“…เบื้องต้นคาดการณ์ว่า การเดินทางในประเทศจะสามารถกลับมาเริ่มต้นใหม่ได้อีกครั้งในเดือนตุลาคมนี้ เนื่องจากเดือนกันยายนจะเป็นช่วงเดือนที่มีวัคซีนเข้ามาเพิ่มอีกจำนวนมาก ทำให้เดือนกันยายนจะเป็นเดือนแห่งการเร่งฉีดวัคซีนอย่างเต็มที่ โดยคาดว่าพื้นที่ กทม. และปริมณฑล จะสามารถฉีดวัคซีนให้กับคนในพื้นที่ได้ไม่ต่ำกว่า 70% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้แล้ว การเดินทางจะฟื้นตัวกลับมาในเดือนถัดไป หลังจากนั้นจะเดินหน้าตามแผนการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ”
นี่คือข้อความจาก ‘พิพัฒน์ รัชกิจประการ’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่กล่าวถึงแผนการ Reopen Thailand ทั้งหมด 4 สเต็ปด้วยกัน โดยชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา
ท่ามกลางตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่ยังแตะหลักหมื่นรายวัน ทว่าปฏิเสธไม่ได้ว่าการท่องเที่ยวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติถือเป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจที่สำคัญ ทำรายได้ให้ประเทศ 3 ล้านล้านบาท/ปี (ข้อมูล พ.ศ.2562) สำคัญในระดับที่เราได้เห็นภาพหลายเมืองท่องเที่ยวสำคัญ ไม่ว่าจะเขาหลัก ตะกั่วป่า พัทยา ฯลฯ ที่เงียบเป็นเมืองร้าง ราวกับว่าไม่เคยเป็นเมืองที่ไม่เคยหลับใหลมาก่อน
แผนเปิดประเทศที่ดำเนินการทั้งหมด 4 ระยะ มีอะไรบ้าง ไปไล่เจาะดูกันว่ามันจะเป็นความหวังการกลับมาเดินหน้าของเศรษฐกิจไทยได้มากน้อยแค่ไหน
ระยะที่ 1: ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์, สมุย พลัสโมเดล, และโครงการ 7+7 Phuket Extention
ช่วงเวลาที่ผ่านมา ในการเปิดรับต่างชาติระยะที่หนึ่ง มีการเปิด ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ไปเมื่อ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ตามด้วย 15 กรกฎาคม ที่เกาะสมุย และตามด้วยโครงการส่วนขยายของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ 7+7 (กระบี่และพังงา) ที่ผู้เดินทางที่อยู่ภูเก็ตอย่างน้อย 7 คืน จะเดินทางไปยังกระบี่ พังงา เพื่อพักต่ออีก 7 คืนได้โดยไม่ต้องกักตัว
โดยภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ดูจะเป็นโปรเจกต์ที่ประสบความสำเร็จที่สุด ทว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2 เดือนก็ยังอยู่แค่ 2.6 หมื่นคน (จากเป้า 3 เดือน 1 แสนคน) ซึ่ง ‘ยุทธศักดิ์ สุภสร’ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยอมรับว่า น่าจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย 1 แสนคนภายใน 3 เดือนตามที่คาดไว้ แต่ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับ ‘น่าพอใจ’
ซึ่ง ททท. เผยตัวเลขว่า ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวต่างชาติ 61,894 บาท/ทริป ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวในพื้นที่ทะลุ 1,634 ล้านบาท สร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 3,818 ล้านบาท สร้างรายได้ภาษีได้ 171 ล้านบาท รวมถึงสร้างการจ้างงาน 5,352 ตำแหน่งงาน และจ่ายค่าตอบแทนแรงงานไปกว่า 416 ล้าน
