แบงก์ชาติ หรือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวจาก COVID-19 ในอีก 6 ปีข้างหน้า บวกเลขเข้าไปก็น่าจะเริ่มทศวรรษใหม่ พ.ศ.2570 พอดี
ปลายสัปดาห์ที่แล้ว ‘ดอน นาครทรรพ’ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กล่าวในงานสัมมนา ‘Thailand Economic Monitor เส้นทางสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ’ ที่จัดโดยเวิลด์แบงก์ (World Bank) ในหัวข้อเสวนา ‘เราจะสนับสนุนการฟื้นตัวที่ยั่งยืนได้อย่างไร’ ถึงประเด็นการฟื้นตัว
ดอนบอกว่า ตอนนี้เศรษฐกิจไทย เรียกได้ว่าเคราะห์ซ้ำกรรมซัด คาดว่าจะพ้นโรคระบาด แต่ก็เจอการระบาดระลอกใหม่ รวมทั้งปัญหาการจัดหาวัคซีน อย่างไรก็ตาม เขาคิดว่าตอนนี้ ‘ภาคการเงิน’ ไทย ถือเป็นเสาหลักประเทศ เพราะยังเข้มแข็ง โดยจากรายงานสถานภาพของ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์ กองทุนรวม และบริษัทประกันยังมีเงินในกองทุนเพียงพอรับมือสถานการณ์
แต่หากพิจารณาจากในหลักการ ดอนระบุว่า ก็ต้องบอกว่าเศรษฐกิจปีนี้ติดลบ และอาจยาวไปถึงปี พ.ศ.2565
ดอนเปิดเผยคาดการณ์จากธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยว่า ใน ‘ระยะสั้น’ 1–2 ปีนี้ เศรษฐกิจไทยจะมีบางกลุ่มที่ฟื้นได้เร็ว และบางกลุ่มฟื้นได้ช้า (เป็นกราฟตัว K) ส่วนการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี พ.ศ.2564 น่าจะอยู่ที่ 1.8% ก่อนปรับเป็น 3.9% ในปีหน้า และระยะถัดไปน่าจะโตได้ 5% ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่คาดการณ์ก่อนไม่มีโควิด
ทว่าสิ่งสำคัญคือ ต่อให้เศรษฐกิจไทยหลังจาก พ.ศ.2566 จะฟื้นตัวได้ปีละ 5% ตามยุทธศาสตร์ชาติ แต่ประเทศไทยจะยังไม่สามารถกลับขยายตัว 3% เท่าปี พ.ศ.2560 หรือก่อนโรค COVID-19 จะระบาด หมายถึงว่า พิษจาก COVID-19 ส่งผลระยะยาวต่อเศรษฐกิจไทยอย่างยิ่ง ซึ่งกว่าจะสามารถกลับไปได้ก็น่าจะ พ.ศ.2570 หรือใช้ระยะเวลามากถึง 6 ปี ที่เศรษฐกิจจะกลับไปอยู่ในเทรนด์การเติบโตเดิม
สาเหตุเป็นเพราะภาคท่องเที่ยวคือภาคส่วนที่น่าจะเติบโตได้ต่อได้ยาก เพราะได้รับผลกระทบตั้งแต่ พ.ศ.2563 และคิดเป็นมูลค่าเศรษฐกิจไทยมากถึง 20% ซึ่งแบงก์ชาติมองว่า เศรษฐกิจท่องเที่ยวจะไม่ได้ขยายตัวเติบโตกว่านี้แล้ว แม้ COVID-19 จะหมดไป ดังนั้นโครงสร้างเศรษฐกิจไทยจะต้องปรับ เพราะรายได้ท่องเที่ยวจะลดลง และอุตสาหกรรมในอนาคตจะเป็นรูปแบบดิจิทัล
ขณะที่ Nikkei Asian Review ได้ทำการจัดอันกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของกว่า 120 ประเทศทั่วโลก เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ผลที่ได้คือ
จีน (อันดับ 1)
มอลตา (อันดับ 2)
โปแลนด์ (อันดับ 3)
อิตาลี (อันดับ 4)
ออสเตรีย (อันดับ 5)
การ์ตา (อันดับ 6)
นิวซีแลนด์ / เซอร์เบีย (อันดับ 7)
สิงคโปร์ (อันดับ 12)
ฮ่องกง (อันดับ 20)
สหรัฐอเมริกา (อันดับ 27)
ญี่ปุ่น (อันดับ 43)
เกาหลีใต้ / อังกฤษ (อันดับ 48)
ลาว (อันดับ 66)
อินเดีย (อันดับ 77)
เวียดนาม (อันดับ 100)
อินโดนีเซีย (อันดับ 110)
มาเลเซีย (อันดับ 114)
ประเทศไทย (อันดับ 118)
ภาคส่งออกไทยอาจโดนโลกทอดทิ้งในฐานะฐานผลิต
ขณะที่งานวิจัยจากธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP Research) ระบุว่า ประเทศไทยอาจจะถูกทั่วโลกปฏิเสธการเป็นประเทศฐานผลิต จากที่เราเคยเป็นประเทศฐานผลิตมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ ซึ่งอาจซ้ำเติมการฟื้นตัวหรือการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเข้าไปอีก
สาเหตุเพราะมีสัญญาณเตือนจากการส่งออกของไทยที่ฟื้นตัวช้ากว่าภูมิภาค การลงทุนทางตรงในไทยจากต่างชาติที่ลดลง และคนไทยเองเริ่มออกไปลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้น
ซึ่งสัดส่วนการลงทุนจากต่างชาติในประเทศไทย ช่วง ค.ศ.2016–2019 เทียบกับมาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ลดลงเหลือเพียง 10% เท่านั้น ขณะที่ในปี ค.ศ.2000–2007 มีสัดส่วนอยู่ที่กว่า 30%
ความสามารถทางการแข่งขันส่งออกไทยลดลงจากหลายสาเหตุ
- สินค้าส่งออกไทยไม่ได้โฟกัสการเติบโตในกลุ่มเทคโนโลยีด้านสูง ต่างจากประเทศคู่แข่งและในภูมิภาค
- ปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่พร้อม
- ค่าแรงที่สูงขึ้น
- เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง
- การเข้าสู่สังคมสูงอายุของไทย
- สินค้าส่งออกหลักของไทยเติบโตได้ไม่ดีเหมือนในอดีต เช่น กลุ่มฮาร์สดิสก์ หรือ SSD ประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าจากนักลงทุนญี่ปุ่นเริ่มย้ายฐานผลิตออกจากไทย การส่งออกรถยนต์สันดาปที่เป็นสินค้าผลิตหลักของไทยกำลังถูกแทนที่ด้วยรถยนต์ไฟฟ้า ไปจนทรัพยากรธรรมชาติที่ลดลง
KKP Research ระบุเพิ่มเติมว่า ความสามารถการแข่งขันในฐานะฐานผลิตที่ลดลง น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนของเศรษฐกิจไทย กรณีเลวร้ายอาจจะทำให้ดุลการค้ากระทบอย่างรุนแรง จึงเป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องเร่งปรับปรุงโครงสร้าง ปรับกฎระเบียบนโยบาย คุณภาพแรงงาน และออกนโยบายเพื่อดึงดูดอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่กำลังเป็นที่สนใจของทั้งโลก
อ้างอิงข้อมูลจาก