การเลือกตั้งที่ผ่านมาถือเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญของไทย เพราะเราห่างเหินคูหามานานเกือบ 8 ปี ก่อนหน้านี้ก็มีเหตุการณ์การเดินขบวนต่อต้านการเลือกตั้งโดยกลุ่มกปปส. ที่บอยคอตการเลือกตั้งอย่างสุดโต่ง ซึ่งในทางหนึ่งก็เป็นเหตุการณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจทางรัฐศาสตร์ ชวนให้เกิดคำถามว่า ทำไมการเลือกตั้งของไทยถึงไม่ใช่เหตุปกติวิสัยแบบที่ประชาธิปไตยบนโลกเขาทำกัน การเลือกตั้งของเราติดอุปสรรคอะไร แล้วประเทศที่เขาเลือกตั้งกันอย่างสม่ำเสมอ เขาสร้างบรรยากาศการเลือกตั้งที่แตกต่างจากบ้านเราอย่างไร
งานวิจัยชิ้นล่าสุดของ ผศ.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พาเราไปสำรวจบรรยากาศการเลือกตั้งของประเทศเพื่อนบ้าน 3 ประเทศที่มีพลวัตทางการเมืองสูง มีความขัดแย้งภายในหลายเฉดสี แต่ภายใต้ความปั่นป่วนทางการเมือง ทำไมคนในประเทศถึงยอมรับการเลือกตั้งได้ราวกับเป็นเรื่องธรรมชาติ
งานวิจัยนี้อยู่ภายใต้โครงการวิจัยชุด ‘พลวัตทางการเมืองเรื่องการเลือกตั้งและประชาธิปไตยในอาเซียน: ศึกษาเปรียบเทียบประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์’ สนับสนุนการวิจัยโดย สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
The MATTER : สภาพทางการเมืองที่เปลี่ยนไปเมื่อ 5 ปีก่อนจากการชุมนุม Shut down เลือกตั้ง มีผลต่อแรงบันดาลใจในการทำวิจัยชิ้นนี้อย่างไร
ในฐานะนักวิชาการ นักรัฐศาสตร์ เราอยากทำวิจัยที่ศึกษาปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น และเราก็อยากให้องค์ความรู้ทางวิชาการสามารถตอบปัญหาทางสังคมได้ เมื่อ 5 ปีที่แล้ว มีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ คือทำไมมีการชุมนุมหรือกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมขนาดใหญ่เพื่อ shut down การเลือกตั้ง โดยมีสโลแกน “ถ้ารักประชาธิปไตยต้องไม่ไปเลือกตั้ง” ซึ่งในทางรัฐศาสตร์ค่อนข้างย้อนแย้ง เพราะปกติการเลือกตั้งเป็นองค์ประกอบของประชาธิปไตย มันเป็นคำถามการวิจัยที่น่าสนใจว่า เบื้องหลังอุดมการณ์ ปัจจัยทางวัฒนธรรม ปัจจัยทางประวัติศาสตร์ และปัจจัยทางการเมืองที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวของ กปปส.ในครั้งนั้นคืออะไร
The MATTER : พอมาตอนนี้เริ่มมีบรรยากาศการเลือกตั้งในบ้านเรา ทำไมวิจัยชิ้นนี้ อาจารย์เลือกศึกษาการเลือกตั้ง 3 ประเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์
จากที่ศึกษาประเทศไทยในวิจัยชิ้นก่อนพบว่าเรามีการเมืองที่ไม่ปกติ และไม่เหมือนใคร นำไปสู่การเปรียบเทียบ ถ้าเปรียบเทียบประเทศไทยเราอยู่ในช่วงไม่มีกฎกติกาพื้นฐานทางการเมืองที่ทุกฝ่ายยอมรับ แม้แต่การเลือกตั้งก็โดนบอยคอตจนมาสู่วิกฤตทางการเมืองในเวลาต่อมา ทีนี้เราอยากรู้ว่าประเทศเพื่อนบ้านเขามีปรากฏการณ์คล้ายๆ กันหรือไม่ การเลือกตั้ง หรือการเมืองของประเทศเพื่อนบ้านเราเป็นอย่างไร ขลุกขลักหรือกระทั่งมีวิกฤตเหมือนประเทศไทยหรือเปล่า
