฝันถึงปรโลกสุเมเรี่ยน ที่ที่ถูกเรียกว่า ‘บ้านแห่งฝุ่น’ อันมืดมิด ที่เหล่าคนบาปแต่งกายด้วยขนนก คุกเข่า กินดินโคลนและก้อนหิน เฝ้าระวังโดยสัตว์ร้ายน่าสยดสยอง
นรกของเราแต่ละคนหน้าตาไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ดี หนึ่งในความสุขของความเป็นมนุษย์คือการได้ลิ้มรสสิ่งต่างๆ ในชีวิต และหากใครเคยบังเอิญรับรสไม่ได้สักอาทิตย์หนึ่ง คงรู้ว่าความทรมานที่เนิบช้านั้นเป็นอย่างไร และลองคิดว่านั่นคือนรกของชาวสุเมเรี่ยนยิ่งทำให้ภาพนรกนั้นๆ จับต้องได้มากขึ้นอย่างมาก
กินอสุจิในนรกและถูกโยนลงในแม่น้ำอสุจิ เพราะเคยบังคับคนรักดื่ม
เลือดคงเป็นของเหลวแรกๆ ที่เรานึกถึงเมื่อเราพูดถึงนรก แต่นอกจากเลือดและน้ำมันร้อนระอุ อีกสิ่งที่สามารเป็น ‘เครื่องดื่ม’ ในนรกของขาวฮินดูได้คือ ‘อสุจิ’ ซึ่งเป็นหนึ่งในนรกที่ถูกพูดถึงอยู่ในภควตะปุรณะ ซึ่งถูกแปลและรวบรวมในหนังสือ Puranic encyclopaedia โดยนรกนั้นชื่อว่า ‘Lalabhaksam’
“นี่คือนรกของเหล่าคนบาปผู้มากตัณหา ผู้มีความหื่นอยากเกินการผู้บังคบภรรยาให้ดื่มกินอสุจิของตนจะตกนรกขุมนี้ นรกขุมนี้คือทะเลแห่งอสุจิ และมันคืออาหารเดียวของสัตว์นรก ณ ที่แห่งนี้” คือคำอธิบายของนรกขุมนี้ใน Puranic encyclopaedia
ดูเหมือนว่าภาพจำว่านรกเป็นสีแดง และสวรรค์เป็นสีขาวจะคลาดเคลื่อนไปเล็กน้อยสำหรับเรา
ตกเป็นอาหารของยักษ์ จากการบูชายัญมนุษย์
การกินเนื้อมนุษย์เป็นสิ่งต้องห้ามตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน หนึ่งในวิธีการที่ทำให้คนเราหวั่นเกรงในอดีต นอกจากกฎหมายแล้วก็มีความเชื่อนี่แหละ และบทลโทษของนรกเกี่ยวกับการบูชายัญมนุษย์และการกินเนื้อคนในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ถูกกำหนดเอาไว้ในภควตะปุรณะ ว่าถ้าหากพวกเขากินใครเข้าไป คนที่เคยถูกกินจะกลับมากินเขาในนรก
Raksobhaksam แปลคร่าวๆ ได้ว่าอาหารของรากษส หรือที่เราคุ้นกันว่าคือยักษ์ อสูร หรือมาร คนที่กินเนื้อมนุษย์จะตกลงมาในนรกขุมนี้ และถูกคนที่พวกเขาเคยกิน รวมถึงทุกสิ่งมีชีวิตที่พวกเขาเคยฆ่า ร่วมกันแล่เนื้อเขาด้วยมีดและดาบก่อนจะดื่มกินเลือดของพวกเขาราวกับบุฟเฟต์ของการฉลองชำระหนี้แค้น
อย่ากินอาหารในนรก
จากที่เล่ามาทั้งหมด ก็คงไม่ค่อยมีอะไรที่น่ากินเท่าไรนักหรอก อย่างไรก็ดี มีตำนานหลากหลายมากมายเกี่ยวกับการไปยังพื้นที่ต่างแดน พร้อมทั้งกฎข้อสำคัญเกี่ยวกับการกินอะไรบางสิ่งจากที่แห่งนั้น ไม่ว่าจะในตำนานสร้างโลกของญี่ปุ่น หรือเรื่องราวของเฮเดสและเพอร์เซโฟนีในปกรณัมกรีก นั่นคือหารกินอาหารของนรก จะทำให้เราถูกผูกติดกับนรกแห่งนั้นๆ
การผูกติดนี้เกิดขึ้นในตำนานสร้างโลกของญี่ปุ่น หลังจากเทพเจ้าอิซานามิเสียชีวิตจากการให้กำเนิดเทพแห่งไฟ สามีของเธอ ‘อิซานากิ’ เดินทางไปยังยมโลกเพื่อเอาตัวคนรักของเขาคืนมา แต่เนื่องจากเธอได้กินอาหารของนรกเข้าไปแล้ว เธอจึงติดอยู่ที่นั่น คล้ายคลึงกันกับการแต่งงานของเฮเดสและเพอร์เซโฟนี ที่แม้เฮเดสจะอนุญาตให้ราชินีของเขากลับขึ้นไปเยี่ยมเยียนเดมิเตอร์แม่ของเธอได้เป็นครั้งคราว เฮเดสให้เพอร์เซโฟนีกินเม็ดทับทิมเพื่อผูกเธอเอาไว้กับนรกเสมอ
ฉะนั้นหากตายแล้วเราอย่าเผลอกินอะไรที่ออกจากครัวนรกเลย แต่จากไม่กี่ตัวอย่างที่ลิสต์มา ก็คงรู้ดีอยู่แล้วว่าคงไม่มีอะไรที่น่าจะหยิบกิน บางครั้งถึงจะกินก็คงเพราะเลือกไม่ได้ และหลายๆ ครั้งเราเองเนี่ยแหละคืออาหาร
อ้างอิงจาก