Chiang Mai Design Week เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ เป็นเทศกาลที่ให้ความสำคัญต่อการสร้างประสบการณ์ร่วมกับงานออกแบบไปสู่เด็กเยาวชน ชุมชน นักท่องเที่ยว และผู้ที่สนใจงานออกแบบ โดยคอนเซ็ปต์ของปีนี้คือ Keep Refining ยิ่งขัดเกลา ยิ่งแหลมคม เพราะความคิดสร้างสรรค์และงานออกแบบไม่ใช่แค่การนำเสนอสิ่งใหม่และการเพิ่มประโยชน์ใช้สอยเท่านั้น สิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือการขัดเกลาและพัฒนา
ในงานแบ่งออกเป็น 7 กิจกรรมหลักด้วยกัน คือ exhibitions, workshops, Talks, Parties, Markets, Tours และ event จัดขึ้นตามย่านต่างๆ ทั่วเชียงใหม่ ในวันที่ 8-16 ธันวาคมนี้ ใครที่อยู่เชียงใหม่อยู่แล้ว หรือไปเที่ยวเชียงใหม่ช่วงนั้นก็แวะไปชมกันได้ ส่วนใครที่ยังตัดสินใจไม่ได้ นี่คือ 9 งานน่าสนใจที่เราเลือกมาให้คุณดูเป็นตัวอย่าง chiangmaidesignweek.com
Above the Surface of the Earth
Artist : Flowers in the vase
Location : หอศิลปวัฒนธรรม ชั้น1
ท้องฟ้าเปลี่ยนไปทุกวัน แล้วใน 30 วันท้องฟ้าเป็นอย่างไรบ้าง?
ผลงาน Above the Surface of the Earth ได้นำเอาสีสันบนท้องฟ้าในช่วงเวลาต่างๆ มาถ่ายทอดเป็นงานชามเซรามิก 30 ใบ จากสีสันจริงของท้องฟ้าในแต่ละวัน ด้วยการนำดินมาจัดองค์ประกอบเป็นลวดลายและสีสันของท้องฟ้า ความท้าทายของงานนี้คือใช้ดินสโตนแวร์ ที่จะยังไม่เห็นสีทันทีจนกว่าจะนำไปเผา แล้วขัดด้วยกระดาษทรายน้ำ
Zarah Collection
Artist : LONGGOY
Location : หอศิลปวัฒนธรรม ชั้น1
สล่าเลซอร์คัท เรื่องราวของสล่ายุคใหม่แห่งล้านนาบนเสื้อผ้าฝ้ายทอมือ
คอลเลกชั่นเสื้อผ้าฝ้ายทอมือ ฝีมือช่างทอดอยเต่า ที่ลองกอยใช้เศษเลเซอร์คัทจากป้ายร้านค้าต่างๆ มาสร้างสรรค์ลวดลาย เพราะเขามองว่า สล่า หรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการสร้าสิงต่างๆ ในภาษาล้านนาไม่จำเป็นต้องเป็นแค่ช่างไม้หรือ ช่างปูน สล่าเลเซอร์คัท หรือช่างทำป้ายก็มีความชำนาญที่เจ้าตัวถือว่าเป็นช่างสมัยใหม่ของล้านนา เขาเลยนำเศษของสล่าเลเซอร์คัท มาสร้างสรรค์ลวดลายเพื่อเล่าถึงความเติบโตของชาวเชียงใหม่ ที่พอเปิดร้านใหม่ หรือทำอะไรใหม่ๆ ก็ต้องมาตัดป้ายกับสล่าเลเซอร์คัท
SAK-SIT Talisman
Artist : De Lann Jewellery X Surreal Stitch
Location : หอภาพถ่ายล้านนา ชั้น1
เพราะความเชื่อ ยังฝังรากลึกในสังคม
ผลงานชิ้นนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการสักยันต์และเครื่องรางของขลัง ที่เป็นความเชื่อกลุ่มใหญ่ในสังคมที่ยังฝังรากลึก ซึ่งนักออกแบบมองว่าการครอบครองสวมใส่สิ่ง ‘ศักดิ์สิทธิ์’ เป็นวิธีที่ทำให้เจ้าของรู้สึกปลอดภัยจาก ‘ความกลัว’ โดยผลงานชิ้นนี้ทำจาก โลหะ ฝ้าย ลูกปัด ด้าย และหนัง