ทำไมถึงเลือกมาศึกษา 3 ประเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เพราะว่า 3 ประเทศนี้มีความสำคัญสูงในภูมิภาค ถือว่าเป็นประเทศขนาดใหญ่ และเป็นประเทศที่มีการเลือกตั้งมาอย่างต่อเนื่อง เป็นตัวแบบที่ดีในการศึกษา อย่างประเทศบรูไน เวียดนาม ลาวก็ไม่มีการเลือกตั้ง มันก็คงศึกษาไม่ได้ ส่วนประเทศกัมพูชาเป็นอีกรูปแบบที่ต้องศึกษาแยกต่างหากก็เลยตัดออกไปก่อน เลยมาเหลือโฟกัสที่ 3 ประเทศหลัก มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย
The MATTER : การเมืองของทั้ง 3 ประเทศนี้มีพลวัตสูงมาก มีการเปลี่ยนผ่านอำนาจทางการเมืองแบบเดิมๆ ที่ผูกขาดสู่การแข่งขันทางการเมืองที่สูง
นี่คือความน่าสนใจของ 3 ประเทศนี้ ฟิลิปปินส์มีการเลือกตั้งมายาวนานที่สุดในภูมิภาค ตามมาด้วยมาเลเซียที่มีสถาบันทางการเมือง พรรคการเมือง และการเลือกตั้ง ตั้งแต่เขาได้รับเอกราชจากอังกฤษ นานพอสมควร เกือบ 5-6 ทศวรรษ ส่วนอินโดนีเซียถือว่าช้า แต่พัฒนาได้เร็วกว่าประเทศอื่น เขาเพิ่งเกิดกระบวนการพัฒนาความเป็นประชาธิปไตย ในปี พ.ศ. 2541 เป็นต้นมา จากการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่พัดพาไปจากวิกฤตต้มยำกุ้ง แล้วรัฐบาลซูฮาร์โตของเขาก็ล่มสลาย หลังจากนั้นก็เกิดกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา แต่กลายเป็นว่า อินโดนีเซียเป็นตัวแบบของประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพที่สุดในภูมิภาค เราก็เลยอยากจะศึกษาอินโดนีเซียด้วยว่าเขาทำได้อย่างไร
3 ประเทศนี้มีพลวัต ความเปลี่ยนแปลงการแข่งขันทางการเมืองที่ไม่เหมือนกัน ถ้าสรุปคร่าวๆ มาเลเซียเป็นตัวแบบที่มีพรรค UMNO พรรคเดียวผูกขาดมาอย่างยาวนาน ชนะการเลือกตั้งได้ตลอด ตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ แม้ว่าจะมีการแข่งขัน มีหลายพรรคการเมือง แต่ช่วงหลังในการเลือกตั้ง 10 ปีหลังฝ่ายค้านเริ่มแข่งขันได้มากขึ้น
เราก็เลยสนใจศึกษาว่ามันเกิดอะไรขึ้น เพราะเราเห็นแล้วว่าแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงกำลังจะมา ซึ่งในที่สุดก็มาจริง เพราะว่าการศึกษาวิจัยครั้งนี้ทำก่อนจะรู้ผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ผมก็ลงสนาม เก็บข้อมูลในช่วงที่เขาเริ่มแคมเปญหาเสียงพอดี เห็นความเปลี่ยนแปลง พรรครัฐบาลอาจจะแพ้การเลือกตั้งซึ่งสุดท้ายก็แพ้จริง ฉะนั้นมาเลเซียก็เปลี่ยนจากพรรคเดียวผูกขาดมาเป็นไม่สามารถผูกขาด พรรคฝ่ายค้านชนะได้
ส่วนฟิลิปปินส์ก็เป็นต้นแบบที่ก่อนหน้านี้พรรคการเมืองอ่อนแอ แต่มีการแข่งขันสูง เป็นการแข่งขันท้องถิ่น กลุ่มตระกูลผู้มีอิทธิพล โดยตัวพรรคไม่สำคัญเท่ากับว่าหัวหน้ามุ้ง หัวหน้ากลุ่ม หรือหัวหน้าตระกูลการเมืองใครโดดเด่นมากกว่า ก่อนหน้านี้การเมืองฟิลิปปินส์ถูกผูกขาดโดยสิ่งที่เราเรียกว่า ‘political dynasty’ หรือว่าตระกูลการเมือง ตระกูลชั้นนำ 40-50 ตระกูลผลัดกันครอบครอง ผูกขาดทั้งระดับท้องถิ่น และระดับชาติ แต่ว่าปรากฏการณ์ช่วงหลัง เริ่มมีคนที่ไม่ได้ถือว่าเป็นชนชั้นนำของประเทศที่เป็นตระกูลการเมืองเก่าแก่สามารถขึ้นมาท้าทายตระกูลเก่าๆ ได้ เราก็เลยสนใจศึกษา
