เมื่อหลายปีก่อน เราได้เห็นเทรนด์ตกแต่งภายในสไตล์ลอฟต์ ได้รับความนิยมในทุกที่ ไม่ว่าจะร้านอาหาร ร้านกาแฟ หรือแม้แต่ที่พักอาศัย ที่ไหนๆ ก็อยากจะลอฟต์กับเขา ทั้งผนังปูนเปลือย ที่แต่ก่อนมักจะถูกแซวว่าเหมือนสร้างไม่เสร็จ แต่พอสไตล์ลอฟต์ฮิตขึ้นมามันก็เท่แบบไม่มีเหตุผล ต่อมาก็เป็นสไตล์มินิมอล เรียบง่าย เน้นเฟอร์นิเจอร์ไม้สีอ่อน (และต้นไทรใบสัก) ยิ่งการมาถึงของแบรนด์ IKEA ในไทย ก็ยิ่งทำให้สไตล์ Scandinavian บูมขึ้นมาในบ้านเราไม่แพ้กัน
แต่เทรนด์ดีไซน์ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ได้นำเอาเสน่ห์ของสองสไตล์มารวม จนเราได้เห็นเทรนด์ตกแต่งภายในแบบ ‘Japandi’ ขึ้นมา ที่รวมเอาการแบบของ Japanese และ Scandinavian มารวมกันอย่างลงตัว โดย Japandi คือการผสมผสานระหว่างความเป็นเจ้าแห่งฟังก์ชั่นของ Scandi บวกกับรูปลักษณ์ที่เรียบง่ายของ Japanese อย่างมินิมอลที่เรารู้จักกันนั่นแหละ จนเกิดเป็น Japandi ที่เน้นความเรียบง่าย เน้นวัสดุและพื้นผิวจากธรรมชาติ โทนสีสีอบอุ่น สว่าง และสบายตา
อาจด้วยเพราะแนวคิดในการออกแบบบางอย่างและแนวคิดในการใช้ชีวิต ที่มีความใกล้เคียงกัน จนสามารถนำมาผสมผสานกันได้อย่างกลมกลืน จึงทำให้ Japandi เป็นเทรนด์ดีไซน์ที่ได้รับความนิยม แบบไม่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง
ตะวันตกพบตะวันออก
หากกางแผนที่โลกดูไปพร้อมกัน อาจเห็นว่าทั้งประเทศญี่ปุ่นและประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ไม่ได้อยู่ใกล้กันมากพอที่จะนับว่า มีวัฒนธรรมร่วมในภูมิภาคเดียวกัน ก็เพราะอยู่กันคนละทวีปเลยนี่นา แต่เมื่อขยายลงไปที่แนวคิดในการใช้ชีวิตแล้ว มีอยู่หลายอย่างที่มีความคล้ายคลึงกันระหว่างความอบอุ่นใน Hygge ของเดนมาร์กและความสุขแม้ในสิ่งที่ไม่สมบูรณ์แบบอย่าง Wabi-Sabi ของญี่ปุ่น ที่ทั้งสอง มักจะเน้นไปที่การใช้ชีวิตให้มีความสุขโดยตั้งอยู่บนความอบอุ่น เรียบง่ายเป็นหลัก และแนวคิดเหล่านั้น ถูกสะท้อนออกมาในรูปแบบของดีไซน์ที่เราได้เห็นกัน
การใช้ชีวิตที่ยึดโยงอยู่กับธรรมชาติของชาวสแกนดิเนเวียน ที่มักจะชื่นชอบกิจกรรมกลางแจ้ง กิจกรรมนอกบ้านที่ได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ และเมื่อฤดูหนาวมาถึง ด้วยสภาพอากาศ พวกเขาไม่อาจทำกิจกรรมที่พวกเขาชื่นชอบได้อย่างเคย เราจึงได้เห็นการหยิบเอาโทนสีจากธรรมชาติมาใช้ บวกกับวัสดุที่โชว์พื้นผิวแบบธรรมชาติ (แม้แต่โซฟายังต้อง Leggy ทั้งที่ไม่ต้องมีก็ได้) รวมทั้งการออกแบบให้ห้องโปร่ง โล่ง และได้รับแสงจากธรรมชาติอยู่เสมอ
และ Japanese Minimalist ที่ยึดเอาความเรียบง่ายในแบบเซนเป็นที่ตั้ง เรามักจะไม่ได้เห็นเส้นสาย สีสัน หรือการออกแบบที่หวือหวา ฉูดฉาด เลยแม้แต่น้อย รวมทั้งการใส่อะไรที่ลงไปแต่น้อย ไม่ว่าจะทั้งน้อยในจำนวนและน้อยในรูปลักษณ์ เราเลยมักได้เห็นผนังสีขาวโล่งสบายตา กับเฟอร์นิเจอร์สีอุ่นที่ไปด้วยกันได้ดีกับสีของผนัง เป็นแพทเทิร์นของสไตล์นี้ ที่นำเอาความอบอุ่น สบายตา มาสู่ผู้พักอาศัย
แนวคิดของทั้งสอง ตั้งอยู่บนความอบอุ่นและเรียบง่าย เป็นหลัก เมื่อทั้งสองดีไซน์ถูกนำมารวมกัน จึงไปด้วยกันได้ดี จนแทบจะหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวได้ ความอบอุ่น เรียบง่ายที่เป็นจุดเด่นของทั้งสองสไตล์ ถูกเสริมด้วยฟังก์ชั่นเจ๋งๆ พื้นผิวธรรมชาติที่เติมความอบอุ่นได้ในทุกห้องอย่างพื้นผิวของไม้ อยู่บนพื้นที่แบบ open space จึงเป็นการดึงเอาสเน่ห์ของทั้งสองสไตล์มาไว้ด้วยกันได้อย่างลงตัว
แต่งบ้านแบบ Japandi ต้องมีอะไรบ้าง?