Textile Story
Artist : Witaya Junma
Location : หอภาพถ่ายล้านนา ชั้น2
จากผ้าซิ่นของแม่ สู่ภาพยนตร์จากผืนผ้าฝ้าย
ผลงานชิ้นนี้เลียนแบบการทำงานของเครื่องฉายภาพยนตร์ และใช้เทคนิคภาพติดตา จากแรงบันดาลใจที่มาจากผ้าซิ่นของแม่ เจ้าของงานเลือกใช้ลายดั้งเดิมของผ้าทอไทยที่มีลวดลายและสมมาตรในแถวเดียวกัน ซึ่งแต่ละแถวมีขนาดต่างกัน นำมาเย็บเป็นผืนเดียวกันโดยให้ลวดลายผสมกัน เมื่อ ‘ฉาย’ ผ้าเหล่านี้แทนฟิล์ม ก็จะได้เห็นภาพเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นจากลายผ้า ศิลปินจะควบคุมภาพเคลื่อนไหวนี้ด้วยการกระพริบแสง และความถี่ของการกระพริบนี้จะส่งผลต่อการมองเห็นของสายตาคล้ายเทคนิคที่ใช้ในอนิเมชั่น
Another think for another form Art Exhibition
Artist : The bubble arts group space
Location : พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา
การรวมตัวของศิลปิน เพื่อขับเคลื่อนศิลปะ
นิทรรศการของกลุ่มศิลปินร่วมสมัย 13 คนที่รวมตัวกันเป็น ‘สหกรณ์ศิลปะ’ เพราะเล็งเห็นความสำคัญของการมีพื้นที่ถาวรในการแสดงผลงานทางศิลปะ ซึ่งมีทั้งศิลปินท้องถิ่นเชียงใหม่และต่างจังหวัด ในนิทรรศการครั้งนี้จะแบ่งออกเป็นสองช่วง ส่วนแรกจะนำเสนอผลงานตามความถนัดของศิลปิน และส่วนที่สองนำเสนองานแนวทดลองที่มีแรงบันดาลใจจาก ‘การนำกลับมาใช้ใหม่’
Invisible Things Exhibition
Artist : Martin Rendel, Philip Cornwel-Smith, Piboon Amornjiraporn
Location : TCDC เชียงใหม่
บทสนทนาของสองวัฒนธรรม
นิทรรศการจัดแสดงสิ่งของธรรมดาจากประเทศไทย และประเทศเยอรมนี 25 ชิ้นนี้ เป็นนิทรรศการที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้เข้าชม ชวนให้คิดถึงรากเหง้าของตนเองผ่านสิ่งของที่ดูเหมือนไม่สลักสำคัญ เพราะเราเห็นกันคุ้นตาจนมองไม่เห็นหรือมองข้ามไป แต่กลับบ่งบอกเรื่องราวหลายอย่าง ทั้งประเพณี ประวัติศาสตร์ ไปจนถึงความรู้สึกนึกคิด ตามประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละคน นอกจากนี้เราจะยังได้เห็นมุมมองที่ทั้งสองประเทศมีต่อกันผ่านหนังสั้น 2 เรื่อง ได้แก่ ‘อะไรคือความเป็นไทย?’ จัดทำโดยนักศึกษาชาวเยอรมัน และ ‘อะไรคือความเป็นเยอรมัน?’ จัดทำโดยนักศึกษาไทย
SOKURO (側路路 )
Artist : สมาคมวัฒนหัตถศิลป์ล้านนา
Location : สมาคมวัฒนหัตถศิลป์ล้านนา
แนวคิดร่วมกันระหว่างนักออกแบบชาวญี่ปุ่นผสานครูช่างไทย
วัตถุประสงค์หลักของ SOKURO (側路路 ) คือการพัฒนางานออกแบบให้เป็นต้นฉบับซึ่งผู้อื่นไม่สามารถลอกเลียนแบบ การฟื้นฟูและเผยแพร่การออกแบบด้วยการทำความเข้าใจและนำเสนอจากมุมมอง จากนักออกแบบญี่ปุ่น ที่ยังมีรากเหง้าหยั่งลึกอยู่ โดยนักออกแบบได้เข้าไปพบช่างผู้ผลิตจริงๆ ขัดเกลา และลองผิดลองถูกซํ้าแล้วซํ้าเล่าจนสรรค์สร้างผลิตภัณฑ์ได้สำเร็จ