อย่างประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ดูเตร์เต เขาขึ้นมาสู่อำนาจได้อย่างไร มันสั่นสะเทือนการเมืองฟิลิปปินส์เหมือนที่ทรัมป์กำลังสั่นสะเทือนการเมืองอเมริกา แม้ว่าเขาจะเป็นผู้นำท้องถิ่นมาก่อน มาจากเขตที่จนที่สุดของประเทศ คือตอนใต้ของประเทศ อยู่ในตระกูลใหญ่ของท้องถิ่น แต่ก็แค่นั้น อยู่ดีๆ เป็นม้ามืด ไม่มีใครคาดคิดว่าเขาจะชนะการเลือกตั้ง อีกสองสามเดือนก่อนเลือกตั้งโพลก็ยังชี้ว่าเขาตามหลัง แล้วอยู่ดีๆ ดูเตร์เตก็แซงทุกคนในช่วงโค้งสุดท้ายแล้วชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย
คู่แข่งเขาเป็นคนชนชั้นนำ มีฐานะดีทางเศรษฐกิจ หรือเล่นการเมืองมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ เป็น elite เป็นชนชั้นนำมากๆ ทำไมถึงแพ้การเลือกตั้งให้กับดูเตร์เตอันนี้เราก็สนใจ
ส่วนอินโดนีเซีย เขามีเสถียรภาพ ทุกฝ่ายเคารพกติกาการเลือกตั้ง การเลือกตั้งก็เลยมีเสถียรภาพอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ซูฮาร์โต ล้มลง แต่ในช่วงหลังก็เริ่มเกิดการสั่นคลอน เริ่มเกิดการซื้อเสียงมากขึ้น เริ่มเกิดอิทธิพลของการใช้ระบบอุปถัมภ์เข้าไปในระบบการเมืองมากขึ้น คนเริ่มหวั่นเกรงเรื่องคุณภาพของการเลือกตั้งและประชาธิปไตยที่ลดลง มีการใช้ประเด็นเรื่องศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองมากขึ้น ก็เป็นประเด็นที่น่ากลัว ใช้ประเด็นเรื่องชาตินิยม
แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเปลี่ยนแปลงด้านบวกด้วย ตรงที่ว่าได้คนอย่าง โจโควี (โจโค วิโดโด) ชนะการเลือกตั้งขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี เพราะก่อนหน้านี้การเมืองอินโดนีเซียก็คล้ายๆ ฟิลิปปินส์เหมือนกัน คือถูกผูกขาด การเมืองอินโดนีเซียอาจจะไม่ผูกขาดโดยตระกูลการเมือง เพราะตระกูลการเมืองยังไม่ถึงกับแข็งแรงเท่าไร แต่ก็มีกลุ่มอดีตข้าราชการ อดีตนายทหาร อดีตผู้นำเก่าๆ ไม่กี่กลุ่มมีอิทธิพลค่อนข้างมากในแวดวงการเมือง
แต่อยู่ดีๆ มีคนอย่างโจโควีซึ่งมีภูมิหลังเป็นนักธุรกิจระดับกลาง ค้าขายเฟอร์นิเจอร์ ไม่มีคนรู้จักมาก่อน ค่อยๆ ไต่เต้าขึ้นมาจากการเป็นผู้นำท้องถิ่น มาเป็นนายกเทศมนตรี แล้วก้าวมาเป็นผู้นำระดับชาติ ถึงขั้นเป็นประธานาธิบดีได้ก็ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอินโดนีเซียพอสมควร
The MATTER : มีผู้เล่นใหม่ๆ ทำให้การเมืองต่างไปจากเดิม? พอตอนอาจารย์ลงพื้นที่แล้ว มองการเมืองไทยในสายตาที่เปลี่ยนไปไหม
ผู้เล่นหน้าใหม่ๆ สร้างความนิยม แล้วก็ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว พอลงพื้นที่ ผมก็ไปสัมภาษณ์คนหลายกลุ่มเพื่อให้งานวิจัยได้ข้อมูลที่น่าสนใจ เราไปคุยกับนักการเมือง กกต.ที่เขาจัดการเลือกตั้ง สื่อมวลชน หัวคะแนน ชาวบ้าน ลงไปคุยเลยว่าเขามองการเมืองประเทศตัวเองอย่างไร