อยากจะพุ่งตัวไปอิเกีย เลือกสรรเฟอร์นิเจอร์เก๋ๆ แบบ Scandi เข้าแอปฯ ชอปปิ้งออนไลน์ หาของตกแต่งชิ้นเล็กแบบมินิมอล แต่ก็กลัวว่าหยิบสุ่มมาแล้วจะไม่เข้ากัน งั้นมาดูกันดีกว่าว่าถ้าอยากให้พื้นที่ของเราเป็น Japandi ต้องมีองค์ประกอบของอะไรบ้าง
- โทนสีที่อ้างอิงจากธรรมชาติ
ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นกำแพงขาวโล่งเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อเรารับเอาสไตล์ Scandi มาด้วยแล้ว เราสามาหยิบเอาโทนสีจากธรรมชาติมาใช้ได้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะพื้น ผนัง หรือแม้แต่สีของเฟอร์นิเจอร์ อย่างสีเขียวของใบไม้ สีน้ำตาล เบจ ของพื้นดิน หรืออะไรที่ออกจะเอิร์ธโทนอย่างที่เราคุ้นกันนั่นแหละ เพื่อไม่ให้บ้านของเราน่าเบื่อจนเกินไป การหยิบสีเหล่านี้มาจับคู่พื้นผนังกับเฟอร์นิเจอร์ ก็เป็นอีกโจทย์สนุกๆ เช่นกัน - พื้นผิวจากธรรมชาติ
ทั้ง Scandi และ Japanese Minimalist ต่างหยิบความอบอุ่นอย่างเป็นธรรมชาติของไม้มาใช้ นอกจากไม้แล้ว เรายังสามารถหยิบผิวสากๆ ของดิน หิน เปลือกไม้ มาใช้ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะพื้น ผนัง ท็อปโต๊ะ เคาน์เตอร์ หรือแม้แต่พื้นผิวบนเฟอร์นิเจอร์ ที่สามารถโชว์ลวดลายธรรมชาติได้Houseplant
หยิบเอาธรรมชาตินอกบ้านมาไว้ข้างในบ้านกับเราด้วย อย่างที่เราบอกไว้ข้างต้นว่า วิถีชีวิตของชาวสแกนดิเนเวียน มักจะยึดโยงอยู่กับธรรมชาติเสมอ ลองหยิบเอาต้นไม้มาใช้แทนของตกแต่งกระจุกกระจิก เพื่อช่วยเพิ่มความเป็นธรรมชาติ ความอบอุ่นให้กับบ้านมากขึ้น และยังช่วยลบเหลี่ยมมุมของห้องสี่เหลี่ยม ไม่ให้มันแข็งทื่อจนเกินไป - เส้นสายแบบ Simple
หากไม่อยากให้บ้านจืดชืดจนเกินไป อยากจะเติมเฟอร์นิเจอร์ที่มีเส้นสาย หรือลวดลายอะไรลงบนหน้าต่าง ประตู ควรเลือกเป็นเส้นสายที่เรียบง่าย เส้นตรง เส้นโค้ง ที่ไม่พันกัน อย่างพวกเหล็กดัดที่เน้นลวดลาย เพราะมันให้ความรู้สึกยุ่งเหยิง และไม่เข้ากันกับดีไซน์อื่นๆ ในบ้าน เส้นสายที่ไปด้วยกันได้ ลองเป็นฉากกั้นไม้ไผ่ เก้าอี้หวาย หรือหมอนอิงลายทาง เป็นต้น - โอบรับแสงจากธรรมชาติ
ไม่มีแสงไหนจะให้ความรู้สึกอบอุ่นอย่างเป็นธรรมชาติได้เท่าแสงแดดอีกแล้ว และอาจเพราะหน้าหนาวที่ยาวนานของแถบสแกนดิเนเวียน พวกเขาจึงมักออกแบบบ้านให้มีหน้าต่างบานใหญ่ เพื่อโอบรับแสงแดดจากธรรมชาติมาคอยให้ความอบอุ่นในฤดูหนาว มีหน้าต่างบานใหญ่ไว้คอยเพิ่มความโปร่ง โล่ง หากจะปรับให้เข้ากับบ้านเราก็ทำได้เช่นกัน แต่แดดบ้านเราไม่ได้ขาดแคลนแบบบ้านเขา คงจะต้องเป็นม่านสองชั้น และใช้ม่านโปรงกรองแสงอีกขั้นเพื่อป้องกันความร้อน
ความอบอุ่นและความเป็นธรรมชาติ ที่เป็นจุดเด่นของทั้งสองสไตล์ จึงกลายมาเป็นหัวใจหลักของ Japandi การออกแบบที่ผสมผสานไม่ให้ความเรียบง่ายนั้นน่าเบื่อจนเกินไป หากไม่อยากให้การทำงานที่บ้านของเราเฉาจนเกินไป ลองลุกออกมาขยับตรงนั้นตรงนี้ให้กลายเป็น Japandi ในแบบของเรากันดู
อ้างอิงข้อมูลจาก