เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีหลายปลายทางที่เป็นที่ต้องใจของนักเดินทางทั่วโลก ในปี ค.ศ.2019 ภูมิภาคนี้ทำรายได้จากการท่องเที่ยวรวมแล้วได้เกือบ 400,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไม หลังจากอยู่รวมกับ COVID-19 มาเกือบ 2 ปี แต่ละประเทศต่างพยายามผลักดันการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้ง
หลังจากมวลมนุษยชาติต่อสู้กับ COVID-19 มายาวนาน ทั้งด้วยวัคซีน และในบางพื้นที่ก็ระบาดจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ตามธรรมชาติ จากการระบาดวงกว้าง COVID-19 อาจจะกลายเป็นโรคพื้นถิ่นที่อยู่ร่วมกับทุกชีวิตเหมือนไข้หวัดใหญ่ตามที่หลายรัฐบาลบอกกล่าวเอาไว้ (หวังว่า) แน่นอนว่าชีวิตต้องเดินต่อไป ปลายปีนี้จึงเป็นเหมือนฤกษ์ที่ดีของหลายสมาชิกอาเซียนที่จะเปิดประตูรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง เพราะรายได้หลักขาหนึ่งของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็คือการท่องเที่ยวนี่ล่ะ
สำหรับประเทศไทยประกาศแล้วว่าจะเปิดประเทศ 1 พฤศจิกายน ค.ศ.2021 อย่างแน่นอน ไม่ว่าประชาชนจะตื่นเต้น จะเฉยๆ หรือจะไม่มั่นใจกับนโยบายก็ตาม ส่วนประเทศอื่นๆ เองก็มีแผนการที่แตกต่างกันไป The MATTER อาสารวมรวบข้อมูลที่น่าสนใจมากางให้อ่านกัน
อินโดนีเซีย
อัตราการฉีดวัคซีนเข็มแรก : 40%
รายได้จากการท่องเที่ยวก่อน COVID-19 (2019) : USD 18,404 ล้าน
แผนการเปิดประเทศ : ประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีเกาะจำนวนมาก สถานที่ท่องเที่ยวเชิงทะเลเป็นสิ่งที่เชิญชวนนักท่องเที่ยวจากทั่วมุมโลกมาปักหมุดที่นี่ ซึ่งล่าสุด 14 ตุลาคมที่ผ่านมา อินโดนีเซียได้เปิดพื้นที่แรก ‘บาหลี’ รับนักท่องเที่ยวหลายสัญชาติ (ที่ได้รับวัคซีนครบโดส และมีผลตรวจ RT-PCR 2 ครั้งจากต้นทางและทันทีที่ถึงบาหลี) โดยมาพร้อมกับมาตรการควบคุมเคร่งครัด กักตัวเบื้องต้น 4 วัน
อย่างไรก็ตาม กรณีการเปิดเกาะบาหลีก็ดูเหมือนจะคล้ายกับกรณีการเปิด Phuket Sandbox ของไทยอยู่ไม่น้อย เพราะเต็มไปด้วยเสียงวิจารณ์จากคนที่ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย (บอกว่าเปิดเกาะกะทันหันไป แม้คนบนเกาะจะฉีดวีคซีนกว่า 80% แล้ว) และมีบางเสียงที่บอกว่าบาหลีควรหารายได้อื่นนอกเหนือจากการท่องเที่ยว
สิงคโปร์
อัตราการฉีดวัคซีนเข็มแรก : 83%
รายได้จากการท่องเที่ยวก่อน COVID-19 (2019) : USD 27,690 ล้าน
แผนการเปิดประเทศ : ประเทศศูนย์กลางการเงินของอาเซียน ที่แม้ว่าจะมีพื้นที่เล็กและมีประชากรน้อย ทว่าด้วยความเจริญและค่าครองชีพ ทำให้กวาดรายได้ท่องเที่ยวได้มหาศาลต่อปีไม่น้อย และนั่นน่าจะเป็นหนึ่งสาเหตุที่เมืองท่าแห่งนี้เดินหน้านโยบายเปิดประเทศ ด้วย ‘Vaccinated Travel Lane’ (VTL) หรือ โครงการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วให้เดินทางเข้าสิงคโปร์ได้โดยไม่ต้องกักตัว
โดยแนวทางเป็นการร่วมมือ หรือทำบับเบิล (bubble) กับประเทศความเสี่ยงต่ำในระยะเริ่มต้น เมื่อกันยายนที่ผ่านมา ได้เปิดพรมแดนกับ ‘บรูไน’ และ ‘เยอรมนี’ ไปเรียบร้อยแล้ว และจะเปิดเพิ่มเติมอีก 8 ประเทศ คือ แคนาดา เดนมาร์ก ฝรั่งเศส อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สเปน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ 19 ตุลาคมเป็นต้นไป ตามด้วยเกาหลีใต้ 15 พฤศจิกายนนี้
CNBC จับตานโยบายเปิดประเทศของสิงคโปร์ โดยระบุว่า แม้อัตราฉีดวัคซีนของสิงคโปร์จะสูงกว่า 80% แต่ยังคงเปิดประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไป และน่าสนใจที่ก่อนหน้านี้ ลี เซียนลุง นายกของสิงคโปร์ได้กล่าวถึงโรค COVID-19 ว่าสักวันหนึ่งมันจะกลายเป็นไข้หวัดใหญ่และเราต้องอยู่กับมันตลอดไป
มาเลเซีย
อัตราการฉีดวัคซีนเข็มแรก : 79%
รายได้จากการท่องเที่ยวก่อน COVID-19 (2019) : USD 22,199 ล้าน