ข้อสรุปอันหนึ่งที่เราได้ก็คือใน 3 ประเทศนี้ ไม่ว่าเขาจะแข่งขันกันดุเดือดอย่างไร แต่ทุกฝ่ายมองการเลือกตั้งว่าเป็น ‘กระบวนการปกติ’ หมายถึงว่าการเลือกตั้งไม่ได้ดีหรือเลวในตัวมันเอง มันอยู่ที่ว่าคนในสังคมจะช่วยให้กระบวนการนี้มันเป็นกระบวนการที่เป็นทางออกของสังคมอย่างไร เวลาเขาคุยเรื่องการเลือกตั้ง มันก็เกิดขึ้นเป็นธรรมชาติ รัฐบาลอยู่ครบวาระต้องให้ประชาชนเลือกใหม่
อย่างมาเลเซีย รัฐบาลเขามีเสถียรภาพอยู่ครบวาระตลอด เพราะฉะนั้นการเลือกตั้งเกิดขึ้นทุกๆ 5 ปี มันแทบจะกำหนดปฏิทินได้ล่วงหน้าเลย กระบวนการเปลี่ยนผ่านที่อยู่ในชีวิตของเขา ทุกคนก็เตรียมตัว ทุกคนก็แข่งขันในกติกา แพ้ชนะก็ยอมรับ เราก็เลยรู้สึกว่ามันเป็นปกติ
The MATTER : แล้วสังคมไทยมองการเลือกตั้งเป็นปกติไหม
ของเรายังไม่ปกติ ถ้าเปรียบเทียบกับ 3 ประเทศ อย่างน้อยเขายอมรับกติกา ทุกฝ่ายยอมรับกติการ่วมกัน แล้วเขาก็ไปแข่งกันที่นโยบาย ใครนำเสนอนโยบายได้ถูกใจประชาชน แข่งกันที่การเฟ้นผู้สมัครที่มีคุณภาพดีที่จะโดนใจประชาชนก็สู้กันไป ประชาชนศึกษาหาข้อมูล หรือถ้าเขามองว่า กกต. ทำหน้าที่ไม่ค่อยเป็นกลางอย่างในมาเลเซีย มันก็จะมีคนออกมาให้ข้อมูล มีคนที่คอยมาท้วงติง วิพากษ์วิจารณ์ความไม่ชอบมาพากล
แต่ว่าไม่มีใครลุกขึ้นมาบอกว่า “เลิกเถอะ” เพราะเขารู้ว่ามันจะเกิดผลเสียมาก หรืออย่าง 3 ประเทศที่ศึกษาก็จะไม่มีใครกล้าออกมานำเสนอว่า “เราไม่ควรให้สิทธิ์การเลือกตั้งกับทุกคนเท่าเทียมกัน” เหมือนสังคม 3 ประเทศนี้เขาก้าวข้ามผ่านการมาถกเถียงเรื่องนี้แล้วว่าการเลือกตั้งจำเป็นสำหรับประเทศหรือเปล่า จำเป็นต้องมีการเลือกตั้งหรือเปล่า สิทธิการเลือกตั้งจำเป็นต้องเท่าเทียมกันหรือเปล่า เขาไม่เถียงแล้ว
เราดันยังติดกับดักนี้อยู่ เรายังมาถกเถียงในคำถามเหล่านี้ซึ่งมันควรจะตกแล้ว ไม่ควรจะมาถกเถียงกัน พอเห็นแบบนี้เราเห็นมุมเปรียบเทียบว่าทำไมสังคมเราติดหล่ม ใน 3 ประเทศนั้นเขาก็เดินหน้าของเขาไป ก็มีการเลือกตั้ง ก็มีคนแพ้คนชนะ คนแพ้ก็ไปทำการบ้านมาใหม่ รอรอบหน้า เหมือนฝ่ายค้านมาเลเซียเขาสู้มาหลายสิบปีแล้ว แพ้มาตลอดก็เพิ่งมาชนะครั้งนี้ แต่เขาก็มีความอดทน ส่วนอินโดนีเซียปีนี้จริงๆ กำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบใหม่ก็น่าสนใจที่จะศึกษา ซึ่งคู่แข่งขันก็เป็นคู่เดิม เป็นมวยคู่เดิมระหว่างโจโควีกับ ปราโบโว ซูเบียนโต ฝ่ายปราโบโวก็ไปทำการบ้านมาใหม่ ก็ยอมรับการเลือกตั้ง แล้วก็มาสู้ใหม่ในรอบนี้ สังคมมันจึงไม่หยุดชะงัก
The MATTER : แต่สังคมไทยห่างจากการเลือกตั้งไปนาน อาจจะลืมบรรยากาศไปแล้วหรือเปล่า