ระยะที่ 2: เริ่มในต้นเดือนหน้า 1 ตุลาคม ที่จะถึงนี้ เพิ่มเติมอีก 5 จังหวัด คือ กรุงเทพ, เชียงใหม่ (อำเภอเมือง, แม่ริม, ดอยเต่า), ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน), เพชรบุรี (ชะอำ), ชลบุรี (เมืองพัทยา, บางละมุง, สัตหีบ) ซึ่งถือเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่สำคัญของไทยในภาคอื่น นอกจากภาคใต้ที่เป็นส่วนที่เปิดนำร่องไปแล้ว
ที่น่าจับตามองคือ ‘Charming Chiang Mai’ (โปรเจกต์ที่เลื่อนเปิดมาจาก 1 กันยายน) ของจังหวัดเชียงใหม่ โดยจะใช้โมเดล ‘บับเบิล แอนด์ ซีลด์’ (Bubble and Sealed) นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องเดินทางโดยซื้อทัวร์เท่านั้น ท่องเที่ยวอิสระแบบภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ไม่ได้ เพราะทางจังหวัดจะยังเน้นรับนักท่องเที่ยวชาวไทยด้วย ซึ่งต้องแยกสองกลุ่มออกจากกัน
ทั้งนี้ เชียงใหม่ เป็นอีกเมืองภาคเหนือที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นจำนวนมากราว 10 ล้านคน เป็นต่างชาติกว่า 3 ล้านคนในยุคก่อนหน้า COVID-19 จะระบาด โดยรายได้จากการท่องเที่ยว พ.ศ. 2562 ของเชียงใหม่อยู่ที่ 109,057 ล้านบาท (มากเป็นอันดับ 5 ของประเทศ)
อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ว่าส่วนของกรุงเทพฯ จะต้องเลื่อนไปเปิด 1 พฤษจิกายนแทน เพราะประชากรในปริมณฑลที่เชื่อมต่อกับกรุงเทพฯ ยังฉีดวัคซีนไม่ครบ 70% ซึ่งน่าจะครบในเดือนตุลาคมนี้
ระยะที่ 3: ถัดมาใน 15 ตุลาคม จะมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวเพิ่มในอีกหลายจังหวัด ซึ่งแบ่งเป็นจังหวัดที่จะให้รับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อยู่ในเมืองนำร่องก่อนหน้า (ภูเก็ต, เกาะสมุย) ครบ 7 วันแล้ว และจะเน้นเปิดในจังหวัดที่มีสินค้าท่องเที่ยวเชิงศิลปะวัฒนธรรมที่โดดเด่น
ได้แก่ เชียงราย, แม่ฮ่องสอน, ลำพูน, แพร่, สุโขทัย, ปทุมธานี, อยุธยา, สมุทรปราการ, ตราด (เกาะกูด, เกาะช้าง), ระยอง (เกาะเสม็ด), หนองคาย, ขอนแก่น, นครราชสีมา, นครศรีธรรมราช, ตรัง, และพัทลุง
ระยะที่ 4: จะเริ่มต้นในต้นปีหน้า 1–15 มกราคม พ.ศ.2565 เน้น Cross Border Approach จังหวัดติดพรมแดนประเทศ เป็นการทำบับเบิล (Bubble) หรือแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวต่างชาติกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศตามแนวชายแดน ได้แก่ กัมพูชา เมียนมา สปป.ลาว และมาเลเซีย โดยการท่องเที่ยวระหว่างพรมแดน ถือว่าเป็นอีกส่วนที่มีความสำคัญ เพราะทำรายได้มากกว่า 2 แสนล้านบาท/ปี ก่อนหน้าจะมีการระบาดเกิดขึ้น
โดยจังหวัดปักหมุดได้แก่ สุรินทร์, สระแก้ว, จันทบุรี, ตาก, นครพนม, มุกดาหาร, อุดรธานี, บึงกาฬ, เลย, อุบลราชธานี, ระนอง, น่าน, กาญจนบุรี, ราชบุรี, ยะลา, สงขลา, นราธิวาส, และสตูล
ทั้งหมดทั้งมวล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวระบุว่า เตรียมชงให้ ศคบ. อนุมัติการกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัว เริ่มต้น 15 มกราคมปีหน้า เพราะในสิ้นปีนี้คนไทยจะได้วัคซีนภาพรวมทั้งประเทศ 70%
ซึ่งก็คงต้องรอดูกันจากการคลายล็อกดาวน์รอบปัจจุบัน ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะลดลงต่อเนื่องหรือไม่ วัคซีนที่เรามีจะต่อสู้กับสายพันธุ์กลายพันธุ์ได้จริงหรือเปล่า? ถ้าไปได้สวย วันนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางกลับมาก็คงอยู่ไม่ไกล
อ้างอิงข้อมูลจาก
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
Illustration by Krittaporn Tochan