แผนการเปิดประเทศ : เพื่อนบ้านทางตอนใต้ของเราก็เป็นหนึ่งในประเทศที่เต็มไปด้วยเมืองท่องเที่ยว ไม่ว่าจะปีนัง มะละกา หรือกัวลาลัมเปอร์ ทั้งนี้ ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ทางการมาเลเซียได้ปลดล็อกให้คนในประเทศเดินทางระหว่าง ‘รัฐ’ ในประเทศได้เสรีไม่ต้องขอใบอนุญาต
ถัดมาด้วยนโยบายเปิดรับต่างชาติ ‘Travel Bubble’ โดยเริ่มจากเกาะลังกาวี และเกาะในมะละกา ซึ่งรัฐบาลออกมาแง้มแล้วว่าจะเริ่มในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ (ตอนนี้รอคอนเฟิร์ม) นักเดินทางต้องฉีดวัคซีนครบโดส มีผลด้วย RT-PCR ก่อนเดินทาง 72 ชั่วโมง และหลังลงจากเครื่องบินไม่เกิน 48 ชั่วโมง ทั้งนี้รายงานข่าวระบุว่า คนบนเกาะลังกาวีกว่า 92% ได้รับวัคซีนเรียบร้อยแล้ว โดยแผนต่อจากการเปิดหมู่เกาะ คือ เปิดอีก 6 พื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ ซึ่งเราน่าจะได้ยินข่าวดีเร็วๆ นี้
เวียดนาม
อัตราการฉีดวัคซีนเข็มแรก : 47%
รายได้จากการท่องเที่ยวก่อน COVID-19 (2019) : USD 11,830 ล้าน
แผนการเปิดประเทศ : ในฐานะประเทศตลาดเกิดใหม่มาแรง เวียดนามได้รับการจับจ้องจากนักลงทุนและนักท่องเที่ยวไปพร้อมๆ กัน ซึ่งหลังจากปิดประเทศมานาน เปิดรับต่างชาติแค่เที่ยวเดินทางธุรกิจเท่านั้น ล่าสุดเวียดนามขยับโดยเริ่มต้นจากการเปิดเกาะฟูโกว๊ก ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2021 ที่จะถึงนี้ จากแผนเดิมที่ควรจะได้เปิดในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แต่พับไปเพราะอัตราการฉีดวัคซีนไม่ถึงเป้า
จากนั้นแผนถัดไปคือการเปิด 4 เมืองท่องเที่ยวสำคัญ ในธันวาคม ค.ศ.2021 อันประกอบไปด้วย ฮอยอัน, ฮาลองเบย์, นาตรัง, ดาลัด ซึ่งทั้งหมดทั้งมวล ต้องจับตาว่า เวียดนามจะมีมาตรการหรือการกักตัวอย่างไรบ้าง
ไทย
อัตราการฉีดวัคซีนเข็มแรก : 53%
รายได้จากการท่องเที่ยวก่อน COVID-19 (2019) : USD 65,082 ล้าน
แผนการเปิดประเทศ : สำหรับประเทศไทย ซึ่งภาคการท่องเที่ยวคืออุตสาหกรรมหลักอันดับหนึ่งก็ว่าได้ การเกิดขึ้นของ COVID-19 กระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมของไทยอย่างมหาศาล เพราะอย่างนั้น ถึงยังจะไม่พร้อม 100% Phuket Sandbox ก็เดินหน้าเปิดรับต่างชาติโดยไม่ต้องกักตัว ตั้งแต่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ตามด้วย Samui Plus Model
ในเดือนนี้ 11 ตุลาคม นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกมาแถลงว่า ประเทศไทยจะเปิดประเทศ รับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบโดสให้เดินทางเข้าประเทศโดยไม่ต้องกักตัว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี และไตรมาสแรกของปีหน้า โดยเริ่มจาก 10 ประเทศที่ความเสี่ยงต่ำ อังกฤษ สิงคโปร์ เยอรมนี จีน และอเมริกา โดยอีก 5 ประเทศยังไม่ประกาศรายชื่อตามมา (และจะมีประกาศประเทศเพิ่มเติมในเดือนธันวาคมและมกราคมปีหน้าด้วย)
เงื่อนไขคือ นักท่องเที่ยวต้องตรวจหาเชื้อ RT-PCR 2 ครั้ง จากต้นทางและเมื่อถึงประเทศไทย ส่วนประเทศอื่นๆ ก็เปิดให้เดินทางเข้ามาได้ แต่ต้องกักตัว
โดยถ้าเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ จะบอกว่าไทย ‘ใจกล้า’ ก็คงไม่เกินจริง เพราะเราขยับการท่องเที่ยวก้าวใหญ่และยาวกว่าคนอื่น ท่ามกลางผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 10,000 คนต่อวัน ซึ่งวันนี้ (21 ตุลาคม ค.ศ.2021) นายกก็ได้ประชุมมาตรการสำหรับนักเดินทาง พร้อมออกมาย้ำว่าเปิดประเทศแน่ “เราต้องอยู่ร่วมกับ COVID-19 ให้ได้”
เป็นนัยว่า จะไม่เสี่ยง ก็กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะการท่องเที่ยวไทยเป็นเครื่องจักรสำคัญของเศรษฐกิจไทย และไทยก็มีรายได้จากการท่องเที่ยวติดสามอันดับต้นๆ ของโลก โดยในปี ค.ศ.2019 ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นอันดับ 3 ของโลก เป็นรองแค่สหรัฐอเมริกา (USD 233,461 ล้าน) และฝรั่งเศส (USD 71,011 ล้าน)
การเปิดประเทศ จึงเป็นเหรียญสองด้านที่ต้องลุ้นกันไป
อ้างอิงข้อมูลจาก