ก็เกือบ 8 ปีแล้ว อันหนึ่งที่เห็นความแตกต่าง มันมีวาทกรรมว่า การเมืองเป็นเรื่องสกปรกและการเลือกตั้งเป็นเรื่องสกปรก นักการเมืองเป็นคนเลว ในสังคมไทยเราพูดวาทกรรมเหล่านี้ก็เหมือนเป็นเรื่องที่ทุกคนรู้กัน พูดกันทั่วไปจนมันแทรกซึมอยู่ในวิธีคิดของคนไทย อยู่ในหัวสมอง พอเรามองแบบสุดโต่งว่าการเมืองสกปรก การเลือกตั้งสกปรก นักการเมืองเป็นคนเลว เราก็เลยมีแนวโน้มที่จะต่อต้านประชาธิปไตย ต่อต้านการเลือกตั้งได้ง่าย
เราไม่ยอมรับมันว่าเป็นกระบวนการที่ปกติ แต่ในมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เขาไม่ถึงกับมีวาทกรรมที่สุดโต่งเหล่านี้ เวลาเขามองการเมือง นักการเมือง หรือการเลือกตั้ง คือเขาไม่ได้มองว่านักการเมืองเป็นคนดีเลิศประเสริฐศรี ใน 3 ประเทศนี้เขาก็วิพากษ์วิจารณ์ ไม่ได้ไว้ใจพวกนักการเมืองหรอก แต่เขาก็มองว่าสังคมก็จำเป็นต้องมีนักการเมืองและพรรคการเมืองมาคิดนโยบาย ไปสู้กันในรัฐสภา ออกแบบนโยบาย และปฏิบัติ
The MATTER : ช่วงหนึ่งชนชั้นกลางไทยมองว่า อย่าไปเลือกตั้งเลย การเมืองสกปรก แต่ในความเชื่อของประชาธิปไตยปกติ ชนชั้นกลางถูกมองว่าเป็นความหวัง อาจารย์มีความเห็นอย่างไร
อันนี้ก็เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ ในงานวิจัยชิ้นก่อนก็พยายามจะตอบคำถามศึกษาการ shut down กรุงเทพ และกปปส. ว่าทำไมชนชั้นกลางในกรุงเทพถึงปฏิเสธคุณค่าหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยซึ่งมันย้อนแย้งกับทฤษฎีสากลทั่วไป ในงานวิจัยชิ้นนั้นก็พยายามตอบปัญหาเรื่องชนชั้นกลางกับประชาธิปไตย ซึ่งถ้าเราไปดูใน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียอย่างน้อยชนชั้นกลางเขาก็ยอมรับกติกา คุณค่าพื้นฐาน ใน 3 ประเทศนี้ผมก็ลองถามว่ามีใครหาเสียง หรือว่าใช้นโยบายเหมือนดูถูกคนจน คนชนบทไหม บอกว่าเสียงของคนชนบทกับเสียงคนในเมืองไม่ควรมีสิทธิ์เท่ากัน มีใครกล้าออกมาพูดแบบนี้ในที่สาธารณะไหม ทั้ง 3 ประเทศไม่มี เขาบอกว่าถ้าพูดอย่างนี้เท่ากับฆ่าตัวตายทางการเมือง พูดแบบนี้คนชนบทยิ่งไม่เลือกเขา เหมือนว่าโดนดูถูก แล้วคนชนบทก็เป็นผู้เลือกตั้งที่มีขนาดใหญ่ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาคเกษตรก็เป็นภาคที่ใหญ่ แรงงานในชนบทก็เป็นปริมาณที่มาก
The MATTER : นักการเมืองสามประเทศนี้เป็นนักการเมืองสายประชานิยมหรือเปล่า เขาหาเสียงกันอย่างไร
ประชานิยมก็เป็นกระแสที่มาแรงในทั้ง 3 ประเทศ ทั้งภูมิภาค แล้วจริงๆ ก็ทั้งโลก เพราะความเหลื่อมล้ำมันสูง คนฐานะต่างกันมาก คนส่วนใหญ่ในสังคมรู้สึกว่าถูกทิ้งไว้ข้างหลัง นักการเมือง และพรรคการเมืองหน้าเดิมไม่ตอบสนองเขา ระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมืองที่เป็นอยู่ตอบสนองคนส่วนน้อยเท่านั้น
อารมณ์ ความรู้สึกแบบนี้เปิดช่องให้นักการเมือง และพรรคการเมืองใหม่ๆ ที่เคลมว่าตัวเองเป็นคนนอก เป็น outsider เข้ามาอาสาเป็นปากเสียงที่แท้จริงให้กับประชาชนที่ถูกทอดทิ้งให้ยากจน แล้วก็มีชีวิตที่ลำบาก ตรงนี้มันก็ตอบคำถามว่าทำไมกระแสประชานิยมมาแรง