SARN Basketry for Contemporary Living
Artist : Sumanusya Voharn
Location : หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่
ความร่วมมือระหว่างนักออกแบบไทยแต่ละภูมิภาคและต่างชาติ
งานจักสานเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย สัมพันธ์กับสังคม ความเชื่อ วิถีชีวิตความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรม นิทรรศการนี้จะเปิดเผยกระบวนการเส้นทางแห่งความคิดสร้างสรรค์ จากรูปแบบดั้งเดิมสู่ปัจจุบัน ผ่านการศึกษาทดลอง และการจัดการวัสดุการผลิตโดยเชื่อมโยงกับชุมชน วัฒนธรรม และภูมิปัญญาที่สืบทอดในท้องถิ่น สู่งานออกแบบร่วมสมัย
S.O.S. Garden
Artist : กานต์ คำแก้ว, ธนพัฒน์ บุญสนาน, นนท์นภัส นนทมาลย์, หม่อมหลวง ปรเมศ วรวรรณ, ปิยกานต์ กัณธิยะ, ศุภโชค ศรีสง่า, สันต์ สุวัจฉราภินันท์
Location : ลานประตูท่าแพ
combination ระหว่างภาคหัตถกรรม และภาคอุตสาหกรรม
การนำวัสดุท้องถิ่นสำคัญของงานหัตถกรรม อย่าง ‘ไม้ไผ่’ และ ‘พลาสติก’ วัตถุดิบหลักจากภาคอุตสาหกรรม ซึ่งปกติแล้วไม้ไผ่ มักถูกใช้เป็นงานหัตถกรรมขนาดเล็ก แต่จากการออกแบบในเชิงอุตสาหกรรมจึงพัฒนามาเป็นงานสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ แต่ยังคงส่วนที่สานด้วยทักษะของช่างฝีมือในชุมชน และนำเม็ดพลาสติกรีไซเคิลมาออกแบบใหม่ให้กลายแผ่นพลาสติกที่นำมาต่อกันเหมือนลวดลายฉลุภายใต้หลังคาไม้ไผ่ ที่สะท้อนความโดดเด่นของงานหัตถศิลป์สมัยใหม่ที่เชื่อมโยงตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงอุตสาหกรรม
นอกจากนิทรรศการ และการแสดงผลงานต่างๆ แล้ว เชียงใหม่ดีไซน์วีค ยังมีทัวร์ให้เราเลือกไปเยี่ยมชมตามความชอบด้วย ซึ่งมีทั้งหมด 3 ทัวร์ด้วยกัน ใครอยากไปไหน ก็สำรองที่นั่งกันได้เลย
Chiang Mai Heritage Tour—คมสัน ธีรภาพวงศ์
10 – 12 DEC / 16.30 – 18.00
เยี่ยมชมพื้นที่ย่านเมืองเก่าเชียงใหม่ สัมผัสวิถีชีวิตชุมชน และสถาปัตยกรรมตามเส้นทางเชียงใหม่สู่เมืองมรดกโลก โดยวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรม
Open Studio—บ้านถักทอ
10 – 12 DEC / 16.30 – 18.00
เยี่ยมชมสตูดิโอ บ้านถักทอ จากเส้นใยฝ้ายที่ค่อยๆ ถักทออย่างประณีตจนกลายเป็นตุ๊กตาไหมพรม ที่เปิดโอกาสให้คุณได้สนุกสนานกับหน้าตา ทรงผม และบุคลิกตุ๊กตา
Open Studio—Raming Tea House Siam Celadon
16 DEC / 10.00 -12.00
แวะดื่มน้ำชาหอมกรุ่น ชื่นชมกับสถาปัตยกรรมบนถนนท่าแพ ถนนเส้นที่เก่าแก่ แห่งหนึ่งของเมืองเชียงใหม่
Illustration by Yanin Jomwong