ยิ่งประเทศไหนมีความเหลื่อมล้ำสูง ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเมืองก็จะเคลื่อนไปสู่ทิศทางประชานิยม ประเทศหนึ่งที่กระแสประชานิยมมาแรงเสมอก็คือฟิลิปปินส์ มีนักการเมืองประชานิยมเข้ามาสู่อำนาจตลอด ดูเตร์เต ก็จัดว่าเป็นนักการเมืองสายประชานิยมเช่นกัน เพราะฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในประเทศที่เหลื่อมล้ำสูงที่สุดในเอเชีย ความยากจนยังเป็นปัญหาใหญ่
อินโดนีเซียเริ่มมาแล้ว แต่ว่าประชานิยมของอินโดนีเซียจะค่อนไปทางชาตินิยม ปลุกกระแสชาตินิยม เรื่องสถานะของประเทศ เรื่องความไม่มั่นคงปลอดภัย
The MATTER : สำหรับประเทศไทย พรรคการเมืองหน้าใหม่ๆ ก็หันมาประชานิยม บางส่วนก็มาสายปฏิรูปนิยม อาจารย์มองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้น่าสนใจไหม
การเลือกตั้งครั้งนี้จะน่าสนใจมาก จริงๆ ควรจะมีคนศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบ ลงไปเก็บข้อมูล ทำไมถึงน่าสนใจก็เพราะว่า หนึ่งก็คือมีกติกาใหม่ที่ใช้ครั้งแรก มีระบบการเลือกตั้งที่ไม่เคยใช้มาก่อน สอง เราว่างเว้นจากการเลือกตั้งไปประมาณ 7-8 ปีแล้ว ตอนนี้รู้ไหมว่าประชาชนคิดอย่างไร ผู้เลือกตั้งหลังจากไม่ได้เลือกตั้งมา 7-8 ปี เราไม่รู้เลย อันนี้ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจว่าพฤติกรรมการตัดสินใจของคน ในครั้งนี้เขาจะเลือกพรรคหรือเลือกคน จะเลือกพรรคใหม่หรือพรรคเก่า แนวทางแบบไหนก็ยังไม่มีใครรู้ สาม มีพรรคการเมืองหน้าใหม่ๆ เกิดขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ เป็นพรรคการเมืองที่มีหลายเฉดอุดมการณ์เลย
ก่อนหน้านี้ในการเมืองไทยมีผู้เล่นแคบ เลือกตั้งแต่ละครั้งก็จะมีพรรคการเมืองที่มีเฉดอุดมการณ์ เฉดของนโยบายไม่ได้ต่างกันมาก ครั้งนี้เป็นครั้งที่เรามีทางเลือกนโยบายหลากหลายที่สุดตั้งแต่มีการเลือกตั้งในประเทศไทยมา แล้วเฉดอุดมการณ์ก็มีตั้งแต่อนุรักษ์นิยม เสนอแนวทางอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว ถ้าใครชอบสังคมแบบเดิม รักษาระเบียบแบบแผนแบบเดิมก็มีตัวแบบให้เลือก กับมีพรรคของคนรุ่นใหม่ หรือพรรคแนวปฏิรูปที่เสนอแนวทางใหม่ๆ หมดเลย ในเฉดที่ตรงข้าม
มันมีความหลากหลายสูงมากในการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี การที่ประชาชนมีตัวเลือกเยอะๆ ดีกว่าไม่มีตัวเลือก ต้องมองปรากฏการณ์นี้ในทางบวก การที่เรามีผู้เล่นหน้าใหม่ๆ เข้ามาสู่สนามการเลือกตั้งมันก็ทำให้การเมืองไม่ถูกผูกขาด ก็เหมือนอินโดนีเซียที่เขาเปลี่ยนแปลง มีผู้เล่นหน้าใหม่ๆ เข้ามาตลอด มีการกระจายอำนาจสูง ทำให้คนในท้องที่ตื่นตัว ก็เลยได้ผู้นำหน้าใหม่ๆ มาจากผู้นำท้องถิ่นอย่างโจโควี ผมว่าก็เป็นปรากฏการณ์ที่ดี
หรืออย่างมาเลเซียที่เคยถูกผูกขาด ปรากฏว่าก็ถูกท้าทายจากฝ่ายค้าน แล้วฝ่ายค้านเขาก็นำเสนอแนวทาง นโยบายใหม่ๆ นำเสนอผู้สมัครหน้าใหม่ และอายุน้อย แล้วในที่สุดมันก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง มาเลเซียมีรัฐมนตรีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ น้อยที่สุดในโลกด้วยซ้ำ มีอายุเพียง 25 ปีแต่เป็นรัฐมนตรีกระทรวงกีฬา มันก็ทำให้สังคมมีชีวิตชีวา
ส่วนในไทยครั้งนี้ เป็นปรากฏการณ์ที่ดี เพราะว่าถ้าเราปล่อยให้การเมืองมีแต่คนหน้าเดิมๆ แล้วถูกมองว่าเป็นเรื่องสกปรก ยิ่งเราไปตอกย้ำว่าการเมือง การเลือกตั้งเป็นเรื่องสกปรก มันก็จะมีแต่คนกลุ่มหนึ่งเท่านั้นที่เข้าไปเล่น แล้วไปผูกขาดการเมือง คนหน้าใหม่ๆ หรือคนที่มีความสามารถก็มักจะถูกบอกว่า “อย่าไปยุ่งการเมือง ไม่ใช่เรื่องของเรา เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้” ซึ่งผมคิดว่าความคิดแบบนี้มันโดนท้าทายแล้ว ในครั้งนี้เราจะเห็นคนหน้าใหม่ๆ ที่มีความสามารถ ที่ประสบความสำเร็จในวงการต่างๆ กระโดดเข้าไปเล่นการเมือง ซึ่งเราควรมองว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดี
The MATTER : อาจารย์คิดว่าการมองออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพื่อทำความเข้าใจตนเองสำคัญแค่ไหน
ผมคิดว่าสำคัญ สังคมไทยเป็นสังคมที่เราอยู่กับตัวเองมากเกินไป จนเราขาดความรู้เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก กระทั่งความเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคเราเอง เราสอนให้มองแต่ตัวเอง ซึ่งบางทีมองตัวเองก็ยังเข้าใจตัวเองไม่ถ่องแท้อีก ครึ่งๆ กลางๆ ด้วยระบบการศึกษาของเรา
ผมคิดว่าตอนนี้ในยุคปัจจุบันทุกคนต้องยอมรับแล้วว่าโลกมันเชื่อมต่อถึงกันมากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นมันกระทบต่อประเทศไทย เราไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวคนเดียวบนโลก ประเทศไทยก็สัมพันธ์กับโลกใบนี้ เราต้องมีสัมพันธ์ทางการทูต ติดต่อค้าขาย อยู่ภายใต้กฎระเบียบ กฎเกณฑ์หลายอย่าง เราเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก
การไม่เข้าใจโลกเป็นเรื่องอันตราย หลายเรื่องเราเลยคิดว่าอันนี้เป็นลักษณะพิเศษของไทย ประเทศไทย unique ไม่เหมือนใครในโลกเลย ไม่ต้องไปสนใจใคร ไม่ต้องไปยึดกฎกติกาอะไรทั้งสิ้น ซึ่งแนวคิดแบบนี้มันอันตราย หนึ่ง มันทำให้เราไม่เข้าใจโลก บางทีสิ่งที่เราทำมันก็ไปฝืนกระแสโลก ทำให้ประเทศพัฒนาตามไม่ทันคนอื่น ผมคิดว่าการมีมุมมองเปรียบเทียบมันถึงสำคัญ เราเห็นทั้งโลก เราถึงจะรู้ว่าประเทศเราอยู่ตรงไหน
The MATTER : ในฐานะอาจารย์เป็นนักวิจัย อาจารย์อยากแนะนำนักรัฐศาสตร์รุ่นใหม่ให้หันมาทำวิจัยอะไรบ้าง และอยากเห็นงานวิจัยใหม่ๆ แบบไหน
ผมคิดว่าควรจะเป็นงานวิจัยที่กล้าตั้งคำถามใหม่ๆ ควรเอาปรากฏการณ์ร่วมสมัยเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เอาความรู้ในตำรา หรือทฤษฎีเป็นตัวตั้งแล้วไปทำวิจัยเพื่อยืนยัน พิสูจน์ว่าทฤษฎีนั้นถูก คือทฤษฎีมันก็ผลิตขึ้นมาเพื่อตอบคำถามเฉพาะหน้าบางยุคบางสมัย ถึงเวลาหนึ่งมันอาจจะล้าสมัยแล้วก็ได้ เราต้องกล้าตั้งคำถามใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่องค์ความรู้ใหม่ๆ
อย่างเราท่องกันมาตลอดว่าประชาธิปไตยจะแข็งแรงต้องมีชนชั้นกลาง ชนชั้นกลางจะเป็นหัวหอกในการปกป้องประชาธิปไตย เมื่อวันหนึ่งปรากฏการณ์ทางสังคมมันไม่เป็นอย่างนั้น เราก็ต้องทำวิจัยเพื่อตอบคำถามนี้ว่าทำไมมันถึงย้อนแย้งกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น งานวิจัยต้องก้าวทันสังคม กระทั่งต้องนำสังคมหนึ่งก้าว ไม่ใช่เดินตามหลังสังคม ฉะนั้นเราต้องไวในการเห็นปรากฏการณ์ใหม่ๆ แล้วกล้าตั้งคำถาม ต้องลงพื้นที่ อย่าอยู่แต่กับกองตำรา หรือเอกสาร
ยิ่งวิจัยเกี่ยวกับประเทศอื่นจะมานั่งอ่านข่าวและสรุปคงไม่ได้ ก็ต้องไปคุยกับคน ต้องไปลงพื้นที่ ปรากฏการณ์ใหม่ๆ อย่างเช่น โซเชียลมีเดียมีบทบาทอย่างไรต่อการเลือกตั้ง มีบทบาทอย่างไรต่อการเปลี่ยนการเมือง อันนี้ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจศึกษา ผมก็พยายามตอบไว้บ้างในการวิจัยครั้งนี้ แต่ว่ายังมีอะไรให้ศึกษาอีกเยอะ ผมคิดว่าอันนี้เป็นหน้าที่ของนักวิชาการที่ต้องกล้าตั้งคำถามใหม่ๆ ตั้งโจทย์วิจัยที่มันท้าทาย
The MATTER : งานวิจัยทางรัฐศาสตร์ไทยค่อนข้างมีบริบทที่โดดเด่น ทำให้อาจารย์สนุกที่จะวิจัยไหม
ผมก็ว่ามันท้าทาย นักวิจัยได้ความสุขมาจากไหน ถึงที่สุดก็มาจากการค้นพบอะไรใหม่ๆ ได้รู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันมีความหมาย งานวิจัยก็คือการพยายามตอบคำถามบางอย่างที่เราตั้งคำถามเอาไว้ ถ้าเราตั้งคำถามที่ดี ถูกทางและมีวิธีวิจัยที่มันดี มี methodology method ที่ดี แล้วเราทำงานหนัก ผมก็เชื่อว่ามันจะได้คำตอบงานวิจัยที่น่าสนใจ ความสุขก็มีอยู่แค่นั้น
เหมือนกับที่หลายคนเขาพูดไว้ สมมติเขียนงานอะไรสักงานวิจัย มีคนด่ายังดีกว่าไม่มีใครพูดถึงแม้แต่คนเดียว เป็นงานวิจัยที่โลกลืม งานวิจัยในทางรัฐศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์อาจจะต่างกับงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ หรืองานวิจัยที่เป็น applied science ที่เมื่อเอาไปใช้ เอาไปออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์บางอย่าง หรือเอาไปใช้ทางการแพทย์ รักษาได้จริงถือว่าสำเร็จ แต่ในทางรัฐศาสตร์หรือสังคมศาสตร์เราอาจจะเอาไปประยุกต์ใช้เป็นรูปธรรมแบบนั้นไม่ได้โดยทันที บางเรื่องอาจจะได้ในทางนโยบาย สมมติศึกษาวิจัยแล้วว่าระบบอุปถัมภ์มีผลอย่างไร ทำงานอย่างไร หรือซื้อเสียงตกลงมีผลหรือไม่มีผล อันนี้ก็ไปออกแบบได้ แต่ว่าบางเรื่องอาจจะไม่มีนัยยะเชิงนโยบายที่เป็นรูปธรรมโดยทันที
แต่ว่าคุณูปการของงานวิจัยทางสังคมศาสตร์คือกระตุ้นให้สังคมถกเถียง แลกเปลี่ยน มีมุมมองใหม่ๆ แล้วคนสามารถเปลี่ยนความคิด เลิกเชื่อในมายาคติแบบเดิมซึ่งมันอาจไม่จริงแล้ว ฉะนั้นถ้าถูกเอาไปถกเถียงอันนี้ถือว่าสำเร็จแล้ว แม้จะมีคนด่า คนวิจารณ์ไม่เห็นด้วยแต่นั้นก็เป็นข้อดีที่ทำให้สังคมได้ถกเถียงในเรื่องที่มันสำคัญ
เรียบเรียง
Kornkamon Srivat
ภาพ
Thenet Ratanakul
ขอขอบคุณ
ผศ.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)